13 กุมภาพันธ์ 2564

หัวใจ-ไต-ตับ มีความเกี่ยวข้องกัน

 หัวใจ-ไต-ตับ มีความเกี่ยวข้องกัน

หนึ่งในคำถามที่ผู้ป่วยหรือญาติหลายคนอาจจะสงสัยว่า หากเราเริ่มป่วยด้วยด้วยโรคเรื้อรังของระบบหัวใจ ไต ตับ พอนานไปทำไมอวัยวะที่เหลือจึงแย่ลง หรือหากเกิดเหตุฉับพลันกับอวัยวะใด ทำไมอวัยวะที่เหลือจึงทรุดลงไปด้วย หรือการตรวจรักษาบางอย่างเป็นการมองข้ามไปถึงการป้องกันความเสียหายต่ออวัยวะอื่น นอกเหนือไปจากอวัยวะที่เสื่อมอยู่แล้ว
ในระยะหลังเราพบความสัมพันธ์ในการควบคุมซึ่งกันและกันของระบบอวัยวะ ที่ทำให้เราสามารถป้องกันอวัยวะล้มเหลวได้ดีขึ้น สองภาวะที่เป็นที่กล่าวถึงและมีการศึกษามากขึ้นคือ

Hepatorenal Syndrome
CardioRenal Syndrome

เนื่องจากผมไม่ได้มาอธิบายกลไก การวินิจฉัยและการรักษา ผมเพียงแค่อยากให้เป็นภาพรวมของความเชื่อมโยงกันของระบบร่างกาย ที่นับวันเรามีหลักฐานความเกี่ยวข้องนี้มากขึ้น และทำให้การรักษาออกแบบเพื่อร่างกายทั้งตัวมากกว่าระบบอวัยวะใด อวัยวะหนึ่ง

Hepatorenal Syndrome พบในผู้ป่วยโรคตับเรื้อรัง ทั้งสารน้ำในเลือดที่ลดลงจากระบบฮอร์โมน ทั้งเลือดที่คั่งค้างในลำไส้และช่องท้อง ทำให้เลือดไปที่ไตลดลง ทั้งความดันเลือดดำที่เพิ่มขึ้นไปทำให้กลไกการกรองของเสียที่ไตผิดปกติ ดังนั้นเมื่อตับเสื่อมนานเข้า ไตจะเริ่มเสื่อม และเมื่อมีการบาดเจ็บเฉียบพลันต่อตับ ไตก็จะโดนไปด้วย เช่นติดเชื้อ หรือมีการเจาะน้ำในท้องปริมาณมากแล้วไม่ได้ให้อัลบูมินชดเชย

สามารถไปอ่านเกณฑ์การวินิจฉัยจาก international ascites club ส่วนวิธีการรักษามีทั้ง ขยายหลอดเลือดในช่องท้องและตีบหลอดเลือดในช่องท้อง เพราะตอนนี้มีทั้งสองทฤษฎีที่สามารถอธิบายปรากฏการณ์นี้ เช่น การให้อัลบูมิน การใช้ยา terlipressin

Cardio-renal syndrome พบได้ทั้งในผู้ป่วยเฉียบพลันและเรื้อรัง สาเหตุจะเริ่มจากไตไปหาหัวใจ หรือหัวใจไปหาไตก็ได้ คาดว่าเกิดจากเลือดไปเลี้ยงไตไม่พอ ร่วมกับเลือดดำที่คั่งมากทำให้ระบบการกรองของไตบกพร่อง ปัจจุบันมีความพยายามที่จะหาวิธีการตรวจที่รวดเร็วพอ เพื่อที่ว่าเกิดเหตุที่อวัยวะใด จะไปปกป้องอีกอวัยวะได้ทัน และสามารถปรับการรักษาได้เหมาะสม

เช่นภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน เราต้องพยุงหัวใจให้บีบตัวดีพอที่จะส่งเลือดไปที่ไต และต้องลดความดันฝั่งเลือดดำให้ลดลง ไม่ให้การกรองของไตบกพร่อง ซึ่งถ้าเราลดสารน้ำด้วยยาขับปัสสาวะเพื่อพยุงทั้งฝั่งเลือดแดงและเลือดดำให้ทำงานได้ดี หัวใจทำงานดี แต่การใช้ยาขับปัสสาวะปริมาณสูงก็เป็นพิษต่อไต จึงต้องหาการรักษาที่เหมาะสม การตรวจจับการล้มเหลวของอีกระบบอวัยวะที่เร็วพอ

สำหรับประชาชนทั่วไป ผมอยากให้รู้ว่า ด้วยความรู้และเทคโนโลยีในยุคปัจจุบัน เราทราบความเชื่อมโยงกันของระบบอวัยวะที่ชัดเจน สามารถตรวจจับ วัดผลได้ดี และที่สำคัญมีวิธีที่ดีพอที่จะทำให้อวัยวะล้มเหลวต่อเนื่องกัน จะได้ลดอัตราการตาย อัตราความพิการ ค่าใช้จ่ายในการรักษา และช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตในระยะยาว

สำหรับคุณหมอ คุณพยาบาล คุณเภสัช ดาวน์โหลดเอกสารด้านล่างมาอ่านเพิ่มได้เลยครับ

สามารถไปอ่านเพิ่มได้ที่นี่ ฟรีทุกอัน

Angeli ,Paolo et al. NEWS in Pathophysiology, definition and Classification of The HepatoRenal Syndrome : A Step Beyond the International Club of Ascites Consensus Document. Journal of Hepatology, Vol 71, issue 4, 811-22

Alicia S. Ojeda et al. An integrated Review of the HepatoRenal Syndrome. Annals of Hepatology, Vol 22, May-June 2021, 100236

Cardiorenal syndrome: Classification, Pathophysiology, Diagnosis and treatment Strategies: A Scientific Statement From the American Heart Association. Circulation. 2019; 139:e840-e878

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม