20 กุมภาพันธ์ 2564

Jendrassik maneuver

 Reinforcement Maneuver มันคือการเบี่ยงเบนความสนใจจริงไหม

ในการตรวจการตอบสนองรีเฟล็กซ์ของกล้ามเนื้อและระบบประสาท ที่เราเห็นคุณหมอเคาะแขนเคาะเข่า สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในการตรวจคือ ส่วนของร่างกายที่ตรวจจะต้องไม่เกร็ง ไม่อยู่ภายใต้การควบคุม เพราะเราต้องการตรวจการตอบสนองระดับไขสันหลัง หากมีการเกร็งหรือการทำงานของกล้ามเนื้อมัดนั้น เราจะไม่สามารถเห็นการตอบสนองระดับไขสันหลังได้ สัญญาณการควบคุมจากสมองมันแรงกว่ามาก

เป็นที่มาที่ว่าเวลาตรวจแบบนี้ คุณหมอจะบอกคุณว่า “ปล่อยแขนสบาย ๆ นะ ไม่ต้องเกร็ง” หรือจัดท่าให้คุณไม่สามารถเกร็งหรือใช้กล้ามเนื้อนั้น ตัวอย่างที่ดีคือ ให้ยืนด้วยเข่าตัวเอง ขาท่อนล่างส่วนข้อเท้าเลยขอบเตียงออกมา เพื่อให้ข้อเท้าอยู่ในท่าอิสระ แล้วคุณหมอจะเคาะเอ็นร้อยหวาย (ท่านั่งปรกติ ข้อเท้าจะไม่อิสระเท่าไร)

แต่..อย่างที่บอกไปตอนแรก ไอ้เจ้าสัญญาณระดับไขสันหลังนี้ มันถูกแทรกแซง มันถูกบังคับได้ง่ายมาก จากสัญญาณที่ทรงพลังกว่าจากสมอง ถ้าคุณหมอตรวจเคาะข้อพับแขน แล้วคุณเพ่งพิจารณาที่ข้อศอกนั้น สัญญาณจากสมองคุณจะไปควบคุมการทำงานนั้นแทนไขสันหลังทันที การแปลผลจึงยากมาก เราจึงต้อง ...เบี่ยงเบน

Reinforcement maneuver คือ ให้กล้ามเนื้อมัดอื่นทำงานแล้วไปตรวจมัดที่ต้องการ เพื่อลดการเพ่งพิจารณาที่กล้ามเนื้อมัดที่ต้องการตรวจ ยกตัวอย่าง คุณเจี๊ยบเลียบด่วนมาตรวจ ลุงหมอก็จะเคาะเข่า จึงบอกว่า เดี๋ยวจะตรวจเคาะเข่านะ ไม่เจ็บ ลุงหมอไปเคาะเข่าปรากฏว่าเคาะไม่ขึ้น คลำดูกล้ามเนื้อก็เกร็งมาก (ติดมาจากเชียร์ลิ้วพูน เกร็งจนเยี่ยวเหนียว) ลุงหมอจึงให้คุณเจี๊ยบหลับตา นึกถึงแมนซิตี้ได้แชมป์ ให้กัดกรามด้วยความแค้น กำหมัดอย่างแค้นสุด ๆ คุณเจี๊ยบเลียบด่วนกัดกร้ามกร้วม กำหมัดแน่น เข่าก็เลยผ่อนคลาย ลุงหมอเคาะได้อย่างสบายใจ ผลการตรวจแม่นยำกว่า

หลายท่านในนี้อาจเคยได้รับประสบการณ์การตรวจแบบนี้...จะได้ไม่งง

แต่ความเชื่อเรื่องการเบี่ยงเบนความสนใจของผู้ป่วยนี้ มีคำอธิบายทางสรีรวิทยานะครับ คนที่ตั้งวิธีนี้และสมมติฐานนี้คือ Erno Jendrassik คุณหมอประสาทวิทยาชาวฮังกาเรียน โดยคุณหมอจะให้คนไข้กัดฟัน หรือจับมือตัวเองแล้วดึงกันเอง เป็นการใช้กล้ามเนื้อร่างกายท่อนบน ในการตรวจรีเฟล็กซ์ร่างกายท่อนล่าง (เข่าหรือข้อเท้า) โดยมีสมมติฐานว่าสัญญาณประสาทจากการใช้งานกล้ามเนื้อ การรับรู้ตำแหน่ง ความตึงของกล้ามเนื้อ จะสามารถไปทำให้การเคาะรีเฟล็กซ์ หรือสัญญาณที่เราตรวจนั้นชัดเจนขึ้น

คือไม่ได้เกิดจากการเบี่ยงเบนหรือการควบคุมจากสมองส่วนบน แต่เป็นการควบคุมสัญญาณและปรับแต่งกันเองในระบบกล้ามเนื้อและไขสันหลัง (ใครสนใจไปค้นเพิ่มได้จากคำค้น Jendrassik maneuver mechanism)

แต่ยุคนั้น เทคโนโลยีการพิสูจน์ยังไม่ชัดเจน จนยุคปัจจุบันมีวิธีการตรวจสอบได้จากการวัดสัญญาณไฟฟ้าเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ การทำ functional MRI การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง และมีงานวิจัยในระดับที่ “น่าจะ” สนับสนุนสมมติฐานของ Jendrassik ว่าเกิดการควบคุมหรือการ enhancing ในระดับไขสันหลัง ไม่ได้เกิดจากการควบคุมและเบี่ยงเบนจากสมองอย่างที่เราเคยรู้กัน (คนอื่นอาจรู้แต่แรก แต่ผมมารู้กลไกเมื่อไม่กี่ปีนี้เอง)

สรุปว่า reinforcement ไม่ได้เบี่ยงเบนนะครับ แต่ตั้งใจทำตามกลไกการควบคุมของร่างกายเลยทีเดียว

อาจเป็นรูปภาพขาวดำของ 1 คน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม