Longterm Home Oxygen Therapy การรักษาด้วยออกซิเจนที่บ้าน
การรักษาแบบนี้มีได้หลายโรคนะครับเช่น ถุงลมโป่งพอง โรคซิสติกไฟโบรสิส (cystic fibrosis) โรคเนื้อเยื่อเกี่ยวพันปอดเรื้อรัง (Interstitial Lung Disease) แต่ที่ใช้กันมากในบ้านเราคือ โรคถุงลมโป่งพอง แถมหลักฐานสนับสนุนในโรคถุงลมโป่งพองก็มีมากกว่าโรคอื่นด้วย
🎈🎈🎈🎈
ถาม : ผู้ป่วยโรคนี้ต้องใช้ทุกคนไหม
ตอบ : ไม่ทุกคน เฉพาะคนที่อาการหนักเท่านั้น การศึกษาทำออกมาว่ามีประโยชน์ในคนไข้กลุ่มอาการหนัก และขาดออกซิเจนเรื้อรัง ถ้าอาการไม่รุนแรงก็จะไม่เกิดประโยชน์แถมยังเกิดโทษจากการไปรบกวนกลไกการหายใจ จากการระคายเคืองจมูก
🎈🎈🎈🎈
ถาม : อาการหนักแค่ไหน
ตอบ : เกณฑ์สำคัญจากแนวทางของ GOLD, British Thoracic Society, American Thoracic Society มาจากฐานการศึกษาเดียวกัน และออกเกณฑ์เหมือนกันคือ
▪ขาดออกซิเจนรุนแรงจากการตรวจแก๊สในเลือดแดงค่า PaO2 น้อยกว่า 55 หรือความอิ่มตัวออกซิเจนปลายนิ้ว น้อยกว่า 88% ***ข้อนี้สำคัญ ลดอัตราตายชัดเจน***
▪ขาดออกซิเจนปานกลาง ค่า PaO2 อยู่ที่ 55-60 หรือความอิ่มตัวออกซิเจนปลายนิ้วมากกว่า 88-93% และต้องมีภาวะแทรกซ้อนจากการขาดออกซิเจนเรื้อรังร่วมด้วยเช่น ความดันโลหิตปอดสูง มีอาการบวม ความเข้มข้นเม็ดเลือดแดงมากกว่า 55%
▪ถ้าในกรณีอยู่เฉย ๆ ไม่ขาดออกซิเจน หรือขาดออกซิเจนระดับปานกลาง แต่ว่าเวลาออกแรงหรือมาทดสอบให้ออกแรงแล้วเหนื่อยและขาดออกซิเจนรุนแรง อันนี้ 'อาจจะ' ให้ออกซิเจนแบบเครื่องเคลื่อนที่ติดตัว เพราะยังออกแรงอยู่ (ผู้ป่วยสองกลุ่มแรกมักไปไหนไม่ได้แล้ว) แต่หลักฐานไม่หนักแน่นและประโยชน์ในการลดอัตราการตายไม่ชัดเจน
🎈🎈🎈🎈
ถาม : แบบนี้ทุกคนก็ได้หมดสิ เวลากำเริบมาโรงพยาบาล
ตอบ : ไม่ใช่ ต้องประเมินตอนที่โรคสงบ ให้ยารักษาและปรับจนคงที่ โดยต้องยืนยันว่าขาดออกซิเจนจริง อย่างน้อยด้วยการตรวจสองครั้ง ห่างกันอย่างน้อยสามสัปดาห์ และแนะนำการตรวจโดยเจาะเลือดแดงวัดแก๊ส ส่วนการปรับออกซิเจนและติดตามผล อาจใช้การตรวจแก๊สจากหยดเลือดปลายนิ้วร่วมกับวัดออกซิเจนปลายนิ้วได้
🎈🎈🎈🎈
ถาม : ให้ออกซิเจนตลอดวันเลยรึ
ตอบ : อย่างน้อยให้ต่อเนื่องกันวันละ 15 ชั่วโมง (⅔ ของเวลาทั้งวัน แน่นอนรวมเวลานอนด้วย) โดยให้ออกซิเจนตามขนาดที่กำหนดจากการปรับตั้งค่าครั้งแรก โดยการปรับตั้งครั้งแรกจะค่อย ๆ ให้ออกซิเจนเริ่มที่ 1 ลิตรต่อนาที ปรับเพิ่มครั้งละ 1 ลิตรทุก ๆ 20-30 นาที จนได้ค่าความอิ่มตัวออกซิเจนปลายนิ้วมากกว่า 90% เมื่อได้ค่าจำนวนลิตรต่อนาทีที่ต้องการแล้ว ให้ใช้ออกซิเจนค่านั้นในการรักษา
🎈🎈🎈🎈
ถาม : ต่อดมออกซิเจนกับเครื่องมือใด
ตอบ : ง่ายสุดก็สายจมูก ต่อถัง ประสิทธิภาพดีไม่ต่างจากอุปกรณ์หรูหรา ยกเว้นมีข้อบ่งชี้อื่นด้วย ก็ต้องใช้เครื่องจ่ายออกซิเจนแรงดันสูงหรืออัตราการไหลสูง และไม่จำเป็นต้องผ่านน้ำหรือความชื้น ยกเว้นการใช้ออกซิเจนผ่านทางท่อคอในผู้ป่วยเจาะคอ อันนี้ต้องผ่านความชื้น ควรเข้ารับการสอนอบรมการดูแลสายออกซิเจน บ้านเราเราใช้การล้าง อบ ตากแดดอยู่ ซึ่งก็พอใช้ได้
🎈🎈🎈🎈
ถาม : ดมออกซิเจนค่านี้ไปตลอดเลยหรือ
ตอบ : ไม่ตลอด ต้องมีการประเมินที่สามเดือนแรกหลังให้การรักษา โดยเจาะเลือดแดงวัดแก๊ส และหลังจากนั้นประเมินและปรับระดับออกซิเจนทุก 6-12 เดือน จนกว่าจะหมดข้อบ่งชี้การให้ออกซิเจนจึงหยุดให้ ดังนั้นเมื่อเป็นการรักษาระยะยาว จึงต้องคุยกันเรื่อง การติดตามการรักษา การปฏิบัติตามขั้นตอน การขนส่งออกซิเจนและดูแลความปลอดภัย ราคาของออกซิเจนและการเบิกจ่าย
🎈🎈🎈🎈
ถาม : เหนื่อยแล้ว จบไหม
ตอบ : โอเค ไปดื่มกาแฟแล้วล่ะ
ที่มา
-GOLD 2020
-BTS guideline 2015
-ATS guideline 2020
-Long-term Oxygen Treatment Trial Research Group. A randomized trial of long-term oxygen for COPD with moderate desaturation. NEJM 2016; 375(17): 1617
-Wenger HC, Cifu AS, Lee CT. Home Oxygen Therapy for Adults With Chronic Obstructive Pulmonary Disease or Interstitial Lung Disease. JAMA. 2021;326(17):1738–1739. doi:10.1001/jama.2021.12073
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น