03 เมษายน 2564

HVTN 702 เป็นการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนโรคเอดส์ในประเทศแอฟริกาใต้

 วันนี้ผมมีเรื่องมานำเสนอ เรื่องของวัคซีนโรคเอดส์ อ่านแล้วมีข้อคิดอะไรหลายอย่างครับ

การศึกษานี้ชื่อว่า HVTN 702 เป็นการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนโรคเอดส์ในประเทศแอฟริกาใต้ ว่าหากฉีดในคนที่ยังไม่ติดเชื้อแล้วติดตามไปโดยให้คำแนะนำการป้องกันตัวเองตามมาตรฐาน แล้วเทียบกันระหว่ากลุ่มที่รับวัคซีนกับกลุ่มที่รับน้ำเกลือ ว่ามีการติดเชื้อเอชไอวีต่างกันหรือไม่ โดยวัดผลหลักที่สองปี และวัดผลรองเป็นการติดเชื้อที่เวลาต่าง ๆ และวัดผลรองว่าหากติดเชื้อแล้วจะมีปริมาณไวรัสต่างกันไหม

ทำไมต้องเป็นแอฟริกาใต้ ด้วยเหตุที่ก่อนหน้านี้มีการศึกษาวัคซีนโรคเอดส์ในประเทศไทย และผลว่ามีประสิทธิภาพที่ 31% และวัคซีนตัวนี้มีสูตรพื้นฐานใกล้เคียงกับตัวที่อยู่ในการทดลองนี้ เพียงแต่เชื้อไวรัสที่เป็นปัญหาในแอฟริกาใต้นั้น เป็น HIV-1 เช่นกันแต่เป็นชนิดย่อยชนิด C มีโครงสร้างของไวรัสต่างกันเล็กน้อย จึงต้องมีการปรับสูตรวัคซีนเล็กน้อย

ประเทศแอฟริกาใต้ จึงเข้าโครงการใช้วัคซีนสายพันธุ์ที่เป็นปัญหาของเขานี้ ในการทดสอบวัคซีนเฟสหนึ่งและเฟสสองพบว่า สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีทีเดียว จึงเข้ามาสู่การศึกษาในระยะที่สาม การศึกษาประสิทธิภาพและผลข้างเคียงในคนจริง

การศึกษานี้ทำในประเทศแอฟริกาใต้ ในเดือนตุลาคม 2016 จนถึง มิถุนายน 2019 โดยใช้อาสาสมัครที่ต้องไม่ติดเชื้อมาก่อน และไม่ตั้งครรภ์ระหว่างการศึกษา ต้องการ 5400 คน และได้จำนวนมาทั้งสิ้น 5404 คนแบ่งเป็นกลุ่มรับวัคซีน 2704 คนและกลุ่มที่ได้รับน้ำเกลือเป็นยาหลอก 2700 คน

ในกลุ่มที่รับวัคซีนนั้น สองเข็มแรกใช้ ALVAC-HIV และอีก 4 เข็มต่อมาจะรับวัคซีนที่มีสายพันธุ์ของสายย่อย C ที่เป็นปัญหาในแอฟริกาใต้ด้วย (วัคซีนฉีดที่วันที่ 0 และเดือนที่ 1,3,6,12,18)

การศึกษานี้มีการติดตามจนจบการศึกษาที่สูงมาก ได้ข้อมูลที่ครบการศึกษาและแตกแยกย่อยออกมาได้อีกเยอะ กลุ่มคนที่เข้ามาในการศึกษาเป็นหญิง 70% (อันนี้เป็นเป้าประสงค์ของการศึกษา) อายุประมาณ 20-30 ปี โดยชายจะอายุมากกว่าหญิงเล็กน้อย มีกลุ่มที่เปลี่ยนเพศน้อยมาก

มาดูผลการศึกษาหลักคือ อัตราการเกิดการติดเชื้อเอชไอวีที่ 2 ปี พบว่ากลุ่มวัคซีน 138 คนและกลุ่มที่ได้ยาหลอก 133 คน อัตราการเกิดเอชไอวีโดยรวมที่ 3.3 ต่อ 100คนปี ซึ่งพอ ๆ กับอัตราการเกิดเอชไอวีในประชากรทั่วไปคือ 4 ต่อ 100คนปี การคำนวณพบว่าทั้งสองกลุ่มแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ

การศึกษารองคือ การติดเชื้อที่ 6.5 เดือน 18.5 เดือน และ 36 เดือน ก็พบว่าทั้งสองกลุ่มไม่ต่างกัน คิดแยกตามภูมิภาคต่าง ๆ เพศ น้ำหนักตัว โอกาสเสี่ยงติดเชื้อที่ไม่เท่ากัน ก็ปรากฏว่าอัตราการติดเชื้อที่คิดแยกแบบต่าง ๆ ก็ไม่ต่างกัน ผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีนก็น้อยมากและเป็นผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรงอะไรเลย

การเกิดภูมิคุ้มกันก็เกิดได้ดี และเทียบเท่ากับระดับภูมิคุ้มกันที่เกิดในผู้ที่ได้รับวัคซีนที่เคยศึกษาในประเทศไทยเลย และในคนที่มีการติดเชื้อที่พบหลังเริ่มการศึกษาไปแล้วนั้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มรับวัคซีนหรือกลุ่มที่รับยาหลอก ปริมาณไวรัสที่ตรวจพบในตัวก็เท่าๆ กัน

หลังจากที่การวิเคราะห์ผลเบื้องต้นออกมา คณะกรรมการควบคุมงานวิจัยเห็นว่าผลออกมาไม่ต่างกัน และถึงเกณฑ์ที่จะต้องยุติการศึกษา จึงต้องยุติการศึกษา โดยผลสรุปออกมาว่าวัคซีนตัว HTVN 702 นั้น ไม่ได้มีประสิทธิภาพลดการติดเชื้อเอชไอวี เมื่อเทียบกับน้ำเกลือเลย

เอาล่ะ ถ้าหากเรามาพลิกเปิดรายละเอียดต่อไปในวารสารจะพบข้อที่น่าสนใจเพิ่มมาดังนี้

1. หลังจากให้วัคซีนหรือยาหลอก ทุกคนจะได้รับคำแนะนำเรื่องการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีเหมือนกันทุกคน แต่ปรากฏว่า มีผู้ใช้ถุงยางอนามัยอย่างสม่ำเสมอเพียงแค่ 6-9% ผู้ที่ไม่ใช้เลย 15-20% ที่เหลือคือใช้บ้างไม่ใช้บ้าง จะเห็นว่าหากไม่ให้ความสำคัญของการป้องกันในส่วนอื่น ๆ ด้วย การใช้วัคซีนก็ไม่ได้ส่งผลยิ่งใหญ่เท่าไร

2. จากข้อหนึ่งที่เราพบว่า มีการใช้ถุงยางอนามัยอย่างสม่ำเสมอไม่สูงนัก ยังถูกขยี้ด้วยข้อมูลที่บอกว่า เป็นคนที่มีคู่นอนคนเดียวหรืออยู่กับคู่แต่งงานเพียง 15% นั่นคือ มีพฤติกรรมเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวีสูงมาก แต่ป้องกันน้อยมาก นอกจากนี้ข้อมูลเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ก็สูงเช่นกัน

3. เป็นกลุ่ม sex worker หรือมีเพศสัมพันธ์เพื่อผลตอบแทน เพียง 16-21% การติดต่อของโรคส่วนมากไม่ได้เกิดจากกลุ่มอาชีพทางเพศ แต่เป็นกลุ่มที่มีเพศสัมพันธ์ทั่วไปนี้เอง

4. ผู้ที่เข้าร่วมในการศึกษานี้ จะได้รับคำแนะนำเรื่องการใช้ยาเพื่อป้องกันก่อนเกิดโรคก่อนมีเพศสัมพันธ์ (pre exposure prophylaxis) และคำแนะนำการใช้ยาหากสัมผัสโรค (post exposure prophylaxis) และให้บริการยาฟรีเมื่อเกิดเหตุอีกด้วย แต่ปรากฏว่ามาใช้บริการเพียง 2-3% เท่านั้น ทั้ง ๆ ที่ตัวเลขความเสี่ยงสูงมากดังเช่นข้อหนึ่งและข้อสอง

แม้ว่าวัคซีนที่ใช้จะเป็นคนละตัวกับที่เคยศึกษาในประเทศไทย สภาพแวดล้อมต่างกัน พันธุกรรมและการตอบสนองต่อการติดเชื้อหรือการรับวัคซีนที่แตกต่างจากการศึกษาที่เคยทำในประเทศไทย

** แต่สิ่งหนึ่งที่บอกได้ชัดเจนคือ มาตรการการป้องกันที่เรารู้มาคือ สวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง หากเกิดเหตุที่จำเป็นต้องเสี่ยงหรือหลังเสี่ยงมาแล้วให้เข้ารับคำปรึกษาเพื่อพิจารณารับยา ** ยังมีความสำคัญมากและอาจสำคัญกว่าการมีวัคซีนด้วยซ้ำไป

ข้อคิดที่ได้จากการอ่านวารสารนี้คือ อยู่กับสิ่งที่มี ไม่ใช่สิ่งที่ฝัน และทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด ครับ

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม