25 มีนาคม 2563

ปัจจัยที่จะบ่งชี้โรคโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ แบบรุนแรงและตาย

อ่านไป สรุปไป เล่าไป แบบง่าย ๆ ของเรา

ปัจจัยที่จะบ่งชี้โรคโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ แบบรุนแรงและตาย !! ลงตีพิมพ์ในวารสาร the Lancet เมื่อ 9 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา

https://www.thelancet.com/journals/lancet/article/PIIS0140-6736(20)30566-3/fulltext

เป็นการรวบรวมข้อมูลย้อนหลังในประเทศจีน ที่โรงพยาบาลสองแห่งในจีน ที่ออกแบบมาเพื่อรับมือโรคนี้โดยเฉพาะ นำข้อมูลมาวิเคราะห์ว่าปัจจัยใดที่จะเป็นตัวบ่งชี้ว่าโรคโควิดที่เกิดขึ้นในคนใด ที่อาจจะรุนแรงหรือถึงแก่ชีวิต เราอ่านกันไปเรื่อย ๆ นะครับ

1. การศึกษานี้เป็นการศึกษาแบบเก็บข้อมูลย้อนหลัง ดังนั้น ข้อมูลที่ได้คือข้อมูลที่บันทึก อาจจะมีปัจจัยอื่นที่มีผลมากกว่านี้ก็ได้ แต่ไม่ได้บันทึกไม่ได้ออกแบบ จึงไม่มีคำตอบมากกว่านี้

2. ความเป็นจริงชุดนี้ ใช้ได้กับคนที่ป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาล ทั้งรุนแรงหรือวิกฤต ไม่สามมรถใช้กับพวกที่อาการน้อยหรือไม่มีอาการได้ และต้องยืนยันว่าติดเชื้อจริงจากการตรวจ PCR เท่านั้น ..ทำให้ตัวเลขผู้ป่วยที่รวบรวมมา มีแค่ 191 คน แต่จุดแข็งคือ ดูคนไข้ตั้งแต่ต้นจนจบเลยทุกราย

3. ตรงนี้น่าสนใจ ในบรรดาคนที่ป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาลนั้น เขาจะให้ออกเมื่อไม่มีไข้ อาการระบบทางเดินหายใจดีขึ้น และตรวจ PCR จากการป้ายเชื้อในลำคอแล้วผลเป็นลบอย่างน้อย 24 ชั่วโมง นั่นคือเขาป้ายเชื้อทุกคนไปตรวจวันเว้นวัน เพื่อจะหาระยะที่จะปลอดภัยจริง ๆ หลังติดเชื้อ ... ย้ำอีกรอบ นี่คือคนติดเชื้อนะครับ ไม่ใช้คนทั่วไป

4. เขาเก็บข้อมูลหมด แต่บางอันก็ไม่สัมพันธ์กับความรุนแรงเพราะกว่าผลจะออก ก็ไม่ส่งผลต่อการคิดความรุนแรงแล้ว เช่นพวกสารอักเสบทั้งหลาย interleukin ต่าง ๆ เราจึงมาสนใจปัจจัยโดยรวม มากกว่าปัจจัยเดี่ยว ๆ เพราะบางปัจจัยมันเป็นการวิเคราะห์ย้อนหลังที่แทบไม่ส่งผลอะไรแล้ว

5. พบว่าจาก 191 รายที่นอนโรงพยาบาลและมีข้อมูลครบ ... ไม่ใช่ผู้ติดเชื้อทั้งหมด และไม่ใช่ผู้เสี่ยงนะ ... เสียชีวิต 54 ราย อยู่รอด 137 ราย อาการที่พบบ่อยมากคือ ไข้และไอ ระยะเวลาในการอยู่รักษาโดยเฉลี่ยที่ 22 วัน ระยะเวลาจากติดเชื้อไปสู่ไม่พบเชื้อเฉลี่ยคือ 20 วัน จะเห็นว่าในกลุ่มที่รอดชีวิต จะถูกกักตัวไว้จนกว่าไม่น่าจะแพร่เชื้อจึงส่งกลับบ้าน ไม่ว่าจะหายแล้วหรือไม่ก็ตาม

6. คราวนี้มาดูกลุ่มคนที่เสียชีวิตบ้าง สิ่งที่พบว่ากลุ่มคนที่เสียชีวิต มีความแตกต่างจากกลุ่มที่รอดชีวิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ขอกล่าวจาก multivariate regression analysis นะครับ เพราะ univariate เป็นเพียงรายละเอียดที่มาอธิบายเท่านั้น) คือ

7. อายุ คนที่เสียชีวิตอายุเฉลี่ยคือ 69 ปี ในขณะที่กลุ่มรอดชีวิต อายุเฉลี่ยคือ 52 ปี ผลอันนี้ตรงกับผลที่ออกมาทั่วโลก อายุที่มากเป็นปัจจัยของการเสียชีวิตจริง แต่ว่าไม่ใช่แค่โรคโควิดนะครับ เป็นแทบทุกโรค อย่าลืมตัวเลขคือ 70 ปีนะครับ สูงทีเดียว

8. โรคร่วม หมายถึงโรคเดิมที่เป็นอยู่แล้ว เขาไม่ได้คิดแยกว่าควบคุมได้ดีหรือไม่ แค่บอกว่ามีโรคเดิมอยู่อันนี้ก็เสี่ยง กลุ่มคนที่เสียชีวิตมีโรคเดิม 67% ส่วนกลุ่มรอดชีวิตมีโรคเดิมแค่ 40% ...จะเห็นว่า ก็ไม่ได้แย่มากนักนะครับ พอรับมือได้ แต่ถ้าคุณเป็นคนที่มีโรคประจำตัว คุณต้องหูไวตาไวมากขึ้น

9. โรคประจำตัวที่ส่งผลชัด ๆ เลยมีสี่โรค คือ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจตีบและโรคถุงลมโป่งพอง มองภาพรวม กลุ่มที่เสียชีวิตจะมีโรคพวกนี้มากกว่ากลุ่มรอดชีวิตประมาณ 20% แต่อย่าลืมว่า มันก็พอรับมือได้ครับตามข้อ 2

10. ปัจจัยที่สามคือ ความรุนแรงของโรค ในกลุ่มที่เสียชีวิตนั้น โรคจะลุกลามถึงขั้นติดเชื้อในกระแสเลือดถึง 100% และมีระบบอวัยวะล้มเหลวถึง 90% เรียกว่าหากรุนแรงหรือวิกฤตแล้วโอกาสเสียชีวิตสูง แต่มันก็ไม่ได้เป็นจริงแค่ โควิดนะครับ จะติดเชื้ออะไร หากเข้าสู่ sepsis multiorgan dysfunction ก็แย่แบบนี้หมด ในมุมมองผม ปัจจัยนี้เลยไม่ได้กำหนดหรือบ่งชี้อะไรมากนัก ไม่ว่าโรคอะไรก็จริงหมด

11. ระดับคะแนนการประเมินอวัยวะระบบต่าง ๆ ที่มีผลกระทบในภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด และเป็นระบบคะแนนที่ใช้วินิจฉัย sepsis คือ SOFA เราพบว่าผู้ที่เสียชีวิตมีคะแนน SOFA เฉลี่ย ที่ 4.5 ส่วนผู้รอดชีวิตอยู่ที่ หนึ่งคะแนน อันนี้พอมีความสำคัญ ว่าหากระดับคะแนนไม่สูง โรคคุณไม่น่าจะรุนแรง โอกาสเสียชีวิตต่ำ

12. อีกตัวที่คิดไม่ถึง ว่าจะมาบ่งชี้อัตราการเสียชีวิตได้ คือ d-dimer บ่งชี้ว่ามีการอักเสบมากในร่างกายจนระบบการแข็งตัวเลือดเริ่มเรรวน พบว่ากลุ่มผู้เสียชีวิตมีค่า d-dimer ที่ 5.2 ส่วนผู้รอดมีค่าเฉลี่ยแค่ 0.6 (และตีความต่อทางสถิติว่าหาก d-dimer สูงกว่า 1 โอกาสเสียชีวิตจะมากกว่ากลุ่มไม่สูง ถึง 18 เท่า แต่ความแปรปรวนมันกว้างเหลือเกิน อย่าไปตี กี่เท่าเลยจะดีกว่า)

13. นอกเหนือจากการหาปัจจัยบ่งชี้แล้ว การตรวจดูปริมาณเชื้อและระยะเวลาที่จะแพร่เชื้อก็มีส่วนบอกได้ กลุ่มคนที่รอดชีวิตมีตัวเลขเฉลี่ยที่ 20 วัน แต่กลุ่มผู้เสียชีวิตพบว่าการตรวจพบนั้นจะพบจนกระทั่งเสียชีวิต (เฉลี่ยที่ 18 วัน) นั่นคือหากร่างกายกำจัดเชื้อไม่ได้เร็วพอ โอกาสเสียชีวิตจะมากขึ้น

14. ระยะเวลาที่เริ่มให้ยา เฉลี่ยที่ 14 วัน .. จากข้อมูลในข้อ 8 เราพออนุมาน จากความเห็นผมนะครับ ว่าเราอาจให้ยาช้าเกินไป เพราะเสียชีวิตเฉลี่ยที่ 18 วัน หากให้ยาเร็วกว่านี้อาจมีผลอีกแบบก็ได้ แต่อย่างที่ทราบข้อมูลผลการรักษามันออกมาทีหลัง คนที่ป่วยมาสักระยะแล้ว กลุ่มแรก ๆ ยังไม่ได้ยา มันก็เลยแปรปรวน การศึกษาในวันนี้อาจมีการให้ยาแต่แรก ผลอาจจะดีกว่านี้ก็ได้ต้องรอดู ส่วนคนที่รอด ก็ให้ยาที่วันที่ 14 ซึ่งหายเกือบหมดแล้ว ก็ไม่รู้ยามีผลหรือหายเองกันแน่

***** 15. อย่าลืมว่าข้อมูลยังไม่ครบถ้วน *** แต่ก็พอบอกได้ล่ะว่า ถ้าคุณมีโรคประจำตัว ถ้าคุณอายุมาก คุณควรระวังตัวมากขึ้น เพราะเป็นโรคแล้วจะหนัก และบอกคุณหมอว่าควรรีบให้การรักษาแบบ sepsis คือ hit hard, hit fast มาไว เคลมไว จะทำให้โรคไม่รุนแรง ไม่เกิดอวัยวะล้มเหลว ไม่ไปเปิดกล่องแพนโดรา ส่วนที่ป้องกันและดูแลเต็มที่แต่ยังเสียชีวิตคือ natural selection ครับ ****

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น