09 กันยายน 2559

ยาแพง..เพราะอยากได้ กำไร อย่างเดียวหรือ

ยาแพง..เพราะอยากได้ กำไร อย่างเดียวหรือ
มุมมองผมเองนะครับ..ยาวหน่อย

งาน CMCC ปีนี้ผมว่าเป็น Highlight ในโรคหัวใจและโรคที่เกี่ยวกับหัวใจ เดี๋ยวนี้บูรณาการกันหมด เบาหวาน ความดัน ไขมัน ไต เลือด ปอด หัวใจ ในปีนี้มีการรักษาใหม่ๆและยาใหม่ๆ มาให้ฟังกันแบบเนื้อๆ รวมทีเด็ดของสองสามปีที่ผ่านมา โอเค..เรื่องวิชาการ ติดตามได้จากเพจ 1412 cardiology และ บทวิเคราะห์ต่างๆในคอนเม้นต์ต่างๆครับ ท่านสรุปดีมาก
แต่ที่จะพูดวันนี้คือ ทำไม ยามันจึงแพงมากขึ้นๆเรื่อยๆ ยาดีๆทำไม่ถึงแพง แล้วยาแพงๆมันรักษาได้ดีกว่าหรือไม่ ตัวผมเขียนบทความ ไม่เคยเชียร์บริษัทหรือยาใด ดีก็ว่าดี แย่ก็ว่าแย่ แต่วันนี้อยากจะให้ลูกเพจผมที่เป็นคนทุกระดับ เช้าใจว่า ทำไม

อายุรแพทย์ เราใช้ยาเป็นอาวุธหลักครับ ยาแต่ละตัวกว่าจะออกมาได้ ผ่านการค้นคว้าวิจัยที่ไม่ง่ายเลย แล้วยังต้องศึกษาในคนอีก ไม่ว่าจะเป็น ยาหัวใจวายตัวใหม่ ARNI, ยาต้านการแข็งตัว NOACs, ยาเบาหวาน SGLT2, Insulin Degludec
ทำไมต้องมียาตัวใหม่ด้วย..ยาเดิมนั้น จริงๆก็ออกฤทธิ์ได้ดี รักษาโรคและลดอัตราการเสียชีวิตได้ดี แต่เมื่อเราใช้ไปสักพักหนึ่งจะเริ่มเกิดปัญหาครับ อย่างเช่นบอกว่า ยากันเลือดแข็งตัวเดิม warfarin ลดการเกิดอัมพาตในผู้ป่วยที่หัวใจเต้นผิดจังหวะได้ดี นั่นคือในการศึกษาวิจัยครับ มีการควบคุมปัจจัยต่างๆเคร่งครัด..มีคนติดตามทุกสามวันเจ็ดวัน ผลทุกอย่างเป๊ะๆ แต่ในชีวิตจริงมันต่างกัน

ระดับยาที่การศึกษาทั่วโลกเขาทำคือ ได้ระดับอย่างน้อย 50-60% แต่บ้านเราต่ำกว่านั้นมากระดับยาไม่ค่อยคงที่ เลือดออกก็มาก เมื่อเอามาเทียบกับยาตัวใหม่ โอเค จากการศึกษาพบว่าประสิทธิภาพไม่ต่างกัน แต่อย่างลืมว่า นั่นคือการศึกษาวิจัยครับ ระดับยาได้ 60% เป็นอย่างต่ำๆ ในชีวิตจริงที่จะได้ระดับยา 30% บางทียังยาก ยาตัวใหม่ๆจึงน่าจะประสิทธิภาพดีกว่า เพราะยาเก่าเราใช้ไม่ถึงเป้านั่นเอง ซึ่งเป็นขีดจำกัดแล้ว บางที่เท่านั้นที่ทำได้ถึงเป้า ที่เหลือ หึหึ...
หรือ insulin degludec ที่ผลิตวิจัยออกมา ให้ออกฤทธิ์ยาวนาน 24 ชั่วโมงจริงๆ ออกฤทธิ์สม่ำเสมอ นิ่งๆ คงที่ เพื่อไม่ให้เกิด น้ำตาลในเลือดต่ำ ยาอินซูลินที่การออกฤทธิ์ขึ้นๆลงๆ จะมีโอกาสเกิดน้ำตาลในเลือดต่ำได้มากกว่าครับ และออกแบบมา ถ้าลืมก็ฉีดซ้ำได้ง่ายกว่า ไม่ต้องทดเวลามากมายนัก ถามว่า มันดีกว่าอินซูลินตัวเก่าไหม คำตอบคือ.. ไม่ .. แต่มันช่วยอุดช่องว่างที่จะเกิดผลเสียจากอินซูลินตัวเดิม ซึ่งเป็นปัญหารุนแรงเสียด้วย คือ น้ำตาลต่ำนั่นเอง

ได้เห็นภาพนะครับว่าทำไมจึงต้องเกิดยาตัวใหม่ๆ เพื่ออุดช่องโหว่ยาตัวเก่าๆ และแก้ไขปัญหาที่เราพบหลังจากใช้ยาเก่าๆไปนานๆ ..แต่การพัฒนายาใหม่ ไม่ง่ายนะครับ กว่าจะศึกษาเคมีโครงสร้างให้ออกฤทธิ์ดี ตรงกับที่ต้องการ จะใช้สารใด เติมเข้าตัดออกจากสารเดิม หรือสังเคราะห์ใหม่ หลังจากได้แล้ว ก็ต้องศึกษาในสัตว์ทดลอง ในคนปกติ และในคนป่วยจริงๆ
และการศึกษายาใหม่ก็ไม่ได้ง่ายแบบยาเก่านะครับ ยาเก่านั้น อาจใช้ยาเดิมเทียบกับยาหลอก ซึ่งแนวโน้มคงจะดีกว่ากินยาหลอกล่ะนะ แต่ยาใหม่ๆจะต้องเทียบกับการรักษาเดิมที่ดีอยู่แล้ว ว่าดีกว่า หรือ ไม่ด้อยกว่า รวมทั่งผลเสียก็ต้องไม่มากกว่าการรักษาเดิมด้วย

ตัวอย่างเช่น ยาเบาหวานตัวใหม่ SGLT2 จะอนุมัติได้ หลังจากคิดค้นในหลอดทดลอง ในสัตว์ทดลอง ในคนปกติแล้ว พอมาขึ้นตอนการศึกษาเปรียบเทียบในคนเป็นโรค ว่าการรักษาเดิมที่ดีมากๆอยู่แล้ว เทียบกับยาเดิมนี่แหละแต่เพิ่มยาใหม่นี่เข้าไปด้วย มันจะเจ๋งกว่าเดิมไหม ผลเสียจะมากกว่าเดิมไหม ถ้าไม่ได้ดีกว่าตัวเดิม แล้วมีอะไรที่เป็นข้อดีอีก อาจจะเป็นใช้ง่าย ปฏิกิริยาระหว่างยาน้อยๆลง กินเวลาไหนก็ได้ หรือ ลดโอกาสการแพ้ยา
กว่าจะออกมาได้ ไม่ง่ายครับ ลงทุน ลงแรง ทดลอง ผิดถูกเป็นร้อยๆ ..หลายๆท่านอาจแย้งว่า การศึกษาที่เอามาขออนุมัติ บางทีก็ไม่เห็นดีเท่าไร แต่นั่นคือมุมมองของคนอ่านบทสรุป ถ้าเราลองไปอ่านตั้งแต่เริ่มจนจบ หรือว่าทำเอง จะพบว่าไม่ง่ายเลย

ลองอ่านแฮร์รี่ พ็อตเตอร์แบบมีใครสรุปให้อ่าน ก็ง่ายดี พระเอก ชนะ ตัวร้าย มีเพื่อนพระเอกคอยช่วย ตัวร้ายก็แพ้ภัยตัวเอง..แต่คุณลองย้อนเวลาไปวันที่ เจ เค โรวลิ่ง จรดปากกาแต่งด้วยอักษรตัวแรกสิครับ
เราจะวางพล็อตอย่างไร มีตัวละครกี่ตัว เกี่ยวโยงอย่างไร ตัวไหมออกก่อน ตัวไหนมาทีหลัง พระเอกต้องผ่านความยากกี่ด่าน เพื่อนพระเอกต้องทะเลาะกัน แบ่งฝ่าย ตัวร้ายกว่าจะรวมพลังได้

ผมไม่ได้มายกยอ บริษัทยา แต่วันนี้ฟังบรรยาย แล้วลองคิดว่า ถ้าเราเป็นคนคิดยารักษา เราจะเริ่มจากอะไร แล้วเราเจออะไร แก้อย่างไร ก็จะเข้าใจ ..ต้นทุน..ที่ไม่ได้เพียงตัวเงิน แต่ได้ออกมาเป็นความรู้มากมายมหาศาล แม้ยาจะห่วย แต่ผลจากการศึกษาอาจจะเปลี่ยนแนวทางได้ (เช่นยา ARNI กลุ่มแรกๆ ที่ยังไม่สมบูรณ์ แต่มาได้ผลในรุ่นลูกของมัน entresto (รายละเอียดอ่านจาก 1412 cardiology นะครับ)

ยาแพง..แต่บางทีมันก็..คลิ๊ก..นะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม