07 ธันวาคม 2558

ฤดูหนาวกับโรคทางอายุรกรรม

ฤดูหนาวกับโรคทางอายุรกรรม

ฤดูหนาวมาแล้ว หลายๆคนอาจชอบฤดูหนาวแต่สำหรับอายุรแพทย์และอายุรแพทย์โรคหัวใจคงไม่ปลื้มฤดูหนาวมากนัก เพราะงานพวกเราจะมากขึ้น

   สมาคมแพทย์โรคหัวใจอเมริกาได้ส่งคำเตือนในวารสาร heart เมื่อ 16 กันยายน 2015 ว่าฤดูหนาวแล้วผู้ป่วยโรคหัวใจต้องระวังตัวให้มาก โดยเฉพาะการทำงานกลางหิมะที่จะทำให้อุณหภูมิกายต่ำกว่า 35 และการดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงฤดูหนาว แต่ไม่ได้บอกเหตุผลเอาไว้ ผมได้ไปค้นเหตุผลหลายๆวารสาร หลายๆตำรา ทุกๆวารสารบอกเหมือนๆกันว่า โรคหัวใจและหลอดเลือดจะพบมากขึ้นในฤดูหนาวและส่วนมากเป็นการศึกษาในประเทศเขตหนาว (คือในวารสารใช้คำว่า windy, winter และ..และ..snow) ก็ไปเจอรีวิวอันหนึ่งอธิบายได้ดีและรวบรวมข้อมูลจากเอเชียด้วย แต่ไม่มีประเทศไทยนะครับ ก็เลยเอามาเล่าให้ฟัง ผมว่าบางส่วนน่าจะเข้ากับบ้านเราได้
    การศึกษาทั้งหมดเป็นการวิเคราะห์ความเสี่ยงโดยตามกลุ่มศึกษาในระยะยาว (prospective cohort observational study) ในแง่นี้ผมว่าไม่ต้องเป็นการทดลองทางการแพทย์ผมก็รับได้นะ
โรคหัวใจและหลอดเลือดที่มีมักพบมากในฤดูหนาวมีดังนี้และอธิบายคร่าวๆได้แบบนี้

โรคลิ่มเลือดดำอุดตัน จะพบมากขึ้นเพราะสารการแข็งตัวของเลือดทำงานมากขึ้นครับ (hypercoagulable state)และหลอดเลือดส่วนปลายที่บีบตัวมากขึ้น ทัั้งเลือดดำอุดตันที่ขาและลิ่มเลือดหลุดลอยไปอุดที่ปอด

เส้นเลือดแดงฉีกขาดหรือโป่งพอง เชื่อว่าความกดอากาศที่เปลี่ยนและการกระตุ้นฮอร์โมน catecholamines ทำให้เกิดเหตุมากขึ้น มีบางรายงานอธิบายว่าฤดูหนาวคนดูดบุหรี่มากขึ้น ก็เลยพบเพิ่มขึ้น

หลอดเลือดสมองตีบ อันนี้มีการศึกษามากและมีในเอเชียด้วยครับ พบมากว่าฤดูร้อน 39% ส่วนหลอดเลือดสมองแตกนั้นมีการศึกษามากกว่าตีบอีกครับและผลชัดเจนว่าหนาวเกิดมากกว่าร้อนในทุกๆทวีป เชื่อว่าหนาวมากไปกระตุ้นฮอร์โมน ทำให้ความดันโลหิตสูงจึงเกิดเหตุการณ์มากขึ้น

หัวใจวาย พบมากขึ้นเช่นกัน เพราะอากาศหนาวจึงต้องรักษาความอบอุ่นโดยให้หลอดเลือดตีบตัวลง ลดการสูญเสียความร้อน ไอ้ฮอร์โมน-อิพิเนฟรีน-ที่ช่วยรักษาความร้อนที่มีมากเกินไป ทำให้หัวใจวายครับ

หัวใจเต้นผิดจังหวะ (ทั้ง AF และ VT/VF) เชื่อว่าเกิดจากความแปรปรวนของอากาศช่วงร้อน-หนาว สลับกัน และปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ที่มากขึ้นในฤดูหนาว

อาการเจ็บอกและกล้ามเนื้อหัวใจตาย อันนี้ข้อมูลยังไม่ชัดเจนมากเหมือนข้างต้น แค่บอกว่าในฤดูหนาว เคสที่มาโรงพยาบาลด้วยเรื่องนี้เพิ่มขึ้น

ในวารสารนี้อธิบายสาเหตุที่ทำให้เกิดได้ดี ผมโพสต์ URL มาให้ท่านที่สนใจค้นต่อที่
N Am J Med Sci. 2013 Apr; 5(4): 266–279 หรือที่
http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3662093/

เหตุต่างๆคร่าวๆคือ อุณหภูมิที่ลดลงไปทำให้ความดันโลหิตสูง เส้นเลือดส่วนปลายตีบแคบ และสารทำให้เลือดแข็งทำงานเพิ่มขึ้น
วิตามินดีที่ลดลงเพราะเราขี้เกียจออกนอกบ้าน มันหนาว ก็เลยลดลงผลการปกป้องหัวใจก็น้อยลง
และฤดูหนาวมีการติดเชื้อต่างๆเพิ่มขึ้นและเชื้อโรคต่างๆนั้นบางตัวไปทำให้หัวใจล้มเหลวได้ ขาดการออกกำลังกาย เอาแต่นั่งอุ่นๆในบ้านดื่มช็อกโกแลตก็ทำให้โรคหัวใจเพิ่ม เอาละแต่ผมว่าสาเหตุจริงๆน่าจะเกิดจาก ฮอร์โมน-catecholamine-ที่เพิ่มขึ้นมากกว่า

ฝากให้เรซิเดนท์หรือเฟลโลว์ เอาไว้ทำวิจัย seasonal incidence ในประเทศไทยว่าจริงตามนี้ไหม น่าสนใจกว่า "อัตราการเกิดหัวใจวายตอนที่มีการแข่งฟุตบอลโลก" หลายเท่านัก (ก็ขนาดนั้นยังมีคนทำ ตีพิมพ์ในวารสารที่มี impact factor สูงๆได้เลย)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม