25 มีนาคม 2565

สงคราม - ข้าวสาลี - บะหมี่ - หัวใจวาย

 สงคราม - ข้าวสาลี - บะหมี่ - หัวใจวาย

จักรวรรดิญี่ปุ่น ยอมแพ้สงครามโลกครั้งที่สองอย่างสิ้นเชิง หลังจากระเบิดปรมาณูสองลูกที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ ผลจากการแพ้สงครามครั้งนั้นทำให้ญี่ปุ่นประสบภัยที่ร้ายแรงที่สุดอันหนึ่งตามมาคือ ขาดอาหาร
กำลังคนการผลิต กำลังเครื่องจักร ที่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมทหาร เงินทุนและผลผลิตต่าง ๆ ถูกส่งไปให้กองทัพจนสิ้น ประชานในประเทศต้องทนกับภัยความอดอยาก และแน่นอนเมื่อแพ้สงครามภัยนั้นรุนแรงมาก ประชาชนในประเทศขาดแคลนอาหารพื้นฐาน ข้าว แป้ง ในการผลิตอาหาร แม้ปัญหานี้จะได้รับการช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา ด้วยการส่งข้าวสาลีในปริมาณมหาศาลมาที่ญี่ปุ่น (ที่ให้ก็มี ที่บังคับซื้อก็มี)
แต่ข้าวสาลีนั้นและมาเปลี่ยนปัญหาความอดอยากได้จริงหรือ
ขอย้อนกลับไปที่ไต้หวัน ปี 1895 ปีนั้นกองทัพญี่ปุ่นและรัฐบาลญี่ปุ่นเข้ายึดครองไต้หวัน ใครไปเที่ยวไต้หวันแจะพบว่ามีกลิ่นอายวัฒนธรรมญี่ปุ่นมากมาย เพราะถูกยึดครองกว่า 50 ปี ที่นั่นไม่ได้อยู่สบายมากนัก ครอบครัวชาวไต้หวันพบความลำบากและมีการลุกฮือ การปราบปราบอยู่บ่อย ๆ ชาวไต้หวันมากมายเสียชีวิตจากการกดขี่นี้รวมทั้งพ่อแม่ของ Go Pek Hok เด็กน้อยชาวไต้หวันที่เพิ่งเกิด ในปี 1910 อีกด้วย
Go Pek Hok เป็นเด็กกำพร้า เติบโตจากเลี้ยงดูของปู่ย่าที่ทำธุรกิจสิ่งทอในไต้หวัน เมื่อเติบโตขึ้นเขาจึงเดินทางไปศึกษาระดับปริญญาสาขาเศรษฐศาสตร์ที่ญี่ปุ่น และเริ่มดำเนินธุรกิจสิ่งทอที่โอซาก้า แน่นอนตอนนั้นญี่ปุ่นยิ่งใหญ่และกำลังขยายขนาดจักรวรรดิตัวเองไปทั่วเอเชีย กิจการของ Go Pek Hok ก็ดูจะไปได้ดี แต่เมื่อสงครามมาถึงและแพ้สงคราม Go Pek Hok ถึงกับล้มละลายและต้องค้างจ่ายภาษี ติดคุก ในช่วงหลังสงคราม เมื่อออกจากคุก เขาก็เริ่มตั้งบริษัทครอบครัวทำอุตสาหกรรมอาหาร เพราะตอนนั้นอาหารขาดแคลนมาก อาหารที่เขาเลือกทำคือ เกลือ
วันหนึ่งเขาก็ไปส่งเกลือให้กับโรงงานผลิตขนมปัง ผลิตจากข้าวสาลีปริมาณมหาศาลที่ได้จากอเมริกา เขาก็ต้องคำถามในใจ … คนญี่ปุ่นไม่กินขนมปัง มีข้าวสาลีป้อนอุตสาหกรรมการผลิต (ไม่รู้ว่าถูกบังคับหรือไม่) แต่ผลผลิตไม่ตอบโจทย์ตลาด ทำไมไม่ผลิตบะหมี่ล่ะ เป็นอาหารที่เรากินอยู่แล้วนี่
Go Pek Hok เริ่มคิดจะทำบะหมี่ พอเริ่มศึกษาก็ได้รู้ว่าการทำบะหมี่ในตอนนั้นยังไม่ได้ทำในเชิงอุตสาหกรรม ไม่สามารถทำเป็นปริมาณมาก ๆ และเก็บไว้นานได้ เขาจึงพลิกความคิด มาทำอาหารของชาวญี่ปุ่นคือ ราเมน ที่ทำจากข้าวสาลีเป็นหลักซึ่งมีปริมาณมากในเวลานั้น มาผสมสูตรต่าง ๆ และใส่สิ่งสำคัญที่เชี่ยวชาญลงไปด้วยคือ เกลือ
…ข้อมูลที่ผมอ่านมาอย่างงูปลา ๆ ด้วยความรู้กระท่อนกระแท่นในวิชาเคมี เขาอธิบายว่าเกลือที่ใส่ลงไป เป็นส่วนประกอบที่ทำให้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปคงรูป และสามารถกลายเป็นบะหมี่เส้นหอม ๆ ได้อย่างรวดเร็วเพียงเติมน้ำร้อน ..สรุปว่าต้องใช้เกลือนี่แหละ…
Go Pek Hok ทดลองสูตรบะหมี่ราเมนสูตร 'ปรุงง่ายเก็บนาน' อยู่นานทีเดียว มาจบที่แป้งสาลี น้ำมันปาล์ม เกลือ ผงชูรส จนได้บะหมี่สีเหลืองแข็งรูปสี่เหลี่ยมแบน ที่สามารถเปลี่ยนสภาพเป็นราเมนที่คุ้นเคย เพียงแค่ใส่ชาม ใส่น้ำร้อน ทำผลิตภัณฑ์ให้หยิบง่าย ขนส่งง่าย และจดทะเบียนในชื่อ "Chikin Ramen" ภาษาบ้านเราก็บะหมี่-อบแห้ง-รสไก่ นั่นคือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในรูปแบบผลิตภัณฑ์พร้อมใช้งานห่อแรก ยี่ห้อแรกในโลก
Go Pek Hok จึงกลายเป็นสตาร์ตอัพระดับประเทศไปทันที บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ธุรกิจรุ่ง ชีวิตก็รุ่งไปด้วย เขาได้แต่งงานกับสุภาพสตรีชาวญี่ปุ่นและได้ขอสัญชาติญี่ปุ่นได้เมื่อปี 1966 ใช้ชื่อ Momofuku Ando และบริษัทบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของเขาคือ Nissin Food Products บะหมี่นิสชินนั่นเอง
แต่บะหมี่นิสชิน มาดังสุดขั้ว ในปี 1971 เนื่องจากอันโด เดินทางไปสำรวจตลาดที่อเมริกา ในช่วงสงครามเย็น เขาพบจุดสังเกตว่า บะหมี่ของเขาต้องฉีกซอง ใส่ชาม เทน้ำร้อน … มันไม่พร้อมกินเท่าที่ควร .. อันโดจึงคิดรูปแบบบะหมี่แบบใหม่ที่คราวนี้ไม่ใช่ดังแค่ที่ญี่ปุ่น แต่เป็นสตาร์ตอัพระดับยูนิครอนไปเลย นั่นคือการกำเนิด บะหมี่ถ้วยนิสชิน (Nissin Cup Noodle) ที่มีถ้วยให้เสร็จ มีส้อมให้ในถ้วย บะหมี่กลายเป็นแท่งกลมแบน ในถ้วยที่ก้นสอบแคบกว่าปาก เพื่อเก็บความร้อนบะหมี่ได้นาน และกินได้สะดวกมาก
อย่าบอกนะว่าตอนนี้ทุกคนกำลังเทน้ำร้อนใส่บะหมี่อยู่
คุณอันโด ดำเนินธุรกิจอย่างยิ่งใหญ่ ยิ่งใหญ่แค่ไหนก็มีพิพิธภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเพื่อรำลึกถึงงานของคุณอันโดถึงสองแห่งในญี่ปุ่น และเสียชีวิตในวัย 96 ปีด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว ในปี 2007 คุณอันโตได้ให้เคล็ดลับการมีชีวิตยืนยาวของเขาว่า
"...เล่นกอล์ฟทุกวัน และ กินบะหมี่ chikin ramen ทุกวัน.."
สุดยอดนักการตลาดอีกด้วยนะครับ แต่ลึก ๆ ผมแอบคิดว่าหรือปริมาณเกลือในบะหมี่ของคุณตาอันโดหรือเปล่านะ ที่ทำให้ Congestive Heart Failure ควบคุมไม่ได้ เพราะบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในปัจจุบัน แม้ได้รับการปรับสูตร 'เพื่อสุขภาพ' มาแล้ว ไม่ว่าจะลดเกลือลง ลดผงชูรส เพิ่มไฟเบอร์ในบะหมี่ ใส่ผักอบแห้ง (กระจึ๋งนึง) ก็ต้องนับว่าในหนึ่งหน่วยบริโภคของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหนึ่งซองหรือหนึ่งถ้วย มีปริมาณเกลือโซเดียมประมาณเท่ากับโซเดียมที่เราต้องการในแต่ละวันเรียบร้อยแล้วครับ
การไม่ควบคุมเกลือ เป็นเหตุอันดับต้น ๆ ที่ทำให้โรคหัวใจล้มเหลวควบคุมไม่ได้ และทำให้หัวใจล้มเหลวกำเริบเฉียบพลัน การควบคุมเกลือจึงมีความสำคัญมากในโรคหัวใจวาย หรือ น้ำท่วมปอด ที่เราคุ้นหูกัน
ใกล้สิ้นเดือนแล้ว .. ผมเป็นห่วง
อาจเป็นรูปภาพของ ผัดหมี่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม