12 ธันวาคม 2565

น้ำเงินแท้ นิยายอิงประวัติศาสตร์ที่สนุกอีกเรื่อง

 น้ำเงินแท้ นิยายอิงประวัติศาสตร์ที่สนุกอีกเรื่อง

ก่อนอื่นต้องขอทำความเข้าใจก่อน นิยายอิงประวัติศาสตร์ย่อมเกิดจากมุมมองและหลักฐานของผู้เขียน ดังนั้นการอ่านนิยายอิงประวัติศาสตร์เราก็จะไม่เพ่งพิจารณาถึงเนื้อหาความถูกต้องแม่นยำในเชิงประวัติศาสตร์ ไม่ว่ามันจะถูกต้องหรือไม่ถูกต้องก็ตามที
น้ำเงินแท้ เป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ของวินทร์ เลียววารินทร์ ตามมาจากเรื่องราวการเมืองไทยหลังอภิวัฒน์สยาม 2475 ในเรื่องประชาธิปไตยบนเส้นขนาน เรื่องราวสองเสรีไทยและสงครามโลกครั้งที่สองในเรื่องปีกแดง จนมาเรื่องราวของนักโทษการเมืองในช่วงกบฏบวรเดชในเรื่องน้ำเงินแท้
ทั้งสามเรื่องมีความคาบเกี่ยวกัน มีฉากทางประวัติศาสตร์ต่อเนื่องกัน และมีบุคคลและเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์ที่เหมือนกัน แค่เขียนบอกเล่าในมุมมองที่ต่างกัน
เรื่องราวของนักหนังสือพิมพ์หนุ่มต้นแสง ที่มีแนวคิดก้าวหน้าแต่ยังลังเลไม่เข้าร่วมกับคณะราษฎร เมื่อคณะราษฎรทำการสำเร็จและขึ้นสู่อำนาจ ทำให้ต้นแสงถูกอำนาจทางการเมืองและเรื่อง "ส่วนตัว" กับผู้มีอำนาจทางการเมืองขณะนั้น สร้างหลักฐานจนทำให้เขาต้องเข้าคุกในฐานะนักโทษการเมือง
เรื่องราวบอกถึงความเป็นอยู่ของนักโทษการเมืองในคุกในสมัยนั้น การดำรงชีวิตในคุกที่ต่างจากนักโทษคดีทั่วไป ที่แม้สบายกว่าแต่ถูกเกลียดชังถึงกระดูกดำ ความเกลียดชังและอคติทั้งหลายทำให้คนเรามองคนเป็นศัตรูและมุ่งจะทำลายเพียงเพราะความเห็นทางการเมืองที่ต่างกัน แม้แต่ในคุกที่นักโทษทุกคนไม่มีอิสรภาพเหมือนกัน
ชีวิตในคุกได้พบพานเพื่อนใหม่ ได้รับรู้ความจริงที่จะไม่ได้รับรู้หากอยู่ด้านนอก คุณวินทร์ได้ใช้วิธีเขียนแบบการคุยกันด้วยความเห็นต่าง ในสถานการณ์ที่ต้องยอมรับชะตากรรม ว่าสุดท้ายเราเป็นคนเหมือนกันเพียงแต่คิดต่างกัน
หรือแม้กระทั่งความเห็นใจกันเมื่อถึงวันที่อีกฝ่ายต้องเดินสู่แดนประหาร ด้วยความเห็นต่างทางการเมืองที่เล่นกันถึงตาย (ในยุคนั้น)
โลกของความคิดทางการเมืองอีกด้านหนึ่ง ได้เห็นคนที่มีอำนาจเข้ามาอยู่ในคุกเมื่อลมทางการเมืองพัดเปลี่ยนทิศทาง เมื่อคนที่เห็นต่างกันต้องมาประสบชะตากรรมเดียวกันในที่เดียวกัน เช่น คุกนักโทษการเมืองตะรุเตา ที่ต้องการส่งผู้เห็นต่างไปสุดหล้าฟ้าเขียว เมื่อทุกคนต้องดิ้นรนดำรงชีวิตอยู่เหมือนกัน เมื่อนั้นความเชื่อทางการเมืองจะยังมีอิทธิพลกับพวกเขาอยู่หรือไม่
ความทุกข์แสนสาหัสของผู้ที่ต้องประสบชะตากรรมจากความคิดต่างทางการเมือง ทำให้ต้องติดคุกคลอดชีวิต ประหารชีวิต จนครอบครัวต้องล่มสลาย คนรักแยกจากกัน พ่อแม่ที่ตรอมใจตาย ลูกที่ไม่มีโอกาสไปดูใจพ่อแม่ เพื่อนฝูงที่ไม่อยากติดร่างแหไปด้วยหากเพียงพูดคุยทักทายตามประสาเพื่อน
เรื่องราวของการทำปทานุกรมของสอ เศรษฐบุตร เรื่องจริงที่คุณวินทร์ได้แทรกเรื่องทางการเมืองเข้าไปเป็นรสชาติของนิยายได้อย่างลงตัว เรื่องการเขียนตำรับตำราทางการเกษตรของหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤษดากร เรื่องจริงที่ผสานนิยายอย่างลงตัว เรื่องราวการต้องโทษของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ที่บอกว่าสุดท้ายทุกคนก็อาจประสบชะตากรรมได้เช่นเดียวกัน
หลายคนบอกว่าเป็นนิยายทางการเมือง มาแนะนำแบบนี้จะมีทั้งคนชอบและคนเกลียด แต่ผมอยากให้ทุกคนลองมองข้ามเรื่องข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ เพราะมันมีหน้าที่เพียงฉากดำเนินเรื่องเท่านั้น
อยากให้ลองเสพเรื่องราวของความทุกข์ใจ ชีวิตไร้ความหวังในคุก แสงสว่างในการดำรงชีวิตเมื่อเราไร้สิ้นซึ่งวิญญาณ เป็นนิยายที่คนสิ้นหวัง หมดแรงใจ น่าจะได้อ่าน คุณจะได้รู้ว่า แม้มุมมืดที่สุดในชีวิต ก็ยังมีแสงสว่างให้เดินและหวังต่อไป
วิธีการเขียนและเล่าเรื่องของคุณวินทร์ที่กลมกล่อม ผูกเรื่องราวได้น่าติดตาม การเว้นวรรคการเล่าเรื่องที่ลงตัว การนำฉากประวัติศาสตร์มาประกอบเรื่องเล่าที่เด็ดจริง ๆ
ใครหานิยายอ่านปีใหม่ ก็อย่าพลาดครับ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม