21 กันยายน 2566

เรื่องจริงที่น่าเศร้า : การคัดกรองมะเร็งลำไส้กับสารบ่งชี้มะเร็ง

 เรื่องจริงที่น่าเศร้า : การคัดกรองมะเร็งลำไส้กับสารบ่งชี้มะเร็ง

เรื่องราวที่เกิด : สุภาพบุรุษอายุ 67 ปีมาปรึกษาเรื่อง ผลเลือด CEA
คุณพี่ท่านนี้เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ตามโครงการของ รพ.สต. ด้วยวิธีการตรวจหาเลือดมนุษย์ในอุจจาระ พบว่า ตรวจเจอเลือดในอุจจาระทั้งสองครั้ง จึงได้รับการส่งตัวเพื่อสืบค้นต่อไป
ที่ รพ.แรก ได้รับการตรวจก่อนการส่องกล้อง พบว่าค่าครีอะตีนีนสูงเล็กน้อย (ค่านี้ใช้ประเมินการกรองของไต) และคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ โดยได้รับแจ้งว่า เป็นโรคหัวใจขาดเลือด (ผู้ป่วยปกติดีมากมาตลอด) และแจ้งว่า คงไม่สามารถส่องกล้องได้ จบ ไม่มีนัดใด ๆ อีก
รพ.ที่สอง ผู้ป่วยไปเล่าเหตุการณ์ที่ผ่านมา จึงได้รับคำแนะนำว่า ไม่ต้องตรวจส่องกล้องก็ได้ ให้ตรวจเลือดสารบ่งชี้มะเร็งก็พอ และพอผล CEA ออกมา ก็บอกว่า ผลการตรวจผ่าน ไม่เป็นมะเร็ง
เรื่องราวก็มาถึงลุงหมอในฐานะท้าวมาลีวราช คนไข้ถามว่า ตกลงอย่างไรดี
สิ่งที่ควรเป็น : เมื่อได้รับการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยการตรวจหาเลือดมนุษย์ในอุจจาระ เป็นผลบวก หรือจะเพิ่มความแม่นยำด้วยการตรวจสองครั้ง ก็มีหลักฐานยืนยัน สิ่งที่ควรทำต่อไป คือ ซักประวัติอาการ ความเสี่ยง ประวัติครอบครัว ประเมินโอกาสการเกิดมะเร็งลำไส้
และควรยืนยันด้วยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ หรือหากไม่ตกลงทำหรือมีข้อห้ามการทำ ให้ตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ลำไส้ใหญ่แทน
สิ่งที่ลุงหมอขี้หงุดหงิดอยากจะบอก :
การตรวจประเมินก่อนผ่าตัดเป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่ได้หมายถึงจะงดผ่าตัด งดส่องกล้อง ถ้าผลการตรวจผิดปกติ แต่ควรใช้ผลตรวจนั้นมาประเมินความเสี่ยงและจัดการเพื่อลดความเสี่ยง จะได้ส่งคนไข้ไปผ่าตัดอย่างปลอดภัย
ไตเสื่อมเล็กน้อย ไม่ใช่ข้อห้ามการส่องกล้องเลย ซึ่งไตเสื่อมหรือไม่ก็ยังไม่รู้ เพราะตรวจแค่ครั้งเดียว ไม่มีผลการตรวจอื่น ๆ เช่น โปรตีนในปัสสาวะ โลหิตจาง หรือภาพอัลตร้าซาวนด์ไต
ควรประเมินให้ชัดว่าใช่ไตเสื่อมหรือไม่ และหากเป็นจริง ให้ส่งเข้าส่องกล้องโดยระมัดระวังเลือดออกมากหากต้องตัดชิ้นเนื้อ หรือเฝ้าดูเกลือแร่ผิดปกติเมื่อต้องกินยาระบาย
คลื่นไฟฟ้าหัวใจอาจจะพอบอกได้ว่าหัวใจขาดเลือด แต่ในกรณีเป็นมานาน อาการควบคุมได้ ก็ไม่ใช่ข้อห้ามการส่องกล้องแต่อย่างใด
ในกรณีนี้ ถ้าจะไม่ส่องกล้องก็ต้องพิสูจน์เรื่องหัวใจขาดเลือด ถ้าเป็นจริงก็ต้องรักษาโดยการลดปัจจัยเสี่ยง ไม่ใช่ตัดจบแบบนี้
สุดท้าย : ขอความร่วมมือ "งด" ใช้สารบ่งชี้มะเร็ง (tumor marker) เพื่อการคัดกรองมะเร็ง มันไม่ไวเลย และไม่ได้ออกแบบมาใช้แบบนี้นะครับ
ถ้าสุภาพบุรุษท่านนี้เป็นมะเร็ง คิดดูว่าจะเสียโอกาสการรักษาจากการแปลผล false negative ของ CEA ขนาดไหน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม