01 ตุลาคม 2566

อย่าคุ้นเคยกับอันตราย : ความดันโลหิตสูง มัจจุราชเงียบ

 อย่าคุ้นเคยกับอันตราย : มัจจุราชเงียบ

เรื่องจริงอันนี้น่าจะเป็นข้อเตือนใจกับอีกหลายท่านได้ครับ
สุภาพบุรุษวัยกลางคนเคาะประตูและเดินเข้ามาสอบถามว่า ต้องการปรึกษาปัญหาสุขภาพ เป็นสุภาพบุรุษรูปร่างสันทัด สมส่วน ดูแลตัวเองดี ท่าทางการเดินไม่ผิดปกติ มีแผลผ่าตัดบาง ๆ ที่ลำคอ คล้ายแผลผ่าตัดไทรอยด์
คนไข้ : ผมอยากมาปรึกษาเรื่องยาไทรอยด์ครับ ผมเป็นไทรอยด์เป็นพิษ ได้รับการผ่าตัดไปกว่า 10 ปีแล้ว หลังผ่าตัดต้องกินยาไทรอยด์ชดเชยมาตลอด ตอนนี้กินยาอยู่เม็ดครึ่ง (150 ไมโครกรัม) รู้สึกเหงื่อออกง่าย ยามันเกินไหมครับ
ปุริม : แล้วได้ติดตามวัดค่าไทรอยด์ไหมครับ
ได้ความว่าผู้ป่วยเคยติดตามในช่วงแรก ๆ พอคุณหมอนัดห่างออกไปประกอบกับอาชีพที่ต้องเดินทางประจำ จึงไม่ได้ไปติดตาม ซื้อยากินเอง เคยลดยาลงแล้วรู้สึกไม่สดชื่น จึงเพิ่มยาเป็นขนาดที่ตัวเองสบาย ไม่ได้ตรวจติดตามมาสองปีแล้ว … จริง ๆ แล้วการชดเชยฮอร์โมนไทรอยด์ด้วยยาเม็ดไทรอกซีน เราไม่จำเป็นต้องติดตามบ่อยครับ จะทุกหกเดือนหรือทุกปีก็ยังได้ ถ้าอาการสม่ำเสมอ ระดับยาคงที่ กินยาแยกจากยาอื่น และไม่มียาอื่นมารบกวน การเปลี่ยนแปลงระดับยาและฮอร์โมนค่อนข้างคงที่ หยุดยาก่อนผ่าตัดนี่หยุดสบาย ๆ เลยครับ ผ่าตัดเสร็จกลับมากินยาระดับยายังใช้ได้อยู่เลย จึงไม่จำเป็นต้องติดตามบ่อย
ปุริม : ขอตรวจร่างกายนะครับ
ก็ต้องตรวจหาภาวะไทรอยด์ขาดและเกิน และที่สำคัญคือชีพจร และเมื่อวัดความดันพบว่า ค่าความดันโลหิต 180/100 มิลลิเมตรปรอท คุณหมอปุริมก็ชวนซักประวัติอีกสักพัก คุยสบาย ๆ รอเวลาแล้ววัดซ้ำทั้งสองข้าง 180/100 เท่าเดิมทั้งสองข้าง จึงถามเรื่องความดันโลหิต
ปุริม : ผมวัดความดันได้สูงมากเลย คุณเป็นโรคนี้หรือครับ
คนไข้ : ใช่ครับ ตรวจพบมาห้าปีแล้ว ไปหาหมออยู่สองสามครั้ง ตอนนั้นความดันประมาณ 140 คุณหมอให้ยานี้มากิน (มันคือ atenolol 25 มิลลิกรัม วันละหนึ่งเม็ด) หลังจากนั้นไม่ได้ติดตามเลย ซื้อยากินเอง แต่ผมซื้อเครื่องวัดความดันมาติดตามนะครับ ความดันผมก็เท่านี้แหละครับ เป็นปกติ วัดทีไรก็ 170-180 ตัวล่างประมาณ 100 ก็กินยานี้ตลอดและไม่มีอาการใด ๆ ผิดปกติครับ
นี่เป็นปัญหาระดับโลกนะครับ ความดันโลหิตสูงคือโรคที่คร่าชีวิตมนุษย์เป็นอันดับหนึ่งของโลกนี้ เป็นภัยเงียบที่สำคัญมาก ความดันโลหิตสูงไม่มีอาการใด ๆ ถ้าไม่ไปวัดความดันไม่มีทางรู้ ค่อย ๆ กัดกร่อนทำลายอวัยวะต่าง ๆ ไปอย่างช้า ๆ ทั้งหัวใจที่โตขึ้นขยายขนาดมากขึ้น หนาตัว ขยับไม่ดี ทั้งไตที่เริ่มบกพร่อง การกรองผิดปกติ ทั้งหลอดเลือดที่แข็งตัวมากขึ้น
ผู้ป่วยรายนี้มีความคุ้นชินกับความดันโลหิตเพราะไม่มีอาการและไม่ได้รบกวนชีวิตประจำวันของเขา การใช้ยาความดันก็ไม่ได้ทำให้ความดันของเขาเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่ได้ควบคุมได้จนปลอดภัย ทำให้เขาไม่มีความรู้สึกว่าต้องควบคุม มันต่างจากอาการเป็นไข้ หรือปวด ที่มีรบกวนจนต้องไปรักษาให้ดีขึ้น
สรุปว่า .. ค่าฮอร์โมนไทรอยด์เกินปกติ ต้องลดยา ค่าแคลเซียมและฮอร์โมนพาราไทรอยด์ในเลือดปกติดี (ตรวจดูว่าการทำงานของต่อม parathyroid ข้าง ๆ ไทรอยด์ที่อาจถูกตัดไปด้วย) การทำงานของไตเริ่มเสื่อม หัวใจโตและการคลายตัวผิดปกติ (diastolic dysfunction) โปรตีนรั่วมาในปัสสาวะ จึงต้องปรับยาลดความดันให้ใหม่ สอนการปฏิบัติตัว แนะนำการตรวจวัดความดันด้วยตัวเอง และนัดมาปรับยากับคุณหมอปุริมต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม