12 กันยายน 2565

วัคซีนไทฟอยด์

 ซาราเจโว, มื้อเช้า, 28 มิถุนายน 1914

ที่ร้านกาแฟริมถนนแห่งหนึ่ง มีผู้คนเดินไปมาอย่างหนาตา ชายหนุ่มชาวอังกฤษคนหนึ่งเดินเข้ามาสั่งกาแฟและขนมปัง พร้อมด้วยกระเป๋าเอกสารใบใหญ่ เขามองไปทั่วร้านแต่ไม่มีที่นั่งว่างเลย เหลือแต่โต๊ะกลมติดหน้าต่าง ที่มีชายหนุ่มหน้าคาเคร่งขรึม จิบกาแฟร้อน พร้อมหนังสือพิมพ์ฉบับเช้าและกระเป๋าหนังใส่ของใบเล็กวางอยู่ตรงหน้า
“เพื่อน ผมขอนั่งด้วยได้ไหม เช้านี้คนเยอะเหลือเกิน เกรงว่าที่นั่งในร้านจะไม่พอ” ชายหนุ่มชาวอังกฤษของเราเริ่มทักทาย
“เชิญเลย ท่านสุภาพบุรุษ ผมนั่งคนเดียวเช่นกัน เช้านี้เรามีงานใหญ่ในซาราเจโว ผู้คนเลยมากมายขนาดนี้” ผู้มาก่อนยิ้มและเชื้อเชิญ เขาดูยังหนุ่มมาก อายุไม่เกิน 20 กำลังไว้หนวดตามสมัยนิยม
สุภาพบุรุษชาวอังกฤษของเรานั่งลง วางกระเป๋าเอกสารใบใหญ่ และหยิบผ้าเช็ดหน้ามาซับเหงื่อ ชายหนุ่มผู้นี้เดินทางไกลมาจากราชสำนักอังกฤษ เดินทางผ่านฝรั่งเศส ผ่านจักรวรรดิปรัสเซีย ผ่านจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี เขาคาดหวังที่จะไปจักรวรรดิรัสเซีย แต่ทำไมเขาต้องเดินทางไกลขนาดนั้นเล่า ??
“สวัสดี ผมขอแนะนำตัว ผมชื่อวิลเลี่ยม ผมเป็นนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ ผมกำลังเดินทางเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกนี้ อย่างน้อยผมก็เชื่ออย่างนั้นนะ ถ้าคุณมีเวลา ซึ่งผมมีเวลาแน่นอน รถไฟเที่ยวต่อไปกว่าจะออกก็ 11 โมง คุณอยากฟังไหม” ชายหนุ่มฉายแววกระตือรือร้นในความคิดของเขา
“เอาสิครับ ธุระของผมคืออยู่ที่นี่ และรอเวลา ดังนั้น ผมมีเวลาจะฟังคุณแน่นอน คุณสุภาพบุรุษ” ชายหนุ่มผู้นั่งก่อนยิ้มอย่างใจเย็น
เรื่องราวของวิลเลี่ยม นักวิทยาศาสตร์ไฟแรง เริ่มต้นในปี 1896
โลกหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมในช่วงทศวรรษ 1820 เปลี่ยนแปลงจากเดิมอย่างไม่มีทางย้อนกลับ การผลิตเพื่อค้าขายและส่งออก ทำเงินได้มหาศาลให้กับนายทุนและเหล่าบรรดาชนชั้นปกครอง การไล่ล่าวัตถุดิบ ไล่ล่าแรงงาน รวมถึงการเปิดตลาดใหม่ ๆ ทำให้ต้องเกิดการล่าอาณานิคม การค้าทาส ใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรม การจัดสรรทรัพยากรที่เริ่มไม่เป็นธรรม
แน่นอนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมนี้ ทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพเช่นกัน สังคมที่เริ่มแออัด เข้าสู่ยุคแรงงานอุตสาหกรรม การจัดการของเสียและระบายน้ำไม่สามารถรองรับการเติบโตแบบก้าวกระโดดนี้ เริ่มเกิดโรคระบาดขึ้น และหนึ่งในโรคระบาดที่คร่าชีวิตผู้คนในยุโรปอีกโรคไม่แพ้กาฬโรคคือ ไข้รากสาดไทฟอยด์
วิลเลี่ยม เป็นคนสนใจประวัติศาสตร์ เขาศึกษาพบว่าในยุคการล่าอาณานิคมนั้น กองทัพอังกฤษอันเกรียงไกร ได้เสียไพร่พลจำนวนมากในการรบแต่ละครั้ง แต่ไม่ใช่ในสนามรบ แต่เกิดจากการติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นสงครามอเมริกากับสเปนในปี 1898 หรือสงคราวบัวร์กับแอฟริกาใต้ ตอนนั้นอัตราการเสียชีวิตของทหารที่อยู่กันอย่างแออัดในกองทัพคือ 142คนต่อพันคน หรือ 14.2% ที่เสียชีวิตจากไทฟอยด์ ล้อไปกับโรคเดียวกับที่เริ่มสังหารผู้คนในเมืองใหญ่ ๆ ของอังกฤษเพราะระบบสาธารณูปโภคที่แย่ลงจากการพัฒนาเมืองแบบไร้ทิศทาง
ก่อนปี 1896 วิลเลี่ยมได้เข้าร่วมทีมวิจัยไทฟอยด์ของ Almroth Edward Wright นักวิจัยด้านแบคทีเรียวิทยาและภูมิคุ้มกันวิทยาชื่อดัง เขาเป็นคนวิจัยกระบวนการต่อสู้เชื้อโรคได้ และเริ่มคิดวัคซีนโดยการฉีด heat-phenol ทำให้เชื้อซัลโมเนลล่า ต้นกำเนิดของไทฟอยด์ ตายไปแล้วนำมาฉีดเป็นวัคซีน ผลปรากฏว่าใช้ได้ แต่เนื่องจากฟีนอลมีพิษต่อร่างกายรุนแรง จึงยังไม่สามารถใช้ในวงกว้าง
ในปี 1897 วิลเลี่ยมได้หอบเอาความรู้ที่ได้ ไปปรึกษากับนักวิจัยชาวเยอรมัน Richard Friedrich Pfeiffer ที่เชี่ยวชาญเรื่องวิทยาภูมิคุ้มกันเช่นกัน และเขาเคยทำเรื่องการควบคุมการระบาดเชื้ออหิวาตกโรคมาก่อน ซึ่งคุณไฟเฟอร์ผู้นี้เป็นหนึ่งในทีมงานของโรเบิร์ต คอค ผู้คิดค้นทฤษฎีเชื้อโรคอันโด่งดัง
วิลเลี่ยมได้เดินทางเพื่อศึกษาและประสานงานในผืนแผ่นดินยุโรปทั้งออสเตรีย ปรัสเซีย ฝรั่งเศส หวังเพื่อปรับปรุงสูตรวัคซีนของเขาให้ดีขึ้น วิลเลี่ยมนึกสังเกตความตึงเครียดของการเมืองในยุโรปที่ซ่องสุมกำลัง แย่งชิงความเป็นใหญ่ในที แต่เนื่องจากเหล่าผู้ปกครองจักรวรรดิและดินแดนต่าง ๆ ยังเป็นเครือญาติกัน โดยเฉพาะสายพระราชินีวิคตอเรียแห่งอังกฤษ ที่มีบุตรหลาน เขยและสะใภ้ทั่วยุโรป ทำให้สงครามยังไม่ปะทุขึ้น วิลเลี่ยมเดินทางศึกษาโดยไม่ได้สนใจการเมือง จนสุดท้ายได้เป็นวัคซีนสูตรอะซีโตนที่พิษน้อยลง
เขาพยายามเดินทางไปทั้งยุโรป หลังจากที่อาจารย์ของเขาคือ Almroth Wright ได้เสนอการฉีดวัคซีนไทฟอยด์ให้กับทหารที่จะต้องไปรบต่างแดน เพื่อลดการเสียชีวิต อันเป็นบทเรียนสำคัญของการสูญเสียจากเชื้อโรคในสงครามบัวร์ครั้งที่สองกับแอฟริกาใต้ เขาหวังจะเปลี่ยนโลก หยุดยั้งโรคไทฟอยด์
ในอังกฤษนั้น เมื่อวัคซีนได้รับการยอมรับ (แต่ผลการศึกษายังไม่ออก) ร่วมกับการจัดการน้ำเสีย ระบบระบายน้ำ การใส่คลอรีนในน้ำประปา การทำพาสเจอไรซ์นม ทำให้การระบาดของไทฟอยด์ลดลงมาก วิลเลี่ยมก็อยากให้ทุกคนในยุโรปได้คุณภาพชีวิตที่ดีแบบนี้เช่นกัน
“คุณมีความฝันที่ยิ่งใหญ่ และกำลังทำตามฝันที่ยิ่งใหญ่ ผมขอเป็นกำลังใจช่วย” ชายหนุ่มเจ้าถิ่นชื่นชม
“ผมอยากจะเริ่มต้นกับทางกองทัพก่อน เวลาในสนามรบ สุขอนามัยจะไม่ดี หากรับวัคซีนน่าจะทำให้ลดโรคไทฟอยด์ลงได้ อาจารย์ของผมกำลังติดต่อกองทัพอังกฤษ ผมเองก็อยากจะนำเสนอกับกองทัพของพระเจ้าซาร์เช่นกัน” วิลเลี่ยมเล่าอย่างภูมิใจ
“เหตุใดคุณจึงไม่ไปนำเสนอกองทัพแห่งออสเตรีย-ฮังการีและออตโตมานล่ะ หากไปจากที่นี่จะสะดวก หนทางไปรัสเซียลำบากนักนะสหาย” ชายหนุ่มเจ้าถิ่นยิงคำถาม
“จริงอยู่ว่าผมเป็นนักวิทยาศาสตร์ และอยากรักษาประชาคมโลกโดยไม่มีเชื้อชาติการเมืองมาขวางกั้น แต่ความเป็นจริงก็คือ ออตโตมาน-เยอรมัน-ออสเตรีย คือ สมาพันธ์สามจักรพรรดิ ไม่ค่อยกินเส้นนักกับ Triple Entente อังกฤษ-ฝรั่งเศส-รัสเซีย อย่างว่าแหละเพื่อน การเมืองมันคุกรุ่น มิตรภาพก็หย่อนลง” วิลเลี่ยมปลงตก
“ผมว่างานของคุณน่าจะได้ใช้ กองทัพจะเห็นความสำคัญของมันอย่างแน่นอน จำคำผมไว้ เพื่อนเอ๋ย คุณมุ่งมั่นจะเปลี่ยนโลกในทางของคุณและผมก็มุ่งมั่นในทางของผมเช่นกัน ผมเห็นทีจะต้องขอตัว..อ้อ ด้วยความหวังดี ผมคิดว่าคุณควรรีบเดินทาง เมืองนี้ไม่ได้ปลอดภัยอย่างที่คิด และสถานการณ์คุกรุ่นของคุณ น่าจะใกล้ระเบิดในอีกไม่นาน” ชายหนุ่มเจ้าถิ่นลุกขึ้น สวมเสื้อโค้ทและหมวก ไม่ลืมหยิบกระเป๋าหนังใบเล็กใบนั้นไปด้วย
“เดี๋ยวสิ เพื่อนเกลอ คุณเชื่อในตัวผม แต่ผมยังไม่ทราบชื่อคุณเลย” วิลเลี่ยมตะโกนถาม
“ผมชื่อ กรัฟริลโล ปรินซิป โปรดจำชื่อผมไว้ ผมก็จะเปลี่ยนโลกเช่นกัน” แล้วชายหนุ่มก็เดินออกไปจากร้าน เข้าไปในฝูงชนที่มารอรับขบวนของมกุฏราชกุมารแห่งออสเตรียฮังการี อาร์ค ดยุค ฟรานซ์ เฟอดินานด์
สองเดือนหลังจากนั้น หลังจากกระสุนปลิดชีพของกรัฟริลโล ปรินซิปที่ยิงใส่ฟรานซ์ เฟอดินานด์และชายา โลกเกิดมหาสงครามครั้งยิ่งใหญ่ เปลี่ยนสภาพภูมิรัฐศาสตร์ของยุโรป เกิดเป็นประเทศมากมาย มีการล่มสลายของราชวงศ์ในยุโรป การล่มสลายของจักรวรรดิต่าง ๆ นั่นคือ มหาสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
กองทัพอังกฤษบังคับให้ทหารที่จะเข้าร่วมสงครามทุกคนต้องฉีดวัคซีนไทฟอยด์ ต่อมาเป็นข้อบังคับของทหารฝรั่งเศส แต่ต่อมาบังคับไปยังกองทัพสหรัฐอเมริกาที่เข้าร่วมในภายหลังอีกด้วย อัตราเสียชีวิตจากเดิม 142 ต่อพันราย ลดลงเป็น 1ต่อพันราย หลังจากได้รับวัคซีนและปรับปรุงสุขอนามัยในสนามรบ
บทส่งท้าย
กรัฟริลโล ปรินซิป ถูกจับกุมตอนอายุ 19 ปี ทำให้กฎหมายลงโทษเขารุนแรงไม่ได้ เขาถูกลงโทษจำคุก 20 ปี แต่เสียชีวิตในปี 1918 จากการติดเชื้อวัณโรคในคุก
อาร์ค ดยุค ฟรานซ์ เฟอดินานด์ เสียชีวิตในวันที่ 28 มิถุนายน 1914 พร้อมพระชายา เป็นเหตุให้ออสเตรีย-ฮังการี ประกาศสงครามกับเซอร์เบียและลุกลามเป้นสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
วิลเลี่ยม ไม่มีตัวตนจริง แต่ระยะหลังมีคนเห็นเขาสวมเสื้อยืดสีขาว มีลายสกรีนสีน้ำเงินที่อกเสื้อบ่อย ๆ
ภาพ muzej sarajevo museum ในปัจจุบัน คือจุดที่เกิดการสังหารเมื่อ 28 มิ.ย. 1914 เวลา 11.00 น.
อาจเป็นรูปภาพของ 10 คน และ ถนน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม