15 กรกฎาคม 2568

การรักษา การกินยา ในบางกรณีทำเพื่อปกป้องผลแทรกซ้อนของโรค ไม่ได้ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น

 ภาพนี้คือน้ำในช่องท้อง (ascites) ของผู้ป่วยตับแข็ง และเรื่องราวที่เป็นความเข้าใจสำคัญของการควบคุมโรค

ผู้ป่วยรายนี้ได้รับการวินิจฉัยไวรัสตับอักเสบ B ชนิดเรื้อรัง ตรวจพบจากการบริจาคเลือด ไม่มีอาการใด ตรวจวัดปริมาณไวรัส HBV DNA ได้ 300,000 IU/mL , HBeAg : negative, ค่า ALT อยู่ที่ 150
นั่นคือมีข้อบ่งชี้การรักษาด้วยการลดปริมาณเชื้อไวรัส
หลังจากคุยปรึกษาข้อจำเป็นของการรักษา รักษาแล้วได้อะไร ไม่รักษาแล้วเสียโอกาสอะไร ระยะเวลา โอกาสสำเร็จ ค่ารักษา ผลแทรกซ้อน
ผู้ป่วยตกลงกินยา tenofovir เพื่อลดปริมาณไวรัส โดยโอกาสที่จะกำจัดเชื้อจนไม่พบอาจจะมีแค่ 10% ในระยะเวลา 10 ปี แต่ที่สำคัญคือลดโอกาสการเกิดตับแข็ง และลดโอกาสการเกิดมะเร็งตับลงได้
ประเด็นสำคัญคือขณะเริ่มยา ผู้ป่วยไม่มีอาการใด กินยาแล้วก็จะไม่มีอาการใดดีขึ้นเพราะไม่มีอาการอยู่แล้ว และผู้ป่วยรายนี้ก็ไม่มีผลแทรกซ้อนจากการใช้ยา
สรุปว่า กินยาแล้วก็ไม่ส่งผลอะไรเลยกับความรู้สึกผู้ป่วย
เมื่อกินยาได้หกเดือน ติดตามผลปริมาณไวรัส พบว่าระดับไวรัสต่ำกว่า 20 copies/mL ...และไม่มีอาการใดดีขึ้นหรือแย่ลง
ผู้ป่วยรู้สึกว่าไม่มีอะไรดีขึ้นจึงยุติการรักษาไปเอง ทั้งที่ได้รับคำแนะนำให้กินยาต่อเนื่อง
กลับมาอีกครั้ง ผู้ป่วยเป็นตับแข็ง มีน้ำในช่องท้อง ความดันโลหิตพอร์ทัลในช่องท้องสูง อึดอัดมาก ต้องทำการระบายน้ำออก พบว่ามีการติดเชื้อด้วย
การรักษา การกินยา ในบางกรณีทำเพื่อปกป้องผลแทรกซ้อนของโรค ไม่ได้ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น
บางคนคิดว่าเป็นภาระเสียด้วยกับราคายา เสียเวลากินยา เสียเวลามาหาหมอเพื่อติดตาม
คำปรึกษาจนเข้าใจ ยอมรับทุกมิติ ทั้งข้อดี ข้อเสีย มีความสำคัญมากก่อนจะเริ่มการรักษา เสียเวลาเพื่อกลัดกระดุมเม็ดแรกให้ถูกต้อง กระดุมเม็ดต่อไปจะถูกต้อง เรียบร้อยและได้ผล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม