18 ธันวาคม 2558

การตรวจร่างกาย

เตรียมตัวเข้ารับการตรวจร่างกาย 10 ข้อ

ทางการแพทย์นั้นเราสอนกันทุกๆระดับว่าการซักประวัติสามารถวินิจฉัยโรคได้70% อีก 20%เกิดจากการตรวจร่างกาย เราสอนแพทย์ถึงวิธีการตรวจร่างกาย วันนี้ผมขอมองมุมกลับว่าคนไข้จะต้องทำอะไรและจะเจออะไรบ้างเวลาได้รับการตรวจร่างกายพื้นฐานทางอายุรกรรมครับ

1.‪‎การตรวจบริเวณใบหน้าและศีรษะ‬ คุณหมอจะใช้การมองสำรวจโดยรอบก่อนครับ มีแผล มีผื่น มีไฝไหม หลังจากนั้นจะมีการตรวจศีรษะ ซึ่งต้องมีการจับศีรษะและส่วนมากคนไทยก็จะถือแต่ก็อยากให้เข้าใจว่าจำเป็นครับ หมออาจจะแหวกเส้นผม ดึงผมดูว่าร่วงไหม ดูแนวเส้นผม ผื่นที่หนังศีรษะบางทีก็ต้องจับต้องลูบครับ ตรวจบริเวณใบหน้านั้นอาจมีการเคาะแก้มดูว่าเจ็บไซนัสไหม บางครั้งก็ต้องเชิดจมูกจับดึงใบหู คราวนี้ถ้าบางท่านเสริมจมูกหรือทำใบหน้ามาอาจตรวจยาก ก็บอกหมอได้ครับจะได้ไม่ทำอันตรายต่อซิลิโคนมาก‬‬

2.‪‎การตรวจในช่องปาก‬ ก็ควรคายเอาหมากฝรั่งหรือลูกอมออกก่อนครับ ผมเคยสะกิดก้อนสีขาวที่เหงือก—มันคือหมากฝั่ง— อ้าปากให้สุดๆเลยครับ บางที่อ้าสุดก็ไม่ต้องใช้ไม้เข้ามาช่วยกดลิ้นหรือแหวกกระพุ้งแก้มเลย คุณหมอจะดูลำคอส่วนหลังก็เงยหน้าเล็กน้อยแล้วแลบลิ้นออกมาให้เต็มที่ ทำท่าแลบลิ้นปลิ้นตานั่นแหละครับจะช่วยให้เห็นโคนลิ้นและคอด้านหลังชัดเจน แต่บางทีหมอก็ต้องใช้ไม้กดเพื่อดูบริเวณที่ลึกกว่านั้นหรือตรวจสอบประสาทการขย้อน ก็ไม่ต้องฝืนครับไม่ต้องกลัวว่าจะต้องขย้อนเพราะมันคือปฏิกิริยาปกติของร่างกาย ในบางครั้งคุณหมอจะขอให้ถอดฟันปลอมออกก็มีครับ‬‬

3.‪‎การตรวจลำคอ‬ หมออายุรกรรมจะตรวจลำคอบ่อยๆ จะมีการคลำต่อมไทรอยด์ด้านหน้าและต่อมน้ำเหลืองด้านข้าง ต่อมไทรอยด์อยู่ตื้นมากบางครั้งหมอก็มือหนักคลำซะเจ็บ ก็ให้บอกหมอเลยครับว่ามันเจ็บที่ก้อนหรือเจ็บเพราะหมอคลำ เวลาเจ็บที่ก้อนเราจะแปลเป็นต่อมไทรอยด์อักเสบได้ ส่วนต่อมน้ำเหลืองเราจะใช้การคลึงๆเหมือนปั้นบัวลอยที่รอบคอ รอบคาง ถ้าเจ็บให้บอกทันทีเลยครับก้อนต่อมน้ำเหลืองที่เจ็บจะแปลผลทางการแพทย์ได้มาก‬‬

4.‪‎การตรวจทรวงอก‬ ส่วนตรวจเต้านมจะอธิบายในข้อถัดไป ก็จะเป็นการตรวจหัวใจและปอดครับ ถ้าจะให้ดีต้องนอนตรวจคู่กับนั่งตรวจ คุณหมอจะต้องใช้ฝ่ามือคลำและกดบริเวณทรวงอกเพื่อตรวจหัวใจอันนี้จะไม่เจ็บครับ รู้สึกเหมือนมีวัตถุมากดทับสำหรับสุภาพสตรีอาจต้องกดทับเนื้อนมนะครับ ปกติเราจะหลีกเลี่ยงอยู่แล้วแต่บางท่านเต้านมใหญ่หรือคล้อยอาจต้องโกยเต้านมหรือกดแรงขึ้นครับ เหมือนกับการใช้หูฟังบางครั้งก็ต้องกดแรงๆ ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง‬‬

  a. เวลาหายใจเข้าออกเพื่อฟังปอดนั้น ให้หายใจเข้าออกลึกๆแรงๆเลยครับ หายใจทางจมูกแรงจะได้ยินชัด
  b.บางครั้งท่านอาจต้องช่วยตรวจเช่น หมดจะให้ท่านพูด อาหหห อีหหห หรือนับ หนึ่ง-สอง-สาม เพื่อเปรียบเทียบการสั่นก็นับดังๆเต็มๆเสียงเลยครับ
  c.การตรวจหัวใจบางครั้งก็ต้องทีท่าพิเศษ เช่นตะแคงซ้าย ก้มหน้ามากๆ กลั้นลมหายใจ หรือให้กำมือแน่นๆ เบ่งลมคือท่านจินตนาการว่าเบ่งอึเลยครับ (แต่อย่าให้ออกมาจริงๆแล้วกัน ) ทำเพื่อฟังเสียงในท่าต่างๆ

5.‪‎การตรวจร่างกายส่วนท้อง‬ อันนี้ใช้ท่านอนเกือบ 100 %ครับ โดยทั่วไปบริเวณของการตรวจช่องท้องจะเริ่มตั้งแต่ทรวงอกด้านล่างจนถึงกลางต้นขา แต่ก็จะใช้ผ้าคลุมบริเวณที่ยังไม่ตรวจแล้วค่อยๆเปิดทีละส่วนครับ ต้องมีการคลำท้องเคาะท้องแน่นอน ไม่ต้องเกร็งนะครับ การเกร็งท้องเราอาจแปลผลผิดเป็นช่องท้องอักเสบได้ ถ้ารู้สึกจั๊กจี้ก็ไม่เป็นไรครับแต่อย่าเกร็งต้านแล้วกัน บางทีก็ต้องคลำลึก ล้วงตับล้วงม้ามอาจอึดอัดหรือหน่วงๆได้ครับ การคลำนี่วัตถุประสงค์อีกอย่างคือหาจุดที่เจ็บนะครับ‬‬
  a. การตรวจบริเวณขาหนีบและเชิงกราน ส่วนมากทางอายุรกรรมจะเป็นการตรวจภายนอกเช่นการคลำต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบ การตรวจหาผื่น ตุ่มที่บริเวณอวัยวะสืบพันธุ์โดยเฉพาะกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การตรวจดูความสมบูรณ์ของฮอร์โมนเพศหญิงและชาย ดูขนอวัยวะเพศ คลำอัณฑะ อาจเกิดความตะขิดตะขวงใจถ้าหมอกับคนไข้ต่างเพศกัน แต่ก็ยืนยันนะครับว่าทำเพื่อการวินิจฉัยและเรามีข้อกำหนดให้มีบุคคลที่สามอยู่ด้วยเสมอในการตรวจส่วนลับของผู้ป่วยครับ
  b. การตรวจทางทวารหนัก ส่วนมากต้องล้วงก้นครับไม่ว่าจะเป็นการหาก้อน ดูสีอุจจาระ หรือการคลำต่อมลูกหมาก หมอจะใช้ถุงมือทาสารหล่อลื่นค่อยๆสอดนิ้วหรือกล้องส่องเข้าไป จะรู้สึกหน่วงๆอึดอัด ถ้าเจ็บขอให้บอกเลยครับบางทีโรคของท่านก็อยู่ตรงนั้น ถ้าท่านเบ่งเล็กน้อยกล้ามเนื้อหูรูดจะขยายทำให้สอดนิ้วหรือกล้องได้ง่ายขึ้น

6.‪‎การตรวจเต้านม‬ อันนี้อยากให้ถอดเสื้อและยกทรงออกให้หมดครับเรามักตรวจท่านั่ง ในบางกรณีเท่านั้นจึงใช้ท่านอน หมอจะดูความสมดุล การเคลื่อนที่ ให้ยกแขน เท้าเอว และต้องคลำเต้านมครบทุกส่วนครับก็จะคลำกดไปกับผนังทรวงอกดูว่ามีก้อนหรือไม่ บีบหัวนมว่ามีนมไหลผิดปกติหรือเปล่า ถ้าท่านมีประจำเดือนหรือให้นมบุตรก็ควรแจ้งแพทย์นะครับ เพราะในช่วงเวลานั้นเนื้อนมจะเพิ่มขึ้นคลำดูคล้ายๆก้อนได้ ‪เช่นกันครับเรามีบุคลที่สามที่เป็นสุภาพสตรีอยู่กับท่านเช่นกันจะได้ไม่ต้องกังวลครับ‬‬

7.‪‎การตรวจระบบข้อและกล้ามเนื้อ‬ ส่วนมากเป็นการคลำครับ สำคัญคือหมอจะหาจุดที่เจ็บหรือเป็นก้อน ถ้าท่านรู้สึกเจ็บให้บอกเลยครับนั่นคือสิ่งที่เราต้องการจะหาอยู่แล้ว บางทีอาจต้องให้ขยับทั้งๆที่เจ็บอาจคิดว่าทรมานแต่ก็เพื่อดูสมรรถนะของกล้ามเนื้อและทิศทางการเคลื่อนที่ของข้อนะครับ บางข้อก็ต้องมีท่าเฉพาะเช่นการตรวจข้อสันหลังอาจต้องมีการลุก ก้มแตะปลายเท้า ยกขา บิดเอวเพื่อหาองศาการเคลื่อนที่ ถ้าข้อติดหรือขยับแล้วเจ็บให้รีบบอกนะครับ ท่านควรทำเต็มที่ให้สุดกำลังครับเราได้ประเมินถูกต้อง‬

8.‪‎การตรวจร่างกายผิวหนัง‬ ใช้การดูเป็นหลักเลยครับและอาจต้องดูทั้งตัวไม่ใช่แค่ตรงที่เกิดปัญหา เพราะการกระจายตัวของโรคผิวหนังนั้นบอกโรคได้ครับ แต่ก็จะดูไปทีละส่วนนะครับคงไม่ใช่เป็นการโชว์จ้ำบ๊ะแต่อย่างใด ท่านบอกให้หมดเลยครับผื่นที่ไหน ตุ่มที่ไหน ลึกแค่ไหนเราก็ดูครับเพราะมันช่วยการวินิจฉัยได้มากๆ บางท่านอาจใช้แสงสีม่วงตรวจดูพิเศษก็จะไม่แสบร้อนแต่อย่างใดครับ แนะนำว่าถ้าท่านจะมาพบแพทย์ด้วยปัญหาทางโรคผิวหนังก็แนะนำสวมเสื้อผ้าหลวมๆ ใส่ง่ายถอดง่ายครับ ถ้าทาเล็บควรลบออก ‪เครื่องประทินผิวต่างๆไม่ต้องจัดเต็มนะครับเราอาจมองไม่เห็นเส้นเลือดใต้ผิวหนัง‬ ผื่นต่างๆ หรือสีที่เห็นอาจไม่ใช่ความจริง‬‬

9.‪การตรวจร่างกายระบบประสาท‬ อันนี้จริงๆต้องบรรยายอีกไม่น้อยกว่า 5 กระดาษเอสี่ เพราะเยอะมากและละเอียด ผิดปรกติหนึ่งจุดโรคอาจจะไม่เหมือนกันเลย ผมไม่พูดละเอียดนะครับแต่ก็จะบอกว่าคุณหมอเขาจะบอกก่อนตรวจครับ เช่น อย่าเกร็ง มองไปทางนั้น มองกลับมาทางนี้ ดึงข้อสู้กัน เดินหลับตา เอานิ้วมาแตะจมูกสลับแตะนิ้วหมอ ก็ทำตามนั้นครับ สงสัยให้ถามเลยเพราะการตรวจระบบประสาทเราต้องดูไม่ใช่แค่เจอหรือไม่เจอ เจ็บหรือไม่เจ็บ แต่การทำตามสั่งได้มาก ได้ปานกลาง ได้น้อย มันมีผลทั้งสิ้นครับและการตรวจระบบประสาทจะกินเวลานานมาก ต้องอดทนนะครับ โรคทางระบบประสาทใช้แต่ประวัติและการตรวจร่างกาย 99% ครับ‬

10.‪‎การสอบถามทั่วไปบางครั้งก็เป็นการตรวจนะครับ‬ เช่นถามอายุ อาชีพ ที่อยู่ เพื่อตรวจสอบการรู้สติ ความกังวล การได้ยิน การพูดชัดไหม เสียงสั่นหรือไม่ ตอบตรงคำถามหรือไม่ ความจำยังดีอยู่หรือไม่ การมองเห็นการมองตาม ให้เดินไปขึ้นเตียงก็ดูการทรงตัว จังหวะการก้าวเดิน การวิงเวียน ถ้าผู้ป่วยทำเองและตอบเองได้ให้เขาทำเองก็จะได้ข้อมูลมากกว่าครับ‬

หวังว่าคงช่วยให้เข้าใจการตรวจร่างกายมากขึ้นนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม