17 พฤศจิกายน 2564

สิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับพิษดมกาว sudden sniff death syndrome และ พิษ toluene

 ดมกาว ถึงตาย !!

ไม่รู้น้อง ๆ สมัยนี้จะเคยเห็นผู้เสพสิ่งเสพติดชนิดหนึ่งหรือไม่ คือ กาว เราจะเห็นเขาพบถุงหรือขวดใส่กาวและยกขึ้นมาสูดบ่อย ๆ หน้าตาจะมึนเมา บางทีก็ขาดสติ

จริง ๆ แล้วเราเรียกว่าดมกาว เพราะกาวคือสารที่เราพบมากที่สุดเวลาติดสารเสพติดแบบสูดดม (Inhalant abuse) ในทางการแพทย์ไม่ใช่แค่กาว แต่เป็นสารระเหย ตัวทำละลายต่าง ๆ ที่สูดดมต่อเนื่อง จนเกิดผลเสียต่อร่างกาย

สารต่าง ๆ เหล่านี้โดยทั่วไปผู้ผลิตจะถูกบังคับให้ใส่ “กลิ่น”ฉุน เพื่อให้เราทราบและหลีกเลี่ยง โอกาสเกิดพิษจากการสูดดมโดยไม่ใช่เสพติดมาก่อนจึงมีน้อยมาก พิษที่เกิดเกือบทั้งหมดจึงพบในผู้เสพติดมานานและเสพเกินขนาดครับ

สิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับพิษดมกาวคือ อาการเบลอ ประสาทหลอน มีแผลเรื้อรังที่ปากและจมูก ทางเดินหายใจอุดกั้นเรื้อรัง แต่นั่นคือพิษระยะยาวครับ ถามว่ามีพิษระยะเฉียบพลันที่ถึงตายไหม มีครับ และที่อันตรายสำคัญมีสองประการ

1. พิษต่อการเต้นหัวใจ เราเรียกภาวะนี้ว่า sudden sniff death syndrome เกิดจากสารระเหยไปกระตุ้นการตอบสนองสาร catecholamines ของระบบนำไฟฟ้าหัวใจ โดยเฉพาะต่อสารอิพิเนฟรีนและนอร์อิฟิเนฟรีน ที่จะกระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็ว บีบตัวแรงขึ้น เกิดเป็นคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติแบบ ventricular fibrillation และเสียชีวิตเฉียบพลันได้

ถ้าเราพบผู้ป่วยหมดสติ มีร่องรอยของการดมกาว ก็ต้องระวังภาวะนี้ การรักษาใช้ยาต้านเบต้าร่วมกับการกู้ชีวิตครับ ไม่ว่าจะช็อกหัวใจด้วยไฟฟ้า การกดหน้าอก ช่วยหายใจ ข้อมูลการรักษามีน้อย เพราะภาวะนี้พบน้อย และที่รอดมาให้ศึกษาก็ไม่มากครับ

2. พิษต่อไต ที่สำคัญคือ เลือดเป็นกรดเฉียบพลัน จะมีอาการเหนื่อยหอบ หายใจหอบลึก (Kussmaul’s breathing) พบอาการขาดน้ำ สับสน ถ้ามีอาการมากจะมีการเต้นและบีบหัวหัวใจผิดจังหวะได้ จะตรวจพบเลือดเป็นกรด ไบคาร์บอเนตในเลือดต่ำ โปตัสเซียมในเลือดต่ำ กลไกสำคัญคือ เสียสมดุลการแลกเปลี่ยนโปตัสเซียม และขับกรดไม่ออก (กลไกเหมือนโรค distal RTA I) อาจจะตรวจสาร hippuric acid ที่เป็นของเหลือจากการสลาย toluene ในกาว พบสูงมากในปัสสาวะ

รักษาโดยให้สารน้ำ ทดแทนโปตัสเซียมและด่าง ให้ภาวะร่างกายปกติ รอจนพิษลดลง และรักษาโรค distal RTA I ที่เกิดจากพิษ toluene ในกาวต่อไป

ประวัติที่ต้องซักถามเสมอในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติหลาย ๆ ระบบพร้อมกันคือ ประวัติสารพิษ ไม่ว่าพิษจากยา จากสารเสพติด จากสารที่ใช้ในชีวิตประจำวัน แต่พึงระลึกไว้ว่าประวัติสารเสพติดอาจจะได้คำตอบที่ไม่ตรงกับความจริง ต้องอาศัยพยานแวดล้อม พยานวัตถุร่วมด้วย เช่น ขวดกาว ถุงกาวในที่เกิดเหตุ รอยแดงที่ปากและจมูกตามรูปถุงกาว หรือประวัติจากญาติ

“ติดกาวระวังพิษที่ไต
ติดใจระวังไม่ได้นอน”

อาจเป็นรูปภาพของ บุคคล และ เด็ก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม