20 ธันวาคม 2564

รู้จัก Goodman & Gilman ไหมครับ

 รู้จัก Goodman & Gilman ไหมครับ

รับรองว่าเภสัชกร นักเรียนเภสัชกร ทุกคนรู้จัก ส่วนนักเรียนแพทย์หลายคนก็จะรู้จัก นี่คือชื่อตำรามาตรฐานเภสัชวิทยาเล่มหนึ่ง ได้รับคำยกย่องว่าเป็น Blue Bible ของวงการเภสัช (นอนอยู่ที่ชั้นหนังสือของผมหนึ่งเล่มด้วย) หนาได้ใจ แถมตัวอักษรเล็กยิบ แต่อย่าเพิ่งคิดว่าผมจะมารีวิวตำรากู๊ดแมนแอนด์กิลแมน วันนี้เราจะมารู้จัก Goodman และ Gilman อันอีกรูปแบบหนึ่งครับ

Loise Sanford Goodman นายแพทย์หนุ่มจากพอร์ตแลนด์ โอเรกอน สหรัฐอเมริกา เขามีความสนใจในเรื่องเภสัชวิทยามาก จึงเข้ามาทำงานที่คณะเภสัชวิทยา มหาวิทยาลัยเยล หนึ่งในไอวี่ลีกของอเมริกา ที่นี่ เขาได้ร่วมงานกับ Alfred Zack Gilman

(สังเกต ในชื่อของ Goodman มีคำว่า 'Sanford' หนึ่งในคู่มือการใช้ยาปฏิชีวนะหลักที่ใช้ในโลกอีกด้วย)

Alfred Zack Gilman เภสัชกรหนุ่มจากคอนเน็คติกัต สหรัฐอเมริกา เกิดในครอบครัวนักดนตรี เข้าเรียนและศึกษาที่มหาวิทยาลัยเยลจนจบวิชาเภสัช และเข้าเป็นอาจารย์และนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยเยล ที่นี่เขาก็พบกับคนดี (Goodman นั่นแหละครับ)

(ลูกชายของ Gilman ชื่อว่า Alfred Goodman Gilman .. ชื่อกลาง Goodman ไม่รู้ว่าเพราะเขาร่วมงานกับ Goodman หรือเปล่า … เป็นนักวิจัยสาขาเภสัชที่ได้รับรางวัลโนเบลในปี 1994 คู่กับ Martin Rodbel ด้วยผลงานการค้นพบและอธิบาย G-protein ที่สำคัญในการทำงานของยา)

Goodman และ Gilman ได้ร่วมกันทำงานและทำวิจัยอันเลี่องชื่อและเป็นตำนานที่มหาวิทยาลัยเยล เป็นที่มาของเรื่องเล่าวันนี้ครับ

ในปี 1940 โลกยังบอบช้ำจากเหตุการณ์หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แต่โชคดีที่อเมริกาไม่ได้เสียหายและได้ผลกระทบมากนัก ขั้วอำนาจเปลี่ยนจากยุโรปอันยิ่งใหญ่มาเป็นสหรัฐอเมริกา ผลพวงจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ยังเป็นประเด็น ยังเป็นหัวข้อที่หยิบจับมาศึกษาอย่างต่อเนื่อง เรื่องหนึ่งที่นักวิจัยนำมาศึกษาต่อคือ 'แก๊สพิษ'

สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง นอกจากจะพลิกโฉมสงครามจากอาวุธธรรมดา มาเป็นอาวุธทำลายล้างสูง เปลี่ยนรูปแบบสงครามและการรักษาแผล สงครามโลกครั้งนี้ได้ชื่อว่าเป็นสงครามเคมี เพราะมีการนำสารเคมี อาวุธเคมี แก๊สพิษมาใช้ในสมรภูมิรบอย่างจริงจัง แก๊สที่ใช้มากคือ 'ไนโตรเจน มัสตาร์ด'

กู๊ดแมนและกิลแมน ได้ทำการศึกษาผลของไนโตรเจนมัสตาร์ดนี่แหละครับ ว่าที่แท้จริงแล้วมันส่งผลอย่างไรต่อเซลล์ ส่งผลอย่างไรต่อเนื้อเยื่อ เพราะบรรดาผู้เคราะห์ร้ายที่ถูกแก๊สพิษในช่วงสงครามยังส่งผลมาถึงปัจจุบัน และพวกเขาก็พบว่ามันมีผลทำลายเซลล์มนุษย์หลายชนิด ผลอย่างหนึ่งที่พบและสะกิดใจทั้งคู่มากคือ ไนโตรเจนมัสตาร์ด มีผลทำลายเซลล์ภูมิคุ้มกันในเลือดชนิดหนึ่ง ชิ่อว่า ลิมโฟไซต์ (lymphocyte)

ลิมโฟไซต์ เป็นเซลล์สำคัญในระบบภูมิคุ้มกันหน้าที่หลักคือ สร้างอิมมูโนโกลบูลินมาช่วยทำลายเชื้อโรค และหลั่งสารเคมีต่าง ๆ เพื่อช่วยในการกำจัดสิ่งแปลกปลอมแบบเฉพาะเจาะจงกับสิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรคนั้น โรคที่ลิมโฟไซต์ทำงานน้อย ๆ เช่นโรคเอดส์ และโรคที่มีลิมโฟไซต์มากเกินปกติที่เราพบบ่อยคือ ลิมโฟมา (lymphoma) หรือมะเร็งต่อมน้ำเหลืองครับ

ในช่วงตั้งแต่ปี 1895 จนถึงปีที่กู๊ดแมนกิลแมนทำวิจัยนั้น การรักษาด้วยการฉายรังสีได้ถือกำเนิดขึ้น และเป็นวิธีสำคัญในการรักษามะเร็งหลังจากผ่าตัด หรือในกรณีผ่าตัดไม่ได้ กู๊ดแมนกิลแมนจึงเลือกผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ที่รักษาแล้วไม่ตอบสนองต่อการรักษา (คือการฉายแสงในยุคนั้น) มาศึกษาทดลองด้วยการใช้ ไนโตรเจนมัสตาร์ด (ที่วิจัยจนได้ขนาดยาที่เหมาะสม พิษน้อยลงแล้ว)

ผลปรากฏว่าได้ผล เซลล์ลิมโฟมาฝ่อลง ยุบลง และคนไข้มีชีวิตรอด ผลข้างเคียงที่เกิดก็ไม่ได้แย่และรุนแรงเหมือนสมัยเป็นแก๊สพิฆาตในสงคราม

ท่านอาจจะคิดว่า ทำการศึกษาแบบนี้ได้อย่างไรกัน เพราะแก๊สไนโตรเจนมัสตาร์ด มันเป็นแก๊สพิษชัด ๆ ...ใช่ครับ เราไม่น่าทำ แต่นี่คือเราคิดบนพื้นฐานความจริงยุคปัจจุบันที่มีกติกาเรื่องการวิจัยในคน แต่ในยุคนั้น ในปี 1942 ที่กู๊ดแมนและกิลแมนทำวิจัย ตีพิมพ์ออกมา เรายังไม่มีกติกาดังกล่าว ถ้าใครจำได้ ผมเคยเขียนเรื่องจริยธรรมงานวิจัยในคนและ declaration of Helzinki มาแล้ว สรุปว่ามันเกิดหลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง หลังจากการทดลองอันน่าสะพรึงกลัวของกองทัพญี่ปุ่นและกองทัพนาซี

แถมตอนนั้นกู๊ดแมนกิลแมนยังมีชื่อเสียงมาก เพราะในปี 1941 เพิ่งมีการตีพิมพ์ตำราเภสัชวิทยาของกู๊ดแมนกิลแมน ฉบับพิมพ์ครั้งแรกไปสด ๆ ร้อน ๆ และงานวิจัยเรื่องการใช้ยาเคมีบำบัดกำลังได้รับความนิยม ไว้คราวหน้าจะเล่าให้ฟังอีก

เป็นต้นธารของการนำสารเคมี มาใช้เป็นยาเพื่อรักษามะเร็ง โดยหวังผลทำลายเซลล์มะเร็งโดยตรง (cancer chemotherapy) อันเป็นชื่อเสียงที่โด่งดังมากของ Goodman and Gilman ที่ไม่แพ้ตำราอมตะ "the Blue Bible" เลยครับ

อาจเป็นรูปภาพของ 1 คน และ ดอกไม้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม