stretcher
stretch คำกริยาในภาษาอังกฤษ แปลว่า เหยียดออก แผ่กางออก แน่นอนเมื่อเติม suffixs -er เป็น stretcher คือ อะไรหรือใครที่ทำให้เหยียดออก แผ่ออก
แล้วมันมาเกี่ยวอะไรกับ stretcher เปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยด้วยล่ะ
ผมพยายามค้นบันทึกการใช้ครั้งแรก ปรากฏไม่ชัดเจน เอาที่มีหลักฐานการบันทึกจะปรากฏในสงครามประกาศอิสรภาพสหรัฐอเมริกาจากจักรวรรดิอังกฤษ ในเวลานั้นสงครามกลายเป็นสงครามสมัยใหม่แล้ว มีการใช้ปืน ดินระเบิด เวลาบาดเจ็บจะรุนแรง และต้องหามออกจากสนามรบ
อุปกรณ์ที่ทหารใช้คือ ผ้าแคนวาสหนา แผ่ออก เอาคนเจ็บวาง แล้วห่อรวบหัวท้ายคล้ายห่อศพ ซึ่งหากเคลื่อนย้ายคนที่ไม่ตาย ต้องระวังปิดหน้า หายใจไม่ได้ เจ็บมากกว่าเดิมเพราะรัด พลิกตกตุ้บ
ทหารในกองทัพจึงคิดใหม่ เอาไม้ยาว ๆ สองอันมาวางขนาน แล้วเอาผ้าแคนวาสมาแผ่ขึง มัดมุมกับไม้ เวลาจะขนส่งคนเจ็บ ก็ดึงผ้าตึง จับหัวท้ายของไม้ เป็นที่มาของ ไม้ดามขึงผ้า ไม้เป็นตัว stretch ผ้า
ใช้ง่าย เก็บง่าย นอนสบาย ขนย้ายคล่อง … ก็ได้รับความนิยมสิครับ แต่ว่ามาดังเอามาก ๆ สมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่งซึ่งข้ามทะเลมาเกิดที่ภาคพื้นยุโรป
วิธีการรบของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เราเรียกว่า สงครามสนามเพลาะ เพราะรบกัน เคลื่อนที่ กินอยู่ ในแนวดินขุดลึกเป็นแถวยาวหลายกิโลเมตร เหมือนปลวกแทะภาคพื้นยุโรป ดังนั้นการเคลื่อนย้ายคนเจ็บในสนามเพลาะจึงต้องใช้ stretcher
เคลื่อนไปในสนามเพลาะแคบ ขึ้นลงบันไดชัน เบี้ยวลัดตามโค้งหักศอก ใช้ stretcher คล่องมาก และมีการพัฒนาไปเป็นโลหะดาม ผ้าแคนวาสเย็บแน่น เพื่อความแข็งแรงปลอดภัย stretcher เลยแจ้งเกิดทั่วโลก
หลังสงครามก็ได้นำไปพัฒนารูปแบบมากมาย ที่นิยมมากคือแบบ scoop หรือเปลตัก เป็น stretcher พลาสติกแข็งขึ้นรูป โครงโลหะเบา สามรถแยกแบ่งครึ่ง ช้อนเสียบทางซ้ายและขวาของคนไข้ แล้วมาประกบกัน..กริ๊ก ยกง่าย วางแล้วถอดแยก ไม่เปลืองพื้นที่ หาชมได้ตามรถพยาบาลทั่วไป
แม้ปัจจุบันจะเป็นแบบสำเร็จ ไม่ต้องมา stretch ผ้าอีก แต่เปลขนย้ายคนไข้ก็ยังได้ชื่อ stretcher มาจนปัจจุบัน
แต่…
ในภาพคือ stretcher ที่พบในค่ายกักกันเอ๊าชวิตช์ ที่โปแลนด์ ค่ายกักกันและสังหารชาวยิวที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป stretcher ในภาพจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เอ๊าชวิทช์ บอกเล่าเรื่องราวว่า เปลขนย้ายอันนี้ ใช้คนส่งคนเจ็บเช่นกัน แต่ปลายทางไม่ใช่โรงพยาบาล ปลายทางของคนที่ขึ้นมาใน stretcher นี้มีที่เดียว คือ gas chamber ห้องสังหารอบแก๊สอันน่าสยดสยองนั่นเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น