20 พฤศจิกายน 2564

PF-07321332/ritonavir ยารักษาโควิดอีกหนึ่งชนิด

 PF-07321332/ritonavir ยารักษาโควิดอีกหนึ่งชนิด


ก่อนหน้านี้เราได้อ่าน molnupiravir ยารักษาโควิดตัวแรกจากค่าย Merck ไปแล้ว ว่าถ้าให้ยาตั้งแตกป่วยแรก ๆ ในสามวัน ใช้ยากินหนึ่งเม็ดเช้าเย็นเป็นเวลา 5 วัน ในผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง จะลดโอกาสเข้าโรงพยาบาลได้  วันนี้เรามาอ่านสรุปจากค่าย Pfizer กันบ้าง


ต้องบอกว่าข้อมูลที่ผมได้มา หรือแม้แต่ข้อมูลจากสำนักข่าว, เว็บไซต์ข่าวการแพทย์ หรือข่าวใน british medical journal ก็มาจากแหล่งข้อมูลของไฟเซอร์ทั้งสิ้นครับ ตัวการศึกษาจริงยังไม่เสร็จและผมยังไม่เห็น interim paper ที่ลงพิมพ์นะครับ


PF-07321332 เป็นยากลุ่ม protease inhibitor ทำหน้าที่ยับยั้งการสร้างโปรตีนของไวรัส ทำให้ไวรัสไม่สามารถเข้าไปสร้างตัวในเซลล์คนเราได้ ตัวมันจึงตายและสลายไป และให้คู่กับยา ritonavir ยาต้านไวรัสปัจจุบัน เพื่อหวังผลเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา ทำให้ PF-07321332 ออกฤทธิ์นานและทรงพลัง เราเรียกการให้ยาแบบนี้ว่า boosted และเรียกยาคู่นี้ในทางการค้าว่า Paxlovid


บริษัทไฟเซอร์ทำการศึกษายา Paxlovid ในสามกลุ่มพร้อมกัน ขื่อการศึกษา EPIC แบ่งเป็น

  • EPIC - HR ทำในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงที่อาจจะเกิดโควิดรุนแรง (high risk)

  • EPIC - SR ทำในผู้ป่วยปรกติทั่วไป

  • EPIC - PEP ทำในผู้ป่วยหลังสัมผัสเชื้อ SARs-CoV2


งานที่เราจะพูดถึงและเป็นงานที่ยื่นขออนุมัติใช้ยาคือ EPIC-HR โดยจะนำผู้ติดเชื้อโควิดที่ยืนยันแล้ว อาการไม่รุนแรง ไม่ต้องรักษาในโรงพยาบาล และให้เข้าทดลองภายในสามถึงห้าวันหลังทราบว่าติดเชื้อ นำมาแบ่งกลุ่มเท่ากันสองกลุ่ม กลุ่มให้ยา Paxlovid หนึ่งเม็ดเช้าเย็นเป็นเวลาห้าวัน (เท่า molnupiravir) อีกกลุ่มให้ยาหลอกเช้าเย็นห้าวันเช่นกัน  แล้ววัดผลคือ การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลภายในเวลา 4 สัปดาห์หลังให้ยา


ในกลุ่มได้ Paxlovid เข้ารักษาในโรงพยาบาล 3 คนจาก 389 คน (0.8%)

กลุ่มยาหลอก เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 27 คนจาก 385 คน (7%) และใน 27 คนนี้ เสียชีวิต 7 คน


เมื่อเปรียบเทียบแล้ว การใช้ยา Paxlovid ลดอัตราการเข้ารับการรักษาได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ หากกินยาในสามวันแรก 


ส่วนอัตราตายไม่ใช่วัตถุประสงค์หลัก และหากมาคิดย่อยว่าหากให้ยาในห้าวันแรกล่ะ ก็พบว่าลดอัตราการเข้ารับการรักษาอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน


ถามถึงผลข้างเคียง พบว่ากลุ่ม Paxlovid พบผลข้างเคียง 19% ส่วนยาหลอกพบ 21% ต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญ ไม่รู้ว่าผลข้างเคียงอาจเกิดจากโรคโควิดหรือไม่ เพราะกลุ่มยาหลอกพบมากกว่า แต่ก็เป็นผลข้างเคียงเบา ๆ อาเจียน เวียนหัว คลื่นไส้ 


จะเห็นว่า ยาจะลดความรุนแรงของโรค ในกลุ่มโรคไม่รุนแรง เมื่อให้การรักษาเร็ว คล้ายกับยา molnupiravir เลย กำลังยื่นขออนุมัติจดทะเบียน แต่หลายประเทศลงชื่อซื้อฟิวเจอร์แล้ว


แล้วมันเปลี่ยนโลกจริงไหม ตอนหน้าผมจะลงบทวิจารณ์ เป็นความเห็นส่วนตัวแรกในรอบปีครับ




2 ความคิดเห็น:

บทความที่ได้รับความนิยม