"ขนาด" ไม่สำคัญเท่า "เทคนิค"
GOLD 2021 สุดยอดหนังสือรวบรวมการศึกษาและคำแนะนำสำหรับโรค COPD โรคถุงลมโป่งพอง กล่าวไว้ในเรื่องขนาดของอนุภาคยาที่ใช้สูดเพื่อรักษา ในหน้า 54 วรรค 5 เอาไว้ใจความว่า
ขนาดอนุภาคยาสูด ที่ใหญ่กว่า 5 ไมโครเมตร พวกนี้จะหนัก สูดเข้าไปแล้วลงไปไม่ถึงหลอดลมส่วนล่าง อันเป็นตำแหน่งที่เราต้องการให้ไปถึง มันจะกระจายอยู่แถวคอหอย ส่งผลให้เราแค่จั๊กจี้ลำคอ หาได้มีผลการรักษาอันใดไม่ ซึ่งยาสูดพ่นในปัจจุบันแทบไม่มีอันใด ทำของใหญ่ขนาดนี้มาแล้ว เพราะมันใช้ไม่ได้
อนุภาคที่ควรจะใช้คือ 2 - 5 ไมโครเมตร อันนี้เรียก Fine Particle ก็จะลงไปถึงหลอดลมเล็กด้านใน หรือเล็กลงไปอีกน้อยกว่า 2 ไมโครเมตร อันนี้เรียกว่า Extra Fine Particle ก็จะลงลึกและไปอยู่ในจุดออกฤทธิ์ได้ลึกลง (แต่บางส่วนมันก็ลอยกลับออกมา) อุปกรณ์สูดพ่นยาปัจจุบัน MDI, DPI จะชื่อเรียกอะไร ยี่ห้อใด ก็ชอบไซส์เล็กทั้งนั้น
และจะ fine หรือ จะ extra fine ก็ส่งผลไม่ได้ดีไปกว่ากันในแง่ทำให้อาการทางคลินิกดีขึ้น
แต่เทคนิคการใช้อุปกรณ์ที่ถูกต้อง การสูดที่ถูกวิธี อันนี้ต่างหากที่ส่งผลต่อการควบคุมโรคที่ดี และมีการศึกษาชัดเจนว่า เทคนิคการสูดที่ไม่ถูกวิธี สัมพันธ์กับการดำเนินโรคที่แย่ลง เป็นความจริงทั้งไปและกลับคือ สูดดีโรคดี สูดไม่ดีโรคแย่ ดังนั้นการสูดพ่นที่ดีจึงสำคัญ ตามตัวเลขใน GOLD บอกว่าบางการศึกษาพบสูดถูกต้องแค่ 23%
การเลือกอุปกรณ์ที่ผู้ป่วยใช้ได้ดี จึงสำคัญมาก ไม่ได้เลือกแค่ยาดี ยาตรงกับโรค แต่อุปกรณ์ก็ต้องตรงกับความสามารถและการใช้งานด้วย บางคนสูดอุปกรณ์นี้ไม่ดี แต่อุปกรณ์นั้นดีกว่า เราก็ต้องไปปรับยาของอุปกรณ์นั้น
ยกตัวอย่างที่พบบ่อยคือ แรงสูดไม่ดี ต่อให้ยาสูดแบบผงแป้ง dry powder inhaler จะน่าใช้เพียงใด (ผงแป้งจริง ๆ ไม่ใช่ แป้งออสเตรเลีย) ก็คงต้องปรับไปใช้แบบยากดพ่น (meter dose inhaler) แทน
นอกจากอุปกรณ์เหมาะสม เทคนิคต้องดี ควรมีการทบทวนบ่อย ๆ และให้ผู้ป่วย 'ย้อนสอน' (teach-back) อันเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมและเห็นผลจริง ที่พลาดบ่อยคือ
ไม่ยอมกลั้น … คือ กลั้นหายใจหลังสูดยานะครับ
อมไม่มิด ... คือ อมอุปกรณ์แล้วมีจุดรั่ว
อมลึกสุด ... บางอุปกรณ์ต้องเหลือช่องอากาศเข้าไว้ด้วย
ไม่เขย่า เอาแต่อม ... บางอุปกรณ์ต้องเขย่า ผสมตัวยาก่อน
อมผิดท่า ... บางอุปกรณ์ต้องจับอุปกรณ์แนวตั้ง บางอุปกรณ์ต้องจับแนวนอน
ตรงนี้ต้องคุณหมอผู้รักษาต้องเน้นย้ำ รบกวนพี่เภสัชกรสุดสวยและน้องเภสัชกรสุดหล่อ มาช่วยเน้นย้ำคนไข้ด้วยครับ และคนไข้กับญาติ ต้องเอาใจใส่ประเด็นนี้ด้วยเช่นกัน การรักษาจึงมีประสิทธิภาพและได้ประสิทธิผล
ในการรักษา COPD เทคนิคเป็นเรื่องสำคัญกว่า "ขนาด" นะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น