28 เมษายน 2564

ข้อมูลเกี่ยวกับปอดที่ถูกทำลายไปหลังจากติดเชื้อ SARS-CoV-2

 ข้อมูลเกี่ยวกับปอดที่ถูกทำลายไปหลังจากติดเชื้อ SARS-CoV-2

เราอาจจะได้ยินข้อมูลมาบ้างเรื่องของปอดที่ถูกทำลาย เห็นภาพรังสีของปอดผู้ป่วยโรคโควิด19 หลายคนตระหนกตกใจว่าการเจ็บป่วยทำให้ปอดแย่แบบนั้นเลยหรือไม่ ก็ลองค้น ลองอ่าน แล้วมาเล่าให้ฟังกันครับ

เรารู้แน่นอนแล้วว่า เซลล์เป้าหมายของเชื้อโคโรนานี้คือเซลล์ระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะทางเดินหายใจส่วนล่าง แต่ก็อาจมีอาการที่ระบบทางเดินหายใจส่วนบนได้เช่นกัน ผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคโควิด19 ที่มีอาการรุนแรง ที่มีอาการวิกฤต หนึ่งในเกณฑ์การวินิจฉัยและสิ่งที่พบประจำคือ ภาพถ่ายรังสีปอดผิดปกติ โดยเฉพาะปอดกลีบล่าง กระจายออกด้านข้างมากกว่าตรงกลาง และเป็นฝ้าแบบเส้นกระจายออกไป

แต่นี่คือลักษณะของการอักเสบเฉียบพลันของปอด เราก็พบแบบนี้ในโรคปอดอักเสบเกือบทุกสาเหตุ ยังไม่สามารถนำมาพยากรณ์ว่าอนาคตข้างหน้าจะเป็นแบบนี้ต่อไป จะดีขึ้น หรือจะหายเป็นปรกติ และที่สำคัญคือโรคโควิด19 เพิ่มอุบัติมาประมาณปีกว่า ยังคงไม่สามารถเก็บข้อมูลปอดอักเสบเรื้อรัง หรือปอดเป็นพังผืดเรื้อรังได้

ข้อมูลที่ออกมาเรียกว่าเป็นผลที่ตามมา (sequelae) จากการป่วยโรคโควิด ที่ยังต้องเก็บข้อมูลเพิ่มเติมและวิเคราะห์ว่า เกิดจากสาเหตุใดกันแน่ จากการอักเสบ จากเชื้อไวรัส จากการรักษาล่าช้า จากโรคเดิมของผู้ป่วย หรือจากเชื้อชาติพันธุกรรม

ข้อมูลทั้งหมดมาจากการเก็บข้อมูล #ในผู้ป่วยโควิดที่อาการรุนแรงหรือวิกฤต# เราไม่สามารถนำไปใช้กับผู้ที่อาการไม่รุนแรงหรือไม่มีอาการได้นะครับ ด้วยเหตุว่าตัวเลขผู้ป่วยอาการรุนแรงหรือวิกฤต มีเพียง 5-10% ของผู้ป่วยโควิดทั้งหมดเท่านั้น ในอนาคตน่าจะมีตัวเลขและความสัมพันธ์ที่ชัดเจนมากกว่านี้

การศึกษาเรื่องนี้กำลังทำอีกหลายการศึกษาเช่น SWISS COVID-19 Lung Study, UK-ILD Long COVID study, PostHospitalization COVID-19 Study การศึกษายังไม่เสร็จในขั้นสุดท้าย ข้อมูลที่ออกมาเกี่ยวกับ "ผลที่ตามมา" ของปอดจากโรคโควิดมีดังนี้

1. ใน SWISS cohort วิเคราะห์ผู้ป่วยหนัก 66 รายจากผู้ป่วย 113 ราย พบว่ากลุ่มผู้ป่วยหนักที่รอด มีผลการวัดสมรรถภาพปอดค่าหนึ่งคือ DLCO ต่ำกว่ากลุ่มที่ความรุนแรงโรคต่ำ ถึง 20% และพบว่าค่า DLCO ที่ลดลงนี้น่าจะเป็นตัวพยากรณ์ที่ดี เพราะเมื่อติดตามกลุ่มที่ DLCO ลดลงไประยะหนึ่ง พบว่าความดันออกซิเจนในเลือดแดงลดลง และ การทดสอบการเดิน 6 นาที ทำได้ลดลง

2. การศึกษาเก็บข้อมูลผู้ป่วยโรคโควิด19 ที่อาการรุนแรงและรอดชีวิต 114 รายในเอกสารหมายเลข 3 พบว่ามีจำนวน 62% ที่ภาพถ่ายเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์หลังหายแล้วหกเดือน ยังปรากฏความผิดปกติที่คล้ายกับปอดเป็นพังผืด (fibrosis) ที่บอกว่าคล้าย เพราะไม่ได้ยืนยันผลด้วยการตัดชิ้นเนื้อ

3. ข้อมูลจาก UKILD COVID พบว่าผู้ป่วยที่อาการรุนแรงในโรงพยาบาล เมื่อติดตามไปจะมีปอดถูกทำลายจากภาพเอ็กซเรย์ 20%

4. ปัจจัยร่วมกันที่พบว่าน่าจะส่งผลให้เกิดการทำลายคือ
* โรคที่รุนแรง ยิ่งรุนแรงยิ่งถูกทำลายมาก
* ระยะเวลาในการรักษา ยิ่งรักษานาน เกิดผลแทรกซ้อนมาก การทำลายก็มาก
* น้ำหนักตัวที่มาก ยิ่งเกิดการทำลายมาก ประเด็นนี้นอกจากพยากรณ์การทำลายในอนาคต ยังเป็นปัจจัยที่บอกอัตราการเสียชีวิตในการป่วยเฉียบพลันอีกด้วย
* อายุมาก

เราจะเห็นว่าข้อมูลเกือบทั้งหมดยังเป็นแค่การติดตามระยะสั้น ไม่เกิน 1 ปี ซึ่งระยะเวลานี้สั้นเกินไปที่จะบอกว่าเกิดการทำลายถาวร และตัวชี้วัดที่ออกมาเป็นตัวชี้วัดชนิด surrogate markers เช่นค่าสมรรถภาพปอด ภาพเอ็กซเรย์ แต่ยังไม่มีการวัดผลเรื่อง คุณภาพชีวิต อัตราความพิการ อัตราตาย ที่เป็น clinical outcome ผลที่เกิดกับผู้ป่วยและกระทบต่อระบบสาธารณสุขที่แท้จริง

สรุปว่า หากป่วยเป็นโควิดแบบรุนแรงหรือวิกฤต เมื่อหายป่วยแล้ว พบความผิดปกติของปอดได้บ้างในระยะสั้น หากมีปัจจัยเพิ่มเช่น โรครุนแรง รักษานาน อ้วน แต่ความผิดปกตินั้นจะหายหรือดีขึ้นหรือแย่ลงหรือไม่ คงต้องรอติดตามกันนานกว่านี้ครับ

เอกสารอ้างอิงข้อ 5 รีวิวมาได้อย่างสุดยอด น่าอ่านมาก และฟรีครับ

ที่มา

1. Pulmonary function and radiological features four months after COVID-19: first results from the national prospective observational Swiss COVID-19 lung studySabina A. Guler, Lukas Ebner, Catherine Beigelman, Pierre-Olivier Bridevaux, Martin Brutsche, Christian Clarenbach, Christian Garzoni, Thomas K. Geiser, Alexandra Lenoir, Marco Mancinetti, Bruno Naccini, Sebastian R. Ott, Lise Piquilloud, Maura Prella, Yok-Ai Que, Paula M. Soccal, Christophe von Garnier, Manuela Funke-Chambour. European Respiratory Journal Jan 2021, 2003690;

2. Han X, Fan Y, Alwalid O et al. Six-month follow-up chest CT findings after severe COVID-19 pneumonia. Radiology 2021;299:E177–E186.

3. BMJ 2020; 370: m3001

4. Imperial College of London News, Kate Wighten, Apr 4th 2021

5. Healing after COVID-19: are survivors at risk for pulmonary fibrosis? Lindsay T. McDonald. American Journal of Physiology-Lung Cellular and Molecular Physiology 2021 320:2, L257-L265

อาจเป็นรูปภาพของ ถ้วยกาแฟ และสถานที่ในร่ม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม