28 กรกฎาคม 2562

วิธีการอ่านหนังสือสไตล์ลุงหมอ

มีคนไถ่ถามกันมา ... จัดเวลาอ่านหนังสืออย่างไร หยิบมาเล่าให้ฟังสบาย ๆ วันอาทิตย์

แต่ต้องบอกก่อนว่าผมก็อ่านก็ฟัง สะสมวิธีการอ่านมาตั้งแต่สมัยประถม ลองถูกลองผิดมาหลายสิบปี ได้เป็นวิธีแบบนี้ แม้จะเป็นวิธีส่วนตัวแต่คิดว่าลองเอาไปดัดแปลงตามไลฟ์สไตล์ของแต่ละคนครับ เรื่องนี้ยาว ไปชงกาแฟอุ่น ๆ มาด้วยนะครับ

ขอแบ่งขนิดหนังสือก่อนครับ ผมจะแบ่งหนังสือเป็นสามอย่างคือ หนังสือที่ใช้ในหน้าที่การงาน (หรือการเรียนหากน้องยังเรียนอยู่) หนังสือที่อ่านเพื่อพัฒนาความรู้ และหนังสือเพื่ออารมณ์และความรู้สึก สัดส่วนในการอ่านของผมคือ 5:3:2 ซึ่งสัดส่วนนี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้นะครับ ในบางช่วงบางจังหวะของชีวิตที่ต้องศึกษามาก อาจจะใช้สัดส่วน 8:0:2 เลยแต่สิ่งที่อยากให้ทำคือจัดแบ่งชนิดของหนังสือก่อนครับ เรามาดูในแต่ละชนิด

หนังสือเพื่อหน้าที่การงาน แต่ละคนจะต้องใช้ต่างกัน หนังสือเพื่อพัฒนาความรู้ของบางคนอาจเป็นหนังสือเพื่อหน้าที่การงานของอีกคน เช่น ผมเองเวลาอ่านหนังสือเรื่องการเงินการลงทุน คือหนังสือหมวดพัฒนาความรู้ของตัวเองแต่อาจเป็นหนังสือในหน้าที่การงานที่คนในอาชีพนักวางแผนการเงินต้องใส่ใจกว่า 50%

  ในหนังสือหมวดนี้สิ่งสำคัญคือต้องทำประจำ ไม่ว่าจะอ่านเพื่อเรียนเพื่อสอบ อ่านเพื่อแก้ไขปัญหาการทำงาน หรือเพื่อทบทวนความรู้ ต้องมีเวลาส่วนนี้อ่านหนังสือนี้เป็นตาราง เป็นกิจวัตรครับ  ส่วนใครจะวางตารางอย่างไรแล้วแต่คน ผมจะขอยกตัวอย่างตัวเองนะครับ
  ผมจะใช้เวลาในการอ่านหนังสือเพื่อหน้าที่การงานทุกวัน วันละสองถึงสามชั่วโมงโดยประมาณ เวลาที่ใช้ส่วนใหญ่คือหลังละครจบก่อนเข้านอน และในสองถึงสามชั่วโมงนี้ในแต่ละช่วงของปีจะโฟกัสต่างกันด้วย

  สี่เดือนจะเป็นความรู้การแพทย์พื้นฐาน หยิบมาทบทวนเช่นสรีรวิทยา ชีวเคมี กายวิภาค พยาธิวิทยา พันธุกรรม เภสัชวิทยา สี่เดือนจะเป็นอายุรศาสตร์ในทุกสาขา และอีกสี่เดือนเป็นความรู้ด้านเวชบำบัดวิกฤต อันนี้คือแผนใหญ่อ่านสะสมไปเรื่อย ๆ วนไปเรื่อย ๆ ในทุกปี ตั้งเรื่องที่จะอ่านในแต่ละช่วงและอ่านเสริมในเรื่องที่ต้องต่อยอดเป็นของแถม
  เช่น ในระยะเวลาที่อ่านการแพทย์พื้นฐาน ในช่วงปีนี้คือสี่เดือนนี้ทบทวนชีวเคมีเรื่อง สารอาหาร จึงออกมาเป็นบทความชีวเคมีของไขมัน และเภสัชวิทยาเรื่องยาแก้ปวด สรีรวิทยาของระบบไหลเวียน ตั้งใจไว้ประมาณนี้ ค่อย ๆ สะสมไปเรื่อย ๆ ส่วนในสี่เดือนแรกจะอ่านเรื่องราวของอายุรศาสตร์ระบบโรคข้อและรูมาติซั่ม กับอายุรศาสตร์ระบบทางเดินอาหาร ทั้งหมดนี้จะอ่านแบบทบทวนนะครับ เช่นจาก Harrison, CMDT

  แต่ในสองถึงสามชั่วโมงนี้ใช้เวลาอ่านทบทวนต่าง ๆ ครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งจะเป็นการสืบหาปัญหาคนไข้ที่ต้องเจอในแต่ละวัน ที่อาจเป็นเรื่องอื่นไม่ใช่เรื่องที่ตั้งใจไว้ และวารสารที่ออกมาใหม่ ๆ ผมตั้งใจอ่านสัปดาห์ละอย่างน้อยสี่เปเปอร์ครับ

  ผ่านไปสามถึงสี่ปี เราก็จะทบทวนได้มาก ยิ่งอ่านมากยิ่งทำสม่ำเสมอ ครั้งต่อไปจะยิ่งใช้เวลาสั้นลง เข้าใจเร็วขึ้น สามารถเพิ่มความรู้ใหม่ ๆ ได้มากขึ้นไม่เสียเวลาทวนของเดิมอย่างเดียว ข้อสำคัญคือต้องให้เวลาตรงนี้และทำอย่างสม่ำเสมอ อย่าโกง

  หนังสือหมวดที่สอง หนังสือเพื่อพัฒนาความรู้ คนเราควรมีความรู้ด้านกว้างด้วยครับ การมีความรู้กว้างนอกจากทำให้เรามองสิ่งต่าง ๆ ด้วยความเข้าใจมากขึ้น ยังมองสิ่งที่เราเชี่ยวชาญในอาชีพของเราดีขึ้นอีกด้วย

  เวลาในการอ่านหนังสือหมวดนี้ จะเป็นช่วงว่างครับใช้การสะสม การผ่อนส่ง เช่นหลังอาหารเช้า ช่วงว่างตอนบ่าย หรือเวลารออาหาร กินกาแฟ ดังนั้นข้อสำคัญคือต้องมีหนังสืออยู่พร้อมจะอ่านตลอดเวลา หลายคนใช้วิธีอ่านสองถึงสามเล่มในเวลาเดียวกัน วางหนังสือตามที่ต่าง ๆ อยู่ที่ไหนอ่านที่นั่น แต่สำหรับผม ผมจะอ่านทีละเล่ม ผมจึงพกหนังสือติดตัวตลอด หนังสือบางเล่มนอกจากอ่านแล้วจะจดโน้ตด้วย ก็จะพกหนังสือ สมุด ปากกาพร้อมกัน
  เช่น ประมาณสัปดาห์ก่อนผมอ่านเรื่องความรู้การแพทย์ทางเลือก ก็จะพกหนังสือไว้ติดตัว (ไม่ได้ขีดหรือติดโพสต์อิตเพราะเป็นหนังสือห้องสมุด) วางแผนจะศึกษาสี่เล่มใช้เวลาทั้งหมดสองถึงสามสัปดาห์

  หนังสือหมวดนี้เลือกที่คุณสนใจนะครับ เนื่องจากความสนใจผมกว้างมากจึงอ่านมาก ไม่ค่อยชอบหาจากอินเตอร์เน็ต จึงอ่านเยอะมากเพื่อมาประกอบเรื่องราว บางทีก็ได้เรื่องอื่นแถมมาบ่อย ๆ

  หลายคนสงสัยว่าทำไมต้องจดโน้ตด้วย เพราะอ่านหลายเล่มในเรื่องเดียว และผมยืมหนังสือห้องสมุดบ้าง ซื้อมาแล้วขายต่อบ้าง ถ้าไม่บันทึกจะต่อไม่ติด ในเดือนมกราคมถึงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หนังสือหมวดนี้ที่ผมอ่านคือ สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง อ่านทั้งภาษาไทยและอังกฤษไปห้าเล่ม บันทึกได้พอสมควร วาดภาพ แผนภูมิ เราจึงเข้าใจมากขึ้น

  มาถึงหนังสือหมวดที่สาม เพื่ออารมณ์และความรู้สึก การจัดหนังสือเพื่ออารมณ์และความรู้สึกนี้แล้วแต่คนนะครับ อย่างหนังสือเรื่อง mindset, อิคิไก, ทำอาหาร, ท่องเที่ยว ผมจะจัดเป็นหมวดหมู่เพื่อความรู้สึก แม้ว่าหนังสือจะเป็นจิตวิทยาการพัฒนาตัวเอง หรือสอนการเที่ยว ผมอ่านเพื่อเติมเต็มความรู้สึกอยากอ่านอยากรู้ ถามว่าเอาไปใช้ได้ไหมก็เอาไปใช้ได้ เพียงแต่ไม่ได้จริงจังเหมือนหมวดพัฒนาความรู้ของผมครับ แต่เมื่อใดที่ตั้งใจจะพัฒนาหรืออ่านจริงจังจะขยับไปอ่านตามแบบที่สองครับ
   ส่วนหนังสือนิยาย เรื่องสั้น นิยายแปล วรรณกรรม การ์ตูน ผมก็จะจัดในหมวดนี้เช่นกันครับ (บางเรื่องที่จริงจังเช่น รามเกียรติ์หรือสามก๊ก ผมจัดไปเป็นหมวดพัฒนาความรู้เพราะจริงจังมาก)

  หนังสือหมวดนี้ในส่วนตัวจะอ่านเมื่ออยากอ่าน หรือสลับฉากเวลาเบื่อและเหนื่อยจากสองหมวดแรก ไม่ได้ระบุเวลาชัดเจน เพียงแต่เวลาอ่านแล้วมักจะติดลม บางครั้งจะเลยเถิดไปเบียดเวลาของหนังสืออ่านเพื่อพัฒนาความรู้บ้างก็ไม่เป็นไร ยืดหยุ่นได้ เวลาติดลมบางทีไม่นอนก็มีนะครับ ตอนที่อ่านนิยายของปราปต์ นิยายชุดนักสืบกาลิเลโอ บางทีเริ่มเที่ยงคืนกะว่าสักชั่วโมงก็พอ ปรากฏว่าตีสี่ครับ จบเล่มหรือจบสองเล่มก็มี

  หนังสือกลุ่มนี้ผมจะอ่านเวลาเฝ้าคนไข้ อยู่เวร (เป็นคนที่แปลกคือเวลางานจะไม่อ่านหนังสือวิชาการ แต่จะอ่านนิยาย) หรือเวลาปลอดจากงานและภาระใด ๆ แล้วยาว ๆ เช่นเวลาเดินทางบนรถโดยสาร ขึ้นเครื่องบิน เป็นการฆ่าเวลาด้วย

  เพราะหนังสือหมวดนี้เราอ่านเพื่ออารมณ์และความรู้สึกครับ อ่านเอามัน อ่านเอาอยากรู้ จึงไม่ได้ใช้เวลามากนัก แต่ละเล่มหรือแต่ละเรื่องจึงอ่านจบได้เร็วและหลายครั้งก็นำมาอ่านซ้ำในเวลาและอารมณ์ที่ต่างกันครับ

  อันนี้คือการวางแผน การอ่านเพื่อการงานอาชีพจะวางแผนเป็นหลักการ การอ่านเพื่อพัฒนาความรู้จะตั้งเป้าเรื่องอยากรู้แล้วกะเวลาคร่าว ๆ หลวม ๆ ในช่วงสั้น ๆ สองถึงสามสัปดาห์ในแต่ละเรื่อง ส่วนการอ่านเพื่ออารมณ์และความรู้สึกจะไม่ได้วางแผนอะไร คิดอยากหรืออะไรแว่บเข้ามาทำให้อยากก็จัดการเลย เติมเวลาที่เหลือหรือแทรกเพื่อตัดอารมณ์เครียด
  อีกประการที่นำมาคิดคือ เรื่องงบประมาณหนังสือ ช่วงไหนตึงมือก็จะเอาเรื่องเดิมมาอ่านซ้ำ ไม่ได้มีเรื่องอื่นเพิ่ม หาวารสารฟรี หรือไปหาหนังสือจากในห้องสมุด ผมเป็นคนที่ไม่ค่อยยืมหนังสือมาอ่านที่บ้าน ชอบไปอ่านให้จบหรือให้เสร็จในเป้าที่ต้องการที่ห้องสมุดมากกว่าไปเลือกมาอ่านครับ

  เดิมทีผมเป็นคนที่เรียนหนังสือปานกลาง แต่ก็ถือเป็นโชคดีเพราะการที่เราเรียนไม่ได้เก่งมาก เราจึงต้องอาศัยทักษะอื่นมาชดเชย ต้องอาศัยอ่านมาก อ่านบ่อย อ่านเข้าไป ฝึกสรุป ฝึกเขียน ทำบ่อย ๆ เข้าสิบปี ยี่สิบปี สามสิบปี สิ่งที่ได้แน่ ๆ คือทักษะการอ่าน การจับใจความ การคาดเดาเรื่อง การ skim การ scan
  พอทำไปนาน บ่อย สม่ำเสมอ ไม่ท้อ ทำให้อ่านได้เร็ว มีสมาธิอ่านหนังสือได้ง่าย อ่านได้ทุกที่ทุกเวลาที่มีแสงสว่าง สามารถอ่านแล้วพักและกลับมาต่อจุดเดิมได้ ทั้งตำราหรือนิยาย

  สำหรับน้อง ๆ พี่ ๆ เพื่อน ๆ ไม่มีใครเริ่มใหม่ไม่ได้ ถ้าอยากอ่าน อยากจัดสรรเวลา ต้องลองทำและปรับแต่งไปด้วยตัวเอง อดทน อย่าขาดวินัย ไม่มีอะไรง่ายแต่ก็ไม่มีอะไรยาก

  แหม..ยังอยากเล่าต่อไปเรื่อง การอ่านในยุคเทคโนโลยี มันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการอ่านของเราอย่างไร อีบุ๊ก แทบเล็ต พ็อดคาสต์ ออดิโอบุ๊ก สังคมออนไลน์ แยกเล่าได้อีกเรื่อง ถ้ามีคนอยากรู้จะเขียนเล่าให้ฟัง

  หรือจะมาเล่าสู่กันฟังในงาน #สุขใจที่ได้อ่าน2 วันเสาร์ที่ 3 ส.ค.นี้ก็ได้นะครับ แหะ ๆ แอบขายของ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม