06 มีนาคม 2565

ย้อนอดีต หอสมุดแห่งชาติ ตอนที่ 1

 ย้อนอดีต หอสมุดแห่งชาติ

เช้าวันอาทิตย์สดใสแบบนี้ ให้ทุกท่านไปชงกาแฟหอมกรุ่นและครัวซองต์อบอร่อย ๆ แล้วมานั่งจมในโซฟาตัวโปรดแล้วมาย้อนอดีตกันกับ หอสมุดแห่งชาติ

ต้องบอกว่า ผมไม่ได้ไปเยือนหอสมุดแห่งชาติมาเกือบ 20 ปีแล้ว เรื่องราวต่าง ๆ จึงเป็นเรื่องราวในความทรงจำสมัยเรียนประถมสมัยมัธยมครับ ยุคสมัยซื้อหนังสือที่วังบูรพา ยุคสมัยหาซื้อขนมกินย่านบางลำพู และรถเมล์ในกรุงเทพราคา 2 บาทและ 3 บาทตลอดสาย

ชีวิตผมวนเวียนในห้องสมุด ยืมหนังสือห้องสมุดโรงเรียน เป็นนักเรียนช่วยครูบรรณารักษ์เพราะได้อ่านหนังสือใหม่ ๆ อ่านมันดะเกือบทุกเล่ม ล่องไพร มังกรหยก ห้าสหายผจญภัย สมัยนั้นไม่มีความบันเทิงอื่นใด นอกจากหนังสือ ทีวียังเป็นรายการรวมดาวสาวสยาม กระจกหกด้าน ตามไปดู ช่องเก้าการ์ตูน บิ๊กซีนีม่า ที่เฝ้ารอดูรายการโปรดกันเป็นสัปดาห์

คุณพ่อน่าจะได้รับรู้เรื่องราวนี้จากคุณครูประจำชั้น และคงอยากให้ลูกเปิดหูเปิดตา จึงแนะนำ 'หอสมุดแห่งชาติ' ท่าวาสุกรี ให้ผมรู้จัก ตอนนั้นคือตื่นเต้นมากครับ คิดดูว่าเด็กน้อยที่อยู่แต่ห้องสมุดโรงเรียนขนาดห้าร้อยแปดร้อยเล่ม ยังมีความสุข แล้วถ้าได้ไป 'แห่งชาติ' มันจะขนาดไหน ตอนนั้นผมอ่านหนังสือความรู้รอบตัวและจำได้ (เพราะมีเล่มเดียวอ่านมันวนไปวนมา) ว่าหอสมุดแห่งชาติที่รัฐสภาอเมริกา คือ ห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดในโลก โห…แห่งชาติมันต้องยิ่งใหญ่มาก

สิ่งที่คุณพ่อทำคือ ซื้อหนังสือแผนที่รถเมล์กรุงเทพและสอนว่าต้องนั่งรถสายอะไรได้บ้าง ลงที่ไหน ต่อรถอย่างไร !?! ใช่ครับ ให้ไปเอง ตอนนั่นพอนั่งรถเมล์เป็นแล้วล่ะ ในสองสามครั้งแรกคุณพ่อนั่งไปด้วย แต่นั่งแบบไหนรู้ไหมครับ ไปนั่งเก้าอี้ยาวด้านหลังโน่น บอกว่าพ่อนั่งไปด้วยแต่เราไม่รู้จักกัน จ่ายเงินเอง ถึงป้ายก็ลงเอง พ่อจะลงตามโดยไม่บอกอะไรเลย ซึ่งเราก็ไปถูกนะครับ หลังจากนั้นก็ปล่อยเดี่ยว เป็นครั้งแรกที่เดินทางแล้วต้องต่อรถโดยสารมากกว่าหนึ่งสาย

ผมนั่งรถเมล์สาย 82 จากบ้านมาลงที่หน้าวัดโรงเรียนวัดราชบพิธ บริเวณกระทรวงพาณิชย์เดิม ที่เป็นพิพิธภัณฑ์ในปัจจุบัน และรอรถเมล์สาย 3 หรือสาย 9 เพื่อไปลงที่ป้ายรถหน้าหอสมุดแห่งชาติเลย สมัยนั้นรถไม่ติดครับ จากบ้านนั่งชมวิวชมเมือง (จนจำได้) ประมาณหนึ่งชั่วโมงก็ถึง

หอสมุดแห่งชาติเมื่อแรกเห็นไม่เหมือนกับจินตนาการเลย ในใจคิดว่าต้องเป็นอาคารหรูหราแบบฝรั่ง กว้างใหญ่ แต่ภาพตอนนั้นเหมือนวัด เหมือนวังโบราณ เป็นอาคารทรงไทย หลังคาสูงสีส้ม แต่ก็หลังใหญ่ สง่างาม ตอนแรกคิดว่ามาผิดที่ อาคารเหมือนพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่เคยไปเยือนก่อนหน้านี้ จนเห็นป้ายหินอ่อนขนาดใหญ่ว่าหอสมุดแห่งชาติตรงป้ายรถเมล์พอดีจึงรู้ว่ามาถูกที่

ประตูตรงป้ายรถเมล์หน้าหอสมุด เกือบจะพ้นเขตหอสมุดแห่งชาติไปทางด้านเกียกกาย เมื่อเดินย้อนกลับมาจะเห็นหลายอาคาร มีอาคารหอจดหมายเหตุแห่งชาติ อาคารหลักและไปทางสุดขอบรั้วคือหอสมุดพระวชิรญาณ เอาล่ะเราเข้าประตูหน้าอาคารหลักกันเลย

เดินเข้าไปจะพบจุดประชาสัมพันธ์และทำบัตรสมาชิก ใช่ครับ บัตรสมาชิก ตอนนั้นหากจะเข้าหอสมุดแห่งชาติต้องทำบัตรสมาชิกแบ่งเป็นบัตรเยาวชนและบัตรผู้ใหญ่ รูปแบบบัตรเหมือนกัน ต่างกันที่ราคาสมาชิก ถ้าจำไม่ผิดสมาชิกภาพจะมีอายุ 10 ปี หากไม่มีบัตรก็เข้าหอสมุดไม่ได้ ใครลืมก็ต้องทำใหม่

เจ้าหน้าที่เหมือนรู้ว่าคนจะลืมบ่อย มีบัตรกระดาษแข็งวางไว้เป็นตั้ง กาวติดรูป ปากกา วางเป็นจุดทำบัตรสองจุดข้างประชาสัมพันธ์ ในยุคสมัยนั้น ทุกการติดต่อกับภาครัฐเราจะต้องมี รูปถ่ายหนึ่งนิ้ว สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประชาชน (ยุคสมัยผมเราทำตอนอายุ 15 และจะมีใบเหลืองมาก่อนบัตรเป็นเวลาสามเดือน) สารพัดสำเนา ผมเองที่เคยเป็นผู้ช่วยบรรณารักษ์ก็พอรู้เรื่องนี้มาบ้าง วันแรกที่ไปหอสมุดจึงพกแฟ้มเอกสารพวกนี้ไปด้วย การทำบัตรก็ง่ายดายเลย แถมหลังจากนั้นก็ไปเคลือบบัตรด้วยนะ

พอเราได้บัตรมาแล้วคราวนี้เราก็ไปทัวร์กัน

เดี๋ยวมาต่อให้ตอนบ่ายนะครับ

อาจเป็นรูปภาพของ กลางแจ้ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม