24 ตุลาคม 2564

ที่มาที่ไปของการนำ RNA มาใช้ ตอนที่สอง ปูทางสู่ความสำเร็จยุคปัจจุบัน

 ที่มาที่ไปของการนำ RNA มาใช้ ตอนที่สอง ปูทางสู่ความสำเร็จยุคปัจจุบัน

ในช่วงทศวรรษที่ 90 ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมกำลังเดินหน้า เหล่าบรรดานักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ที่ร่วมกันคิดค้นวิจัยในตอนแรก ต่างแตกแยกย้ายออกไปต่อยอดงานวิจัยและก่อตั้งบริษัทเพื่อแย่งชิงโอกาสและความก้าวหน้า จากการพัฒนาในทางตรง เริ่มกระจายออก มีโครงข่าย มีความรู้ที่แตกยอดออกไปมากมาย

ปี 1993 นักวิจัยด้านชีวพันธุศาสตร์ Pierre Meulien จากแคนาดา (เช่นกัน ปัจจุบันก็ได้ก่อตั้งและเป็นซีอีโอ Innovative Medicine initiatives) ศึกษาและพัฒนาอาร์เอ็นเอเหมือนกับที่โรเบิร์ต มาโลนศึกษาค้นคว้า ต่างกันที่มาโลนคิดค้นในแง่ควบคุมการทำงานของเซลล์เปรียบเสมือนยา แต่ Meulien ศึกษาใช้อนุภาคไลโปโซมมาผนวกเข้ากับ mRNA แล้วสามารถทำให้เกิดภูมิคุ้มกันแบบเฉพาะเจาะจงในสัตว์ทดลอง (หนูทดลอง) นั่นคือจุดเริ่มต้นของการเกิดวัคซีนจาก mRNA

แต่เขาก็ไม่สามารถนำเสนอให้บริษัทตัวเองให้ทุนและสนับสนุนการสร้างวัคซีนจากอาร์เอ็นเอได้ ด้วยความที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ยังก้าวไม่ถึง จึงต้องใช้ทุนมหาศาลระดับร้อยล้านยูโร แน่นอนตอนนั้นไม่มีบริษัทใดสนใจและให้ค่าทางธุรกิจ เทคโนโลยีวัคซีนอาร์เอ็นเอจึงไปต่อไม่ได้

ทั้ง Malone และ Meulien ได้หันเหไปทำ viral vector และ DNA vaccine ซึ่ง Meulien ได้ศึกษาวัคซีนดีเอ็นเอจนสามารถทำวัคซีนโรคโควิด19 ได้สำเร็จและกำลังศึกษาและรอจดทะเบียนวัคซีนดีเอ็นเอในประเทศอินเดีย

ดูเหมือนอาร์เอ็นเอและ mRNA จะไม่สามารถไปต่อได้ แต่เทคโนโลยีต่าง ๆ ในยุคก่อนมิลเลนเนียมนั้น พัฒนาอย่างก้าวกระโดดมาก จุดเปลี่ยนเรื่องการประยุกต์ใช้และความคงตัวของอาร์เอ็นเอ มาเกิดขึ้นที่ Duke University ในปี 1997

Eli Gilboa นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยดุ๊ค ได้ทำการศึกษาสร้าง mRNA ที่มีรหัสพันธุกรรมโปรตีนเซลล์มะเร็งของคน ส่งเข้าไปในเซลล์เม็ดเลือดขาวของคน หลังจากนั้นเอาเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ตั้งโปรแกรมให้รู้จักเซลล์มะเร็ง นำเข้าสู่ตัวคน ก็ปรากฏว่าร่างกายสามารถตรวจจับและเกิดปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันต่อเซลล์มะเร็งของมนุษย์ได้ เป็นการวิจัยเริ่มต้นที่น่าสนใจมาก เพราะสามารถทำอาร์เอ็นเอให้คงตัวและใช้ได้จริง

แต่ก็ยังไปไม่สุด เพราะในการศึกษาของ Gilboa ที่จำลองสถานการณ์จริงในหนูทดลอง แม้จะทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาวที่ดัดแปลงสามารถตรวจจับเซลล์มะเร็งในหนู และสร้างภูมิคุ้มกันมาตรวจจับเซลล์มะเร็งได้จริง แต่ยังทำให้เกิดอันตรายต่อเซลล์ และอาจให้เกิดผลเสียในร่างกายโดยรวมได้ แน่นอนก็ยังไม่สามารถพัฒนาไปถึงวัคซีน เพราะวัคซีนจะต้องฉีดเข้าไปในคนปกติ ให้เกิดภูมิคุ้มกันโดยที่แทบไม่เกิดอันตรายต่อร่างกายคนที่ไม่เป็นโรค

Eli Gilboa ไม่สามารถไปต่อกับมหาวิทยาลัยดุ๊ค ตามสูตรสำเร็จของนักวิจัยคือ ลาออกไปก่อตั้งบริษัทเสียเองเลย ปัจจุบันคือบริษัท CoImmune แต่กิลบัวและบริษัทได้หันเหและทุ่มเทไปในทิศทาง ภูมิคุ้มกันต่อเซลล์มะเร็งและเป็นหัวขบวนของ Tumor Immunology ในยุคปัจจุบัน

ความสำเร็จของกิลบัวนี่เองที่แตกยอดและเป็นจุดกำเนิดของวัคซีนจาก mRNA แต่หลังจากเข้าสู่สหัสวรรษใหม่นั้น ความสำเร็จไม่ได้ขึ้นกับนักวิจัยทีมเดียว ไม่ได้ขึ้นกับการทุ่มเทของคนเพียงกลุ่มคนเดียวต่อไปอีก พัฒนาการด้านเทคโนโลยีและการใช้ข้อมูลข่าวสารร่วมกันที่รวดเร็วสูง ได้เปลี่ยนโฉมหน้าการพัฒนาวัคซีนจากอาร์เอ็นเอไปอย่างสิ้นเชิง ด้วยการพัฒนาคู่ขนานกันถึง 4 สายนักวิจัย 4 สายที่เรายอมรับว่าคือ ผู้ให้กำเนิดวัคซีนอาร์เอ็นเอ

อาจเป็นรูปภาพของ ข้อความ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม