04 สิงหาคม 2566

ความรู้จากงานประชุมราชวิทยาลัย ฯ สู่ประชาชน : โลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก : อ.ดาวลดา คงกับพันธ์, คณะแพทย์ มอ.

 ความรู้จากงานประชุมราชวิทยาลัย ฯ สู่ประชาชน : โลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก : อ.ดาวลดา คงกับพันธ์, คณะแพทย์ มอ.

ไม่ว่าจะผ่านไปนานแค่ไหน โรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กยังเป็นปัญหาอันดับหนึ่งของโลหิตจาง พบได้ทุกภูมิภาค ทุกกลุ่มอายุ เรื่องนี้จึงต้องรู้ ผมสรุปมาแต่ไฮไลท์ที่ประชาชนทั่วไปต้องรู้ครับ
1.เมื่อได้รับการวินิจฉัยโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก อย่าลืมว่ายังไม่จบต้องหาสาเหตุเสมอว่าเกิดจากอะไร ที่พบบ่อยคือ เสียเลือดจากประจำเดือน เสียเลือดจากทางเดินอาหาร (แผลในกระเพาะและมะเร็งลำไส้) การดูดซึมและสังเคราะห์ธาตุเหล็กที่ผิดปกติ เพราะต้องแก้ไขปัญหาต้นเหตุด้วยเสมอ
2.เราไม่ค่อยได้เจาะตรวจไขกระดูกเพื่อวินิจฉัย gold standard จะทำในบางกรณีเท่านั้น ที่ใช้คือการตรวจนับเม็ดเลือด การตรวจดูฟิล์มสเมียร์เลือด อันนี้ทำได้ทุกที่และวินิจฉัยแม่นยำพอใช้ ส่วนการตรวจธาตุเหล็ก ไม่ว่าจะเป็น serum iron, TIBC, ferritin, hepcidin เป็นการวินิจฉัยที่ควรทำ แต่ทำได้เป็นบางที่เท่านั้น
3.ในกรณีทั่วไป พบเม็ดเลือดเล็ก สีจาง, ยืดยาวออกเป็น,pencil cell หรือเจอ MCV ต่ำ RDW สูง ก็สนับสนุนวินิจฉัย อันนี้ทำได้หมดทุก รพ. วินิจฉัยและรักษาได้ ส่วนค่าเหล็กในเลือดตามเกณฑ์ของ WHO จะนับที่ค่า ferritin น้อยกว่า 30 ไมโครกรัมต่อลิตร (หากมีการอักเสบเรื้อรังจะนับต่ำกว่า 100) หรือ transferrin saturation น้อยกว่า 20% สามารถให้การวินิจฉัยและรักษา อย่าลืม..คิดต่อไปถึงต้นเหตุ
ส่วนเกณฑ์ของสมาคมโลหิตวิทยาของไทยคือ ferritin น้อยกว่า 10 ส่วน transferrin saturation น้อยกว่า 15%
4.การรักษาพื้นฐาน ง่ายสุด ราคาถูกคือ การเสริมยาเม็ดธาตุเหล็ก เนื่องจากธาตุเหล็กจะดูดซึมเพียง 40-50% เท่านั้น ส่วนใหญ่จึงต้องกินยาเม็ดธาตุเหล็กวันละสามครั้ง เพื่อให้ได้ขนาดเพียงพอ หลังจากเพียงพอคือชดเชยที่ขาดและแก้ไขโลหิตจางได้แล้วค่อยลดลง ข้อเสียสำคัญของยาเม็ดธาตุเหล็กคือ ไม่สบายท้องและถ่ายอุจจาระสีดำ
5.ด้วยปัญหาความไม่สบายท้อง มีการศึกษาทำในประเทศไทย ศึกษาการให้ยาเม็ดธาตุเหล็กระหว่างให้ยาทุกวัน กับ ให้สัปดาห์ละสามวัน พบว่าแก้ไขซีดได้ดีพอกัน เพิ่มระดับธาตุเหล็กในเลือดได้ดีพอกัน แต่การให้เพียงสัปดาห์ละสามวันสามารถลดผลข้างเคียงระบบทางเดินอาหารได้อย่างดี แต่อาจต้องใช้เวลารักษานานกว่าแบบกินทุกวัน คือ สามเดือนเทียบกับสองเดือน ในทางปฏิบัติจะกินแบบวันเว้นวันก็ได้ (แต่วันละสามครั้งนะ)
6..ระยะเวลาในการรักษาเบื้องต้นคือ 4-8 สัปดาห์ แล้วติดตามเม็ดเลือด ระดับธาตุเหล็ก เพื่อปรับแต่งการรักษา (ย้ำ อย่าลืมรักษาต้นเหตุด้วย) อีกข้อที่ต้องระวังคือ ปฏิกิริยาระหว่างยา เพราะยาเป็นโลหะที่ประจุบวก สามารถมีปฏิกิริยากับยาได้หลายชนิด บางกรณีอาจใช้ยาเม็ดวิตามินซี เพื่อเพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็กเพิ่มได้
7..การให้ยาธาตุเหล็กทางหลอดเลือด เป็นทางเลือกในกรณีต้องการแก้ไขเร็ว หรือไม่สามารถใช้ยากินได้ ยาที่ใช้มีหลายสูตรหลายแบบ ใช้ได้พอกัน ผลข้างเคียงสำคัญที่ต้องระวังสำหรับยาฉีดธาตุเหล็กทางหลอดเลือดดำทุกชนิดคือ ปฏิกิริยาภูมิแพ้ ที่ต้องสังเกตอาการหลังให้ยาและไม่ให้ยาเร็วจนเกินไป และยังมีข้อบ่งชี้พิเศษที่จะใช้การให้เหล็กทางเลือด เพราะมีการศึกษารองรับมาก คือ หัวใจวาย, ซีดหลังให้ยาเคมีบำบัด, โรคลำไส้อักเสบ, การดูแลก่อนผ่าตัด
8.การให้เลือดก็เป็นอีกวิธีที่นอกจากการแก้ไขเรื่องซีดแล้ว ยังสามารถเติมเหล็กได้ถึง 200-300 มิลลิกรัมต่อเลือดหนึ่งถุงเลยทีเดียว ความปลอดภัยจากการให้เลือดในแง่การติดเชื้อนั้น ปัจจุบันถือว่าปลอดภัยสูงมาก จะยังเหลืออันตรายในเรื่องปฏิกิริยาจากการให้เลือดเท่านั้นที่ยังพบมากอยู่ จึงควรให้เลือดเมื่อจำเป็น
9.สำหรับน้อง ๆ หมอ ปัจจุบันการแก้ไขปัญหาธาตุเหล็กทั้งเหล็กขาดและเหล็กเกินจะมุ่งเน้นไปที่การทำงานของ hepcidin การควบคุมตัวรับ ferroportin ทั้งในระดับโปรตีนควบคุม iron metabolism ไปจนถึงยีนที่ควบคุมการจัดการโปรตีนนั้น ๆ ต้องไปเข้าใจ pathway นี้ให้ดีครับ
จบตอนที่หนึ่ง
May be an image of text
See insights and ads
Boost post
All reactions:
112

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม