26 กุมภาพันธ์ 2567

การป้องกันโรค การตรวจจับโรคในระยะต้น การคัดกรองมะเร็งพันธุกรรม

 เราหลงลืมอะไรกันไปไหม : การป้องกันโรค การตรวจจับโรคในระยะต้น

ผู้ป่วยสุภาพสตรี รูปร่างท้วม (ดัชนีมวลกาย 28) อายุ 60 ปี มีโรคประจำตัวเป็นเบาหวานควบคุมได้ดี ยังไม่มีบุตร มีอาการท้องผูกบ่อย ๆ เป็นพัก ร่วมกับมีอาการกลั้นปัสสาวะไม่ค่อยอยู่ ไอจามแล้วปัสสาวะเล็ดบ่อย มีอาการแบบนี้มาสามเดือน เมื่อสัปดาห์ก่อนมีอาการปัสสาวะไม่ออก ขัด ไปตรวจที่คลินิกได้กินยาฆ่าเชื้ออาการดีขึ้น วันนี้ท้องผูก เกิดความสงสัยมาตรวจ
ตรวจร่างกายพบว่าท้องบวม ๆ เคาะไม่พบน้ำในท้อง ตับม้ามไม่โต ไม่มีก้อนที่ใด ตรวจทางทวารหนักไม่พบก้อนที่ปลายนิ้วแต่สัมผัสก้อนอะไรบางอย่างได้นอกลำไส้
ส่งตรวจทางสูตินรีเวชพบว่ามดลูกปกติ ไม่มีก้อน มดลูกไม่หย่อน …ซึ่งไม่ได้อธิบายอาการเลย คงต้องสืบค้นอวัยวะแถว ๆ อุ้งเชิงกรานต่อ กระเพาะปัสสาวะหรือลำไส้
ผลเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์พบก้อนเนื้อลำไส้ส่วน sigmoid มีจุดที่ผนังช่องท้องและน้ำในท้อง ต่อมน้ำเหลืองในท้องโตหลายจุด
ผลชิ้นเนื้อพบเป็น adenocarcinoma หรือมะเร็งลำไส้ระยะลุกลาม
😣😣 ประวัติเพิ่มเติม ผู้ป่วยมีพี่น้องรวมตัวเองด้วยสามคน พี่สาวป่วยเป็นโรคมะเร็งลำไส้เสียชีวิตเมื่อสามปีก่อน ตอนนั้นพี่สาวอายุ 60 ปี 😣😣
จะเห็นว่าผู้ป่วยรายนี้เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ และมีประวัติครอบครัวใกล้ชิด (first degree relatives) เป็นมะเร็งลำไส้ ตอนที่พี่สาวเป็นมะเร็งนั้น ผู้ป่วยอายุ 56 ปี ร่างกายปกติดี และไม่ได้รับคำแนะนำให้เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งแต่อย่างใด
คุณเห็นโอกาสที่หายไปไหมครับ
ปกติแล้วเราจะคัดกรองมะเร็งลำไส้ตั้งแต่อายุ 50 ปี โดยการตรวจอุจจาระประจำปี การตรวจยีน หรือจะส่องกล้องหรือจะถ่ายภาพเอ็กซเรย์ก็ตาม และหากว่าผู้ป่วยมีญาติพี่น้อง โดยเฉพาะลำดับ พ่อเม่-พี่น้องท้องเดียวกัน-ลูก เราจะเพิ่มความสำคัญในการคัดกรองกลุ่มผู้ป่วยเหล่านี้ สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องทำ และอาจต้องทำเร็วกว่าอายุ 50 ปี (โดยทั่วไปนับอายุคนที่เป็นมะเร็งลบด้วยสิบ) และวิธีที่ใช้ควรเป็นการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่
เพราะหากเจอระยะต้น อาจจะแค่ตัดออกก็หาย ไม่ต้องให้ยามุ่งเป้า ไม่ต้องให้ยาเคมีบำบัดหรือฉายแสง
คุณภาพชีวิตของการผ่าตัดระยะแรก ดีกว่าต้องผ่าตัดให้ยาเมื่อเจอโรคที่มีผลแทรกซ้อน
ปัจจุบันส่องกล้องตรวจราคาถูกกว่าโทรศัพท์เรือธงเสียอีก แถมทำทุก 10 ปี เรายังผ่อนโทรศัพท์กันทุกปีสองปี ในราคาเครื่องกว่าสองหมื่น ดังนั้นถ้ามีข้อบ่งชี้การส่องกล้องก็ควรทำนะครับ
และฝากถึงคุณหมอและทีมดูแล หากพบมะเร็งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม น่าจะต้องแนะนำครอบครัวเครือญาติเข้ารับการตรวจ และส่งตรวจตามที่ญาติผู้ป่วยมีสิทธิการรักษา อาจจะไม่ทำให้ญาติคนนั้นเสียโอกาสการรักษาเร็ว แถมยังเพิ่มโอกาสการมีชีวิตอย่างมีความสุขหากรักษาเร็วอีกด้วย

25 กุมภาพันธ์ 2567

Campbell's Biology

 รักแรกพบ

คุณเคยเจออะไรครั้งแรกแล้วประทับใจไม่ลืมแบบนี้ไหม นึกทีไรก็ประทับใจ แถมยังเสาะแสวงหามาครอบครองอีกด้วย
เรื่องการอ่านหนังสือ ผมก็ยอมรับและประมาณว่าตัวเองอ่านมากระดับหนึ่ง แต่ในระดับของเด็กจนถึงมัธยม หนังสือที่อ่านเกือบร้อยทั้งร้อยเป็นภาษาไทย ถ้าจะจากต่างประเทศก็ต้องแปลไทย ผมเคยบอกผู้อ่านหลายครั้งแล้วว่าผมอ่านหนังสือภาษาอังกฤษแบบจริงจังตั้งแต่ประถม นั่นคือ Charlie and The Chocolate Factory ต่อด้วยนิทานเด็กน้อยอีกหลายเล่ม ด้วยความที่เราอ่านไม่เก่ง อ่านไม่ออก และยุคนั้นหนังสือภาษาอังกฤษหายาก ราคาแพง สารานุกรมภาพสีภาษาอังกฤษนั้น ทางห้องสมุดจัดอยู่ในตู้หนังสืออ้างอิง ล็อกกุญแจ ยากมากที่จะอ่าน
แต่สำหรับนักเรียนผู้ช่วยบรรณารักษ์อย่างเรามันก็อีกเรื่องนึง มีกุญแจอยู่กับตัวนี่ครับ แอบอ่าน แอบเปิดซึ่งก็ภาพสวยดีนะ แต่ก็ไม่ค่อยรู้เรื่อง
ยิ่งกับตำรา ภาษาไทยล้วน ๆ แน่นอน …จนเมื่อได้เจอ standard textbook ตอนเข้าเรียนมหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 1 สมัยนั้นอาคารห้องสมุดรวมของศาลายาในสายตาของผมคือมันหรูมาก มีสามชั้น ตู้หนังสือสูงท่วมหัวเรียงราย มีโต๊ะเก้าอี้เพียบ ช่วงสอบเปิดให้อ่านจนดึกอีกด้วย สวรรค์ชัด ๆ
แต่เด็กท้ายห้องอย่างผมจะไปรู้จักอะไร นั่งเรียนไป ก็ได้ยินคุณครูพูดถึงหนังสืออ้างอิงที่ไปอ่าน แน่นอนไม่มีภาษาไทยเลยแม้แต่น้อย ในใจคิด มันคืออะไรฟระ ต่างประเทศเขาก็เรียนแบบเดียวกับเราหรือนี่ น่าสน
แต่ก็ยังไม่มากพอจะทำให้ลองอ่าน ก็บรรดาวิชาต่าง ๆ ที่อัดเข้ามา ผมว่าแค่ภาษาไทยก็ตามไม่ทันแล้ว จนกระทั่งวันหนึ่ง ได้ยินเสียงเพื่อนข้าง ๆ มันขิงเพื่อนข้าง ๆ มัน (เราแอบฟัง) บอกว่า "เฮ้ย มึงรู้ไหม ไอ้…(ตัวท้อปของรุ่น โคตรเก่ง) มันอ่านชีวะของแค้มป์เบลเลยนะ"
หือ..ชีวะของแค้มป์เบล มันคืออะไร ผมเคยไปหาอ่านหนังสือประกอบการเรียน เป็นชีววิทยาระดับมหาวิทยาลัย ของ อ.เชาวน์ ชิโนรักษ์ ยังจำได้จนตอนนี้ หนังสือกระดาษปรูฟ เล่มหนามาก และขอบคุณอาจารย์เชาวน์ ที่ทำให้สอบผ่านมาได้ครับ
สงสัยต้องลองดู มันอ่านเล่มนี้หรือนี่ มันถึงเก่ง …ไอ้เราก็อยากบ้าง คือว่าคณะที่เรียนนี่นะครับ ตัดเกรดแยกจากคณะอื่น มาคิดเกรดเฉพาะคณะนี้เดี่ยว ๆ แล้วคุณมองรอบข้าง แม้จะไม่ได้รู้จักหน้าค่าตามาก่อนเลย แต่พอรู้แหละว่าพวกนี้ ทีมชาติ ถ้าไม่อ่านเราจะล่องจุ๊นไหมเนี่ย คราวนี้แหละครับ ที่อยากรู้ว่าตำรามาตรฐานต่างประเทศมันเป็นอย่างไรก็ได้รู้
ตัดภาพมาที่ห้องสมุด
มันก็ไม่ได้หายากนะครับ เจ้า Campbell's Biology แถมมีหลายเล่มเรียงกัน เรียบสวย เลขรหัสประจำเล่มยังเรียงกันเลย ด้วยประสบการณ์ในห้องสมุดทราบเลย แสดงว่ามันไม่มีใครมาหยิบยืมไปมากนัก นึกในใจ โธ่ นี่ตรูโดนขิงหรือนี่ แต่ไหน ๆ ก็มาแล้ว ลองหยิบไปอ่าน
ความรู้สึกแรกคือ หนักมาก หนามาก ใหญ่เทอะทะ มันไม่น่าจะเป็นตำราที่ "เป็นที่นิยม" ได้เลย ปกสวย กระดาษเป็นกระดาษอาร์ตเลยนะครับ พิมพ์สี่สีสดทั้งเล่ม ตำราไทยระดับเดียวกันสมัยนั้นยังหายากเลยครับ และพอเปิดเข้าไป
เออ ภาษาที่ใช้สำหรับวิชาในมหาวิทยาลัยมันก็ไม่ได้ยากซับซ้อนอะไร พออ่านได้นี่นา ก็เลยพลิกไปหน้าที่ตรงกับบทเรียนปัจจุบัน แล้วเริ่มอ่าน นั่นคือวินาทีแรกที่ได้อ่าน standard textbook ภาษาอังกฤษ
คือมันดีมากเลย เริ่มต้นด้วย ความเป็นมาที่ว่าทำไมเราต้องรู้เรื่องนี้ มันสำคัญตรงไหน หรือส่วนเปิดเรื่องที่น่าสนใจ หลังจากนั้นเนื้อหาจะขยับต่อไปตามลำดับ แบ่งออกเป็นส่วน ๆ ที่ชัดเจน มีภาพประกอบ มีตารางที่ช่วยให้เข้าใจได้จริง มีไดอะแกรมที่ตอนนั้นคิดว่า โห..คนเขียนนี่เก่งมาก เขียนรูปเดียว อธิบายได้ครบหมดเลย จำได้เลยว่ารูปนั้นคือ Kreb's Cycle แห่งการสันดาปพลังงานในเซลล์
อ๋อ ..สารตั้งต้นตัวนี้มาจากที่นี่ เข้าตรงนี้ มีลูกศรโยงจำนวนพลังงานที่ได้แต่ละขั้นตอนมารวมกัน พออ่านจบถึงเข้าใจว่า 38 ATP มันมาได้ไง มีการคิดสมการพิสูจน์ให้เห็นว่า ทำไมจึงได้แบบนี้ ไม่ใช่ได้มาจากเขาบอกหรือต้องจำ
เฮ้ย..มันเจ๋ง มันดี มันเข้าใจ นั่งอ่านอ่านจนจบเรื่องเซลล์เลย
ไม่พอ คำถามท้ายบท เป็นคำถามแบบ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เพราะอะไรจึงเป็นแบบนี้ ไหนนักเรียนอธิบายสิ ซึ่งมันชวนคิดมาก และชวนให้กลับไปค้นว่า ทำไมวะ (ถึงตอบผิด) ต่างจาก ก ข ค ง ที่เคยผ่านมาชัดเจน
หิวข้าวแล้ว ก็เลยปิดและไปวาง ผมขอสารภาพว่าไม่ได้ไปวางตรงชั้นวางหลังอ่าน แต่เดินไปเก็บที่ชั้นเลยด้วยความเคยชิน ไม่ได้ยืมไปอ่านด้วย ตอนนั้นกลัวเป็น..จุดเด่น ประมาณว่า โห มันอ่านเท็กซ์ว่ะ เลยมานั่งอ่านที่ห้องสมุดเอา ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรอายนะครับ ใครอ่านอยู่ ถ้าทำเรื่องที่ดี โดยที่คนอื่นไม่เดือดร้อน ก็ไม่ต้องอายอะไร
นั่นคือครั้งแรกที่ได้เปลี่ยนโลก รู้จักตำรานานาชาติ หลังจากนั้นก็เริ่มสะสมทักษะการอ่าน การวิเคราะห์ การอ่านวารสาร การฟังบรรยาย จนได้มาเป็นวันนี้ ขอบอกเคล็ดลับนะครับ ถ้าเราอ่าน textbook ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อไม่ได้ไปสอบ อ่านทบทวน อ่านเอาความรู้ ผมว่าตำราภาษาอังกฤษมาตรฐาน อ่านเข้าใจกว่า ง่ายกว่า สนุกกว่า ตำราภาษาไทยครับ และถ้าได้อ่านไทยคู่อังกฤษ ก็จะได้เรียนรู้ถึงวิธีคิดของคนเขียนตำราภาษาไทยเพิ่มอีกด้วยครับ
หลายปีต่อมา เห็นเล่มนี้วางขายที่ศูนย์หนังสือจุฬา ก็ไม่กล้าซื้อ ด้วยความที่ราคาแพง และคิดว่าคงไม่คุ้มเท่าไร เราเอามาใช้น้อย เอาเงินไปซื้อตำราอายุรศาสตร์คุ้มกว่า จนได้มาเจอเล่มนี้ในกลุ่มขายหนังสือมือสอง ขอดูสภาพแล้วพบว่ามันเจ๋งมากกับราคาเท่านี้ (ไม่กี่ร้อย,) จึงสอยมาเป็นสินทรัพย์ทางปัญญาต่อไปครับ

23 กุมภาพันธ์ 2567

ทิชชู ไม่ได้ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก

 ทิชชู ไม่ได้ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก

1. มะเร็งปากมดลูก เกิดจากพันธุกรรมเสี่ยง และติดเชื้อไวรัส HPV
2.HPV มาจากเพศสัมพันธ์เป็นหลัก
3.ควรฉีดวัคซีน HPV ก่อนมีเพศสัมพันธ์
4.โอกาสติด HPV จากการใช้ทิชชูเช็ดอวัยวะเพศภายนอก แทบเป็นศูนย์ ไม่ว่าทิชชูอะไรบนโลกก็ตาม
5. จากการเช็ดทิชชู มากสุดก็ติดเชื้อปัสสาวะ ถ้าเช็ดปนเปื้อนจากหลังมาหน้า หรือขยี้แรงเกิน
6.และไม่ควรนำทิชชูใช้แล้วมาเช็ดซ้ำ
7. ป้องกันมะเร็งให้ฉีดวัคซีน HPV และตรวจจับระยะต้นด้วยการตรวจภายใน ตรวจเซลล์และไวรัส HPV ฉีดแล้วก็ยังต้องตรวจ
8. ไม่มีเพศสัมพันธ์ก็เกิดมะเร็งได้ (สัดส่วนน้อย) อย่างไรก็ควรฉีดวัคซีนและตรวจภายใน

hyperkalemia โปตัสเซียมเกิน คลื่นไฟฟ้าหัวใจ

 กรณีศึกษาอันนี้น่าสนใจ : ทั้งคนไข้ ผู้ดูแลคนไข้ และหมอผู้รักษา

บทความจากวารสาร JAMA internal medicine (อ่านฟรี) เรื่องราวของสุภาพบุรุษอายุ 70 ปี ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง ไตเสื่อมเรื้อรัง ใช้ยา amlodipine, metoprolol, perindopril/indapamide, rosuvastatin
🤗ใครเจอแบบนี้ ไม่ว่าชีวิตจริงหรือในโจทย์ข้อสอบ พึงระลึกไว้เสมอว่า ผู้สูงวัยที่ไตเสื่อม และกินยาหลายชนิด ต้องระวังเจอผลข้างเคียงของยา ทั้งเกิดในภาวะปกติและภาวะเจ็บป่วยเฉียบพลัน
ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลียมากและเป็นลม หลังจากมีอาการถ่ายเหลวเป็น ๆ หาย ๆ ต่อเนื่องกันมาหนึ่งสัปดาห์
🤗 ผู้สูงวัยและกินยาหลายชนิด เมื่อมีอาการถ่ายเหลว จะมีอาการขาดสารน้ำ กลไกในร่างกายจะปรับตัวหลายอย่าง เพื่อต่อสู้อาการขาดสารน้ำ อาจทำให้การทำงานของไตทรุดลงชั่วคราว อาการแทรกซ้อนจากยาจะชัดขึ้น เรายังไม่ไปข้อต่อไป แต่จากยาที่ใช้ ระวังมาก ๆ คือ สมดุลโปตัสเซียมที่ผิดปกติ ทั้งโปตัสเซียมเกินจากยา perindopril หรือโปตัสเซียมต่ำ จาก indapamide (เจอน้อย)
ตรวจร่างกายพบชีพจรช้า 53 ครั้งต่อนาที แต่ความดันโลหิตยังดี
🤗 ยา metoprolol ทำให้ชีพจรช้าลงได้อยู่แล้ว และหากขาดสารน้ำ ร่างกายจะพยายามเร่งการเค้นชีพจรเพื่อส่งเลือดไปอวัยวะสำคัญ คนไข้จะแย่ลงเพราะยามันไปควบคุมการเต้นหัวใจจนเร่งชีพจรไม่ขึ้น เกิดวิงเวียนเป็นลมได้
ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจพบตามภาพ บอกเลยแล้วกันลูกศรสีแดงคือ p-wave ในภาพนี้เกิดการนำไฟฟ้าระหว่างห้องบนและห้องล่างยืดยาวผิดปกติ (extreme AV block) การเต้นของห้องบนและล่างแยกกัน (เพราะมันช้ามากจนควบคุมกันไม่ได้) เรียก AV dissociation และใน chest lead มี T-wave แหลมเปี๊ยบ คือ tall peak T wave
🤗 hyperkalemia โปตัสเซียมเกิน อาจมีลักษณะคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติได้หลายแบบ ควรคิดไว้เสทมโดยเฉพาะคนที่เสี่ยงเช่นคนนี้ และเมื่อไรคิดถึง ต้องติดตามด้วยว่าแก้ไขแล้วคลื่นไฟฟ้าจะบมาปรกติหลังแก้ ดังเช่นรูปนี้ เมื่อให้ calcium gluconate คลื่นไฟฟ้าก็กลับมา (ไปอ่านวารสารเต็มจะพบว่ามีการนำไฟฟ้าที่ผิดปกติทั้ง A-H-V ตาม electrogram ของหัวใจ)
ผลเลือดพบค่าโปตัสเซียม 8.2mmol/L ปกติไม่เกิน 5.5 และค่าครีอะตินิน เพิ่มจากเดิม 1.8 mg/dL(ก่อนป่วย) เป็น 2.48
🤗คนไข้ที่เสี่ยงจะเกิด hyperkalemia ก็มักจะเกิดในเวลาที่เราคาดคิด ..ต้องระลึกไว้และตรวจเสมอ
คนไข้ที่เป็น hyperkalemia มีคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติได้หลายแบบ ที่พบบ่อยมาก ๆ คือ การนำไฟฟ้าที่ผิดปกติของหัวใจในรูปแบบต่าง ๆ ที่สำคัญแก้ไขแล้วจะกลับมาเหมือนก่อนจะเปลี่ยน
ดังนั้น ผู้สูงวัยที่ใช้ยาหลายชนิด หากมีอาการป่วยเฉียบพลัน ขาดสารน้ำ เสียสารน้ำ ระบบไหลเวียนมีปัญหาเช่นใจสั่น หน้ามืด ให้มาทบทวนยาเสมอว่า เกิดจากยาหรือไม่ หรือจะกินยาต่อได้ไหม ต้องหยุดยาอะไรไปก่อน จะเริ่มใช้ยากลับเมื่อไป
หรือทีมคุณหมออาจทำ anticipatory guideline เอาไว้เลย ให้คนไข้และคนดูแลทราบว่าหากเกิดเหตุแบบนี้ ต้องทำอย่างไร โดยคาดเดาจากยา ประวัติ ที่ผู้ป่วยมีอยู่ จะได้ไม่เกิดปัญหาที่ป้องกันได้นี้
JAMA Intern Med. 2024;184(2):211-212

18 กุมภาพันธ์ 2567

คู่มือสอบ

 ชวนคุย แวะร้านหนังสือแล้วเจอคู่มือสอบ

สมัยเรียน ม.ปลาย ผมเป็นเด็กหลังห้อง เรียนในห้องพอได้บ้าง แต่ชอบอ่านเอง ด้วยความที่ตัวเองฝังตัวในห้องสมุด เลยได้เห็นและอ่านหนังสือ 'คู่มือสอบ' ด้วยตัวเอง และขอบอกตามตรงว่า หนังสือเรียนของ สสวท. ของกระทรวง ผมอ่านไม่ค่อยเข้าใจเท่าไร เลยมาฝึกวิชากับตำราเหล่านี้
ที่จำได้เพราะ ตำราที่อ่านจะแต่งโดยคนสองคน ที่นามสกุลเดียวกัน ทั้งคู่แต่งงานหรือครอบครัว
อ่าน ทำแบบฝึกหัด ตั้งแต่เล่มหนึ่งถึงเล่มหก ทั้งหมด ไม่ได้ซื้อเลยครับ อ่านและยืมทั้งสิ้น รูปนี้ก็โหลดมาจากอินเตอร์เน็ต ไม่ได้ขออนุญาต แต่ไม่ได้มาใช้เชิงการค้าครับ
1. คณิตศาสตร์ เป็นเล่มเล็กขนาด A5 ของ อ.สมัย และ พัวพรรณ เหล่าวาณิชย์ จำได้ว่าทำ เมตริกซ์ เป็นก็เล่มนี้ และคิดว่า แต่ก่อนฉันทำได้ไงวะ
2.ชีววิทยา อ.ปรีชา และ อ.นงลักษณ์ สุวรรณพินิจ หนังสืออาจารย์ละเอียดมาก จำได้ ละเอียดกว่าหนังสือชีวะของ รร. หลายเท่า
3.เคมี ของ อ.นิพนธ์ และ อ. คณิตา ตังคณานุรักษ์ ขอบอกว่า (เป็นนิสัยไม่ดี) เคมี ไม่เคยอ่านของกระทรวงเลย อ่านและทำแบบฝึกหัดของ อาจารย์ทั้งสองตลอดสามปี
4.ฟิสิกส์ เดิมทีอ่านของ ครอบครัว 'ทมทิตชงค์' ในชุดแอพพลายด์ฟิสิกส์ แต่หลัง ๆ ใช้แค่ฝึกทำโจทย์ จำได้ว่ารวมเล่มโจทย์เยอะมาก ผมเป็นคนโง่ฟิสิกส์ แต่ได้หนังสือคู่มือของ อ.อดิชาต บ้วนกียาพันธุ์ นี่แหละ ทำให้เข้าใจ และผมมาอ่านฟิสิกส์ประมาณหนึ่งปีกว่า ก่อนสอบ (เพราะไม่เข้าใจเลย ไม่ค่อยสนใจ)
5.อังกฤษ อันนี้หารูปไม่ได้ แต่ผมมีตำรามือสองจากจตุจักร ของ อ.สำราญ คำยิ่ง และฝึกทำข้อสอบเอ็นทรานซ์ย้อนหลัง กับอ่านหนังสือพิมพ์อังกฤษ เลยพอถูไถคะแนนมาได้
แต่ทราบไหมครับ จากที่ผมทำข้อสอบเอ็นทรานซ์ย้อนหลัง 10 ปี ทำเอง จับเวลา ดูเฉลย ในทุกวิชาทั้งหกวิชา วิชาที่ผมได้คะแนนมากที่สุดคือ วิชา สามัญ 1 หรือไทย+สังคม ในตอนนั้น (จริง ๆ ผมควรไปเรียนสายศิลป์นะ) ได้ในระดับ 80-85% เลยทีเดียว และทั้งหมด อ่านจากตำราและหนังสือในห้องเรียนอีกด้วยครับ
เห็นหนังสือคู่มือสอบสมัยนี้เต็มร้านหนังสือ หลากหลายรูปแบบ เป็นโอกาสที่ดีมากจองเด็กนักเรียนยุคนี้ ที่ผมเปิดอ่านแล้วคิดถึงอดีตว่า
'แต่ก่อนฉันทำได้อย่างไรเนี่ย'

บทความที่ได้รับความนิยม