ในยุคที่เรามีเครื่องมือที่ดีขึ้น
ในอดีต เมื่อเราจะถอดท่อช่วยหายใจ เราดูว่าผู้ป่วยหมดข้อบ่งชี้การใส่ท่อและต่อเรื่องหรือยัง หายใจได้เองอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ สามารถไอเอาเสมหะออกมาได้ และสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ดี อาจจะใช้ค่าดัชนีบางอย่างมาช่วยบ่งบอกโอกาสสำเร็จเวลาถอดท่อเช่น rapid shallow breathing index และเมื่อเราถอดท่อ เราจะเฝ้าสังเกตอาการหลังถอดท่อ 2-3 ชั่วโมงว่าจะสำเร็จหรือไม่
มาถึงยุคปัจจุบัน เรามีอุปกรณ์คือ non invasive ventilator คือหน้ากากอัดแรงดันอากาศ โดยไม่ต้องใส่ท่อ และเครื่องสุดฮิต high flow oxygen เพื่อให้ออกซิเจนอัตราไหลสูง ที่นิยมใช้กันมากในยุคโควิด
อุปกรณ์ทั้งสองชนิดนี้ นอกจากมีข้อบ่งใช้ในการรักษาการหายใจล้มเหลวแล้ว อีกหนึ่งข้อบ่งชี้คือ ใช้หลังจากถอดท่อช่วยหายใจ เพื่อลดโอกาสการใส่ท่อและใส่เครื่องซ้ำ เรียกว่าเป็นอุปกรณ์เพื่อพยุงร่างกายในช่วงรอยต่อ ระหว่างที่เครื่องช่วยหายใจช่วยเต็มที่ เปลี่ยนถ่ายมาเป็นสรีรวิทยาของการหายใจปกติ แต่ในช่วงเปลี่ยนนี้ ร่างกายต้องทำงานหนักมาก เพื่อที่จะพ้นภาวะพึ่งพาจากเครื่อง ในผู้ป่วยบางรายที่เตรียมตัวไม่ดี ก็อาจล้มเหลวจนต้องกลับไปใส่เครื่อง
ล่าสุดมีการศึกษาแบบรวบรวมงานวิจัย systematic review ตีพิมพ์ใน intensive care medicine (ที่ปีนี้ผมจะไม่ต่ออายุสมาชิกแล้ว แพง!!) รวบรวมงานวิจัยเกี่ยวกับความสำเร็จในการถอดท่อโดยไม่ต้องใส่กลับ ระหว่างการใช้ NIV, HFNC และวิธีปกติคือถอดออกแล้วใส่สายให้ออกซิเจนธรรมดา จำนวน 36 การศึกษาที่ทำในไอซียู
ผลการศึกษาออกมาในทางเดียวกันหมด คือ การใช้ NIV หรือ HFNC หลังถอดท่อ (ใส่เลย ไม่ต้องรอให้ผู้ป่วยแย่ลง) มีความสำเร็จสูงกว่าวิธีปรกติถึง 35% แต่ทั้งสองวิธีหากเปรียบเทียบกันเองจะไม่ต่างกัน เรียกว่าใช้อะไรก็ได้ที่มี ผลพอ ๆ กัน
แต่การใช้อุปกรณ์ทั้งสองไม่ได้ไปลดอัตราการเสียชีวิตแต่อย่างใด แค่ลดโอกาสการใส่ท่อซ้ำ แน่นอนก็จะลดการใช้เครื่องช่วยหายใจ ลดการติดเชื้อ ลดจำนวนวันนอน ลดการใช้ทรัพยากรอีกมากมาย ถ้าถามผมในแง่ผู้ให้บริการและผู้บริหารทรัพยากรก็คุ้ม ยิ่งไปถามคนไข้ว่าหากไม่ต้องใส่ท่อซ้ำ อันนี้ยิ่งคุ้มเกินคุ้ม คุ้มกว่าแฟลตปลาทองเสียอีก
ท่านใดอยู่ในสายงานนี้ ลองพิจารณาจัดหาอุปกรณ์ที่ว่ามาประยุทต์ใช้ในงานตัวเองดูนะครับ จะได้พัฒนาศักยภาพ ทำเป็น R2R เป็นผลงานได้อีกด้วย
Fernando, S.M., Tran, A., Sadeghirad, B. et al. Noninvasive respiratory support following extubation in critically ill adults: a systematic review and network meta-analysis. Intensive Care Med 48, 137–147 (2022). https://doi.org/10.1007/s00134-021-06581-1
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น