16 กรกฎาคม 2568

imcranib 100 ตอนที่ 1

 ประมาณสองสัปดาห์ก่อนมีข่าวว่าสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ได้ทำการคิดค้นและผลิตยารักษามะเร็ง imatinib ในชื่อ imcranib 100 เรื่องราวมันเป็นอย่างไร เรามาอ่านกันเถอะ รับรองเกินแปดบรรทัดแน่นอน

เรามารู้จักยาต้นแบบกันก่อนคือยา imatinib ยาตัวนี้คิดค้นแรกเริ่มจากนักชีวเคมีชาวอังกฤษ Nicholas Lydon โดยคิดค้นขณะที่เขาทำงานอยู่ที่บริษัท Ciba-GeiGy หลายคนอาจจะเคยได้ยินชื่อบริษัทสัญชาติสวิสนี้ แสดงว่าคุณอายุไม่น้อยแล้วนะ เพราะเขาไปควบรวมกลายเป็น Sandoz และปัจจุบันก็คือบริษัทยาโนวาร์ตีส บริษัทที่เป็นเจ้าของสิทธิบัตรยา imatinib mesylate ที่ใช้ชื่อทางการค้าว่า Gleevec
คุณ Lydon เขาเริ่มคิดค้นมาตั้งแต่ปี 1985 จนมาประสบความสำเร็จขึ้นทะเบียนและได้รับการรับรองใช้ครั้งแรกในปี 2001 สำหรับการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดมัยอีลอยด์ (chronic myeloid leukemia) ที่ตรวจพบโครโมโซมพิเศษชื่อ Philadephia chromosome ดังนั้การที่เราจะเข้าใจความยิ่งใหญ่ของ imatinib เราต้องมารู้จักโรคนี้และโครโมโซมนี้กันพอสังเขป
โครโมโซมมนุษย์จะมีการคัดลอกตัวเองเพื่อที่จะแบ่งเซลล์ เป็นการส่งรหัสพันธุกรรมส่งต่อไปยังเซลล์ต่อไปและส่งต่อไปยังลูกหลานอีกด้วย
ในกระบวนการแบ่งตัว แบ่งโครโมโซมที่ก๊อปปี้มามีโอกาสเกิดข้อผิดพลาดได้ ความผิดพลาดของโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังคือ เกิดการไขว้กันอย่างผิดปกติของโครโมโซมคู่ที่ 9 และคู่ที่ 22 (translocation 9:22) พอมาไขว้กัน ลำดับเบสบนโครโมโซมที่มาไขว้และหลอมรวมกัน จึงผิดธรรมชาติ
ลำดับยีน abl1 (Abelson murine leukemia 1) บนโครโมโซมคู่ที่ 9 เกิดมาโจ๊ะกับ BCR (breakpoint cluster region) บนโครโมโซมคู่ที่ 22 รวมร่างเป็น BCR-abl gene และเรียกโครโมโซมเจ้าปัญหานี้ว่า philadephia chromosome
ชื่อนี้เกิดเนื่องจากการค้นพบที่เมืองฟิลาเดลเฟีย ในปี 1960
เมื่อโครโมโซมฟิลาเดลเฟีย เกิดจากการข้ามสาย ยีนที่ปรากฎก็เป็นยีนที่ผิดปกติ ยีนตัวนี้สร้างโปรตีนที่ผิดปกติเช่นกัน เรียกว่า tyrosine kinase ส่งผลทำให้การจ่ายพลังงานผิดพลาด ไปส่งเสริมการแบ่งตัวอย่างไม่มีขีดจำกัดของเซลล์เม็ดเลือดสายมัยอีลอยด์ เลยเกิดมะเร็งเม็ดเลือด CML
ในอดีตการรักษามะเร็ง CML ทำได้โดยการลดปริมาณเซลล์เม็ดเลือดผิดปกติที่สร้างออกมาแล้ว เปรียบเหมือนโรงงานสร้างแจกันออกมามากมาย รักษาโดยเอาไม้ไปฟาดแจกันให้แตกที่ปลายสายพานการผลิต ก็พออยู่ได้ แต่ก็ยังสร้างไม่หยุดอยู่ดี สุดท้ายปลายทางจะกลายเป็นมะเร็งเม็ดเลือดชนิดเฉียบพลัน
อีกวิธีคือปลูกถ่ายไขกระดูก เอาเซลล์ต้นกำเนิดที่ผิดปกติออกไปทั้งหมดโดยเผาทำลายให้เหี้ยน แล้วนำเซลล์ไขกระดูกอันใหม่บรรจุเข้าไปแทน อันนี้หายเลยนะ แต่ต้นทุนมหาศาล และโอกาสสำเร็จต่ำ เพราะคนไข้จะแย่ตั้งแต่เผาทำลายให้เหี้ยนแล้ว
เรามาดูตัวเลขกัน สำหรับมะเร็ง CML คนไข้เกือบทั้งหมดเสียชีวิต (case fatality ประมาณ 90%) เมื่อมีการรักษาด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูก พบว่ามีโอกาสหายขาด และเพิ่มอัตราการอยู่รอดโดยรวมได้สูงถึง 70% (overall survival) ถ้ามีไขกระดูกที่เข้าได้และสำเร็จ โอกาสอยู่รอดในห้าปีโดยโรคสงบประมาณ 70% เช่นกัน (progression-free survival)
แต่ช่วยชีวิตคนได้น้อยมากในระดับประชากร คือ ไม่ลด mortality เพราะจะมีเพียงไม่กี่คนที่
-สามารถหาไขกระดูกที่เข้ากันได้
-สามารถรอดจากกระบวนการเตรียมร่างการก่อนปลูกถ่าย ที่ต้องทำลายเซลล์ภูมิคุ้มกัน จนอาจเสียชีวิตจากการติดเชื้อเพียงเล็กน้อย
-สามารถรอดจากกระบวนการปลูกถ่ายและ engraftment คือสำเร็จ
-สามารถรอดจากการต่อต้านเนื้อเยื่อปลูกถ่าย (GVHD)
-มีเงินเหลือพอจะติดตามผลและรักษาผลแทรกซ้อน
คราวนี้มาถึงพระเอกของเรา imatinib ยังจำโปรตีน tyrosine kinase ที่ผิดปกติจากโครโมโซมฟิลาเดลเฟียได้นะครับ ยาอิมาตินิบ จะไปขวางกั้นไม่ให้โปรตีนนี้จ่ายพลังงานให้โปรตีนกระตุ้นมะเร็ง เมื่อไร้พลังงานเซลล์ก็ตาย
เซลล์ที่มีโครโมโซมฟิลาเดลเฟียจะตาย นั่นคือ เราจะไม่เจอโครโมโซมฟิลาเดลเฟียอีกตั้งแต่เซลล์ลูกปลายแถว จนถึงเซลล์ตัวพ่อในไขกระดูก ส่วนเซลล์ที่ไม่มียีน BCR-abl จะปลอดภัยดี เรียกว่า ขุดรากถอนโคนแบบล็อกเป้า (targeted therapy)
การศึกษาวิจัยในคนทำในปี 1998 เป็นยาพลิกโลกตัวแรก ๆ ลงพาดหัวนิตยสาร TIME ส่งผลให้ Nicholas Lydon ได้รับรางวัล Lasker Award ในปี 2009
มาดูตัวเลขผลการรักษากัน
อัตราการอยู่รอดโดยรวมที่ 90% โดยตอบสนองดีมากทันทีในปีแรกถึง 70% โอกาสอยู่รอดในสิบปีถึง 83%
โดยการตอบสนองนั้น เป็นการตอบสนองในระดับโครโมโซม หมายถึง โครโมโซมฟิลาเดลเฟีย หายไปได้ถึง 80% ของผู้ป่วยทั้งหมด ไม่ใช่แค่เซลล์ลดลง ไม่ใข่แค่ตายลดลง แต่หายในระดับ cytogenetics
ทั้งหมดนี้เพียงแค่ “กินยา” วันละเม็ดตลอดไป ไม่ต้องเสี่ยงในการปลูกถ่ายไขกระดูก คนไข้โทรมแค่ไหนเสี่ยงแค่ไหนก็กินได้
ก่อนจบศตวรรษที่ 20 นี่คือยาที่มหัศจรรย์ที่สุดแห่งยุคสมัย
ปัจจุบันนอกจากมารักษามะเร็ง CML
ยังใช้รักษาเนื้องอกทางเดินอาหารชนิด GastroIntestinal Stromal cell Tumors (GIST) และเนื้องอกผิวหนัง DermatoFibroSarcoma Protuberance (DFSP) ที่เกิดจากยีนผิดปกติเช่นกัน
และรักษาโรคอื่น ๆ ได้ เพียงแต่ไม่ตรงเป้าเป๊ะเหมือนอย่างสามโรคที่ว่า
นี่คือความสำคัญและปฐมบทความสำคัญของ imatinib
คอยติดตามต่อว่าทำไม imcranib ที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์จึงสำคัญมาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม