อายุรศาสตร์อุทกภัย แต่ไม่ง่ายนิดเดียว
1. ควรกินอาหารที่คุ้นชิน อย่าผิดแปลก เพราะหากท้องเสีย จุกแน่น อาเจียน จะมีปัญหามาก
2. แนะนำอาหารที่ปรุงใหม่ที่สุดเท่าที่หาได้ ทำได้ เพื่อลดการติดเชื้อ ปนเปื้อน และล้างมือบ่อยมากกว่ากันโควิด
3. น้ำดื่มขวดพลาสติก ปลอดภัยและสะดวกมาก ต้องล้างมือและเช็ดแห้งก่อนปิดเปิดฝาเสมอ
4. ยาที่ใช้ อย่าให้เปียกน้ำ อย่าให้ชื้น ใส่ถุงพลาสติก อย่าเอาออกจากฟอล์ยหุ้มถ้ายังไม่ใช้ ล้างมือก่อนกินยา และน้ำต้องสะอาด
5. ยาหลายชนิดกินตามมื้ออาหาร แต่ไม่จำเป็นต้องกินหลังอาหารเสมอไป มื้อไหนไม่มีอาหาร ก็อาจกินยาได้ ให้โทรปรึกษาเภสัช ตามที่ระบุไว้ในหน้าซองยา รพ.นั้น ๆ
6. ยาที่ควรติดไว้ ยาพาราเซตามอล ยาแก้แพ้ ยาเม็ดแก้ท้องอืด ยาใส่แผลสด และชุดทำแผล
7. ระวัง สัตว์มีพิษ มันหนีตายหนีน้ำเหมือนเรา เคาะเสื้อผ้ารองเท้า มันก็ไปแล้ว เวลาจัดบ้าน อย่าลืมตรวจสอบ หากถูกกัด ให้แจ้งขอความช่วยเหลือ
8. บาดแผลที่โดนน้ำท่วมจัดเป็นบาดแผลเสี่ยงต่อการเกิดบาดทะยัก ให้รับการฉีดยาป้องกันบาดทะยักด้วย
9. เจ็บป่วยเมื่อใด อย่าชะล่าใจ ให้รีบขอความช่วยเหลือ และออกมาอยู่พื้นที่ปลอดภัยไว้ก่อน
10. ลุยน้ำแล้ว ให้ทำความสะอาด เช็ดแห้ง สวมเสื้อผ้าแห้งเสมอ โรคที่พบบ่อยมากคือ น้ำกัดเท้า เชื้อราที่เท้าและเล็บ แผลพุพองติดเชื้อ
11. ระวังเรื่องไฟฟ้าในบ้านด้วย ต้องมั่นใจว่าปลอดภัย และแห้งพอ จึงเปิดไฟฟ้าใช้
12. ติดตามข่าวจากแหล่งเชื่อได้เสมอ ภายใต้ความตระหนกตกใจ เราอาจแปลข่าวผิด หรือส่งข่าวผิด อย่างไม่เจตนาได้
13. ติดต่อรพ. ที่รักษาประจำ เรื่องการเลื่อนนัด การใช้ยา การส่งยา ในสถานการณ์น้ำท่วมนี้
14. ผู้ป่วยติดเตียง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องออกมาเสมอ แจ้งเจ้าหน้าที่กู้ภัย เพื่อนบ้าน ให้มาช่วย
15. รักกันไว้ สามัคคีกันไว้ น้ำใจคนเรายิ่งใหญ่และชนะน้ำท่วมใด ๆ ได้เสมอ
ขอให้ทุกคนปลอดภัย และขอให้ตัวเองปลอดภัย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น