30 มิถุนายน 2558

การออกกำลังกาย ภาคหนึ่ง

   วันอังคารแล้วครับ เพจเปิดตัวครบ 3 สัปดาห์ ต้องขอบพระคุณทุกท่านที่ติดตามทำให้มีแรงใจผลิตผลงานดีๆต่อไป เหมือนเคยครับวันนี้ผมเจอผู้ป่วยที่ต้องการการรักษาด้วยการออกกำลังกาย จึงเอาเรื่อง การออกกำลังกายมาเล่าให้ฟังง่ายๆครับ แต่ไม่ได้สอนแบบจริงจังจนเป็นพี่บัวขาว หรือ กัปตันกิฟท์ นะครับ

   การออกกำลังกายนั้นเป็นยาวิเศษที่ทรงพลัง ราคาถูก ผมคิดว่าเทียบต้นทุนต่อกำไรแล้ว น่าจะเป็นการรักษาที่ดีที่สุดตั้งแต่อดีต ปัจจุบันและผมก็คาดว่าถึงอนาคตด้วย สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งอเมริกา ได้ให้คำแนะนำการออกกำลังกายเอาไว้ดีทีเดียว เลยอ่านแล้วเอามาย่อยและค้นเพิ่มเติมมาให้กัน ( คำแนะนำของสมาคมนี้แพร่หลายทั่วโลกครับ)
   เขาบอกว่า การออกกำลังกายที่จะเห็นผลนั้น ต้องทำต่อเนื่องครับ และทำยาวนานพอ ก็จะได้ผล โดยทั่วไปเราออกกำลังกายเพื่อสุขภาพปอดและหัวใจที่ดีนั้น เราจะใช้การออกกำลังกายระดับกลางๆ จำนวน 150 นาทีต่อสัปดาห์ครับ ไอ้เจ้าออกกำลังกลางๆนี้คือ เมื่อออกไปแล้ว 10นาทีเริ่มมีเหงื่อซึม หายใจเร็ว พูดคุยได้ แต่ไม่สามารถร้องเพลงตอนนั้นได้ เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะ เล่นเครื่องเล่นต่างๆ เฉลี่ยๆก็ครั้งละครึ่งชั่วโมง ห้าวันต่อสัปดาห์ หรือถ้าออกมากครั้งละชั่วโมงก็สามครั้งต่อสัปดาห์ครับ ในแต่ละวันนี่ ออกกำลังแบบสะสมแต้มได้นะครับ เช้า 15 นาที ตอนเย็นอีก15นาที แต่ต้องเพิ่มความแรงในการออกกำลังขึ้นครับ ( แหมยังกะสะสมพ้อยต์บัตรเครดิต) สำคัญคือ ความต่อเนื่องในช่วงที่ออกกำลังครับ ไม่ใช่วิ่ง 5 นาที พัก 5 นาทีนะครับ

   ที่จริงเขาวัดการผลิตพลังงานและใช้ออกซิเจน ต่อ น้ำหนัก ต่อ นาที ในการกำหนดความแรงของการออกกำลังกาย ซึ่งอธิบายยาก ไม่เหมาะกับเพจเรา หรือใช้ร้อยละของอัตราการเต้นหัวใจครับ ใครมีเครื่องติดข้อมือวัดชีพจรใช้ได้นะครับ คือเอาเลข 220 - อายุ จะได้ค่าอัตราการเต้นสูงสุดออกมา และเอาที่ร้อยละ 50-70 ครับ ที่จะบอกว่าเราออกกำลังกายแบบปานกลางนะ เช่น คุณช้างน้อยอายุ 20ปี อัตราการเต้นสูงสุดของคุณช้างน้อยคือ 220-20=200 ครั้งต่อนาที คุณช้างน้อยต้องวิ่งต่อเนื่องเพื่อให้หัวใจเต้นที่ 100-140 ครั้ง ต่อเนื่องกัน 30นาทีครับ ก็ยุ่งยากนะที่จะคำนวณแบบนี้ ส่วนถ้าออกมากกว่านี้เรียกแบบ หนัก คือ ต้องการ ร้อยละ 70-85 ของอัตราการเต้นสูงสุด หรือ การออกกำลังกายที่ออกเพียง 2-3 นาทีก็เหงื่อออก พอพูดได้ สองสามคำก็หายใจหอบ ออกกำลังกายแบบหนักนี้จะเพิ่มประโยชน์ต่อหัวใจมากขึ้น แต่ระวังบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาด้วยครับ

   การออกกำลังกายนี้ลดปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดได้มาก ทั้ง น้ำหนักตัว ความดันโลหิต น้ำตาลในเลือด ระดับไขมันในเลือด และในคนที่เป็นโรคหัวใจแล้วช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้ถึง 27% เลยครับ ท่านที่กังวลว่า อ้าวเป็นโรคหัวใจแล้วจะออกกำลังหนักได้หรือ ก็ต้องบอกว่าโอกาสเกิดการเสียชีวิตจากการออกกำลังกายในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ เอ่อ...หนึ่งใน เจ็ดแสนห้าหมื่นครับ..โอกาสเสียชีวิตจากการออกกำลังกายน้อยกว่าโอกาสตายจากโรคหัวใจที่ไม่ยอมออกกำลังกาย‬ น้อยแบบ น้อยๆๆเลยนะครับ

จริงแล้วสรุปมายาวนะ เดี๋ยวพรุ่งนี้มาเล่าต่อครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม