08 มีนาคม 2565

ไมเกรนเฉียบพลัน

 ไมเกรนเฉียบพลัน

โรคปวดศีรษะไมเกรนเป็นอีกหนึ่งโรคที่พบบ่อย อาการน่ารำคาญ บางคนอาการรุนแรงจนรบกวนชีวิตประจำวัน โรคไมเกรนมีได้หลายแบบ แบบที่พบบ่อยคือ ไม่มี “Aura” ออร่า หมายถึงอาการทางระบบประสาทที่บ่งชี้จุดเกิดโรคจุดใดจุดหนึ่งในสมอง ที่พบบ่อยคือ แสงวูบวาบ ชา ส่วนอาการ แขนอ่อนแรงหนึ่งซีก ชาหนึ่งซีก ปากเบี้ยว พบได้บ้าง แต่ต้องคิดถึงอัมพาตไว้ก่อนนะครับ

ออร่าของไมเกรนจะมีอาการเพียงชั่วครู่ก่อนปวดหัวและหายไปเอง

ไมเกรนแบบไม่มีออร่าก็มักจะเป็นอาการปวดตุบ คล้ายชีพจรเต้นแรง ๆ ส่วนมากปวดข้างเดียว ความรุนแรงพอควรเลย นั่งยืนเดินมักจะปวดมาก ไมเกรนแบบไม่มีออร่า มักจะมีอาการร่วมอื่น ๆ ได้ เช่น คลื่นไส้อาเจียน ตาพร่า ที่อาจเกิดได้ก่อนปวดหรือหลังปวด

โรคไมเกรนเป็นโรคที่เป็นแล้วเป็นซ้ำได้ อาจจะเป็นบ่อยมากเช่น ปวดมากกว่า 15 วันต่อเดือน และเป็นไมเกรนตามคำนิยามอย่างน้อย 8 จาก 15 ครั้ง และมีอาการอย่างน้อยสามเดือนต่อปี ที่เรียกว่า Chronic migraine หรือเป็นแล้วหายไปนาน จึงกลับมาเป็นซ้ำ acute migraine attack

การรักษา Acute migraine attack มียาหลายชนิดตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ผมไปอ่านและรวบรวมมาจาก Harrison Principle of Internal medicine 20th, Nature neurology Aug 2021 และ JAMA. 2021; 325(23): 2357-69 มาผนวกเข้ากับบัญชียาหลักแห่งชาติปัจจุบัน ก็สรุปมาให้ดังนี้

ยาตัวแรกที่เลือกใช้ มีหลักฐานทางการแพทย์ว่าช่วยลดการปวดได้ดีในสองชั่วโมงแรกเลย และลดการเกิดซ้ำได้ดี คือยากลุ่ม NSAIDs ที่มีการศึกษาบ่อย ๆ คือ ibuprofen และ naproxen แต่ก็สามารถใช้ตัวอื่นได้ หรือจะใช้ยาตระกูล coxib ที่ลดผลข้างเคียงเรื่องเลือดออกทางเดินอาหารลงได้ ยากลุ่มนี้หาง่าย หลายตัวมีในร้านขายยาและบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ

หรือใครใช้พาราเซตามอลแล้วอาการหายดี ก็สามารถใช้ยาพาราเซตามอลได้ครับ

ยาตัวแรกอีกเหมือนกัน สามารถใช้ลดปวดได้ดีในสองชั่วโมงแรก ลดการเกิดซ้ำในหนึ่งวันได้ดี คือยา 5-HT 1B/1D receptor agonists หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อยา –triptans ที่ใช้บ่อยเช่น sumatriptan, eletriptan เพียงแต่ยากลุ่มนี้หาซื้อยากกว่า ราคาแพงกว่า NSIADs และ paracetamol และไม่บรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ

คราวนี้มาดูยาตัวที่สองที่เลือกใช้ หากใช้ตัวแรกแล้วไม่ดีขึ้น ต้องอธิบายก่อนว่า ที่แนะนำเป็นยาตัวที่สองเพราะ ผลข้างเคียงและข้อควรระวังมีมากกว่า ราคาแพงกว่ามาก ข้อมูลการศึกษาน้อยกว่ายากลุ่มบนเพราะยามันออกมาทีหลัง ส่วนประสิทธิภาพอาจไม่ต่างกันมากนัก ยาตัวที่สองนี้สามารถเลือกใช้ตัวใดก่อนหลังก็ได้ คือยากลุ่ม Gepants และ Ditans

Gepants ชื่อเต็มยศของเขาคือ Calcitonin Gene-Related Peptide Receptor Antagonist ที่มีใช้คือ rimegepant และ ubropegant ยาทั้งสองนี้ก็สามารถลดปวดในสองชั่วโมงแรกได้ดีและลดการเกิดซ้ำในวันแรกได้ดีเช่นกัน การใช้ยากลุ่มนี้ต้องใช้ในการดูแลของคุณหมอนะครับ และต้องเพื่มคุณเภสัชมาช่วยดูแลด้วยเพราะยาตัวนี้มีปฏิกิริยาระหว่างยามากมาย โดยเฉพาะกับ Cyp 3A4

Ditans ชื่อของเขาคือ 5-HT 1F receptor agonist จะเห็นว่าการรักษาไมเกรนจะไปยุ่งกับ 5-HT คือ ซีโรโทนิน ค่อนข้างมาก เพราะสัมพันธ์กับกลไกการเกิดไมเกรนคือ การบีบคลายตัวของหลอดเลือดที่เยื่อหุ้มสมอง ยาที่มีใช้คือ lasmiditan เช่นกัน ลดอาการปวดได้เร็วและป้องกันเกิดซ้ำในวันแรกได้ดี ราคาแพง ไม่อยู่ในบัญชียาหลักของเรา ยังคงต้องใช้ยาภายใต้การดูแลของคุณหมอครับ และที่สำคัญยานี้ทำให้ง่วงซึมมาก ฉลากกำกับยาเขียนไว้ตามกำหนด FDA ว่า หลังใช้ยานี้ต้องงดขับรถเป็นเวลา 8 ชั่วโมง

เมื่อมาพิจารณาถึงการเข้าถึงยา ราคายา และบัญชียาในบ้านเรา ยาตัวแรกในการรักษาอาการปวดเฉียบพลันจึงเป็นยากลุ่ม NSAIDs ครับ หรือใครใช้พาราเซตามอลได้ดีก็ใช้ได้ อาการปวดเฉียบพลันเกือบทั้งหมดใช้ยาไม่นาน จึงไม่น่ากังวลเรื่องยาเกินขนาดหรือพิษจากยา

ส่วนยากลุ่ม ergots, ergot + caffeine เช่น ergotamine แม้ประสิทธิภาพในการลดปวดจะดี อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ แต่เนื่องจากปฏิกิริยาระหว่างยาสูงมากและรุนแรงมากโดยเฉพาะหลอดเลือดส่วนปลายตีบรุนแรงจนขาดเลือด จึงไม่แนะนำให้ใช้ครับ (ในต่างประเทศนะครับ)

ที่สำคัญ “ถ้าเสพข่าวจนปวดหัว ลองกระซิบรักหลัว..ก่อนนอน”

อาจเป็นภาพระยะใกล้ของ 1 คน และ เครา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม