01 พฤศจิกายน 2562

eosinophillic granulomatosis with polyangiitis

เรื่องราวที่จะเล่านี้เป็นเรื่องที่เกิดจริง ผมดัดแปลงให้กระชับและปกปิดความลับของแหล่งที่มา และอย่าลืมอ่านสรุปประเด็นท้ายเรื่อง
ผู้ป่วยชายรายหนึ่งอายุ 45 ปี ร่างกายแข็งแรงดี ทำงานเกษตร ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่
สี่เดือนก่อน มีอาการเหนื่อย หายใจมีเสียงวี้ด ไปพบแพทย์ได้รับการวินิจฉัยโรคหืด ได้ยาสูดพ่นมารักษา ติดตามรักษาอาการดีขึ้น
สามเดือนก่อน มีอาการแขนขาชาสลับกับเสียวแปลบ เวลาเป็นจะเป็นแขนหรือขาข้างใดข้างหนึ่งแล้วหายไป ไม่นานก็กลับมาเป็นใหม่ ไปพบแพทย์ ได้รับการวินิจฉัยปลายประสาทอักเสบ ได้ยาวิตามินมากิน
หนึ่งเดือนมานี้มีอาการปวดเมื่อยตามตัว มีไข้ต่ำ ๆ บ้าง ไปพบแพทย์ได้รับการวินิจฉัยกล้ามเนื้ออักเสบ ได้ยาต้านการอักเสบมากิน
สองสัปดาห์มานี้ มีผื่นขึ้นตามตัว กระจายไม่มีแบบแผนหรือทิศทางที่ชัด ทั้งใบหน้า คอ แขน ขา ขึ้นเป็นผื่นแดงนูน คล้ายมีเลือดอยู่ด้านใน ไม่เจ็บ สองสามวันก็โตขึ้นเต็มที่และยุบลงหายไปเอง วันที่มาตรวจมีทั้ง hemorrhagic bleb, palpable purpura
ประเด็นที่อยากบอกคือ ผู้ป่วยไปพบแพทย์ 4 ท่าน ด้วยอาการที่ไม่เหมือนกันเลย และไม่ได้กลับไปติดตามกับแพทย์ท่านเดิมยกเว้นแพทย์ที่รักษาโรคหืด ถ้าเราย้อนอดีตไปเป็นผู้ป่วยที่เวลานั้น ๆ และคุณหมอคนนั้น ๆ จะเห็นว่าเป็นหนึ่งโรคแยกจากกันและไม่มีอาการใดเกี่ยวข้องกันเลย
แต่หากเรามองย้อนหลังและรวบรวมปัญหาทั้งหมด ... หมอคนที่ตรวจทีหลังและพยายามรวบรวมข้อมูลทั้งหมดจะได้เปรียบกว่าเสมอ ...ดังนั้นการส่งต่อประวัติอาการและการรักษาจึงสำคัญมาก เมื่อเรามองย้อนหลัง
"โรคหืดที่เป็นครั้งแรกในอายุมาก + เส้นประสาทอักเสบทีละเส้นแต่หลายวาระ + ปวดเมื่อยตามตัว ไข้ต่ำ ๆ ไม่เฉพาะเจาะจง + ผื่นผิวหนังอักเสบแบบหลอดเลือดที่ผิวหนังอักเสบ"
โรคจะเริ่มชัดขึ้น เป็นโรคที่มีอาการทั้งตัวหลายอวัยวะ และมีหลอดเลือดขนาดเล็กที่ผิวหนังอักเสบ คุณหมอคนที่รักษาคนสุดท้ายเก็บข้อมูลครบและทำการตรวจอีกสองอย่าง พบว่า ค่าเม็ดเลือดขาวสูงมาก 12,000 ตัวและเป็นสัดส่วนของอีโอสิโนฟิลถึง 58% และผลตรวจอีกอย่างคือ antinuclear antibody ที่มีความไวสูงมากต่อการแพ้ภูมิตัวเอง พบว่าผลบวก
มาถึงตรงนี้คุณหมอที่อ่านอยู่หลายคนคงร้องอ๋อ...อย่าลืมว่าเรามองย้อนหลังและรวบรวมข้อมูลเป็นระบบ ลองคิดว่าเราเป็นหมอคนที่สองคนที่สาม เราจะมองภาพออกไหม...การติดตามโรคจึงมีความสำคัญในการวินิจฉัยมาก
คุณหมอที่ตรวจคนสุดท้ายได้ทำการตรวจโดยตัดผิวหนังไปตรวจ ผลออกมามีการอักเสบของหลอดเลือดและมีเซลล์สะสมเป็นกลุ่ม leucocytoclastic infiltration และมีอีโอสิโนฟิลสะสมใต้ผิวหนังเช่นกัน ไม่ใช่แค่ในเลือด และผลเลือดอีกอันที่ส่งไปกลับมาพอดี คือการตรวจ ANCA (antineutrophil cytoplasmic antibody) ผลออกมาเป็น perinuclear type หรือ P-ANCA
ผมคิดว่าคุณหมอทุกคนคงตบเข่าดังฉาดกันหมดแล้ว ใช่ครับ นี่คือโรคหลอดเลือดขนาดเล็กอักเสบทั่วตัวที่ชื่อว่า eosinophillic granulomatosis with polyangiitis มีชื่อเพราะ ๆ ตามคนค้นพบว่า Churg-Struass syndrome เป็นหนึ่งในโรคหลอดเลือดขนาดเล็กอักเสบที่ต้องแยกโรคออกจากกัน (ใครสนใจไปอ่านรายละเอียดใน small vessel vasculitides)
หลังจากที่ประเมินโรคจนครบแล้ว พบว่าไม่มีปัจจัยที่เสี่ยงต่อการพยากรณ์โรคที่ไม่ดีทั้งห้าประการ (five factors score) คือ โปรตีนในปัสสาวะ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ไตอักเสบเฉียบพลัน ทางเดินอาหารอักเสบรุนแรงจนต้องผ่าตัด และระบบประสาทส่วนกลางอักเสบ หากมีปัจจัยพวกนี้การพยากรณ์โรคจะไม่ดีและต้องใช้ยากดภูมิคุ้มกัน
แต่หากไม่มีเลยดังเช่นผู้ป่วยรายนี้ จะตอบสนองดีต่อการใช้ยาสเตียรอยด์เพียงอย่างเดียวพอและโอกาสเกิดซ้ำต่ำมาก ตอนนี้ผู้ป่วยอาการดีขึ้นมาก
อย่าลืมประเด็นที่ได้จากเรื่องนี้
1. การติดตามการรักษาเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยการวินิจฉัยได้
2. การรวบรวมประวัติอย่างมีระบบจะทำให้วินิจฉัยได้ง่ายและแม่นยำ
3. การส่งตรวจพิเศษอาศัยโอกาสความน่าจะเป็นก่อนส่ง ที่มาจากประวัติตรวจร่างกาย เลือกการส่งตรวจให้เหมาะสม จะทำให้แปลผลได้ ไม่ต้องเหวี่ยงแหที่นอกจากสิ้นเปลืองแล้วยังแปลผลผิดพลาด
4. สำหรับคนไข้ โรคบางอย่างหมอคนแรกหรือสองคนแรกก็อาจยังวินิจฉัยไม่ได้ครับ
5. สำหรับหมอ อย่ากล่าวโทษหมอคนแรก ๆ เพราะคุณมีโอกาสและข้อมูลมากกว่าเขา ในสภาวะสถานการณ์เช่นเขา เราอาจทำเหมือนเขาก็ได้
6. ฮั่นแน่..ผมรู้ว่าคุณมาอ่านตรงนี้ก่อน และกำลังหาความหักมุม หรือกลอนเจ็บ ๆ วันนี้ไม่มีนะขอรับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม