07 กุมภาพันธ์ 2564

แนะนำการสรุปเนื้อหา ทางลัดง่าย ๆ ในยุคศตวรรษที่ 21

 แนะนำการสรุปเนื้อหา ทางลัดง่าย ๆ ในยุคศตวรรษที่ 21

มีคำถามจากน้อง ๆ หมอหลายคนว่า มีวิธีสรุปเนื้อหาและบันทึกอย่างไรดี ทั้งจากน้องนักเรียนแพทย์ น้องเอ็กซเทิร์น ส่วนเรซิเดนท์และเฟลโล่น่าจะสรุปเองได้แล้ว โอเค ในฐานะรุ่นพี่ ก็อยากจะขอแนะนำบ้าง เผื่อจะเป็นประโยชน์กับน้อง ๆ นะครับ

สำหรับสายจด

พี่ถือว่าการอ่านเอง สรุปในใจแล้วบันทึกออกมาเป็นภาษาเราเอง คือ สุดยอดของการสรุปครับ ใข้ทักษะครบ ฟังพูดอ่านเขียน ย่อความ ทำmindmap ถ้าทำได้แบบนี้น้องจะจำได้ ใช้เป็น ในวิชานั้น ๆ ได้เลย แต่มันไม่ง่าย เพราะ

* น้องต้องมีวินัย มีเวลา ที่จะค่อย ๆ ทำสรุปไปทีละเรื่อง ทีละวิชา วินัยต้องเป๊ะ ตารางต้องดี

* ลายมือต้องพออ่านได้นะน้อง สำคัญมากคือ อ่านลายมือตัวเองไม่ออก ถ้าจะใช้วิธีนี้ มีการทดสอบง่าย ๆ ให้เพื่อนอ่านที่เราสรุป ถ้าเพื่อนอ่านไม่ออก พี่ว่าไปใช้วิธีอื่นเหอะ

* ต้องฝึกทักษะการสรุป ง่ายสุดคือ เขียนเป็นหัวเรื่อง และแบ่งเป็นข้อ เช่น สรุปเรื่องไทรอยด์เป็นพิษ ก็สรุปว่าเหตุที่พบบ่อยคืออะไร อาการและอาการแสดง ส่งตรวจอะไร แยกโรคอื่นที่คล้ายกันอย่างไร รักษาแบบไหนบ้าง ติดตามอย่างไร แต่ละหัวข้อก็สรุปเป็นข้อ 1,2,3.. ไล่ไปเรื่อย ๆ

* น้องจะใช้สมุดปากกา หรือเดี๋ยวนี้จะใช้ tablet, iPAD ก็แล้วแต่ถนัด พี่ถนัดสมุดปากกาดินสอ พี่ชอบใช้ปากกาหมึกซึมครับ

* มีที่เก็บสมุด รักษาของได้ดี พี่แนะนำสมุดราคาสูงสักหน่อย กระดาษดี จดไปนาน ๆ มันจะไม่เหลือง ไม่จาง ไม่ขาดง่าย

* แบ่งสมุดเป็นวิชา เว้นสิบหน้าแรกทำสารบัญ เขียนเลขหน้าเสมอ พยายามใช้สมุดขนาดเดียวกัน พี่ใช้การห่อปกเพื่อแยกวิชาครับ ตัวอย่างที่ใช้คือ ใช้สีกระดาษหรือลายแยกวิชา วิชาที่พี่จดบันทึกมากสุดคือ อายุรศาสตร์ต่อมไร้ท่อครับ เนื้อหาเยอะมากจริง ๆ

📖📖 สำหรับสายเติม

เนื่องจากเนื้อหามันเยอะพี่รู้ จดเองก็ไม่ครบ หลงลืม ไม่เข้าใจ เว้นไว้แล้วไม่เคยมาเติม พี่ก็แนะนำอีกวิธีครับ คือ ซื้อหนังสือสรุปแล้วเขียนเติมจุดที่เราอ่านลงไป ยกตัวอย่างเช่น น้องเรียนวิชาอายุรศาสตร์ น้องลงทุนซื้อหนังสือเช่น lecture note, clinical clerkship, board review, ตำราอายุรศาสตร์สถาบันต่าง ๆ ที่เป็นรวมหัวข้อมาหนึ่งเล่ม เวลาเรียนไปอ่านไป ก็จดบันทึกเพิ่ม ใช้กระดาษเขียนเพิ่มแล้วเย็บติด ยกตัวอย่าง พี่ใช้ critical care board review ที่รวบรวมเนื้อหาสรุป ที่จะค่อนข้างครบ ใช้เป็นแนวทางการอ่าน แล้วเติมไปเรื่อย ๆ พอจบเล่ม เราก็ได้ตำราของเราเอง เขียนขยายความ เติมที่เราเข้าใจ อันไหนที่เก่าไป พี่เอากระดาษเขียนใหม่ ทากาวทับเลยก็มี

แต่ก็มีทริกนะ

* เลือกเล่มที่ไม่หนามาก โดยทั่วไปหนังสือพวกนี้ไม่หนาอยู่แล้ว จะได้หยิบจับได้ง่าย ถ้าหนาไป พี่แนะนำไปหั่นแล้วทำปกทำเล่มเพิ่ม ตอนที่พี่เรียนอายุรศาสตร์ พี่เอา mayo clinic board review ไปหั่นเป็น 4 เล่มครับ

* เลือกปากกาที่เขียนบนกระดาษนั้นได้ โดยทั่วไปหมึกแห้ง ลูกลื่นดีสุด จะได้เขียนเติม เลือกที่เส้นเล็กสักหน่อย 0.38 mm กำลังดี ใช้สักสองสี สีน้ำเงินและแดง (หนังสือมันพิมพ์สีดำอยู่แล้ว) แบ่งสี เช่น น้ำเงินคือเติมส่วนของเรา แดงคือแนวทางย่อ ๆ ที่ใช้จริง

* ถ้ามีเนื้อหามากจนต้องเขียนกระดาษมาแปะเพิ่ม พี่จะเขียนแล้วพับ 60:40 เพื่อจะได้เห็นหัวเรื่องที่เขียนเพิ่ม และใช้พื้นที่ส่วนบนแปะติดหน้านั้นด้วยเทปใส ตรงส่วนบนของหนังสือ พลิกอ่านง่าย พอปิดหนังสือแล้วอย่าให้กระดาษเลยขอบหนังสือออกมา มันจะขาดและหลุด

* เวลาผ่านไป เนื้อหาในหนังสือเก่าไป มีพิมพ์ใหม่ ก็อย่าไปเสียดายของเก่า ให้ถือเป็นโอกาสดีที่จะเริ่มทำใหม่ ถ้าจำเป็นก็ซื้อใหม่ พี่เขียนเต็มที่กับตำรา gastroenterology ของศิริราช พอออกเล่มใหม่มา เสียดายนะ แต่ทบทวนใหม่ดีกว่า

* เวลาพกหนังสือ แนะนำห่อปกครับ และใส่ซอง ถือตัวเปล่าเล่าเปลือยจะเสียง่าย อย่าลืมนี่คือหนังสือที่เราใช้เป็นแกนในการจดบันทึกและทบทวนนะครับ ต้องลงทุนกับมันสักหน่อย

💻💻 สำหรับสายไฮเทค ดิจิตอล

ยุคสมัยนี้แล้ว มีเทคโนโลยีอีบุ๊ก อีโน้ตบุ๊ก ให้พกพากันมากมาย และพี่เชื่อเหลือเกินว่าน้อง ๆ ทุกคนคงมีกระดานชวนอิเล็กทรอนิกส์อันใดอันหนึ่งในมืออย่างแน่นอน สะดวกมากนะครับ พี่เองใช้อีบุ๊กรีดเดอร์อันเดียว ทำเพจมาหลายปี ไม่ต้องพกหนังสือมากมายอะไร และเดี๋ยวนี้ไม่ว่าอีบุ๊กแบบลิขสิทธิถูกต้อง หรือแบบซ่อนเร้นมา จะมีฟังก์ชั่นการเขียนแทรก จดเพิ่มทั้งนั้น พี่ใช้แฮริสันในคินเดิล ก็จดเพิ่มได้ หรือใครไปได้ไฟล์พีดีเอฟมา ก็ใช้ adobe reader จดเพิ่มได้ง่าย ๆ

หรือมีแอปจดบันทึกมากมายในกระดาษชนวนอิเล็กทรอนิกส์ ที่ไม่เปลืองกระดาษ จัดหมวดหมู่ เลือกรูปแบบกระดาษ แทรกตาราง ใส่สี ใส่ลิ้งก์ สามารถถ่ายรูปแทรกได้ ดึงไฟล์มาแก้ไขได้ทั้งในแทบเล็ตและคอมพิวเตอร์ แชร์ให้กันง่าย

มันก็มีทริกอีก คือ พี่ใช้มาพอสมควร พอแนะนำได้

* สำคัญมากคือ สมัคร cloud storage เพราะมันสามารถดึงข้อมูลมาอ่านหรือแก้ได้ตลอด โอกาสหายหรือเสีย น้อยมาก เวลาเปลี่ยนเครื่องก็ไม่ต้องวุ่นวาย

* อีบุ๊กสามารถทำบุ๊กมาร์กได้ และพี่รู้สึกว่าจะมีแอปที่สามารถรวบรวมทุกสิ่งที่เราจดมาอยู่ในที่เดียวกันได้ (ในคินเดิลนะ) ทำให้จัดการได้ง่าย แต่พี่ไม่ได้ใช้นะ พี่ใช้สมุด อ้อ.. การบันทึกในอีบุ๊กส่วนใหญ่ต้องพิมพ์นะครับ เสียเวลาพอสมควร ไม่รู้ไอแพดใหม่ทำแบบเขียนได้ไหม

* แอปที่พี่ใช้จดบ่อยมากคือ evernote เพราะใช้มานาน สมัครสมาชิกให้ใช้ off line และเก็บคลาวด์ได้มาก ใช้ลายมือได้ แทรกรูปได้ ถ่ายภาพจากสมุด moleskine มาจัดหมวดหมู่ได้ด้วย

* ใครใช้ tablet จะปวดตานะครับหากอ่านนาน ๆ ได้ฟังก์ชั่นมากกว่าก็จริงแต่ปวดตาพอสมควร ถ้าใช้อีบุ๊กรีดเดอร์จะเป็น e-ink ไม่ปวดตา แต่การทำงานช้ามาก ไม่ต้องพูดถึงเรื่องจดเพิ่ม ช้าพอควรเลย แม้รุ่นใหม่ ๆ จะใช้แอนดรอยด์กับมีปากกามาแล้วก็เถอะ

* อย่าลืมเรื่องแบตเตอรี่ พาวเวอร์แบ้งค์ ปลั๊กชาร์จ เครื่องรวน อันนี้อาจจะทำให้ที่เราบันทึกมากลายเป็นอากาศธาตุไปได้ครับ ตรวจสอบดี ๆ ด้วย

สุดท้ายไม่ว่าวิธีไหน ก็ต้องกำกับด้วยสี่อย่างนี้ "ฉันทะ-วิริยะ-จิตตะ-วิมังสา" และด้วยปรัชญา "ทางเดินสู่เกียรติศักดิ์ จักประดับด้วยดอกไม้ หอมหวลชวนจิตไซร้ ไป่มี"

หวังว่าคงมีประโยชน์บ้างนะครับน้อง ๆ

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม