25 กุมภาพันธ์ 2567

Campbell's Biology

 รักแรกพบ

คุณเคยเจออะไรครั้งแรกแล้วประทับใจไม่ลืมแบบนี้ไหม นึกทีไรก็ประทับใจ แถมยังเสาะแสวงหามาครอบครองอีกด้วย
เรื่องการอ่านหนังสือ ผมก็ยอมรับและประมาณว่าตัวเองอ่านมากระดับหนึ่ง แต่ในระดับของเด็กจนถึงมัธยม หนังสือที่อ่านเกือบร้อยทั้งร้อยเป็นภาษาไทย ถ้าจะจากต่างประเทศก็ต้องแปลไทย ผมเคยบอกผู้อ่านหลายครั้งแล้วว่าผมอ่านหนังสือภาษาอังกฤษแบบจริงจังตั้งแต่ประถม นั่นคือ Charlie and The Chocolate Factory ต่อด้วยนิทานเด็กน้อยอีกหลายเล่ม ด้วยความที่เราอ่านไม่เก่ง อ่านไม่ออก และยุคนั้นหนังสือภาษาอังกฤษหายาก ราคาแพง สารานุกรมภาพสีภาษาอังกฤษนั้น ทางห้องสมุดจัดอยู่ในตู้หนังสืออ้างอิง ล็อกกุญแจ ยากมากที่จะอ่าน
แต่สำหรับนักเรียนผู้ช่วยบรรณารักษ์อย่างเรามันก็อีกเรื่องนึง มีกุญแจอยู่กับตัวนี่ครับ แอบอ่าน แอบเปิดซึ่งก็ภาพสวยดีนะ แต่ก็ไม่ค่อยรู้เรื่อง
ยิ่งกับตำรา ภาษาไทยล้วน ๆ แน่นอน …จนเมื่อได้เจอ standard textbook ตอนเข้าเรียนมหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 1 สมัยนั้นอาคารห้องสมุดรวมของศาลายาในสายตาของผมคือมันหรูมาก มีสามชั้น ตู้หนังสือสูงท่วมหัวเรียงราย มีโต๊ะเก้าอี้เพียบ ช่วงสอบเปิดให้อ่านจนดึกอีกด้วย สวรรค์ชัด ๆ
แต่เด็กท้ายห้องอย่างผมจะไปรู้จักอะไร นั่งเรียนไป ก็ได้ยินคุณครูพูดถึงหนังสืออ้างอิงที่ไปอ่าน แน่นอนไม่มีภาษาไทยเลยแม้แต่น้อย ในใจคิด มันคืออะไรฟระ ต่างประเทศเขาก็เรียนแบบเดียวกับเราหรือนี่ น่าสน
แต่ก็ยังไม่มากพอจะทำให้ลองอ่าน ก็บรรดาวิชาต่าง ๆ ที่อัดเข้ามา ผมว่าแค่ภาษาไทยก็ตามไม่ทันแล้ว จนกระทั่งวันหนึ่ง ได้ยินเสียงเพื่อนข้าง ๆ มันขิงเพื่อนข้าง ๆ มัน (เราแอบฟัง) บอกว่า "เฮ้ย มึงรู้ไหม ไอ้…(ตัวท้อปของรุ่น โคตรเก่ง) มันอ่านชีวะของแค้มป์เบลเลยนะ"
หือ..ชีวะของแค้มป์เบล มันคืออะไร ผมเคยไปหาอ่านหนังสือประกอบการเรียน เป็นชีววิทยาระดับมหาวิทยาลัย ของ อ.เชาวน์ ชิโนรักษ์ ยังจำได้จนตอนนี้ หนังสือกระดาษปรูฟ เล่มหนามาก และขอบคุณอาจารย์เชาวน์ ที่ทำให้สอบผ่านมาได้ครับ
สงสัยต้องลองดู มันอ่านเล่มนี้หรือนี่ มันถึงเก่ง …ไอ้เราก็อยากบ้าง คือว่าคณะที่เรียนนี่นะครับ ตัดเกรดแยกจากคณะอื่น มาคิดเกรดเฉพาะคณะนี้เดี่ยว ๆ แล้วคุณมองรอบข้าง แม้จะไม่ได้รู้จักหน้าค่าตามาก่อนเลย แต่พอรู้แหละว่าพวกนี้ ทีมชาติ ถ้าไม่อ่านเราจะล่องจุ๊นไหมเนี่ย คราวนี้แหละครับ ที่อยากรู้ว่าตำรามาตรฐานต่างประเทศมันเป็นอย่างไรก็ได้รู้
ตัดภาพมาที่ห้องสมุด
มันก็ไม่ได้หายากนะครับ เจ้า Campbell's Biology แถมมีหลายเล่มเรียงกัน เรียบสวย เลขรหัสประจำเล่มยังเรียงกันเลย ด้วยประสบการณ์ในห้องสมุดทราบเลย แสดงว่ามันไม่มีใครมาหยิบยืมไปมากนัก นึกในใจ โธ่ นี่ตรูโดนขิงหรือนี่ แต่ไหน ๆ ก็มาแล้ว ลองหยิบไปอ่าน
ความรู้สึกแรกคือ หนักมาก หนามาก ใหญ่เทอะทะ มันไม่น่าจะเป็นตำราที่ "เป็นที่นิยม" ได้เลย ปกสวย กระดาษเป็นกระดาษอาร์ตเลยนะครับ พิมพ์สี่สีสดทั้งเล่ม ตำราไทยระดับเดียวกันสมัยนั้นยังหายากเลยครับ และพอเปิดเข้าไป
เออ ภาษาที่ใช้สำหรับวิชาในมหาวิทยาลัยมันก็ไม่ได้ยากซับซ้อนอะไร พออ่านได้นี่นา ก็เลยพลิกไปหน้าที่ตรงกับบทเรียนปัจจุบัน แล้วเริ่มอ่าน นั่นคือวินาทีแรกที่ได้อ่าน standard textbook ภาษาอังกฤษ
คือมันดีมากเลย เริ่มต้นด้วย ความเป็นมาที่ว่าทำไมเราต้องรู้เรื่องนี้ มันสำคัญตรงไหน หรือส่วนเปิดเรื่องที่น่าสนใจ หลังจากนั้นเนื้อหาจะขยับต่อไปตามลำดับ แบ่งออกเป็นส่วน ๆ ที่ชัดเจน มีภาพประกอบ มีตารางที่ช่วยให้เข้าใจได้จริง มีไดอะแกรมที่ตอนนั้นคิดว่า โห..คนเขียนนี่เก่งมาก เขียนรูปเดียว อธิบายได้ครบหมดเลย จำได้เลยว่ารูปนั้นคือ Kreb's Cycle แห่งการสันดาปพลังงานในเซลล์
อ๋อ ..สารตั้งต้นตัวนี้มาจากที่นี่ เข้าตรงนี้ มีลูกศรโยงจำนวนพลังงานที่ได้แต่ละขั้นตอนมารวมกัน พออ่านจบถึงเข้าใจว่า 38 ATP มันมาได้ไง มีการคิดสมการพิสูจน์ให้เห็นว่า ทำไมจึงได้แบบนี้ ไม่ใช่ได้มาจากเขาบอกหรือต้องจำ
เฮ้ย..มันเจ๋ง มันดี มันเข้าใจ นั่งอ่านอ่านจนจบเรื่องเซลล์เลย
ไม่พอ คำถามท้ายบท เป็นคำถามแบบ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เพราะอะไรจึงเป็นแบบนี้ ไหนนักเรียนอธิบายสิ ซึ่งมันชวนคิดมาก และชวนให้กลับไปค้นว่า ทำไมวะ (ถึงตอบผิด) ต่างจาก ก ข ค ง ที่เคยผ่านมาชัดเจน
หิวข้าวแล้ว ก็เลยปิดและไปวาง ผมขอสารภาพว่าไม่ได้ไปวางตรงชั้นวางหลังอ่าน แต่เดินไปเก็บที่ชั้นเลยด้วยความเคยชิน ไม่ได้ยืมไปอ่านด้วย ตอนนั้นกลัวเป็น..จุดเด่น ประมาณว่า โห มันอ่านเท็กซ์ว่ะ เลยมานั่งอ่านที่ห้องสมุดเอา ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรอายนะครับ ใครอ่านอยู่ ถ้าทำเรื่องที่ดี โดยที่คนอื่นไม่เดือดร้อน ก็ไม่ต้องอายอะไร
นั่นคือครั้งแรกที่ได้เปลี่ยนโลก รู้จักตำรานานาชาติ หลังจากนั้นก็เริ่มสะสมทักษะการอ่าน การวิเคราะห์ การอ่านวารสาร การฟังบรรยาย จนได้มาเป็นวันนี้ ขอบอกเคล็ดลับนะครับ ถ้าเราอ่าน textbook ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อไม่ได้ไปสอบ อ่านทบทวน อ่านเอาความรู้ ผมว่าตำราภาษาอังกฤษมาตรฐาน อ่านเข้าใจกว่า ง่ายกว่า สนุกกว่า ตำราภาษาไทยครับ และถ้าได้อ่านไทยคู่อังกฤษ ก็จะได้เรียนรู้ถึงวิธีคิดของคนเขียนตำราภาษาไทยเพิ่มอีกด้วยครับ
หลายปีต่อมา เห็นเล่มนี้วางขายที่ศูนย์หนังสือจุฬา ก็ไม่กล้าซื้อ ด้วยความที่ราคาแพง และคิดว่าคงไม่คุ้มเท่าไร เราเอามาใช้น้อย เอาเงินไปซื้อตำราอายุรศาสตร์คุ้มกว่า จนได้มาเจอเล่มนี้ในกลุ่มขายหนังสือมือสอง ขอดูสภาพแล้วพบว่ามันเจ๋งมากกับราคาเท่านี้ (ไม่กี่ร้อย,) จึงสอยมาเป็นสินทรัพย์ทางปัญญาต่อไปครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม