31 มีนาคม 2563

ศูนย์รับฝากความเสียใจ

"ความเสียใจ มีไว้เพื่อให้เรายิ่งทะนุถนอมปัจจุบัน"
คุณคิดว่าถ้าย้อนเวลากลับไปได้ คุณอยากกลับไปขอโทษใคร ใครที่คุณเคยทำผิดหรือเข้าใจผิดกับเขา ใครคนนั้นที่จะไม่มีวันได้เจอกันอีก
เรื่องราวของศูนย์รับฝากความเสียใจ จุดบริการเล็ก ๆ ในสถานีหลักไทเป ประเทศไต้หวัน หากใครเคยไปไต้หวันจะรู้ว่าสถานีไทเปเมนสเตชั่น เป็นสถานีที่กว้างใหญ่มาก ที่มุมหนึ่งมีสถานที่มหัศจรรย์จะปรากฏให้กับผู้ที่ต้องการพบมันเท่านั้น ผู้ที่มีความโศกเศร้ากัดกินหัวใจ
คนที่ถูกสถานีเลือกให้เห็น จะเป็นคนที่มีความเสียใจอย่างมากและต้องการจะส่งจดหมายไปเพื่อขอโทษใครสักคนที่ทำให้เขาเสียใจ ในเงื่อนไขที่คนคนนั้นจะต้องเคยเห็นหน้ากันมาก่อน และไม่มีวันได้พบกันแล้ว ไม่ว่าจะตายจากไปแล้วหรือไม่พบด้วยเหตุใดก็ตาม และอาจจะได้รับจดหมายตอบกลับมาก็ได้ ศูนย์นี้ทำงานทุกวันพุธ ห้าโมงเย็นถึงหนึ่งทุ่มตรง
เรื่องเปิดมาที่เด็กสาวคนหนึ่ง เดินทางโดยรถไฟและบังเอิญมีชายชรามานั่งข้าง ๆ "ประชิดตัว" ก่อนที่ชายชราจะลงจากรถ เขา "ลืม" จดหมายสามฉบับที่จ่าหน้าแปลก ๆ เอาไว้ เด็กสาวคนนั้นพยายามวิ่งตามลงไป แต่ไม่พบชายชรา จึงตั้งใจจะนำไปฝากที่ศูนย์ของหาย แต่ว่ากลับมาเจอศูนย์รับฝากความเสียใจและ ฮ่งเหา เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์โดย "บังเอิญ" เด็กสาวจึงเข้าไปถามด้วยความที่เคยที่เรื่องเล่าลือว่าที่นี่สามารถส่งจดหมายไปในอดีตได้
เจ้าหน้าที่บอกว่าใช่ และที่เล่าลือเป็นเรื่องจริง จดหมายที่ชายชรา "ลืม" เอาไว้ก็จ่าหน้าด้วยกฎเกณฑ์ของศูนย์นี้ แสดงว่าชายชราตั้งใจจะมาที่นี่ และการที่เด็กสาวมาถึงที่นี่ เห็นที่แห่งนี้ ก็ไม่ได้เกิดเพราะความบังเอิญ แสดงว่าเด็กหญิงก็มีเจตนาจะส่งจดหมายเช่นกัน และในขณะที่เด็กหญิงกำลังคุยกับเจ้าหน้าที่
ก็มีผู้หญิงสาวเข้ามาที่ศูนย์แห่งนี้ ต่อมาด้วยหญิงตั้งครรภ์ ทุกคนเข้ามายื่นจดหมายด้วยใบหน้าที่หมองหม่นจากความเศร้าในอดีตที่ไม่สามารถแก้ไขได้ แต่ออกไปพร้อมกับการตอบรับของจดหมาย และความสบายใจที่ได้บอกเล่าหรือขอโทษเหตุการณ์ที่ยังค้างคาในอดีต เพียงแต่ว่า
ทุกคนที่เข้ามาส่งจดหมายและได้รับจดหมายตอบกลับในวันนั้นมีความเกี่ยวเนื่องกันอย่างประหลาดกับเหตุการณ์ความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางรถยนต์เมื่อ 18 ปีก่อน ที่ชายชราคนนั้นได้เข้ามาในศูนย์เพื่อเฉลยปริศนาแห่งความเกี่ยวข้องนั้น รวมไปถึง ฮ่งเหา เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์
เรื่องราวการเขียนที่วางปมเรื่องแบบวงกลม สามารถทบกลับมาเฉลยปมก่อนหน้านี้และโยงความสัมพันธ์ไปกับอีกปมหนึ่ง ผ่านฉากของเวลาในอดีตและปัจจุบันสลับกันอย่างกลมกลืน เรื่องราวไหลไปได้อย่างราบรื่น เหมือนฉากภาพยนตร์ เหมือนอ่านเรื่อง ปาฏิหาริย์ร้านชำของคุณนามิยะ แต่เรื่องราวสั้นและเร็วกว่า แบ่งออกเป็นตอน ๆ ของตัวละครแต่ละคน แต่สุดท้ายจะเชื่อมโยงกันทั้งหมด กลเม็ดการเขียนไม่น่าเบื่อ ชวนติดตามจนจบในครั้งเดียว
ต่างจากร้านชำนามิยะ ตรงเรื่องนี้จะเริ่มด้วยเหตุการณ์ความเศร้าที่กัดลึกในจิตใจ แบบที่ไม่อาจจะระบายได้ ต้องเก็บงำความเศร้าเป็นหนามแทงใจมานาน แต่เบื้องหลังของความเศร้าหรือความเข้าใจผิดในอดีต มันมีบทอธิบาย บทเฉลย ว่าคนที่เสียใจ คนที่เศร้า ใช้แต่มุมมองตัวเอง หากลองมองเหตุผลของคนอื่นและการกระทำของคนอื่น เราจะเข้าใจคนอื่น และต้องถามตัวเองว่า เมื่อทราบแบบนั้นจะยังโกรธ จะยังไม่เข้าใจเขาอีกไหม และสุดท้ายจะพร้อมขอโทษ เอาความเศร้าที่กัดกินใจมานาน ปล่อยมันออกไปได้ไหม คนเขียนเริ่มด้วย เหตุการณ์แห่งความเศร้า แล้วเริ่มอธิบายว่าเหตุเกิดจากอะไร
แล้วย้อนกลับมาถามคนอ่านว่า หากรู้แบบนั้นจะยังโกรธหรือเสียใจกับเรื่องในอดีตอีกไหม และเวลาที่เรามีเหลือไม่มากในชีวิต เรารักกันมากพอ เราถนอมกันมากพอหรือยัง หรือเราจะปล่อยให้ความไม่เข้าใจและความเศร้า เผาผลาญเวลาที่มีค่าของคนที่เรารัก โดยไม่ปรับความเข้าใจ ....ก่อนที่เขา จะจากไป
อ่านแล้วน้ำตาแตกครับ แม้จะโทนเศร้ากว่านามิยะ แต่อบอุ่นเหมือนกัน สอนให้รู้จักความหมายของชีวิตเป็นอย่างดี
แนะนำอย่างยิ่ง *** the must *** ครับ
ตีหนึ่งสามสิบสี่ วันที่สามสิบเอ็ด มีนาคม ปีหกสาม
ติดหนังสือถึงขั้นสูงสุด

การปฏิบัติตัวในช่วงเฝ้าระวัง

ตอนนี้เกือบทุกจังหวัดมีคำสั่งงดรวมตัว ปิดสถานที่ท่องเที่ยว ปิดห้างบางส่วน อยู่บ้าน งดเดินทาง เป็นสิ่งที่เราต้องปรับตัวและเปลี่ยนวิถีชีวิตในช่วงเวลาหนึ่ง ในระยะสั้นอาจไม่ลำบาก แต่ในระยะยาวคงจะมีผลกระทบบ้าง
การปฏิบัติตัวที่ไม่ถูกต้อง นอกจากจะไม่ช่วยลดการแพร่กระจาย อาจทำให้สุขภาพโดยรวมแย่ลงอีกด้วย เรามาทบทวนมาตรการสำหรับคนที่ไม่ติดเชื้อ ไม่เสี่ยงติดโรค แต่ต้องลดกิจกรรมลง ว่าทำอย่างไรกันดี
1. อาหารการกิน ซื้อหรือสั่งจากนอกบ้าน ประกอบอาหารเอง ที่เน้นย้ำคือ ช่วงนี้ไม่ได้ออกแรงทำงาน กิจกรรมลดลง เราต้องอย่ากินเยอะ อาจจะต้องลดปริมาณลงด้วยซ้ำ ถ้ายังกินเท่าเดิม น้ำหนักจะขึ้นได้ง่าย และยิ่งดูทีวีและกินขนมไปด้วย จะเกิดโรคอ้วน อันตรายกว่าโควิดหลายเท่านัก
2. การจัดการอากาศในบ้าน โรคโควิดไม่แพร่กระจายทางอากาศนะครับ (ยกเว้นจากหัตถการบางอย่างทางการแพทย์) ควรเปิดบ้านให้โล่งโปร่ง อากาศถ่ายเท จะมีผลดีต่อสุขภาพ บางคนปิดบ้านมิดชิด เปิดแอร์อากาศวนอยู่ด้านใน ขยะเปียกทั้งหลายสะสม ทำให้อนามัยแย่ลงไปอีกครับ
3. การออกกำลังกาย แม้ว่าการไปออกกำลังกายตามโรงยิม ฟิตเนส หรือสวนสาธารณะจะดูไม่เหมาะสม แต่ไม่ได้ห้ามการออกกำลังกายกลางแจ้ง อย่างที่กล่าวไปว่าเชื้อมันไม่ได้กระจายทางอากาศ เดินสวนกันไปมาก็ไม่ติดเชื้อนะครับ อย่าไปไอจามรดกันก็แล้วกัน สามารถออกกำลังกายกลางแจ้งในสวนหน้าบ้าน ถนนหน้าบ้าน วิ่งในหมู่บ้าน ขี่จักรยาน กระโดดเชือก หรือใครจะออกในบ้านก็ตามใจ เลือกสถานที่ที่คนไม่พลุกพล่าน ไม่ชุมนุมก็แล้วกัน
4. แถมเรื่องการออกกำลังกาย เวลาออกกำลังกายเราต้องใช้ออกซิเจนมากกว่าปรกติ ไม่แนะนำให้สวมหน้ากากหลายชั้นนะครับ โอเคใครอยากสวมหน้ากากออกกำลังกายก็ไม่ว่า หน้ากากผ้า หน้ากากเขียว มันกั้นลมได้ระดับหนึ่ง ไม่มากหรอก แต่ถ้าทนไม่ไหวก็ถอดนะครับ เวลาออกกำลังกายเราไม่ได้ไปไอจามรดใคร ไม่ได้เล่นมวยปล้ำที่จะต้องชิดตัวกัน เดิน วิ่ง ถอดหน้ากากได้ครับ
5. แม้หลายคนจะไม่อยากใช้มือสัมผัสกันตามตรงเช่นรับของ รับเงิน หลายคนใช้สื่อกลางเช่นใส่ตะกร้า ชักรอก แต่ถ้ามันไม่สะดวกขนาดนั้นเราก็รับตรง แล้วล้างมือได้ครับ ล้างก่อนและรับของก็ได้ จะใช้สบู่หรือเจลก็ได้ เชื้อไม่ได้ติดกันทาง contact ไม่ใช่โรคหิดหรือกลากนะครับ และโดยมาตรฐานเวลานี้เราควรล้างมือบ่อย ๆ อยู่แล้วครับ หลังสัมผัสสิ่งต้องสงสัย หรือเมื่อมือสกปรก ก่อนหลังกินอาหาร เข้าบ้าน ทำให้ติดเป็นนิสัย
6. คุยกับเพื่อนบ้านได้ครับ เว้นระยะห่างตามที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย คุยเสร็จก็ล้างมือล้างไม้เสียด้วย ไม่เครียดและสื่อสารกันได้ดี
7. ขยะในบ้าน จัดการดี ๆ นะครับ ช่วงนี้ขยะจะเยอะเพราะสั่งอาหาร ทำอาหาร มีขยะจะมีสิ่งตามมา หนู แมลงวัน แมลงสาบ โรคที่ตามมาอีกเพียบ ท้องเสีย ไทฟอยด์ ภูมิแพ้ เผลอ ๆ เจองูเงี้ยวเขี้ยวขออีกต่างหาก ขยะเปียกก็ฝังกลบเสีย แยกขยะด้วยนะครับ
8. ติดตามข่าวจากศูนย์อำนวยการโรค และจากสื่อที่เชื่อได้ การติดตามข่าวที่มากเกินไป และข่าวปลอม ข่าวเล่าลือ นอกจากทำให้ปฏิบัติตัวไม่ถูก อาจทำให้เกิดโรคหรือผิดข้อกฎหมายได้ครับ จะมีแถลงการณ์ทางการทุกวัน วันละหนึ่งครั้ง และติดตามข่าวท้องถิ่น เพราะแต่ละพื้นที่จะมีการจัดการต่างกัน และอย่าตึงเครียดเกินไป พักผ่อน สันทนาการส่วนตัวด้วยนะครับ
9. หาข้อมูลการช่วยเหลือภาครัฐ เช่น การยืดการจ่ายภาษี การรับเงินชดเชย การสร้างกระแสเงินสด สิทธิการรักษาพยาบาล การชะลอหนี้ จัดการผ่านทางอินเตอร์เน็ต ชะลอความเดือดร้อนและมีสติ คิดการณ์ล่วงหน้า จะได้ไม่เครียดเกินเมื่อเจอวิกฤต
10. อันนี้ผมขอนิดนึง อยากให้ช่วยอุดหนุนพ่อค้าแม่ค้า ที่เขาต้องปรับตัวจากซื้อในร้านหรือนั่งที่ร้าน มาขายแบบรับกลับหรือออนไลน์กันด้วย หากจำเป็นต้องซื้อ ผมไม่ปฏิเสธซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านสะดวกซื้อนะครับ ตอนนี้เขาก็เดือดร้อน และเขาก็ช่วยกระจายสินค้าได้ดี แต่ผู้ประกอบการรายย่อยก็ต้องการกำลังจากท่านเช่นกัน แบ่งให้กันและกันบ้าง เขาจะได้อยู่ได้ เพราะเขาอยู่ได้ เราก็อยู่ได้ไปด้วยนะครับ
รักและเป็นห่วง...จาก กงยูเมืองไทย ลุงหมอง่ายนิดเดียว

เพื่อความเข้าใจเรื่อง แอนติบอดี ตอนที่สอง : ภูมิที่ชอบมาสาย

เพื่อความเข้าใจเรื่อง แอนติบอดี ตอนที่สอง : ภูมิที่ชอบมาสาย
จากตอนที่แล้วเราเริ่มเข้าใจแอนติบอดีมาพอสมควร ใครไม่เข้าใจผมจะตีรวมว่าเข้าใจแล้วนะครับ (เฮ้ นี่ลุงตู่หรือลุงหมอเนี่ย ชอบเหมารวม) ว่าแอนติบอดีจะบ่งบอกว่าร่างกายเคยเจอสิ่งแปลกปลอมใดแบบเฉพาะเจาะจง โดยเฉพาะเราเคยสัมผัสโรคมาหรือไม่ ส่วนจะปกป้องได้ไหม มันอีกเรื่องหนึ่ง
แต่การตรวจพบแอนติบอดี มันไม่ได้เร็วอย่างที่เราคิดกัน กระบวนการสร้างแอนติบอดีมันต้องใช้เวลา เพราะกว่าจะจับเชื้อโรค กว่าจะวิเคราะห์ กว่าจะส่งข้อมูล สังเคราะห์ข้อมูลและสร้างแอนติบอดี มันต้องใช้เวลา (ร่างกายจึงต้องมีภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปเอาไว้ใช้ป้องกันด่านหน้าอีกชุด) สิ่งนี้บอกอะไรเราบ้าง
1. บอกว่าการจะตรวจแอนติบอดีต้องวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลที่สำคัญมากอันหนึ่ง คือ ระยะเวลาและอัตราการเปลี่ยนแปลงของระดับแอนติบอดี ถ้าเราตรวจเร็วไป แอนติบอดียังไม่สร้างหรือยังสร้างไม่ทัน ไม่เพียงพอจะตรวจจับ สิ่งที่พบคือ เรายังไม่พบแอนติบอดี ซึ่งอาจจะแปลว่า ไม่มีการสัมผัสสิ่งแปลกปลอมนั้นเกิดขึ้น หรือสัมผัสแต่ยังไม่ขึ้น นำมาสู่สิ่งที่เรียกว่า "ผลลบปลอม"
2. นอกจากผลลบปลอมแล้ว ยังสามารถมี "ผลบวกปลอม" ได้ด้วย เพราะเซลล์ที่สร้างภูมิคุ้มกันมันก็ไม่เก่งพอกันทุกคน มันอาจสร้างแอนติบอดีผิดพลาด ทำให้เราสัมผัสสิ่งหนึ่งแล้วไปตรวจพบอีกสิ่งหนึ่งได้ หรือแม้แต่สิ่งแปลกปลอมบางอย่างก็มีความคล้ายกับสิ่งอื่น แอนติบอดีที่ออกมาจึงอาจไปซ้ำกับสิ่งอื่น หมดความเฉพาะเจาะจง แปลผลยากขึ้นอีก
จากข้อจำกัดสองข้อที่ว่ามานี้ การแปลผลแอนติบอดีจะต้องร่วมกับประวัติการสัมผัสสิ่งแปลกปลอม ไล่เรียงลำดับเวลา และต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการสร้างแอนติบอดีที่ดีพอ ไม่สามารถดูแล้วแปลได้ทันที
ด้วยความที่มันต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร จึงอาจใช้เพื่อคัดกรองโรคในระยะแรกได้น้อยมาก ข้อใช้หลักคือ ใช้เพื่อวินิจฉัยโรค ใช้เพื่อตรวจสอบว่าเคยสัมผัสโรคมาก่อนหรือไม่ และการวินิจฉัยที่เป็นที่ยอมรับมากที่สุดคือ การติดตามการเปลี่ยนแปลงของแอนติบอดีว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรในช่วงสองถึงสามสัปดาห์ โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นอย่างน้อยสี่เท่าในช่วงเวลาประมาณสองสัปดาห์ (four fold rising)
และข้อผิดพลาดที่น่ากลัวที่สุด คือ ช่วงที่แอนติบอดียังไม่สามารถตรวจพบได้ที่เรียกว่า window period แล้วจะได้รับการแปลผลว่า ไม่เคยสัมผัส ปลอดภัย ไม่ติดเชื้อ อันนี้จะผิดมาก อีกอย่างคือระดับแอนติบอดีเมื่อสร้างไปนาน ๆ แล้ว หากไม่ได้รับการกระตุ้นหรือสิ่งแปลกปลอมนั้นหายไปแล้ว การสร้างลดลง ระดับแอนติบอดีจะลดลงจนไม่สามารถตรวจจับได้ อาจจะแปลผลว่าไม่เคยติดได้เช่นกัน ตัวอย่างที่ชัดคือ แอนติบอดีต่อไข้เลือดออก
อันนี้คือข้อจำกัดที่ต้องทราบ ในการใช้แอนติบอดีมาใช้เพื่อวินิจฉัยโรค

30 มีนาคม 2563

แนะนำหนังสือ วิทยาภูมิคุ้มกัน พื้นฐานและคลินิก

วิทยาภูมิคุ้มกัน (immunology) ถือว่ามีความสำคัญมากในยุคปัจจุบัน

วันก่อนถ่ายรูปศูนย์ปฏิบัติการข่าวสารข้อมูลของเพจนี้ให้ดู มีแฟนเพจสายตาดีแอบเห็นว่าผมอ่านหนังสืออะไรอยู่ คำตอบคือ วิทยาภูมิคุ้มกัน 

หนังสือเล่มนี้เป็นตำราภาษาไทยซื้อมานานแล้ว และยังใช้อ่านทบทวนอยู่ตลอดโดยเฉพาะในยุคนี้ที่การรักษาเราลงลึกถึงการควบคุมหรือสั่งการระบบภูมิคุ้มกันไปรักษาโรค อันมีความเฉพาะเจาะจงราวเลเซอร์นำวิถี 

ใครที่เรียนสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์จะได้รับการสอนวิชานี้แบบพื้นฐานนะครับ คนที่สนใจจะต้องไปศึกษาต่อยอดเอาเองจะมีบางสาขาเท่านั้นที่เอาไปใช้อย่างจริงจังเพื่อวิจัยและใช้งานทางคลินิก แต่ว่าตอนนี้ทุกคนต้องรู้มากขึ้น ลึกขึ้นนะครับ และควรมาทบทวนหรือทำความเข้าใจใหม่อีกรอบ

จะเลือกตำราภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษก็ได้นะครับ สำหรับเล่มที่ผมซื้อมานี้เป็นตำราอิมมูโนวิทยา ชื่อ "วิทยาภูมิคุ้มกันพื้นฐานและคลินิก" จากคณาจารย์หน่วยอิมมูโนวิทยา โดยบรรณาธิการคือ  อ.อรวดี หาญวิวัฒน์วงศ์  คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ราคาปก 450 บาท  

ครึ่งแรกจะเป็นการปูพื้นฐานทางปรีคลินิก เรื่องราวของวิทยาศาสตร์ระบบภูมิคุ้มกันทั้งแบบเซลล์ แบบแอนติบอดี ที่มา การสร้าง การควบคุม มีกี่แบบ มีกี่ชนิด แบ่งอย่างไร เพื่ออะไร เรียกว่าปูพื้นฐานง่าย เข้าใจได้ดี ใช้ภาษาไทยที่เรียบเรียงแล้วไม่สับสน

ครึ่งหลังจะเป็นการประยุกต์ใช้ทางคลินิก โรคที่เกิดจากกระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือไวเกิน เกิดมาอย่างไรและจะแก้ไขอย่างไร การใช้ภูมิคุ้มกันมารักษาโรค ระบบวัคซีน การตรวจวินิจฉัยด้วยค่าอิมมูโนโกลบูลิน  การกดภูมิคุ้มกัน ปฏิกิริยาของการปลูกถ่ายอวัยวะ

แยกเป็นหัวเรื่องที่ชัดเจน มีอ้างอิงมากมายให้ค้นต่อ แผนภาพทำได้ดี เล่มนี้เรียกว่าดี จึงซื้อเก็บไว้อ่านและทบทวนประจำครับ ใครต้องการหาซื้อสามารถสั่งได้ที่ศูนย์หนังสือจุฬา หรือที่เว็บไซต์ซีเอ็ดครับ

happy reading time

แนะนำหนังสือ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา มาถึงมือแล้วคร้าบบบ

เล่มนี้มีสี่ฉบับเลย คือ ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), คำให้การชาวกรุงเก่า, คำให้การขุนหลวงหาวัด และฉบับหลวงประเสริฐ ฯ  ได้มาเทียบกันเลยชัด ๆ ดีงามพระรามสี่

ผลจากการฟังพ็อดคาสต์ "รุ่นเก๋าเล่าเกร็ด" ของคุณหอย อภิศักดิ์ HOY Apisak FanSpace รวดเดียวจบ จากก่อนสุโขทัยมาจนถึงสงครามเสียกรุงครั้งที่หนึ่ง ...ฟังไม่ผิด รวดเดียวจริง ๆ ผมมีธุระอันจำเป็นต้องไปในต่างจังหวัด จึงเปิดไปขับรถไป ไปกลับครบเลยครับ รู้สึกจะสิบห้าตอน ฟังสนุก มันมาก ไม่เบื่อเลย

คุณหอยได้ทำลิ้งค์ซื้อหนังสืออ้างอิงเอาไว้ ผมก็สอยซะ จากสำนักพิมพ์ศรีปัญญา เล่มนี้ปกทำใหม่ ราคาลดลงเหลือ 500 บาท ค่าจัดส่ง 50 บาท ส่งมาในซีลกันกระแทกอย่างดี ถึงหน้าบ้านเลยทีเดียว

พลิกดูคร่าว ๆ หนาประมาณ 700 หน้า หนากว่าเซเปี้ยนส์เสียอีก น่าจะให้ความสำราญและรื่นเริงบันเทิงใจได้อย่างดี ในช่วงที่ต้องตรวจโควิดกระหน่ำแบบนี้

เสียดายห้องสมุด TK Square Korat ปิดชั่วคราว ไม่อย่างนั้น มีได้ค้นได้คว้า หาตำนานพงศาวดารมาสอดแทรกเรื่องทางการแพทย์เป็นแม่นมั่น ทั้งโรคห่า โรคไข้ทรพิษ  การลอบวางยาพิษของแม่หยัวศรีสุดาจันทน์ 

ช่วงนี้จะอ่านหนังสือเยอะหน่อยครับ เครียด ไม่ได้ดื่มกาแฟ ...

เพื่อความเข้าใจเรื่อง แอนติบอดี ตอนที่หนึ่ง : ภูมิที่อาจไม่คุ้มกัน

เพื่อความเข้าใจเรื่อง แอนติบอดี ตอนที่หนึ่ง : ภูมิที่อาจไม่คุ้มกัน
แอนติบอดีเป็นโปรตีนชนิดหนึ่ง สร้างมาจากเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟซัยท์ ทำหน้าที่หลายอย่าง แต่หน้าที่หลักที่สำคัญคือช่วยทำลายสิ่งแปลกปลอม และแอนติบอดีนี้มักจะออกแบบมาเฉพาะกับสิ่งแปลกปลอม เพราะเมื่อสิ่งแปลกปลอมเข้ามาร่างกายจะทำการเรียนรู้ สร้างระบบป้องกันเฉพาะสิ่งและจดจำ เรียกว่าถ้าแหยมเข้ามาครั้งต่อไปล่ะก็ เจอหนัก !!
เซลล์ที่สร้างแอนติบอดี จะต้องผ่านการอบรมพื้นฐาน ว่าร่างกายเราเป็นแบบใด อะไรที่เป้นป้ายชื่อบ่งบอกว่า นี่เซลล์ร่างกายตัวเองนะ อย่าสร้างแอนติบอดีมาทำลาย หากเซลล์นั้นไม่เข้าเรียน สอบตก ก็จะเกิดการเรียนรู้ที่ผิดพลาด ไปมองว่าร่างกายตัวเองคือศัตรู ก็จะเกิดการรัฐประหา....ไม่ใช่ล่ะ จะเกิดการทำลายเซลล์ตัวเอง ที่เรียกว่า autoimmune disease เช่น ข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคเอสแอลอี
แต่เราห้ามไปเหมาว่า การตรวจเจอแอนติบอดี หมายถึง ฉันมีภูมิคุ้มกัน ฉันแข็งแกร่ง เพราะแอนติบอดีหลายชนิดก็ไม่ได้มีไว้เพื่อทำลายเชื้อโรค ไม่สามารถปกปักรักษาเราได้ แล้วมีไว้ทำมะนาวอะไร...
แอนติบอดีบางอย่างเป็นเพียง marker ให้รู้ว่าร่างกายเราเคยพบพานสิ่งแปลกปลอมนี้มาแล้วนะ ไม่ได้หมายความว่าจะปกป้อง เช่น การตรวจโรคไวรัสตับอักเสบซี เราจะตรวจหา anti HCV แอนติบอดีต่อเชื้อ หากพบว่าเป็นบวก ห้ามไปดีใจว่า เฮ...ฉันมีภูมิคุ้มกันต่อโรค เพราะมันไม่ใช่ protective antibody มันแสดงให้เห็นว่าร่างกายคุณเคยสัมผัสต่อเชื้อ จะเป็นโรคหรือมีเชื้อมากแค่ไหน กรุณาไปตรวจนับปริมาณไวรัสและตัดชิ้นเนื้อหรือทำ Fibroscan ดูด้วย
อีกกรณีคือ การตรวจหา แอนติบอดีต่อการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี เกิดไปพบแอนติบอดี anti HIV ผลเป็นบวก ก็อย่าไปตีความว่าคุณรบชนะเอชไอวีมา มันหมายถึงคุณเคยสัมผัสเชื้อมาแล้ว แต่จะป่วยหรือไม่ ติดเชื้อเพียงใด ก็ไปตรวจด้วยวิธีอื่น
แต่แอนติบอดีบางอย่างก็เป็นแอนติบอดีที่ป้องกัน เช่น แอนติบอดีต่อเชื้อไวรัสตับอักเสบบี อันนี้หากพบ เราก็อุ่นใจในระดับหนึ่งว่าเราพอมีภูมิ หรือวัคซีนที่จะฉีดเพื่อปกป้องร่างกายก็ต้องใช้วัคซีนที่สามารถไปกระตุ้นแอนติบอดีที่จะไปทำลายเชื้อ (neutralizing antibody) เช่นไข้หวัดใหญ่เป็นต้น
สรุปว่าการตรวจพบแอนติบอดี ต้องรู้จักชนิดแอนติบอดี ต้องรู้สมบัติเฉพาะของมันด้วย ว่าหากตรวจพบจะหมายความว่าอะไร และถ้าไม่พบจะแปลความว่าอะไร

29 มีนาคม 2563

การแปลผลการตรวจพิเศษทางการแพทย์

ไม่ว่าวิธีการตรวจอะไร จะทันสมัยจะรวดเร็วแค่ไหน
ไม่ว่าจะแม่นยำ จะไวหรือจำเพาะมากเพียงใด
สิ่งสำคัญในการแปลผลคือ สติ
สติ สามารถ สร้างได้จาก การเรียนรู้เรื่อง positive predictive value, negative predictive value และ likelihood ratio
ห้ามใช้ผลแล็บ ผลเอ็กซเรย์ หรือ ผลการตรวจพิเศษใด ๆ โดยไม่ผ่านความสัมพันธ์ทางคลินิกเด็ดขาด
นี่คือ วิชาแพทย์101 เลย ต้องใช้ทุกวัน ต้องจำให้ได้ แปลผลผิด อาจทำให้ชีวิตคนไข้ ผิดไปเลย

how to clear กองดอง

how to clear กองดอง ฉบับลุงหมอ

ผมอยากจะบอกว่า นี่เป็นเวลาที่เหมาะที่สุดแล้วกับการเคลียร์ "กองดอง" ที่บ้าน  หนังสือที่ซื้อมาเพราะตั้งใจแต่ยังไม่มีเวลาเสียที หนังสือที่ซื้อตามกระแส หนังสือที่อยากลองอ่าน

ผมเองก็เคยเป็น แบบว่าเอากองดองมาทำเป็นเตียงนอนได้เลย แต่ตอนนี้ไม่เป็นแล้ว ผมมาขอเสมอวิธีจัดการกองดอง ตอนนี้เหมาะ เพราะออกไปซื้อหนังสือใหม่ไม่ได้ จะซื้อออนไลน์ก็ไม่สะใจเท่าไปเดินเลือก (กระนั้นวันนี้ก็เลขสี่หลักไปแล้ว)​ ที่เที่ยวใด ๆ ก็ปิด  มา เรามาลุยกัน

1. เริ่มด้วยเอาหนังสือที่ยังไม่อ่านทั้งหมดมารวมกัน  มากองไว้ตรงหน้าให้หมด ทุกเล่ม แล้วมาจัดหมวดหมู่

2. จัดสามอย่างพอ  กองแรก หนังสือนิยาย การ์ตูน เรื่องสั้น เบาสมอง   ต่อมากองที่สอง คือหนังสือ non fiction สารคดี เรื่องเล่า อัตชีวประวัติ ความรู้ การพัฒนาตัว  ส่วนกองสุดท้ายคือ หนังสือที่ต้องอ่านเพื่อการงานอาชีพ

3. ถ้าคุณมีกองเดียว แสดงว่าหนังสือไม่มาก หรือสนใจหนึ่งด้าน อันนี้ไม่ยาก ข้ามไปข้อห้าเลย

4. หยิบมาครั้งละสองเล่ม เลือกหนึ่งเล่มจากหนึ่งกอง อย่ามากกว่านี้ ที่ต้องหยิบสองกองเพราะจะได้มาสลับอารมณ์กัน ไม่เบื่อมากไป เดี๋ยวจะอ่านไม่จบ  เรียงลำดับความสปาร์คจอยจากมากไปน้อยในแต่ละกอง

5. เลือกเล่มที่คุณปิ๊งที่สุด อยากอ่านที่สุด  ตั้งใจที่สุดมาก่อน ภาษาคมมาริเรียกว่า "sparkjoy" มากที่สุด สำคัญนะ เล่มแรกต้องเป็นเล่มที่ทรงพลังที่สุด ดึงให้คุณอยู่กับมันมากที่สุด  ถ้าเบื่อให้สลับเล่มทันที เดี๋ยวค่อยมาต่อใหม่

6. จัดเวลาเลยครับ ล็อกเวลาเอาไว้ช่วงหนึ่ง อันนี้แล้วแต่คน จะมากจะน้อย หรือหลายครั้งก็ได้  จะเลือกเวลาตามนาฬิกา หรือเวลาตามการกระทำ เช่น หลังอาบน้ำ ก่อนนอน หลังกินข้าว ตื่นเช้า หลังซั่ม  จะเวลาไหนก็ได้ เลือกมา เอาแบบที่จะมีใครมาสะกิดมากวนตัวน้อยที่สุด

7. จัดสถานที่ที่เราอยากอ่าน จะไฟวอร์มไวท์ จะโซฟานุ่ม จะเปิดแอร์ซุกใต้ผ้าห่ม จะเคี้ยวมันฝรั่ง เปิดเพลงคลอ จุดเทียนอโรมา เอาเลย จะได้ดึงดูดใจ

8. อ่านให้นานที่สุด ถึงให้เอาเล่มที่เรากระสันต์ที่สุดมาก่อน ต่อเนื่องเพื่อสร้างความสำเร็จ พยายามเอาเล่มนี้ให้จบก่อน  เล่มที่หยิบมาเผื่อสลับอารมณ์จบทีหลังได้  ถ้าอ่านแล้วไม่สปาร์คจอยก็เลิก เอาไปต่อท้ายกอง ไปเลือกเล่มใหม่มา

9. วางโทรศัพท์ หรือปิดเน็ตเสีย ผมจะบอกว่า notification.คือตัวทำลายสมาธิที่รุนแรงมาก ตั้งใจอ่านให้จบ จะจบเล่ม จะครบเวลา แล้วค่อยไปเปิดมือถือ 

10. ท่องไว้...ฉันจะทำลายกองดอง ฉันจะทำลายกองดอง ว่างเมื่อไร ไปอ่าน หยิบอ่าน จะซื้อใหม่ไม่ว่า แต่อย่ามารวมในกอง

มีเวลาอีกกว่าสองสัปดาห์ ผมว่าขี้หมูขี้หมาก็ห้าหกเล่ม ใครโรคจิต​อย่างผม (ฮื่อ แฮ่ ฟืดฟาด ๆ) อาจกดไปเป็นสิบ รับรอง กองดองมีหนาว

"อ่านหนังสือรับรองไม่ติดเชื้อ
ถ้าอยากหายเบื่อก็มาสะกิดฉัน"

28 มีนาคม 2563

โปรตีนแทนไข่ ช่วงที่ไข่ราคาแพง

เรื่องร้อนรุ่มกลุ่มจิตโควิดเชื้อ
ตายเป็นเบือชาวบ้านร้านขายของ
ซื้ออะไรก็ไม่ได้แย่งจับจอง
จับจดจ้องตาเป็นมันแย่งกันกิน
ราคาไข่พุ่งสุดฉุดไม่อยู่
ทั้งยาจกถึงคุณหนูรวยทรัพย์สิน
หรือพี่ยามเจ๊กขายขวดยันพี่วิน
ทั่วทุกถิ่นต้องสยองมองราคา
แล้วจะอยู่อย่างไรดีพี่น้อง
ก็คงต้องสลัดไข่ไม่ค้นหา
มองดูแหล่งโปรตีนอื่นย่อมราคา
พร้อมจับจ่ายได้มาไม่ยากเย็น
ลองเนื้อสัตว์ลองเนื้อสดกันดีไหม
เนื้ออะไรแล้วแต่ชอบหลากความเห็น
จะต้มตุ๋นผัดทอดลูกชิ้นเอ็น
สามารถเป็นทางเลือกดีมีทั่วแดน
หรือจะจัดนัทบีนกินพวกถั่ว
อร่อยชัวร์แปรรูปมากมายเหลือแสน
จัดว่าเป็นโปรตีนดีมาทดแทน
พลังงานแน่นเต็มจัดอัดได้นาน
อีกทางได้ใครรักจัดให้สม
ชวนดื่มนมไม่ว่าจืดหรือรสหวาน
นมถั่วเหลืองนมวัวนมไม่ยาน
หรือจะทานชีสขนมกลมกล่อมดี
มีอาหารทานแลกหลากชนิด
แค่เราคิดมีสติไม่ผลามผลี
ไม่ตระหนกไม่กักตุนใจอารีย์
แบ่งเธอบ้างฉันก็มีต้องช่วยกัน
ร่วมรับภัยพร้อมใจสู้เราจะผ่าน
ว่าพวกเราสมัครสมานไม่เปลี่ยนผัน
จะภัยนอกจะภัยในใครโรมรัน
ขอไทยเราไปด้วยกันไปได้ไกล
อย่าลืมนะครับ
"ไข่ไก่แพงก็ช่างมัน แต่ไข่ฉันมันน่ากิน"

27 มีนาคม 2563

หน้ากากอนามัย ความสบายใจที่สุดประมาท

หน้ากากอนามัยไม่ใช่พระเครื่อง !!!

ถ้าคุณจำได้ช่วงแรก ๆ ของการระบาดโรคโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้ ผู้คนตามหาหน้ากาก ราคาหน้ากากสูงตามอุปสงค์ที่สูงลิบและอุปทานที่น้อยมาก (เศรษฐศาสตร์ก็พอรู้งู ๆ ปลา ๆ) หลายคนรู้สึกว่าถ้าไม่มีหน้ากากอนามัยแล้วคงไม่รอดเป็นแน่แท้

แต่เดี๋ยวก่อน...

หน้ากากอนามัยไม่ว่าจะเป็นหน้ากากผ้าหรือหน้ากากที่ใช้ในงานศัลยกรรมนั้น วัตถุประสงค์หลักคือ ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อจากตัวเรา ออกสู่คนรอบข้าง ส่วนที่ว่าจะสามารถป้องกันเชื้อจากข้างนอกเข้ามาสู่ตัวเรานั้น การป้องกันส่วนนี้ไม่มากเท่าไรนะครับ

แต่เอาล่ะ...

เมื่อสถานการณ์การระบาดมันมากขึ้น เข้าสุ่ระยะ 2 ปลาย ๆ นี้ การใส่หน้ากากอนามัยน่าจะช่วยลดโอกาสที่ผู้ติดเชื้อไม่มีอาการหรือผู้ติดเชื้อในระยะแรก จะแพร่ออกสู่ภายนอกได้ หลายคนก็ใส่ มันก็เป็นสิ่งที่ดี

และที่สำคัญ...

คุณใส่หน้ากากแล้ว ห้ามรู้สึกว่ามันคือพระเครื่อง มันจะกันผีได้ ไวรัสไม่ใช่ผีนะครับ มันไม่กลัวพระเครื่อง มันไม่กลัวหน้ากากอนามัยใด ๆ ทั้งสิ้น หมายความว่า ถึงแม้เราใส่หน้ากากอะไรก็ตาม มาตรการเพื่อป้องกันเชื้ออื่นๆ เราก็ต้องทำไปพร้อม ๆ กัน คุณใส่หน้ากากแล้วอาจจะรู้สึกอุ่นใจ คนรอบข้างอุ่นใจ แต่มันก็ยังไม่ใช่หนทางที่พอ

หลายครั้งที่เห็นใส่หน้ากาก...แต่ไม่ยอมล้างมือก่อนกินอาหาร
หลายครั้งที่เห็นใส่หน้ากาก...แต่ดึงออกเวลาไอจาม
หลายครั้งที่เห็นใส่หน้ากาก...แต่จับถอดผิดวิธี
หลายครั้งที่เห็นใส่หน้ากาก...แล้วดื่มเหล้าสูบบุหรี่

อย่าลืมว่าใส่หน้ากากเป็นเพียงมาตรการอันหนึ่งครับ ทำอย่างเเดียวไม่สำเร็จ ต้องทำหลายอย่างร่วมกัน โดยเฉพาะการล้างไม้ล้างมือ จะใช้เจลแอลกอฮอล์ ล้างสบู่ อะไรก็ได้ต้องทำอย่างสม่ำเสมอครับ อย่าจับหน้าตาถ้ามือไม่สะอาด อย่าไปจับหน้าคนอื่น แฟนเขาจะด่าเอา

อย่าลืม..

"ใส่หน้ากากแต่ไม่มีวินัย ก็เหมือนใส่ผ้าอนามัย แต่กลับด้านเทปกาว"


 

มุมมองของลุงหมอ เรื่องไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ตอนที่สี่ : ขอเสนอบ้าง

ขอเสนอวิธีการเพื่ออยู่รอด ไม่ขอเรียกวิธีสู้ วิธีกัน เพราะเรากันมันไม่ได้หรอก

ด้วยความที่โรคโควิดมันระบาดได้ง่าย อาการไม่รุนแรง ดังนั้นผู้ที่ติดเชื้อส่วนมากจะยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปรกติ โอกาสระบาดในวงกว้างจะสูงมาก และการป้อองกันทำได้ยากยิ่ง เสมือนโรคหวัด เสมือนโรคไข้หวัดใหญ่ แล้วเราจะมีมาตรการอย่างไร

การดูแลสุขอนามัยพื้นฐานจะต้องดีเลิศก่อนเลย กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ถ้ายังไม่เข้าใจกลับไปอ่านตอนที่สามนะครับ ต้องทำประจำ สม่ำเสมอ ตลอดเวลา อย่าไปคิดว่าจะทำแค่ช่วงระบาด หรือจะทำแค่นอกบ้าน พอเข้ามาในบ้านก็จะไม่ทำ อันนี้ไม่ได้ สิ่งนี้ต้องทำตลอด และต้องทำทุกระดับ ปลูกฝังให้เป็นนิสัยเลย

เรื่องอุปกรณ์การป้องกัน การป้องกันมีหลายระดับตามความจำเป็น หากไม่จำเป็นแล้วทำเกินไป นอกจากจะไม่ได้ประโยชน์แล้ว ยังสิ้นเปลืองแถมเมื่อมีเวลาจำเป็น ทรัพยากรนั้นจะหมดไป ยกตัวอย่างคือ หน้ากากอนามัยและหน้ากาก N95 ที่ควรใช้กับผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทยื แต่พอกลัวและเอามาใช้อย่างพร่ำเพรื่อ สิ่งที่เกิดคือ หมด เวลาจำเป็นไม่มีใช้ และไม่ได้ป้องกันการระบาดมากขึ้นแต่อย่างใด เพราะใช้ไม่เหมาะสม

การทำ social distancing หรือการเว้นระยะห่าง หลีกเลี่ยงการชุมนุม ก็นับว่าใช้ได้เช่นกัน แต่หากทุกคนมีอนามัยที่ดี การเว้นระยะจะส่งผลน้อยลง ถ้าคนไข้ใส่หน้ากาก ล้างมือ คนทั่วไปมีอนามัยที่ดี ล้างมือ การทำการเว้นระยะจะไม่มีผล   ยกเว้นการใช้ในระยะแรก ๆ เพื่อให้คนได้ตระหนักและบอกให้รู้ถึงสถานการณ์ หลังจากนั้นให้ปฏิบัติแบบที่ถูกต้อง

วัคซีน ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีน และไม่แน่ใจว่าการคิดค้นวัคซีนในช่วงเวลาสั้น ๆ นี้จะทำได้ไหม และวัคซีนเพื่อโรคที่ระบาดเป็นครั้ง ๆ ไม่รุนแรงนี้จะคุ้มค่าหรือไม่  หลักการสำคัญคือ อาจช่วยเป็น cocooning effect ได้มากเพื่อป้องกันคนอื่น ไม่ให้ติดเชื้อ

ส่วนการควบคุมอื่น ๆ ต้องใช้มาตรการทางกฎหมายและสังคมมาเพิ่มเติม การควบคุมโรคต้องมีทั้งมาตรการระดับบุคคล ระดับภาครัฐ ระดับสังคมและระดับโลกออกมาให้สอดคล้องกันจึงจะได้ผล

การตรวจสอบและคัดกรองผู้เสี่ยง อันนี้ต้องอาศัยกฎหมายเพราะเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และต้องอาศัยงบประมาณและคนจำนวนมากเช่นกัน

การจัดศูนย์สั่งการ เพื่อให้เป็นคำสั่งเดียว เด็ดขาด เร็ว เชื่อถือได้ไม่สับสน ถือเป็นสิ่งสำคัญ และควรรายงานสถานการณ์ด้วยข้อมูลจริง เชื่อถือได้ ควบคุมการข่าวไม่ให้มีข่าวลือหรือข่าวปลอม การควบคุมข้อมูลข่าวสารจะทำให้ลดความหวาดกลัวและเพิ่มความสามารถการวางแผนของประชากร

จัดสรรทรัพยากรให้เพียงพอและควบคุมการใช้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การส่งตรวจทดสอบโรคที่ต้องใช้ทรัพยากรจำกัด อันนี้หากตรวจโดยไม่จำเป็นจะสิ้นเปลือง ภาครัฐต้องจัดบริการให้ทั่วถึง เป็นธรรมและควบคุม หมายถึงใช้ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

ในกรณีการระบาดเกิดเป้นวงกว้างหรือการระบาดเริ่มจำกัดวงแคบลง จะต้องมีการปรับเปลี่ยนมาตรการตามสถานการณ์ ตามทรัพยากรที่หลงเหลือ และต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่น ไม่ว่าจะเป็นภาวะจิตใจ คุณภาพชีวิต เศรษฐกิจและสังคม ไม่ควรใช้แค่ความรู้ทางการแพทยฺและสถิติเท่านั้นมาควบคุม ... คน

มุมมองของลุงหมอ เรื่องไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ตอนที่สาม : ความป้องกันและควบคุมของโรค

เริ่องของการป้องกันโรค จะขอกล่าวออกเป็นสามส่วน คือ ธรรมชาติการระบาด การป้องกันโรคไม่ให้เข้าตัว และการป้องกันโรคไม่ให้ออกจากตัว

ธรรมชาติการระบาด
โรคนี้เป็นการติดเชื้อไวรัส ธรรมชาติของไวรัสจะไม่สามารถอยู้ได้ตามลำพังต้องอาศัยเซลล์ที่อยู่ ที่เรียกว่าเซลล์โฮสต์ สำหรับโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้ ฌวลล์โฮสต์มีมากมายตามตัวรับชื่อว่า ACE2 แต่ว่าเซลลืที่สำคัญคือเซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจ เนื่องจากมันสามารถแพร่กระจายออกนอกร่างกายได้

การแพร่ออกไปมาจากการไอและจามเป็นหลัก การพูดการหัวเราะจะไม่มีสารคัดหลั่งละอองฝอยขนาดใหญ่ออกมาได้มาก ในละอองฝอยที่ออกมาจะมีเศษของเซลล์ออกมาด้วย ละอองฝอยนี้จะไปตกอยู่ตามที่ต่าง ๆ และหากเราเอามือไปสัมผัสและจับอาหารเข้าปาก ป้ายหูตา ป้ายจมูก ก็จะมีโอกาสติดเชื้อนั่นเอง

ในธรรมชาติไวรัสจะอยู่ได้ไม่นานนัก 4-6 ชั่วโมง และปริมาณไวรัสจะมากในละอองฝอยขนาดใหญ่ที่จะกระจายไม่ไกล การสวมหน้ากากอนามัยในผู้ที่ติดเชื้อจึงมีความสำคัญมาก เพื่อลดการแพร่กระจาย 

การป้องกันโรคเข้าตัว
การป้องกันโรคเข้าตัว เป็นวิธีการป้องกันพื้นฐานสำหรับประชาชนทั่วไป ทั้งโรคทีติดต่อด้วยละอองฝอยทางเดินหายใจเช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ โรคมือเท้าปาก หรือเชื้อระบบทางเดินอาหารเช่นไวรัสโนโร เชื้อไวรัสตับอักเสบเอ เชื้อไข้รากสาด 

วิธีที่สำคัญที่สุดคือ อนามัยส่วนบุคคลโดยการล้างมือ การล้างมือบ่อย ๆ หลังจับสิ่งสกปรกหรือต้องสงสัย ก่อนการกินอาหารหลังกินอาหาร ก่อนและหลังเข้าส้วม ถือเป็นมาตรการที่สำคัญที่สุด อันดับแรกคือควรล้างมือด้วยสบู่ ล้างให้ทั่วอย่างน้อย 15-20 วินาที หากทำไม่ได้ให้ใช้แอลกอฮอล์เจลที่มีความเข้มข้นอย่างน้อย 70% เพื่อถูมือให้ทั่วในระยะเวลาเดียวกัน

หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ที่ป่วย หรือหลีกเลี่ยงการเข้าแดนระบาดโรค เป็นอีกมาตรการสำคัญ หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรสวมหน้ากากออนามัย สวมถุงมือที่ใช้แล้วทิ้งและล้างมือบ่อย ๆ 

รักษาความสะอาดร่างกาย ทำตามสุขวินัย กินอาหารสะอาดปรุงสุกใหม่ ใช้ช้อนกลาง พักผ่อนและออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทำให้ร่างกกายแข็งแรงพอและต้านการติดเชื้อได้ดี 

การป้องกันโรคออกจากตัว
กรณีนี้คือ กรณีที่ร่างกายติดเชื้อแล้ว ไม่ว่าจะก่อโรคหรือไม่ก่อโรคก็ตามที ผู้ที่ติดเชื้อควรรับผิดชอบเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อจากตัวเองออกสู่สาธารณะ ด้วยมาตรการดังนี้
1. หลีกเลี่ยงการเข้าที่ชุมชน อาจต้องหยุดงาน งดไปเที่ยวสังสรรค์ หากเลี่ยงไม่ได้ต้องป้องกัน
2. สวมหน้ากากอนามัย เวลาไอจาม ละอองฝอยจะได้ไม่แพร่กระจายออกมามากเกินไป
3. ล้างมือบ่อยมาก เพราะมือของเราอาจจะไปป้ายสิ่งต่าง ๆ นำมาเชื้อไปสู่ผู้อื่นได้
4. สารคัดหลั่ง น้ำมูกน้ำลาย ควรใส่กระดาษชำระ นำใส่ภาชนะที่มีฝาปิดและส่งในขยะติดเชื้อ หรือทำการเผาทำลาย 

ต่อมาเราจะมาเข้าใจกันอีกเล็กน้อยกับการแพร่กระจายเชื้อ

ผู้ที่ไม่มีอาการ แม้ติดเชื้อแล้วถือว่าแพ่กระจายเชื้อได้ก็จริง แต่ด้วยสัดส่วนที่น้อยมากและโอกาสไม่สูง การป้องกันก็ป้องกันมาตรฐาน

ผู้ที่ไม่มีอาการและไม่ติดเชื้อ แต่เสี่ยงติด อันนี้ก็ดูแลตัวเองและป้องกันตัวตามมาตรฐาน

คนส่วนใหญ่ในประเทศยังเป็นสองกลุ่มนี้ ดังนั้นจึงยังไม่ต้องตระหนกแต่อย่างใด

สำหรับคนที่ป่วย โอกาสแพร่เชื้อจะมากขึ้น ต้องป้องกันคนอื่นตลอดเวลา และหากป่วยหนัก หมายถึงร่างกายไม่สามารถกำจัดเชื้อได้ โอกาสแพร่กระจายจะสูงสุด จึงเป็นข้อกำหนดว่า ผู้ที่ใกล้ชิดคนไข้ คือกลุ่มเสี่ยง นั่นเองครับ

เมื่อเราเข้าในเรื่องการป้องกันโรคในรายบุคคล เรามาดูการป้องกันโรคในภาพรวมที่เรียกว่า การควบคุมโรคบ้าง

ยา chloroquine กับ COVID-19

ย้ำอีกครั้งว่า ไม่ควรใช้ยา chloroquine ด้วยตัวเอง

หลายท่านที่ตื่นตกใจกับโรคโควิด ขอย้ำว่าอย่าไปซื้อยา "คลอโรควิน" หรือ "ไฮดรอกซี่คลอโรควิน มาเก็บไว้เพื่อใช้เองนะครับ

ยาทั้งสองชนิดนี้ มีสมบัติยับยั้งไม่ให้ไวรัสเข้าเซลล์ และไม่ให้ไปสร้างจำนวนในเซลล์ (ใครสนใจให้ไปอ่านเรื่อง PICALM และ clathine-dependent endocytosis) เจ้าไวรัสโคโรนานี้ต้องเข้าเซลล์ และคลอโรควินไปยับยั้ง (แต่ไม่ 100% นะ) การศึกษาก่อนหน้านี้ทำในไวรัสโคโรนาสายพันธุ์อื่น และเกือบทั้งหมดเป้นการศึกษาในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง

สำหรับโควิดนั้น ตอนนี้กำลังทำการศึกษาอยู่ในประเทศจีน ข้อมูลขณะนี้เป็นเพียงรายงานผู้ป่วยและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ทางองค์การอาหารและยาสหรัฐระบุว่าเป็น "off label use" คือใช้นอกข้อบ่งชี้ (แต่ทำไงได้ มันยังไม่มียาที่ข้อมูลหนักแน่นกว่านี้)

การใช้ยาจึงต้องอยู่ภายใต้การควบคุมเคร่งครัด เพราะอาจเกิดการแพ้ยารุนแรงจนผิวลอก ตาบอดได้  อาจมีผลเสียต่อสายตาและการมองเห็นได้  ทำให้คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติได้บ่อย 

นอกเหนือจากนี้ องค์การอาหารและยาสหรัฐ ยังประกาศเตือนว่า คลอโรควิน ฟอสเฟต (chloroquine phosphate) ที่ใช้ในการฆ่าปรสิตสำหรับเลี้ยงปลา ที่นิยมในหมู่ผู้เลี้ยงปลา ไม่สามารถนำมาใช้ได้และอันตรายมาก คลอโรควินที่ใช้ในคนจะเป็นคลอโรควินที่จับกับเกลือซัลเฟตที่เรียกว่า คลอโรควินซัลเฟต (chlorquine sulphate)  มันคนละตัวกันนะครับ

ดังนั้น ห้ามไปซื้อยามาเก็บมาใช้เองเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นคลอโรควิน หรือ ยาต้านไวรัสใดก็ตาม

โรคโควิดนี้ ส่วนมากอาการไม่รุนแรง ไม่ต้องใช้ยาเฉพาะโรค เพียงรักษาตามอาการ ประเด็นที่สำคัญกว่าคือ การป้องกันโรคครับ ทำตามที่กรมควบคุมโรคและกระทรวงสาธารณสุขแนะนำนะครับ

ด้วยความรักและห่วงใย

 แอดมินเพจ ผู้กำลังเข้าสู่ระยะลงแดง จากการขาดกาแฟ

25 มีนาคม 2563

ปัจจัยที่จะบ่งชี้โรคโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ แบบรุนแรงและตาย

อ่านไป สรุปไป เล่าไป แบบง่าย ๆ ของเรา

ปัจจัยที่จะบ่งชี้โรคโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ แบบรุนแรงและตาย !! ลงตีพิมพ์ในวารสาร the Lancet เมื่อ 9 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา

https://www.thelancet.com/journals/lancet/article/PIIS0140-6736(20)30566-3/fulltext

เป็นการรวบรวมข้อมูลย้อนหลังในประเทศจีน ที่โรงพยาบาลสองแห่งในจีน ที่ออกแบบมาเพื่อรับมือโรคนี้โดยเฉพาะ นำข้อมูลมาวิเคราะห์ว่าปัจจัยใดที่จะเป็นตัวบ่งชี้ว่าโรคโควิดที่เกิดขึ้นในคนใด ที่อาจจะรุนแรงหรือถึงแก่ชีวิต เราอ่านกันไปเรื่อย ๆ นะครับ

1. การศึกษานี้เป็นการศึกษาแบบเก็บข้อมูลย้อนหลัง ดังนั้น ข้อมูลที่ได้คือข้อมูลที่บันทึก อาจจะมีปัจจัยอื่นที่มีผลมากกว่านี้ก็ได้ แต่ไม่ได้บันทึกไม่ได้ออกแบบ จึงไม่มีคำตอบมากกว่านี้

2. ความเป็นจริงชุดนี้ ใช้ได้กับคนที่ป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาล ทั้งรุนแรงหรือวิกฤต ไม่สามมรถใช้กับพวกที่อาการน้อยหรือไม่มีอาการได้ และต้องยืนยันว่าติดเชื้อจริงจากการตรวจ PCR เท่านั้น ..ทำให้ตัวเลขผู้ป่วยที่รวบรวมมา มีแค่ 191 คน แต่จุดแข็งคือ ดูคนไข้ตั้งแต่ต้นจนจบเลยทุกราย

3. ตรงนี้น่าสนใจ ในบรรดาคนที่ป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาลนั้น เขาจะให้ออกเมื่อไม่มีไข้ อาการระบบทางเดินหายใจดีขึ้น และตรวจ PCR จากการป้ายเชื้อในลำคอแล้วผลเป็นลบอย่างน้อย 24 ชั่วโมง นั่นคือเขาป้ายเชื้อทุกคนไปตรวจวันเว้นวัน เพื่อจะหาระยะที่จะปลอดภัยจริง ๆ หลังติดเชื้อ ... ย้ำอีกรอบ นี่คือคนติดเชื้อนะครับ ไม่ใช้คนทั่วไป

4. เขาเก็บข้อมูลหมด แต่บางอันก็ไม่สัมพันธ์กับความรุนแรงเพราะกว่าผลจะออก ก็ไม่ส่งผลต่อการคิดความรุนแรงแล้ว เช่นพวกสารอักเสบทั้งหลาย interleukin ต่าง ๆ เราจึงมาสนใจปัจจัยโดยรวม มากกว่าปัจจัยเดี่ยว ๆ เพราะบางปัจจัยมันเป็นการวิเคราะห์ย้อนหลังที่แทบไม่ส่งผลอะไรแล้ว

5. พบว่าจาก 191 รายที่นอนโรงพยาบาลและมีข้อมูลครบ ... ไม่ใช่ผู้ติดเชื้อทั้งหมด และไม่ใช่ผู้เสี่ยงนะ ... เสียชีวิต 54 ราย อยู่รอด 137 ราย อาการที่พบบ่อยมากคือ ไข้และไอ ระยะเวลาในการอยู่รักษาโดยเฉลี่ยที่ 22 วัน ระยะเวลาจากติดเชื้อไปสู่ไม่พบเชื้อเฉลี่ยคือ 20 วัน จะเห็นว่าในกลุ่มที่รอดชีวิต จะถูกกักตัวไว้จนกว่าไม่น่าจะแพร่เชื้อจึงส่งกลับบ้าน ไม่ว่าจะหายแล้วหรือไม่ก็ตาม

6. คราวนี้มาดูกลุ่มคนที่เสียชีวิตบ้าง สิ่งที่พบว่ากลุ่มคนที่เสียชีวิต มีความแตกต่างจากกลุ่มที่รอดชีวิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ขอกล่าวจาก multivariate regression analysis นะครับ เพราะ univariate เป็นเพียงรายละเอียดที่มาอธิบายเท่านั้น) คือ

7. อายุ คนที่เสียชีวิตอายุเฉลี่ยคือ 69 ปี ในขณะที่กลุ่มรอดชีวิต อายุเฉลี่ยคือ 52 ปี ผลอันนี้ตรงกับผลที่ออกมาทั่วโลก อายุที่มากเป็นปัจจัยของการเสียชีวิตจริง แต่ว่าไม่ใช่แค่โรคโควิดนะครับ เป็นแทบทุกโรค อย่าลืมตัวเลขคือ 70 ปีนะครับ สูงทีเดียว

8. โรคร่วม หมายถึงโรคเดิมที่เป็นอยู่แล้ว เขาไม่ได้คิดแยกว่าควบคุมได้ดีหรือไม่ แค่บอกว่ามีโรคเดิมอยู่อันนี้ก็เสี่ยง กลุ่มคนที่เสียชีวิตมีโรคเดิม 67% ส่วนกลุ่มรอดชีวิตมีโรคเดิมแค่ 40% ...จะเห็นว่า ก็ไม่ได้แย่มากนักนะครับ พอรับมือได้ แต่ถ้าคุณเป็นคนที่มีโรคประจำตัว คุณต้องหูไวตาไวมากขึ้น

9. โรคประจำตัวที่ส่งผลชัด ๆ เลยมีสี่โรค คือ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจตีบและโรคถุงลมโป่งพอง มองภาพรวม กลุ่มที่เสียชีวิตจะมีโรคพวกนี้มากกว่ากลุ่มรอดชีวิตประมาณ 20% แต่อย่าลืมว่า มันก็พอรับมือได้ครับตามข้อ 2

10. ปัจจัยที่สามคือ ความรุนแรงของโรค ในกลุ่มที่เสียชีวิตนั้น โรคจะลุกลามถึงขั้นติดเชื้อในกระแสเลือดถึง 100% และมีระบบอวัยวะล้มเหลวถึง 90% เรียกว่าหากรุนแรงหรือวิกฤตแล้วโอกาสเสียชีวิตสูง แต่มันก็ไม่ได้เป็นจริงแค่ โควิดนะครับ จะติดเชื้ออะไร หากเข้าสู่ sepsis multiorgan dysfunction ก็แย่แบบนี้หมด ในมุมมองผม ปัจจัยนี้เลยไม่ได้กำหนดหรือบ่งชี้อะไรมากนัก ไม่ว่าโรคอะไรก็จริงหมด

11. ระดับคะแนนการประเมินอวัยวะระบบต่าง ๆ ที่มีผลกระทบในภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด และเป็นระบบคะแนนที่ใช้วินิจฉัย sepsis คือ SOFA เราพบว่าผู้ที่เสียชีวิตมีคะแนน SOFA เฉลี่ย ที่ 4.5 ส่วนผู้รอดชีวิตอยู่ที่ หนึ่งคะแนน อันนี้พอมีความสำคัญ ว่าหากระดับคะแนนไม่สูง โรคคุณไม่น่าจะรุนแรง โอกาสเสียชีวิตต่ำ

12. อีกตัวที่คิดไม่ถึง ว่าจะมาบ่งชี้อัตราการเสียชีวิตได้ คือ d-dimer บ่งชี้ว่ามีการอักเสบมากในร่างกายจนระบบการแข็งตัวเลือดเริ่มเรรวน พบว่ากลุ่มผู้เสียชีวิตมีค่า d-dimer ที่ 5.2 ส่วนผู้รอดมีค่าเฉลี่ยแค่ 0.6 (และตีความต่อทางสถิติว่าหาก d-dimer สูงกว่า 1 โอกาสเสียชีวิตจะมากกว่ากลุ่มไม่สูง ถึง 18 เท่า แต่ความแปรปรวนมันกว้างเหลือเกิน อย่าไปตี กี่เท่าเลยจะดีกว่า)

13. นอกเหนือจากการหาปัจจัยบ่งชี้แล้ว การตรวจดูปริมาณเชื้อและระยะเวลาที่จะแพร่เชื้อก็มีส่วนบอกได้ กลุ่มคนที่รอดชีวิตมีตัวเลขเฉลี่ยที่ 20 วัน แต่กลุ่มผู้เสียชีวิตพบว่าการตรวจพบนั้นจะพบจนกระทั่งเสียชีวิต (เฉลี่ยที่ 18 วัน) นั่นคือหากร่างกายกำจัดเชื้อไม่ได้เร็วพอ โอกาสเสียชีวิตจะมากขึ้น

14. ระยะเวลาที่เริ่มให้ยา เฉลี่ยที่ 14 วัน .. จากข้อมูลในข้อ 8 เราพออนุมาน จากความเห็นผมนะครับ ว่าเราอาจให้ยาช้าเกินไป เพราะเสียชีวิตเฉลี่ยที่ 18 วัน หากให้ยาเร็วกว่านี้อาจมีผลอีกแบบก็ได้ แต่อย่างที่ทราบข้อมูลผลการรักษามันออกมาทีหลัง คนที่ป่วยมาสักระยะแล้ว กลุ่มแรก ๆ ยังไม่ได้ยา มันก็เลยแปรปรวน การศึกษาในวันนี้อาจมีการให้ยาแต่แรก ผลอาจจะดีกว่านี้ก็ได้ต้องรอดู ส่วนคนที่รอด ก็ให้ยาที่วันที่ 14 ซึ่งหายเกือบหมดแล้ว ก็ไม่รู้ยามีผลหรือหายเองกันแน่

***** 15. อย่าลืมว่าข้อมูลยังไม่ครบถ้วน *** แต่ก็พอบอกได้ล่ะว่า ถ้าคุณมีโรคประจำตัว ถ้าคุณอายุมาก คุณควรระวังตัวมากขึ้น เพราะเป็นโรคแล้วจะหนัก และบอกคุณหมอว่าควรรีบให้การรักษาแบบ sepsis คือ hit hard, hit fast มาไว เคลมไว จะทำให้โรคไม่รุนแรง ไม่เกิดอวัยวะล้มเหลว ไม่ไปเปิดกล่องแพนโดรา ส่วนที่ป้องกันและดูแลเต็มที่แต่ยังเสียชีวิตคือ natural selection ครับ ****

23 มีนาคม 2563

real world กับ clinical trial

การศึกษาวิจัยเพื่อรับรองการรักษา วิธีที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดคือ Randomized Controlled Trials นำคนที่สนใจมาแบ่งกลุ่มแบบสุ่มเพื่อให้มีการกระจายตัวเท่า ๆ กัน ลักษณะคล้าย ๆ กัน กลุ่มควบคุมก็ไม่ให้การรักษาหรือยาหลอก อีกกลุ่มก็ให้การรักษาที่เราสนใจ หลังจากนั้นควบคุมตัวแปรทั้งหมด มีการติดตามเคร่งครัด กำหนดเวลาที่ชัดเจน กำหนดสิ่งที่จะเก็บข้อมูลและเป้าหมายการศึกษาอย่างชัดเจน แล้วนำมาวิเคราะห์
สิ่งที่ได้ ... คือ ผลที่ได้จากการรักษาว่าได้ตามเป้าหมายการศึกษาหรือไม่ ตัดตัวแปรปรวนอื่น ๆ ควบคุมความโน้มเอียง ใช้กระบวนการทางสถิติ ผลที่ได้คือน่าเชื่อถือมาก
แต่... ไม่ใช่สำหรับทุกคน สำหรับกลุ่มคนที่เราสนใจในตอนแรกเท่านั้น แล้วถ้าเราต้องการทราบว่า ในกลุ่มโรคที่ยาตัวนี้ก็รักษาได้ แต่นอกเหนือจากกลุ่มที่สนใจในการทดลอง จะนำผลการทดลองไปใช้ได้ไหม อันนี้ตอบว่าไม่ได้ อยากหาคำตอบกลุ่มใหม่ ต้องทำการศึกษาใหม่
แต่ก็จะมีการศึกษาอีกแบบ ที่เอาประโยชน์ที่ได้จาก Randomised Controlled Trials เอามาใช้ในโลกแห่งความจริง ที่แทบไม่มีการควบคุมตัวแปร ไม่มีความเคร่งครัด แล้วผลที่ได้จะออกมาแบบนั้นหรือไม่ มีการศึกษาหลายอย่างเช่น
1. pragmatic trial ก็มีการแบ่งกลุ่ม แต่ไม่ได้แบ่งแบบทดลองเข้มงวด แบ่งคล้ายการรักษาจริง ใช้วิธีคำนวณคล้ายการวิจัยทดลอง
2. registry เก็บข้อมูลการใช้ไปเรื่อย ๆ ไม่ได้แบ่งกลุ่ม ไม่ได้ควบคุม มีการเก็บตัวแปรต่าง ๆ เอาข้อมูลมาวิเคราะห์ อาจจะใส่วิธีการทางสถิติคัดเลือกมาให้พอเทียบได้ ไม่ต่างกันจนเทียบไม่ได้เลย
3. cross section study เอาข้อมูลที่มี มาวิเคราะห์หนึ่งครั้ง ก็เป็นเก็บข้อมูลโดยไม่ได้วางแผนล่วงหน้า อาจมีข้อมูลครบหรือไม่ครบก็ได้
จะเห็นว่า แม้การควบคุมจะย่อหย่อน เกิดข้อกังขาเรื่องตัวแปรรบกวนหรือความโน้มเอียง แต่ก็เป็นข้อมูลแห่งชีวิตจริง ไม่ได้ระเบียบจัดแบบการทดลองจนหลาย ๆ คนบอกว่า "ไม่รู้ใช้ในชีวิตจริง ผลจะออกมาเหมือนการศึกษาหรือไม่ เพราะไม่ได้ควบคุมและคัดเลือกเป๊ะ ๆ แบบการศึกษา"
ปัจจุบันเราจะเห็นการศึกษาแบบ real world มากขึ้น และมักออกมาควบคู่กับการศึกษาทดลอง หากผลในการทดลองและผลในชีวิตจริงมีแนวโน้มไปในทางเดียวกัน จะเกิดความเชื่อมั่นมากขึ้น แต่หากผลต่างกันก็จะช่วยให้ฉุกใจคิดว่า มันมีอะไรบกพร่องหรือไม่
ตัวอย่าง ยา empagliflozin ยาเบาหวานกลุ่ม SGLT2i ที่โด่งดัง เพราะนอกจากลดน้ำตาลได้ดี ยังลดอัตราการเสียชีวิตจากหัวใจและหลอดเลือด ปกป้องไต สามารถลดการเสียชีวิตจากหัวใจวายได้แม้แต่ไม่ได้เป็นเบาหวานก็ตาม ส่งผลให้ยากลุ่ม SGLT2i ขยับขึ้นไปเป็นยาทางเลือกแรก ๆ ของผู้ป่วยเบาหวานที่มีความเสี่ยงสูงไปแล้ว
แต่ในการศึกษาวิจัยของยา โดยเฉพาะ EMPA-REG outcome ได้มีการจำกัดคนที่เข้ามาในการศึกษามากมาย เช่น ระดับน้ำตาลต้องไม่สูงเกินไปไม่ต่ำเกินไป อายุต้องไม่มากเกินไป โรคร่วมต้องไม่ถึงกับหนักมาก การคัดเลือกคนเหล่านี้จะออกมาเป็นคำแนะนำว่า แนะนำใช้ในคนไข้กลุ่มใด
แต่ถ้าคนไข้อยู่นอกกลุ่มล่ะ เช่น ในการศึกษาแทบไม่มีคนไข้ที่ HbA1c เกิน 10% เลย หากเรานำมารักษาคนไข้ HbA1c 10.5% จะได้ผลดีไหม ...คำตอบนี้จะหาได้จาก real world study นั่นเอง แม้น้ำหนักอาจไม่มากเท่าการทดลอง แต่ก็มีหลักฐานสนับสนุน
"absent of evidence is not evidence of absent"
มีการศึกษาชื่อ EMPRISE ศึกษาการใช้ยา empagliflozin ในสถานการณ์จริง แม้ผลยังไม่เสร็จแต่รายงานเบื้องต้นนี้บอกว่า น้ำตาลลดลงและอัตราการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจากโรคหัวใจวายก็ลดลง สอดคล้องกับการวิจัยทดลองหลัก หรือการศึกษาเก็บข้อมูลใน JAMA Network Open. 2020;3(2) ที่เก็บข้อมูลแบบ cross-section พบว่าในกลุ่มคนไข้ที่น้ำตาลสูง ๆ ซึ่งไม่ได้รับการคัดเลือกเข้างานวิจัย คนกลุ่มนี้ก็ยังได้ประโยชน์จากยา พอ ๆ กับคนที่เข้าศึกษาในงานวิจัยเลย
แต่ต้องอ่านข้อมูลให้ครบทุกด้าน เพราะสองงานที่ผมยกตัวอย่าง ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงว่าหากใช้แบบสถานการณ์จริง "ผลเสียผลข้างเคียง" จะเหมือนหรือต่างจากการวิจัยทดลองอย่างไร อย่าลืมว่าหากเราเก็บข้อมูลในสถานการณ์จริง จะมีตัวแปรมากหรือเก็บข้อมูลไม่ครบ ไม่เหมือนการวิจัยทดลองที่ออกแบบและควบคุมอย่างดี
จึงต้องอ่านงานวิจัยแบบ real world นี้หลาย ๆ ฉบับ รวบรวมในทุกประเด็น จึงจะครบถ้วน อ่านแค่ประโยชน์ไม่พอ ต้องดูมิติอื่น ๆ โดยเฉพาะผลเสียด้วย
เพราะบางที อุดมคติ อาจต่างจาก ชีวิตจริง ดังภาพที่แสดง

22 มีนาคม 2563

มุมมองของลุงหมอ เรื่องไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ตอนที่สอง : ความรุนแรงของโรค

ถามว่าโรคโควิดนายทีน น่ากลัวเพียงใด

ถ้าว่ากันตามข้อมูลของตัวโรคที่ออกมาตรงกันในแต่ละชาติ ก็คงชัดเจนว่า "ไม่รุนแรง" ผู้ที่ป่วยเกิน 80% ที่อาการเบาคล้ายโรคหวัดทั่วไป (ก็โควิดคือโรคหวัดเช่นกัน) มีเพียง 5% ที่รุนแรงมากเข้าขั้นวิกฤต จากการศึกษาก็พบว่า อายุที่มาก โรคร่วมมาก มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรครุนแรง

โรคที่รุนแรงนี้ก็มีอัตราการเสียชีวิตที่ 50% เทียบเท่าโรคติดเชื้อทางเดินหายใจรุนแรงแบบอื่น ๆ จะเห็นว่าจริง ๆ แล้วโควิดนายทีน ไม่ได้เป็นผู้ร้ายที่ฉกาจฉกรรจ์ แต่เพียงผู้ร้ายรายใหม่ที่เพิ่งมีชื่อ แต่ฝีมือก็งั้น ๆ ไม่ได้รุนแรงแบบสุดขั้วเหมือน อีโบลา หรือ พิษสุนัขบ้า

หากคิด case fatality คือ เอาจำนวนคนเสียชีวิตจากโรค (ขอย้ำว่า เสียชีวิตจากโรคนะ) ไม่ใช่ all cause mortality มาหารด้วยจำนวนคนที่ยืนยันว่าเป็นโรค
disease-related death ÷ symptomatic confirmed cases 
จะพบว่าโดยเฉลี่ยที่ 1.5% จะเห็นว่าไม่สูงนัก เทียบกับซารส์ที่ 28% และเมอรส์ที่ 38% และหากเราคิดมากขึ้นไปเป็น mortality คือเอาคนที่เสียชีวิตจากโรคตั้ง หารด้วยคนที่เสี่ยงเกิดโรค

ตัวหารของ mortality มันมากกว่า case fatality ค่าที่ได้จะน้อยลงอีก เพราะคนที่เสี่ยง คือ suspected ของโรคระบบทางเดินหายใจนี่เพียบเลย เช่น ไปสนามมวยมาแล้วมีคนในสนามมวยติดเชื้อ  คนที่ไปสนามมวยมาหากมีไข้ ไม่ว่านะไข้จากอะไร จะถูกนับเป็น suspected cases ทันที ลองไปคำนวณ mortality ในจีนสิครับ อาจจะน้อยกว่า 0.5% ก็ได้

สรุปคือโรคไม่ได้รุนแรงมากแต่อย่างใด ในทางวิชาการแพทย์  แต่ที่รุนแรงมากกว่าเห็นจะเป็นความเสียหายในเชิงเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่น ความศรัทธาของประชาชน   

เพราะคนที่ต้องสงสัย จะต้องหยุดงาน เสียรายได้ เสียผลผลิต หากมีคนที่สงสัยมากเข้า จะตามมาด้วยมาตรการการปิดสถานที่ แน่นอนกระทบหลายอย่างทั้ง supply chain, stock, demand แต่รายจ่ายไม่ลด แถมเพิ่มอีกจากการต้องป้องกันโรค และหนี้ก็ยังต้องจ่าย

หากมี confirm case เพิ่ม ก็จะมีการปิดเมือง ปิดการบริการ ด้วยหวังว่าจะทำให้ตัวเลข "ชะลอ" และคนหยุดกลัว อันนี้มีผลทางจิตใจสูง แต่ไม่ส่งผลทางการแพทย์และไม่ช่วยเศรษฐกิจแต่อย่างใด 

การตัดสินในทางการแพทย์ เป็น individualized ส่วนทางการควบคุม จะต้องคำนึงถึงผลหลายอย่าง คงไม่ใช่เจ็บแล้วจบ แต่เป็นเจ็บน้อยที่สุดจะถูกกว่า 

ยาต้านไวรัส Lopinavir/ritonavir สำหรับรักษาโรคโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

ชี้แจง : เรื่องยาต้านไวรัส Lopinavir/ritonavir สำหรับรักษาโรคโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

ก่อนอื่นต้องขอบอกว่า ผมแทบไม่ติดตามข่าวจากทางสื่อสังคมออนไลน์เลย ผมใช้วิธีการอ่านหนังสือพิมพ์รายวัน ฟังวิทยุจากสถานีวิทยุกระจายเสียงรัฐสภา และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย  แม้จะทำเพจแต่ไม่ค่อยได้เล่นเฟซบุ๊ก

จนวันนี้มีคนถามเรื่องผมขายยา lopinavir/ritonavir หรือไม่ ผมขายยา Chloroquine หรือไม่ และจะไปหาซื้อได้ที่ใด เมื่อไปเกิดดูเฟซบุ๊กจึงทราบว่า มีการติดตามหายาสองตัวนี้มาเก็บไว้ โดยหาซื้อตามร้านขายยา หวังผลใช้รักษาโควิดสิบเก้า หากตัวเองติดเชื้อ 

ขอบอกว่าผิดมาก

1. ท่านไม่ควรกินยาเอง โดยไม่มีข้อบ่งชี้หรือความจำเป็น การศึกษาวิจัยที่ออกมา มีปริมาณไม่มากและไม่ได้รัดกุมเลย แต่ที่เราต้องใช้ด้วยเวลากระชั้นชิด หากไปอ่านงานวิจัยการใช้ยาจะพบว่าเกณฑ์สำคัญในการให้ยาคือ คนไข้ที่อาการหนัก ต้องนอนโรงพยาบาล ปอดอักเสบและความอิ่มตัวออกซิเจนต่ำ ไม่ใช่คนที่ไม่มีอาการ หรืออาการน้อย  อย่าตีความเกินงานวิจัย

2. Lopinavir/ritonavir เป็นยาควบคุมในโรงพยาบาล ใช้รักษาโรคติดเชื้อไวรัสเอชไอวีเป็นหลัก ที่เอามารักษาโควิดเป็นเพียงสถานการณ์เฉพาะกิจ หากใช้แบบไม่ควบคุม อาจเกิดการดื้อยาของเชื้อเอชไอวีได้  อีกอย่าง ยาตัวนี้มีปฏิกิริยาระหว่างยามากมาย ห้ามใช้แบบไม่ควบคุม

3. ยา Chloroquine เป็นยารักษาโรคมาเลเรีย และใช้ควบคุมอาการแพ้ภูมิตัวเองบางอย่าง ที่มาใช้ในโควิด ก็เฉพาะกิจ งานวิจัยน้อยมาก อย่าลืมว่ายามีผลข้างเคียงสำคัญต่อการมองเห็น และถึงแม้จะเป็น hydroxychloroquine ที่พิษน้อยกว่า ก็ไม่ควรใช้เอง

4. สรุปว่ายาทั้งสองนี้ รวม darunavir และ favipiravir ควรให้แพทย์สั่ง ในกรณีท่านป่วยเป็นผู้ติดเชื้อจริง มีการยืนยัน ไม่ใช่แค่เสี่ยงและไม่มโนไปเอง การป่วยนั้นต้องรุนแรงพอสมควรหรือมีโรคร่วมที่จะอันตราย จึงตัดสินใจให้ยา เพราะถ้าไม่รุนแรง (เกือบทั้งหมดก็ไม่รุนแรง) แค่รักษาตามอาการ กินพารา ทายาหม่อง

5. คุณแค่ป้องกันตัวเอง ป้องกันคนอื่น รักษาร่างกายแข็งแรง ไปหาหมอเมื่ออาการไม่ดี และอย่าลืมโรคอื่นด้วย ไม่ใช่ใส่ใจแต่โควิดสิบเก้า วันก่อนเจอคนไข้ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะช็อกเกือบตาย คนไข้บอกแต่ว่า กลัวเป็นโควิด เพราะมาจาก กทม. !!! 

สุดท้าย ผมไม่ได้ขายยา ไม่มีส่วนได้เสียกับผู้จำหน่าย เขียนให้ความรู้ตามเนื้อผ้าเท่านั้น ถามมาก็ไม่มีจำหน่ายให้นะครับ ขายก็ขายแต่ตัวเองนี่แหละ ติดป้ายมานาน ทั้งลดราคา แถมรถแถมบ้าน จนของจะหมดอายุอยู่แล้ว ยังขายไม่ได้เลย

 และไม่แนะนำให้ไปซื้อเก็บด้วย ไม่จำเป็น  ส่วนที่ผมไม่ค่อยโพสต์เรื่องนี้เพราะแม้ผมจะพอมีความรู้เรื่องโรค เรื่องยา เรื่องการจัดการคนไข้ที่ป่วย แต่ผมไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการจัดการการระบาดแบบ pandemic การบริหารวิกฤต จึงบอกได้แค่ทำตามประกาศที่ทางการออกมา ให้ความร่วมมือ และระวังตัวเอง

ปิดร้านหนังสือก็แทบใจสลาย นี่มาปิดร้านกาแฟอีก .. ใจเรียมจะขาดดดด แหล่ว เอ๊ยยยย

ไวรัสโคโรนา ที่มา

เช้าตรู่วันอาทิตย์ แม้สายการบินหลายสายจะหยุดให้บริการ แต่สายการบินลุงหมอแอร์ยังเปิดบริการตามปรกติ ขอให้ผู้โดยสารหยิบกาแฟร้อนหอมกรุ่น พร้อมกับขนมครกถ้วยโต และมัฟฟินอุ่น ๆ มาจิบพร้อมกับการเดินทางของเรา

ย้อนอดีตไปปี 1965 ปีที่อเมริกายกทัพมาให้เวียดนามบดขยี้ มาตั้งฐานอยู่บนแดนไทย ขนเอาไปทุกสิ่งทุกอย่าง รวมทั้งทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์จากปราสามพนมรุ้ง เหลือไว้เพียงบุญรอดและข้าวนอกนา เราย้อนเวลาอย่างเดียวไม่พอ เรายังต้องวาร์ปสถานที่ด้วย

ท่านผู้โดยสารที่รัก ตอนนี้เราบินอยู่เหนือน่านฟ้าประเทศอังกฤษ เราผ่านช่องแคบเข้ามาทางตอนใต้ของเกาะบริเทนใหญ่ ด้านล่างท่านจะเห็นเมืองซอลล์บรี (salisbury) เมืองเก่าแก่ของประวัติศาสตร์อังกฤษเป็นที่ตั้งของโบสถ์แห่งซอลล์บรี ที่ตั้งนาฬิกาแบบปัจจุบันที่ยังทำงานได้และเก่าแก่ที่สุดในโลกและเป็นที่เก็บสำเนาหนึ่งของ Magna Carta ว่ากันว่าคือรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อันเป็นประมุข อันแรกในโลก

ที่นี่ ในปี 1965 นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษสองคนได้ค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ขึ้น Tyrrell กับ Bynoe ได้ตีพิมพ์การค้นพบของเขาในวารสาร The Lancet ว่าพวกเขาค้นพบไวรัสชนิดหนึ่ง ที่นำมาจากคนที่เป็นหวัดมาเพาะเลี้ยงในเซลล์ต้นกำเนิดหลอดลมมนุษย์ ไม่แน่ว่านี่อาจจะเป็นสาเหตุของโรคหวัด โรคที่มนุษย์เราเป็นมาช้านาน ทั้งคู่ตั้งชื่อไวรัสนั้นว่า B814 

ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีระดับเซลล์รุดหน้าแบบนี้ ไม่ใช่แค่ Tyrrell และ Bynoe เท่านั้นที่ค้นพบ

ข้ามฝากไปฝั่งอเมริกา  ที่ชิคาโก้ ที่อยู่ของฟอสซิลทีเร็กซ์ที่สมบูรณ์ที่สุด นักไวรัสวิทยาสองท่านคือ Hamre และ Procknow ได้ศึกษาและค้นพบไวรัสเช่นกัน ได้มาจากสารคัดหลั่งในจมูกของคนที่เป็นหวัดเหมือนกันเสียด้วย ที่แตกต่างจากไวรัสที่พบทั่วไป เรียกว่า Hamre's virus ลงตีพิมพ์ในวารสาร Proceedings of the Society for Experimental Biology and Medicine

เจ้าไวรัสทั้งสองนี้สามารถละลายในสารอีเธอร์ได้ เป็นสมบัติที่แปลกกว่าไวรัสทางเดินหายใจอื่น ๆ ที่เคยพบ เมื่อมีรายละเอียดมากขึ้นคราวนี้ก็มีคนรายงานมากขึ้น เรียกไวรัสทั้งสองนี้ว่า 229E

 ในปี 1967 McIntosh ได้ตีพิมพ์เรื่องราวของไวรัสทางเดินหายใจที่ไวต่อสารอีเทอร์นี้อีกหลายสายพันธุ์ ในวารสาร Proceedings of the Society for Experimental Biology and Medicine อีกเช่นเคย สิ่งที่พบไล่เลี่ยกัน คุณสมบัติคล้ายกัน โดยไม่ได้นัดหมายเช่นนี้ หรือมันจะเป็นสิ่งเดียวกัน  เหล่านักวิทยาศาสตร์เรียกไวรัสชนิดใหม่ที่ไวต่ออีเธอร์ และโตในอวัยวะเพาะเลี้ยง (ยังไม่สามารถหาวิธีเพาะเลี้ยงในเนื้อเยื่อได้) ว่าไวรัส OC (organ culture) แต่มันจะคือสิ่งเดียวกันหรือไม่ คำตอบคงอยู่ที่ ..

รูปพรรณสัณฐานจากกล้องจุลทรรศ์อิเล็กตรอน ..

กล้องขยายกว่าล้านเท่า ประดิษฐ์ในปี 1937 จากบริษัทซีเมนส์ และเริ่มผลิตออกมาใช้มากขึ้น พัฒนามากขึ้น จนได้ TEM transmission  Electron Microscope ในปี 1939 แต่การวิจัยและผลิตก็หยุดชะงักจากมหาสงครามโลกครั้งที่สอง ไม่อย่างนั้นเราคงได้ยาปฏิชีวนะเร็วกว่านี้  เมื่อสงครามสิ้นสุด อเมริกามีเงินเหลือมากสุด กลายเป็นเจ้าโลก (โอ้วว) รายใหม่แทนที่ยุโรป กำลังการพัฒนาวิทยาศาสตร์ถึงขีดสุด การส่งคนไปดวงจันทร์ การคิดค้นขีปนาวุธ การรักษาโรค และกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน

ปลายทศวรรษที่ 1960 ก่อนผมเกิดไม่นาน Tyrrell ได้ของเล่นใหม่คือ กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน เขาใช้มันเพื่อศึกษา 229E และ OC ต่อเนื่องและได้เห็นหน้าตาชัดเจนของเจ้าไวรัสชนิดนี้ ว่ามันเป็นไวรัสตัวกลม ๆ มีเปลือกหุ้มชัดเจน ส่วนนี้ที่น่าจะไวต่ออีเธอร์ และพบสิ่งที่สะดุดตาอันหนึ่งที่ไม่มีรายงานในไวรัสทางเดินหายใจตัวอื่น Tyrrell พบอะไรงั้นหรือ

ปรกติไวรัสเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่สมบูรณ์ ไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง ต้องไปอาศัยทรัพยากรการทำงานของเซลล์ในการอยู่รอดและขยายพันธุ์ (ปรสิตชัด ๆ ) และการจะเข้าเซลล์ใดเซลล์หนึ่งได้ มันจะต้องรู้จัก password ที่จะเจาะเข้าเซลล์ผ่านทางตัวแฮกที่ตัวไวรัส (binding molecules) หลาย ๆ ไวรัสก็มีจุดอ่อนตรงนี้เพราะหากเข้าเซลล์ไม่ได้ ย่อมตายจากไป มนุษย์เราสามารถผลิตยามายับยั้งการเข้าเซลล์ของไวรัสได้ เช่น entry inhibitors ในการรักษาการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี 

หมายความว่าต้องรู้จักจุดรับ จุดเกาะ หรือตัวแฮกของไวรัสเป็นอย่างดี และนี่คือสิ่งที่ Tyrrell ค้นพบ เจ้าตัวรับตัวสัมผัสของ 229E และ OC นี้มีลักษณะเป็นแท่งยื่นออกมารอบตัวเต็มไปหมด เหมือนทุเรียนหนามยาว ๆ ที่ปลายหนามมีเม็ดโฟมติดอยู่ทุกซี่หนาม ... แต่กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบทะลุทะลวงนี้ มันจะแสดงให้เห็นภาพตัดขวางเท่านั้น

คุณไปคว้ามีดยาว ๆ คม ๆ มาเลย ตัดฉับทุเรียนตามแนวขวางเป็นแว่น ออกมาหนึ่งแว่น โยนเศษเนื้อทุเรียนไปให้แอดมิน infectious ง่ายนิดเดียว เราเอาแต่เปลือกมาดู รูปร่างมีรัศมีออกมาแบบนี้ มันคือ มงกุฏชัด ๆ งั้นขอเรียกชื่อไวรัสชนิดนี้ขึ้นมาใหม่ ตั้งชื่อเป็น genus ใหม่เลย ขื่อว่า Corona Virus นั่นเอง

เมื่อความลับถูกเผย คราวนี้มีการศึกษามากมายถึงไวรัสโคโรนานี้ว่า รับผิดชอบโรคหวัดถึง 35% ของเชื้อทั้งหมด แถมยังมีอีกหลายสายพันธุ์  ในช่วงเวลานี้เทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเริ่มทำสำเร็จ การตรวจหาสารพันธุกรรมกรดนิวคลีอิก ทั้ง DNA และ RNA เริ่มมาเปลี่ยนความรู้บนโลก เราจึงได้เรียนรู้ว่า Corona มีหลายสายพันธุ์และระบุได้ชัดเช่น 229E OC43 (NL63 และ HKU1 พบทีหลัง) และสายพันธุ์อื่น ๆ อีกเยอะ .. แต่เรื่องมันไม่จบแค่นั้น

เริ่มมีการค้นพบและระบุ corona ที่อยู่ในสัตว์มากมาย ก่อโรคในสัตว์ด้วย ไม่ว่าจะเป็น หนู หมู ไก่ หมา และก่อโรคทั้งตับอักเสบ ปอดอักเสบ เป็นหวัด เยื่อบุช่องท้องอักเสบ ไข้สมองอักเสบ ไม่ว่าจะติดเชื้อเองหรือถูกฉีดเชื้อเข้าไปในรูปนำมาทดลอง เป็นสัตว์ทดลอง ... และแล้ววันหนึ่งผลกรรมก็มาเยือนมนุษย์

แว้บบบ...มาถึงปี 2001 เลยมิลเลนเนียมมาหนึ่งปี ปีแรกของศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด  ณ เวลานี้ได้เกิดโรคระบาดจากไวรัสโคโรนาที่เราไม่เคยพบมาก่อน ทั้ง ๆ ที่เราระบุสายพันธุ์ได้อย่างมากมายแล้ว โรคนี้เกิดทางใต้ของจีน สืบไปสืบมาเพื่อหาต้นตอ พบว่ามาจากตลาดค้าสัตว์ป่าในจีน น่าจะระบาดจากสัตว์สู่คน ซึ่งต่อมาลุกลามจากคนสู่คน กลายเป็นโรคติดเชื้อไวรัสทางเดินหายใจที่มฤตยูมากในยุคนั้น ใช่แล้วครับ โรค SARs อันน่าสะพรึงกลัว 

โดยสัตว์ที่ต้องสงสัยตัวแรกคือค้างคาว แน่นอนว่าคนที่ติดเชื้อคนแรกน่าจะเป็น บรูซ เวย์น ไม่ใช่ล่ะ... แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ใช่ค้างคาว การค้นหาทำอย่างต่อเนื่องเพื่อหาต้นตอที่มา จะได้รักษาได้แม่นยำ จนพบว่าต้นตอของไวรัสตัวนี้ที่แท้จริงมาจาก Himalayan palm civet ชะมดชนิดหนึ่งในจีน ที่ถูกจับมาค้าขายในตลาดอย่างทารุณ

ฤาเราข้ามเส้นสมดุลของธรรมชาติแล้ว  ธรรมชาติส่งชะมดน้อยตัวนี้มาเตือนมนุษย์  หวังว่ามนุษย์คงหยุด "ข่มขืน" ธรรมชาติ

แต่ว่าประวัติศาสตร์เดินย้อนกลับมารอยเดิมอีกครั้งในปี 2019 

ที่ตลาดค้าสัตว์ป่าเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน ไวรัสตัวหนึ่งได้หลุดลอดออกมาจากสัตว์ชนิดหนึ่ง แทรกซึมเข้ามาในคนที่เดินในตลาดนั้นอย่างเงียบ ๆ ท่ามกลางความชื่นมื่นของคน ที่เข้ามาเลือกซื้อสัตว์แปลก ๆ ไปกินในช่วงปีใหม่และตรุษจีน 

ไวรัสตัวนี้มนุษย์ไม่เคยรู้จักมาก่อน ใครจะรู้ว่าอีกไม่นาน เจ้าไวรัสพันธุ์ใหม่นี้มันจะทำลายความเชื่อมั่นและศรัทธาของมวลมนุษย์ไปทั้งโลก ตลอดไป