เมื่อชีวิต ต่อ อีกหลายชีวิต
ย้อนกลับไปในปี 1932 ประเทศสหรัฐอเมริกามีความเจริญรุ่งเรืองเกือบถึงขีดสุดของโลก ด้วยความที่ไม่บอบช้ำจากมหาสงครามโลกครั้งที่ 1 และมีนักคิดนักวิชาการจากยุโรปย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่นี่ รวมทั้งนักวิทยาศาสตร์ชาวยิวหลายคนที่ลี้ภัยมา ทางการเมือง เศรษฐกิจ อุตสาหกรรม ถือว่าเจริญก้าวหน้า แต่การแพทย์ยังกระเตาะกระแตะ กระเตาะกระแตะแค่ไหน นั่นคือที่มาของเรื่องนี้
ผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐในปี 1933 แฟรงคลิน เดอลาโน รูสเวลต์ พร้อมจะนำพาประเทศฝ่าภัยความตึงเครียดของโลกและได้รับเลือกตั้งในดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ด้วยตัวเลขความดันโลหิต 140/100 และคำยืนยันจากแพทย์ประจำตัว นายพลรอสส์ แมคอินไทร์ ว่าท่านประธานาธิบดีปรกติดี (สมัยก่อนตัวเลขความดันโลหิตสูงคือ 180/110 ปรับลดลงมาที่ 160/100 ในช่วงหลังสงคราม และปรับมาเป็น 140/90 ในปัจจุบัน)
ยุคนั้นประชากรสหรัฐอเมริกาเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงมาก สูงแค่ไหน ก็ 50% ของผู้เสียชีวิตนั่นแหละครับ แม้จะมียารักษา แม้จะมีการผ่าตัด แต่ทำไมอัตราการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจยังสูงขนาดนั้น ก็มีคุณหมอหลายคนจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเริ่มเปรย ๆ แล้วว่าน่าจะเกิดจากความดันโลหิต ที่สูงเกินไป (เกณฑ์มันสูงด้วยแหละครับ) แต่ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน เพราะประเทศทุ่มเททรัพยากรให้กับ…สงครามโลกครั้งที่สอง
วันเวลาของสงครามโลกผ่านไป ท่านประธานาธิบดีรูสเวลต์ทำงานหนักขึ้นไปพร้อมกับตัวเลขความดันโลหิตที่สูงมากขึ้นเรื่อย ๆ บางครั้งพุ่งไปที่ 188/105 โดยที่ทีมแพทย์ประจำตัวก็บอกว่าท่านปรกติดี
จนเมื่อมีคนหนึ่งมาบอกว่าท่านประธานาธิบดีน่าจะป่วยหนักเลยนะ ทำให้แนวคิดว่าประธานาธิบดีดู 'แข็งแรง' ที่ตัวเลขความดันสูงลิบ เปลี่ยนแปลงไป
คนนั้นคือ ท่านนายกรัฐมนตรีอังกฤษ วินสตัน เชอร์ชิล ซึ่งป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงเหมือนกัน
ในปี 1944 ก่อนจะถึงการประชุมลับสุดยอดของการยกพลขึ้นบกของกองทัพสัมพันธมิตรที่ชายหาดโอมาฮา แคว้นนอร์มังดี ประเทศฝรั่งเศส ท่านประธานาธิบดีก็ล้มป่วย
ผลการตรวจออกมาว่าท่านประธานาธิบดีป่วยเป็นโรคหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ท่านประธานาธิบดีเปลี่ยนทีมแพทย์ประจำตัวรักษาโรคหัวใจล้มเหลวจนดีขึ้นและพยายามจะลดความดันลง แต่มันสายเกินไป การลดความดันโลหิตตอนนี้อาจไม่ลดอัตราเสียชีวิตมากนัก ความเสียหายมันเกิดขึ้นแล้ว แถมยาในยุคนั้นก็ลดความดันได้ไม่ดี
ตลอดปี 1945 อาการป่วยของท่านกระเสาะกระแสะเรื่อยมา และในการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดที่ยัลต้า แคว้นไครเมียของรัสเซีย เพื่อวางแผนการจัดระเบียบยุโรปที่จะเกิดหลังจากพิชิตนาซีเยอรมันได้
ที่นั่น วินสตัน เชอร์ชิลกล่าวชัดเจนว่า ท่านประธานาธิบดีรูสเวลต์ดูทรุดโทรมมาก และมีบันทึกตัวเลขความดันโลหิตตอนนั้นถึง 240/130 แถมยังเสนอให้ทีมแพทย์จากอังกฤษเข้าดูแลท่านประธานาธิบดีอีกด้วย
แต่อีกสองเดือนหลังจากนั้น ท่านประธานาธิบดีก็ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคเลือดออกในสมอง ที่ตัวเลขความดันโลหิต 300/190
ท่านประธานาธิบดีสหรัฐ แฟรงค์ เดอลาโน รูสเวลต์ ก็ไม่รอดโรคหัวใจและหลอดเลือด ที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิต 50% ของพลเมืองอเมริกัน เชื่อว่าการถึงแก่อสัญกรรมของ FDR ได้จุดประกายบางอย่าง
ในช่วงบั้นปลายชีวิต ท่านประธานาธิบดีรูสเวลต์ได้เริ่มเล็งเห็นความสำคัญของปัญหานี้ และก่อตั้ง National Institute of Health ขึ้นที่รัฐแมรี่แลนด์ เพื่อจัดการปัญหาโรคหัวใจที่คุกคามประเทศนี้ แต่การดำเนินการไม่ก้าวหน้า
จนในปี 1948 หลังสงครามโลกเสร็จสิ้น ประเทศอเมริกาก้าวมาเป็นผู้นำโลก แน่นอนจะปล่อยให้ภัยคุกคามทางหัวใจและหลอดเลือดกัดกร่อนประเทศไม่ได้ ผลงานที่ค้างคาของ FDR และการถึงแก่อสัญกรรมของประธานาธิบดี FDR ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการแพทย์ที่ยิ่งใหญ่ของอเมริกาและของโลก
ท่านประธานาธิบดีแฮรี่ เอส ทรูแมน ที่มาดำรงตำแหน่งต่อจาก FDR ได้เสนอกฎหมาย National Heart Act พระราชบัญญัติโรคหัวใจแห่งชาติ แก่รัฐสภาเพื่อจัดการโรคหัวใจอย่างจริงจัง ครั้งนั้นสภาคองเกรสให้การอนุมัติพระราชบัญญัตินี้ และแน่นอนมาพร้อมงบประมาณมากมาย
ส่งผลให้มีการก่อตั้ง National Heart Institute ที่ปัจจุบันคือ National Heart Blood and Lung Institute พร้อมกับเงินทุนการศึกษาวิจัยระบาดวิทยาการเกิดโรคนี้อย่างจริงจัง 500,000 ดอลล่าร์สหรัฐ และนี่คือต้นกำเนิดของ โครงการศึกษาวิจัยโรคหัวใจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่ผ่านมา "Framingham Heart Study"
See insights and ads
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น