01 ตุลาคม 2564

Hypertriglyceridemia 🚩ตอนที่สอง ไม่เกิน 500 แต่สูงล่ะ จะทำอย่างไร

 Hypertriglyceridemia

ไขมันไตรกลีเซอไรด์ เราสามารถวัดได้โดยตรงจากเลือด เรามักจะพบค่าผลการตรวจไขมันไตรกลีเซอไรด์ได้บ่อย เวลาเราเจาะเลือดตรวจหาไขมันในเลือด โดยเฉพาะการตรวจสุขภาพประจำปี (ไม่มีอาการผิดปกติใด) ส่วนในกรณีผู้ป่วยที่คุณหมอเขาส่งตรวจหาระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดนั้น คุณหมอจะมีคำตอบในใจอยู่แล้วว่าคิดถึงโรคใด สูงแปลผลอะไร ต่ำแปลผลอะไร แต่ถ้าเราพบผลเลือดเราไตรกลีเซอไรด์สูง เราคิดอย่างไร

🚩ตอนที่สอง ไม่เกิน 500 แต่สูงล่ะ จะทำอย่างไร

ค่าที่กำหนดว่า 'สูง' ของไขมันไตรกลีเซอไรด์สำหรับการพิจารณาป้องกันความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด คือ ในกรณีงดอาหารเกิน 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ในกรณีไม่งดอาหารเกิน 175 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร จากคำแนะนำของ American Colleges of Cardiology 2021

เอาจริง ๆ นะ ในความคิดของผม มันแทบไม่ต่างกัน เรื่องการงดอาหารมาตรวจนี้ ยังเถียงกันอีกมาก ในส่วนตัวของผมถ้าค่าไม่ได้สูงเกินไป ผมก็ไม่ได้ให้กลับไปงดอาหารแล้วกลับมาตรวจใหม่ ใช้ค่านั้นไปเลย

ในการศึกษาวิจัยเรื่องการลดความเสี่ยงด้วยยาลดไตรกลีเซอไรด์ ส่วนใหญ่ก็ใช้ค่าที่เกิน 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

ก่อนหน้านี้เรามีความรู้ว่า ไขมันไตรกลีเซอไรด์มันก็มีส่วนทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเช่นกัน เพียงแต่ว่าในยุคก่อน การลดไตรกลีเซอไรด์ด้วยยา ยังไม่สามารถแสดงให้เห็นว่า ลดอัตราการเสียชีวิตหรือลดโรคหัวใจได้ชัดเจน อาจจะมีประโยชน์บ้างในบางกลุ่ม เช่นเป็นเบาหวานและค่า HDL ต่ำ

ถ้าเทียบกับ cholesterol และ LDL แล้ว เรียกว่าไตรกลีเซอไรด์เป็นเพียง 'ลูกน้อง' ไม่ใช่เสือร้ายอย่าง LDL เมื่อทำการวิจัยเพื่อลดโคเลสเตอรอลและ LDL ที่พิสูจน์แล้วว่าอัตราการตายและโรคหัวใจลดลง พบว่าค่าไตรกลีเซอไรด์ก็ลดลงเช่นกัน

ต่อมาเรามีการศึกษาและพบว่า ในคนที่เกิดอันตรายจากไขมันในเลือดสูง เมื่อปรับปรุงชีวิต การกินอาหารและใช้ยาลดโคเลสเตอรอลและ LDL เต็มที่แล้ว แต่ยังมีไตรกลีเซอไรด์สูงอยู่ (ยา statin ก็ลดไตรกลีเซอไรด์ในเลือดได้นะครับ แต่ไม่เยอะ ประมาณ 10-20% จากของเดิม)

การให้ยาเพื่อลดไตรกลีเซอไรด์ มันยังสามารถลดโอกาสการเกิดโรคหัวใจและอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจลงได้อีก

จึงเป็นที่มาของคำแนะนำในปัจจุบันเรื่องการลดไตรกลีเซอไรด์ และกำหนดว่า ไตรกลีเซอไรด์ที่สูงต่อเนื่อง เป็นปัจจัยเสริมการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด (Risk Enhancer) เวลาพิจารณาลดความเสี่ยงโรคหัวใจ

แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่ไตรกลีเซอไรด์สูงจะได้ประโยชน์ และ ไม่ใช้ค่าเจาะเลือดไตรกลีเซอไรด์เพียงครั้งเดียวมาคิดเรื่องการรักษา สำหรับโรคหัวใจและหลอดเลือด เรามีคำว่า 'persistent hypertriglyceridemia' มาระบุคนที่อาจจะเกิดประโยชน์เพิ่มในการลดไตรกลีเซอไรด์ ว่าต้องมีลักษณะดังนี้

1. ค่าไตรกลีเซอไรด์สูงกว่า 150 เมื่องดอาหาร หรือสูงกว่า 175 เมื่อไม่งดอาหาร

2. ต้องมีความ 'persistent' คือสูงต่อเนื่อง ถึงจะพยายามปรับเหตุปัจจัยอื่นแล้วก็ตาม วามต่อเนื่องนี้ใช้ระยะเวลา 4-12 สัปดาห์

3. แยกสาเหตุอื่น ๆ ที่ส่งผลให้ไตรกลีเซอไรด์สูงออกไปแล้ว (secondary hypertriglyceridemia) ไอ้เจ้าเหตุต่าง ๆ ยาต่าง ๆ อาหารต่าง ๆ มีเยอะมาก แต่ผมขอเลือกที่สำคัญและพบบ่อยนะครับ คือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โรคเบาหวาน โรคฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ อาหารมัน อาหารหวานจัดหรือแป้งปริมาณมาก ยาสเตียรอยด์

4. ปรับปรุงชีวิตพอสมควรแล้ว ลดอาหารมัน ลดแป้ง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอกจากปรับปรุงชีวิตแล้ว อีกเกณฑ์ในข้อนี้คือ ได้รับยาลดไขมัน statin ขนาดสม่ำเสมอมาแล้ว

ไม่ใช่ว่าเห็นไตรกลีเซอไรด์สูงแว่บเดียว เอามาคิดรักษาและกินยาทันที ต้องเข้าเกณฑ์ต่าง ๆ นี้ด้วยครับ เพราะการศึกษาวิจัยที่บอกว่าการลดไตรกลีเซอไรด์แล้วเกิดประโยชน์ เขาทำเพิ่ม (add on) จากกลุ่มคนไข้นี้นั่นเองครับ

หลายท่านก็ไปปรับลดสาเหตุ ตรวจซ้ำ ส่วนมากก็จะลดลง แต่หากไม่ลดลงและเข้าเกณฑ์สูงต่อเนื่อง เราจะทำอย่างไร

อาจเป็นรูปภาพของ อาหาร และ สถานที่ในร่ม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม