17 กรกฎาคม 2568

imcranib ตอนที่ 2

 imcranib จากสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ตอนที่สอง : ความสำคัญเชิงสาธารณสุข และการชิงเหลี่ยมจังหวะทางการค้า

ความเดิมตอนที่แล้ว : การค้นพบโครโมโซมฟิลาเดลเฟีย ว่าเป็นสาเหตุการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด CML ต่อยอดไปเป็นการพัฒนายาที่สามารถยับยั้งการทำงานโปรตีนที่เกิดจากยีน BCR-Abl ของโครโมโซมฟิลาเดลเฟีย ผลการรักษายอดเยี่ยมระดับ 90% โดยเพียงแค่กินยาเท่านั้น พลิกการรักษาจากปลูกถ่ายไขกระดูกมาเป็นแค่กินยา จึงช่วยชีวิตคนได้มากมาย
คลิกอ่านตอนแรกที่นี่
Nicholas Lydon คิดค้นตัวยา imatinib ตั้งแต่เริ่มมาทำงานที่ซีบา-ไกกี้ ปี 1985 ใช้เวลาเพียงไม่กี่ปีสามารถผลิตตัวยา imatinib ได้และทำการจดสิทธิบัตรทางยา imatinib ที่เป็นตัวที่ออกฤทธิ์ เรียกว่า imatinib free-base
สารเคมีที่เข้าไปออกฤทธิ์ในร่างกายจะต้องทำให้คงตัวโดยการใส่เกลือ (base) เข้าไปจับกับตัวออกฤทธิ์ ยาจะทำงานได้มากน้อยดีเด่นกว่ากัน ก็ขึ้นกับเกลือที่จับนี้ด้วย ยกตัวอย่างยาหัวใจ metoprolol จะมีเกลือสองชนิดที่วางจำหน่ายคือ metoprolol succinate กับ metoprolol tartrate ที่ออกฤทธิ์ต่างกันบ้าง ตามเกลือไซด์ไลน์ที่เข้ามา
การจดทะเบียน imatinib ในครั้งแรกนัันไม่ได้เฉพาะเจาะจงชนิดของเกลือของยา
ซีบา-ไกกี้ ได้สิทธิบัตรของ imatinib คือตัวยาออกฤทธิ์ ในปี 1992 ในขณะนั้นหลายประเทศยังไม่มีกฎหมายสิทธิบัตรทางยา ความรู้ด้านสิทธิทางปัญญายังเป็นเรื่องใหม่ ช่วงนั้นเทปผี ซีดีเถื่อน โปรแกรมพันธุ์ทิพย์ ยังมีอยู่มากมาย เราเองยังไม่รู้เลยว่ามันเถื่อน จนพี่เสก โลโซ มาบอกว่าไม่ไปพันธุ์ทิพย์นั่นแหละ ถึงได้รู้
หลังจากได้สิทธิบัตรในปี 1992 การศึกษาพัฒนายา imatinib ทำต่อเนื่องจนได้รับการรับรองและจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาในปี 2001 และขยายตลาดไปทั่วโลกตามความครอบคลุมของบริษัทยาโนวาร์ตีสซึ่งรับเอาซีบา-ไกกี้และแซนดอส เข้ามาเป็นหนึ่งในบริษัทลูก แน่นอนว่าเมื่อมันเป็นยาพลิกโลกขนาดนี้ มันย่อมมีมูลค่าทางธุรกิจมหาศาล
มูลค่าราคาของยาในปี 2001 ยี่สิบสี่ปีก่อนนะครับ ราคายาที่ต้องใช้ต่อปีต่อคนคือ 30000 ดอลล่าร์สหรัฐ เมื่อมาเทียบกับค่าเงินในยุคปัจจุบันจะอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านบาทต่อคนต่อปี ซึ่งผู้ป่วยต้องใช้ยาไปตลอด คิดคร่าว ๆ ที่สิบปีก็คนละ 20 ล้าน ..เอิ๊ก ราคาอาจจะแพงกว่าการปลูกถ่ายไขกระดูกเสียอีก แต่ว่ามันง่ายกว่าไง
แม้ว่าผู้ป่วยที่ได้รับยามีอัตราการเสียชีวิตต่ำมาก แต่อัตราการเสียชีวิตโดยรวมของประชากรไม่ลดลงเพราะคนไม่สามารถเข้าถึงยาได้ มองในภาพรวมสาธารณสุขมันคือกุญแจทองคำที่วางบนยอดเขาทุนนิยม มองเห็นแต่เอื้อมไม่ถึง สิ่งที่ทำได้คือ รอให้ยาหมดสิทธิบัตรคุ้มครองเพื่อสามารถนำสูตรไปทำซ้ำเพื่อประโยชน์มวลมนุษยชาติได้ ซึ่งการหมดความคุ้มครองนี้ แต่ละประเทศใช้เกณฑ์ที่ต่างกัน ในกรณี imatinib จดในปี 1992 ตามกฎหมายอเมริกาจะหมดอายุ imatinib free-base ในปี 2013 บริษัทอื่นสามารถนำเอา imatinib ไปต่อยอดเพื่อรักษาคนในราคาถูกได้
โลกทุนนิยม มักจะไม่ใจดีเช่นนั้น ...
กระบวนการ evergreening คือการจดทะเบียนสิทธิบัตรสินค้าใหม่ที่ทำการต่อยอดจากเดิมเล็กน้อย การต่อยอดนี้ไม่ได้ทำให้สาระสำคัญของตัวยาเปลี่ยนไป แต่อาจจะเพิ่มอะไรบางอย่างเช่น เปลี่ยนชนิดเกลือที่ใช้เพื่อให้ละลายน้ำได้ดีขึ้น นำเอาสารที่ใกล้เคียงกับสารเดิมมาใช้ที่ราคาถูกกว่า แต่ประสิทธิภาพเท่าเดิม เพื่อให้สิทธิบัตรยังอยู่ในมือของเจ้าของผลิตภัณฑ์และต่อยอดอายุสิทธิบัตรแห่งยานั้นออกไป มองในโลกแห่งการค้าก็ทำให้บริษัทได้ประโยชน์แห่งสิทธิบัตรนั้นต่อไป เพราะอายุสิทธิบัตรแห่งยาโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 15 ปีเท่านั้น
บริษัทโนวาร์ตีสได้ทำการปรับโครงสร้างเกลือของ imatinib ให้กลายเป็น beta crystalline ตามคุณสมบัติที่ทำให้การละลายดีขึ้น แต่ประสิทธิภาพหลักในการรักษามะเร็ง ไม่ด้อยไปกว่ายาสูตรเดิม โดยยื่นจดทะเบียนในปี 1997 ที่สวิสเซอร์แลนด์ และได้รับอนุมัติในปี 1998
กลยุทธสร้างเกลือเข้าไปใหม่เพื่อต่อสิทธิบัตรการใช้งาน ทำให้มูลค่าทางการตลาดของ imatinib ไม่ตกลงไป แถมยังเพิ่มขึ้นอีกด้วย ถ้าเทียบกับมูลค่าเดิมปี 2001 (เทียบกับราคาเงินในปัจจุบัน) ที่เฉลี่ยสองล้านบาทต่อคนต่อปี ในปี 2012 เพิ่มเป็นเฉลี่ยที่ 3.7 ล้านบาทต่อคนต่อปี ...สำหรับการ evergreening
ราคายาที่เพิ่มขึ้นไป คือผลประกอบการที่เพิ่มขึ้นของบริษัท ในทางตรงข้าม หมายถึงโอกาสที่ผู้ป่วยจะเข้าถึงก็ลดลง
ในที่สุดจึงเกิดเรื่องที่โด่งดังไปทั่วโลกเพราะครั้งนี้มีคนได้ผลกระทบมากจริง กับประเทศที่ประชากรมากที่สุดในโลก ใช่แล้วครับ ข้อพิพาทระหว่างบริษัทโนวาร์ตีสกับรัฐบาลอินเดียในปี 2005
ยุคสมัยที่อินเดียเริ่มปฏิวัติตัวเองตั้งแต่ปี 2004 สมัยนายกรัฐมนตรีมาห์นโมฮาน ซิงห์ ผู้ล่วงลับ มีการเปิดประเทศเพื่อลงทุนสารพัดอย่าง ดึงต่างชาติมาลงทุนรวมทั้งบริษัทยาโนวาร์ตีสด้วย อินเดียจึงต้องปรับปรุงกฎหมายต่าง ๆ ให้เข้ากับการพัฒนาประเทศ และมีการใช้กฎหมายจดทะเบียนสิทธิบัตรในปี 2005 และในปีนั้นโนวาร์ตีสก็ยื่นจดทะเบียนสิทธิบัตร imatinib mesylate (beta crystalline) ทำการ evergreening ตามมุมมองของรัฐบาลอินเดีย
ในเวลานั้นหน่วยงานสิทธิบัตรของอินเดียและเอกชนในประเทศกำลังหมายมั่นปั้นมือจะผลิตยาสามัญหลังจากสิทธิบัตรของ imatinib free-based หมดลง
ทางการอินเดียไม่อนุมัติการต่อสิทธิบัตร ด้วยเหตุผลว่ามันเปลี่ยนแปลงในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญแห่งการรักษา ไม่รับจดทะเบียนเป็นสิทธิบัตรใหม่ ไม่ใช่นวัตกรรมใหม่ และนี่คือการ evergreening ซึ่งกฎหมายสิทธิบัตรอินเดียใหม่นี้ “ห้ามทำ”
บริษัทโนวาร์ตีสจึงยื่นฟ้องศาล การต่อสู้ทางศาลดำเนินไปจนถึงศาลสูงสุดอินเดีย ทุกศาลตัดสินเหมือนกันคือ ยกคำร้องของโนวาร์ตีส เพราะไม่ใช่นวัตกรรมใหม่ที่จะมาจดทะเบียนสิทธิบัตรใหม่ได้ ทำให้โนวาร์ตีสไม่ได้สิทธิบัตรของเกลือใหม่ในอินเดีย โดยการตัดสินนี้จบในปี 2013
แต่ทางอินเดียได้ทำการผลิต imatinib ราคาถูกมาตั้งแต่ปี 2006 ทั้ง ๆ ที่การพิจารณาของศาลยังไม่ยุติ เพราะในกฎหมายอินเดีย การยื่นขอสิทธิบัตรไว้ก่อน หากไม่ได้รับรองจากทางการ ยังไม่ถือว่ามีสิทธิบัตร (Mailbox applications) และไม่มีผลย้อนหลัง
การผลิตยาสามัญ imatinib mesylate ในอินเดียจึงไม่เป็นการละเมิดสิทธิบัตร เพราะสิทธิบัตรนั้นยังไม่เกิดขึ้น (หน่วยงานสิทธิบัตรไม่รับรองและศาลไม่รับรอง)
สำหรับผม..อินเดียมองเกมขาดกว่า
ทำให้โลกได้รู้จักยา imatinib mesylate เวอร์ชั่นอินเดียในปี 2007 ในราคา 98 ดอลล่าร์สหรัฐต่อเดือน จากยาต้นฉบับที่ 2600 ดอลล่าร์สหรัฐต่อเดือน เมื่อราคายาถูกลง ผู้ป่วยเข้าถึงยามากขึ้น อัตราการเสียชีวิตต่ำลงและช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยได้เพิ่มถึง 80000 รายรวมประเทศกำลังพัฒนาด้วย
ยาที่ราคาไม่แพงทำให้มีการศึกษาอรรถประโยชน์แห่งยา การลดอัตราการเสียชีวิตในโรคอื่น และการรักษาในโรคอื่น ๆ เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย จนในปี 2017 องค์การอนามัยโลกประกาศว่ายา imatinib เป็นยาบัญชียาจำเป็นของโลก
ทั่วโลกสามารถใช้เป็นข้ออ้างนี้เพื่อเจรจาต่อรองราคาและสต็อกกับบริษัทผู้ผลิตได้ โดยการรับรองขององค์การอนามัยโลก
ปัจจุบันเราสามารถขยายยา imatinib เพื่อรักษา CML ที่ไม่มีโครโมโซมฟิลาเดลเฟียแต่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาหลัก การรักษาโรค myelodysplastic syndrome บางประเภท และที่สำคัญหากเราผลิตเอง จะควบคุมต้นทุนและได้ราคาถูกลง
สำหรับประเทศไทยนั้นตัวยาหลัก imatinib ได้หมดสิทธิบัตรยาหลักไปเมื่อปี 2013 ส่วนการผลิต imatinib GPO โดยองค์การเภสัชกรรม มีมาตั้งแต่ปี 2007 แต่ตอนนั้นใช้การบังคับ สิทธิเหนือสิทธิบัตร (compulsive licence) ไม่ใช่หมดสิทธิบัตรทางยา
และตอนนี้ นอกจากนำเข้ายาจากอินเดีย จากยาต้นฉบับของบริษัทโนวาร์ตีส เรายังสามารถผลิต imcranib ซึ่งมีต้นแบบมาจากบริษัทอื่นที่ไม่ใช่โนวาร์ตีส (อ่านดี ๆ นะครับมันต่างกัน ไม่ใช่จากตัวยาต้นฉบับ Gleevec) ทำให้ผู้ป่วยชาวไทยมีโอกาสเข้าถึงยาและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นครับ
หวังว่าคงเข้าใจและรู้จัก imcranib 100 จากสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ได้เต็มอิ่มกันเลยนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม