30 กันยายน 2559

การติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มชายรักชาย

บทความนี้ตั้งใจเขียนใช้ชาวเกย์ ด้วยความรักและห่วงใยครับ..แต่อ่านได้ทุกคนนะครับ
เป็นบทความที่ยาวมาก มาลงวันเสาร์ จะได้มีเวลาอ่านกันนะครับ

สถานการณ์การติดเชื้อไวรัส HIV ในปัจจุบัน จากการติดตามในอเมริกา ภาคพื้นยุโรป เอเชีย พบว่า สถานการณ์การติดเชื้อ HIV เริ่มชลอตัวลง ผู้ป่วยรายใหม่ลดลง ผู้ป่วยรายเก่ามีชีวิตอยู่ยืนยาว แต่ผู้ป่วยรายใหม่ที่ลดลงนั้น บางส่วนเกิดจาก ไม่รู้ตัวไม่ยอมตรวจนะครับ สำหรับกลุ่มผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่พบ พบว่ากลุ่มอายุเริ่มน้อยลง เกือบ 60% เป็นกลุ่มอายุ 18-24ปี และในกลุ่มผู้ติดเชื้อรายใหม่ เป็นกลุ่มชายรักชาย (ที่มีเพศสัมพันธ์กัน เราเรียกชื่อสากลว่า MSM) ถึง 58-61% ในช่วงปี 1999-2014
  การกระจายตัวนี้เป็นจริงในทุกภูมิภาคของโลก สัดส่วนมากในกลุ่มชาวละตินอเมริกาและอาจพบน้อยลงในกลุ่มชาวอาหรับและแอฟริกาตอนเหนือ เพราะสาเหตุใดเดี๋ยวจะอธิบายนะครับ

  เหตุใดในกลุ่ม MSM จึงมีโอกาสติดเชื้อมาก เอาประเด็นที่ชัดเจนก่อนนะครับ การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักจะเกิดการบาดเจ็บได้มากกว่าเพราะเยื่อบุทวารหนักบางกว่าช่องคลอดมากมาย โดยเฉพาะถ้าเป็นฝ่ายถูกสอดใส่หรือฝ่ายรับ จะมีโอกาสรับเชื้อมากกว่าฝ่ายรุก 13 เท่าครับ  การใช้ถุงยางยังมีจำนวนน้อยครับและบางส่วนก็ใช้ถุงยางและสารหล่อลื่นไม่เหมาะสมด้วย
   ประเด็นที่ผมจะกล่าวย่อหน้านี้อ่อนไหวและต้องอาศัยปัจจัยทางสังคมมาก เช่น ในบางประเทศการรักร่วมเพศถือเป็นอาชญากรรม ต้องรับโทษ ทำให้ผู้ที่เป็น MSM ไม่กล้าเปิดเผยตัว ไม่กล้าเข้าไปตรวจ ไม่กล้าเข้าถึงถุงยาง การรักษา เพราะกฎหมายที่เคร่งครัด เช่น เยเมน ซาอุดิอารเบีย ซูดาน เป็นต้น   ในอีกประเด็นคือ สังคมยังมองพวกเขาแตกแยกออกไป เป็น homophobia socials คือคิดว่าเขาแปลก เขาน่ากลัว เขาจึงเข้าไม่ถึงการบริการทางการสาธารณสุข และไม่กล้าเผยตัว
   ผมว่าในโลกยุคใหม่ ไทยแลนด์ 4.0 ยอมรับเรื่องนี้เสียเถิด ออกจากกะลากันได้ ถ้าเราดูแลรักษาคนกลุ่มนี้ดีๆ เขาปลอดภัยและคุณภาพชีวิตดี เขาจะสร้างประโยชน์ให้ประเทศชาติและโลกนี้อีกมากครับ  ..คนเราเท่ากันครับ..

   ข้อดีคือในกลุ่ม MSM นั้นมักจะทราบความเสี่ยงตัวเองดี และเดินไปเข้ารับการคัดกรองโรคและรักษาด้วยตัวเอง ในอเมริกานั้นเข้าถึงการรักษาได้ 84% และสามารถรักษาได้กว่า 58%  ทำให้อัตราการเสียชีวิตในกลุ่มนี้ค่อนข้างต่ำครับ
   แต่ก็ยังมีบางกลุ่มที่ไม่ยอมไปตรวจ และยังมีเชื้ออยู่แพร่กระจายต่อไป ประมาณ 1ใน 6 ของกลุ่ม MSM พอๆกับกลุ่มที่มีเพศสัมพันธ์ต่างเพศครับ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่อาจแพร่เชื้อได้มากในอนาคต
  ปัจจุบันนี้หลายๆองค์กรจึงมาให้ความสนใจกับกลุ่มนี้นะครับ เพื่อให้เข้าถึงการรักษาได้เร็ว ลดการติดเชื้อรายใหม่ ลดอัตราการเสียชีวิต เพื่อให้ได้เป้าหมายขององค์การอนามัยโลกครับ  ในเว็บไซต์ AVERT.org ให้โครงความคิดการป้องกันการติดเชื้อรายใหม่ได้น่าสนใจ ผมขอสรุปและย่อยจากข้อมูลหลายๆที่นะครับ จะลงที่มาให้ท้ายบทความ

1. ใช้ถุงยางคุณภาพดี เพราะต้องรับแรงมากกว่าปกติ อย่าลืมว่าถุงยางออกแบบมาใช้กับช่องคลอด  และใช้สารหล่อลื่นที่เป็น water-based คือเป็นน้ำ อย่าใช้แบบน้ำมัน ถุงยางจะเปื่อยและขาดครับ water-bsaed หาได้ตามร้านสะดวกซื้อทั่วไปครับ

2.ใช้ชุดทดสอบการติดเชื้อให้ครอบคลุมและเข้าถึงง่าย เช่น ชุดทดสอบเองที่บ้าน หรือเป็นรถเคลื่อนที่ แบบไม่ต้องแจ้งชื่อเสียงเรียงนาม แบบ คลินิกนิรนามนั่นเองครับ มีการศึกษาในบราซิลพบว่า คนเข้ารับบริการเพิ่มขึ้นมาก สามารถตรวจโรคระยะต้นได้ดี ทราบสถานะตัวเอง บดการแพร่กระจายเชื้อได้

3.สร้างความเข้าใจและพลังสังคม อันนี้ยากสุดๆครับ ต้องให้ความสำคัญ ในประเทศแถบแอฟริกา ให้ MSM มาทำงานอาสาสมัครดูแลผู้ติดเชื้อ คนในสังคมก็ยอมรับมากขึ้น เพื่อกำจัดความเกลียดกลัวต่อรักร่วมเพศที่มีมานานครับ ส่วนตัวผมว่าสังคมไทยเริ่มยอมรับมากขึ้นครับ คุณวู๊ดดี้ยังแต่งงานและอยู่ได้อย่างดี

4. สร้างช่องทางเข้าถึงการรักษาให้มากขึ้น เช่น  รพ.สต. รพ.ชุมชน คลินิกนิรนาม หรือแม้แต่ในสังคมออนไลน์ก็มีช่องทางช่วยเหลือ ในประเทศไทยก็มีนะครับ Adam's Love Organisation ที่พร้อมให้ความรู้ มีเว็บบอร์ด ลองไปเยี่ยมได้ที่ www.adamslove.org ที่เป็นตัวอย่างของการสร้างความช่วยเหลือออนไลน์ของโรคนี้เลยนะครับ

5. การให้ยาป้องกัน เป็นกระบวนการเสริมจากการใช้ถุงยาง เพราะยังมีรายงานการไม่ใช้ถุงยางอีกมาก 55% ในกลุ่มประเทศรายได้สูง ส่วนประเทศรายได้ปานกลางใช้ถุงยางแค่ 29% การใช้ยาเพื่อป้องกันการติดเชื้อจึงมีความสำคัญ องค์การอนามัยโลกคิดว่าสามารถป้องกันการติดเชื้อรายใหม่ได้ 20% ลดการแพราเชื้อในกลุ่ม MSM ได้กว่า 90%  อย่าบืมว่าเป็นการรักษาเสริมนะครับ ต้องใช้คู่กับถุงยางและวิธีอื่นๆด้วย

  แต่มี 67% เท่านั้นที่กินยาสม่ำเสมอตามวิธีการเพราะยังมีปัญหาราคายา การเข้าถึงยา กลัวว่าคนจะรู้หากใช้ยาแบบนี้    การศึกษาชื่อ iPrEX ศึกษาในกลุ่ม MSM ที่ยังไม่ติดเชื้อ 2500 ราย ให้กินยาวันละเม็ดทุกวันๆ ติดตามไปหนึ่งปี พบว่าลดโอกาสการติดเชื้อได้ 44% เทียบกับกลุ่มไม่กินยา และพบว่ากลุ่มที่ติดเชื้อใหม่นั้นส่วนมาก...ไม่กินยา
    แนวทางปัจจุบันจึงสรุปว่า ใน MSM ที่ยังไม่ติดเชื้อเอดส์ และยังเสี่ยงอยู่ต่อเนื่อง ควรใช้ถุงยางร่วมกับการกินยาป้องกันครับ (tenofovir/emticirabine) กินให้สม่ำเสมอวันละครั้ง มาพบแพทย์ประจำเพื่อติดตามความสม่ำเสมอการกินยา ผลข้างเคียงจากยา และตรวจหาการติดเชื้อที่จะเกิดขึ้น จะได้เข้ารับการรักษาได้เร็ว
  การศึกษาล่าสุด ANRS-IPERGAY ให้กินยาแค่ก่อนและหลังการมีเพศสัมพันธ์ร่วมกับการป้องกันพื้นฐาน ไม่ต้องกินทุกวัน ก็พบว่าลดโอกาสการติดเชื้อได้ 86% เทียบกับไม่กินยา ซึ่งยังคงต้องรอการศึกษาเพิ่มเติม  แต่ก็สามารถบอกได้ว่าถ้ากินยาอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ จะช่วยลดโอกาสการติดเชื้ออย่างแน่นอน

อย่างที่บอกครับ ไม่มีใครยืนสูงกว่าใคร ทุกคนเท้าสัมผัสพื้น..ที่เสมอกัน เท่ากัน..

ที่มา  : CDC 2016, WHO, eurosurveillance june 2015, Lancet July 2012, iPrEX trial from NEJM, IPERGAY trial from NEJM, www.avert.org, www,adamslove.com, IAS guidelines 2016

ยารักษาไวรัสตับอักเสบซี

ยารักษาไวรัสตับอักเสบชนิดซี .. แบบกินอย่างเดียว..หายดีอีกด้วย

  กว่าสิบปีที่การรักษาไวรัสตับอักเสบซี เข้าถึงยากเพราะยาแพงมาก ต่อมายาราคาถูกลง แต่คนก็ยังเข้าถึงน้อยเพราะว่ายาที่ใช้หลักคือ interferon alpha เป็นยาที่ไปปรับแต่งภูมิคุ้มกันของเราให้แข็งแรงพอที่จะกำจัดเชื้อได้  แต่ว่าก็เป็นยาฉีด คนไม่นิยม ปัจจุบันแม้ว่าปรับปรุงวิธีการฉีดยาให้ง่ายแล้ว ก็ยังต้องรบกับผลข้างเคียงคือ อาการ..เศร้า..นอยด์..หมดไฟ..อยากตาย  ที่เป็นสาเหตุหลักให้หยุดการรักษา
  เราจึงพัฒนายาที่ทรงประสิทธิภาพมาก สามารถกำจัดเชื้อไวรัสได้ดีกว่าสูตรยาอินเตอร์เฟอรอนเสียอีก ผลข้างเคียงก็แทบไม่มี ไม่ต้องฉีด กินอย่างเดียว ใช้เวลาสั้นกว่ายากินเสียอีก  มันหรูหรามากแล้วมีข้อเสียไหม  ข้อเสียที่สำคัญมากๆเลยคือราคายาที่ยังแพงมากๆครับ  ในประเทศไทยเอง จากบัญชียาหลักแห่งชาติปี 2559 ปรากฏว่ายังไม่เข้าบัญชียาหลักนะครับ

   แนวทางการรักษาของไทยในปี 2558 มีการใช้ยา sofosbuvir, boceprevir ในการรักษาตับอักเสบซี บางสายพันธุ์ และในบางกรณีเท่านั้น ยาหลักยังเป็นยาฉีด interferon และ ยากิน ribavarin รักษา 24-48 สัปดาห์  เรื่องการเบิกจ่ายนั้น ผมว่าท่านควรปรึกษาหน่วยงานที่รับผิดชอบตัวท่านครับ ผมร่วมเคยรักษาคนไข้จ่ายเองไม่กี่ราย หลักแสนเหมือนกันนะครับ
   ยาใหม่ในต่างประเทศทั้งอเมริกาและยุโรปนั้น สามารถใช้ได้โดยไม่ต้องมี interferon เลย เรียกยากลุ่มนี้ว่า NS5a และ NS5b ที่ปัจจุบันทำเป็นเม็ดรวมกันเลย เช่น sofosbuvir/daclatasvir กินวันละครั้ง ใช้ได้กับ ไวรัสตับอักเสบซีได้ในทุกๆสายพันธุ์  หรือ sofosbuvir/ledipasvir ที่ใช้ได้ในเกือบทุกสายพันธุ์ ก็กินวันละครั้งเหมือนกัน และยาอื่นๆอีกมากมาย เช่น simeprevir, paritaprevir, ombitasvir
  ที่สำคัญช่วยลดระยะเวลาการรักษาจาก 24 สัปดาห์ 48 สัปดาห์ เหลือ 12 สัปดาห์เท่านั้น  จริงๆแล้วพอบวกลบคูณหาร ระยะเวลาที่ลดลงกับผลข้างเคียงที่ลดลง อาจคุ้มค่านะครับ
   ที่ผมเล่ามาว่าใช้ยากินแทนได้ และใช้ได้กับทุกสายพันธุ์ ลดระยะเวลาการรักษานั้น เป็นคำแนะนำระดับ Ia นะครับ ทั้งอเมริกาและภาคพื้นยุโรปประกาศเหมือนกัน พูดภาษาชาวบ้านคือ มีการศึกษาทางการแพทย์ที่ดีมากๆ หลายๆอัน เอามาสังเคราะห์รวมกัน ก็ยังดีมากๆอีก ระดับที่เรียกว่า..ต้องทำครับ แต่ว่าไม่ได้หมายความว่า ยามาตรฐาน interferon/ribavarin จะไม่ดีนะครับ ยังใช้ได้ดีมาก ราคาไม่แพง เข้าถึงได้ง่ายครับ สิทธิบัตรการรักษาของไทยก็ให้เข้าถึงยากลุ่มเดิมนี้ได้มากขึ้น

   แต่ว่าเรื่องเงินไม่เข้าใครออกใครครับ ในอีกหลายๆประเทศก็ยังไม่เขียนในคำแนะนำ เพราะการเขียนคำแนะนำยังจะต้องใช้เรื่องความคุ้มค่าความคุ้มทุนทางสาธารณสุขด้วยครับ เรามีหน่วยงานที่คอยดูแลตรงนี้ด้วยนะครับ ลองหาข้อมูลหน่วยงาน HiTAP ดูนะครับ  ในเมื่องไทยนั้น เมื่อใช้หลักการทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขร่วมด้วย จึงยังไม่ได้ประกาศยากลุ่มใหม่นี้ออกมาใช้อย่างแพร่หลายครับ แต่ว่าก็ยังมีการพิจารณาอยู่ต่อเนื่อง ในอนาคตอาจจะเกิดขึ้นในบ้านเราเมืองเรา
   แต่ตัวยาบางอย่างก็เข้ามาจำหน่ายในเมืองไทยแล้วครับ ราคายังสูงมาก น่าจะสูงกว่าอินเดีย แอฟริกา ก่อนหน้านี้เคยมีปัญหาว่าราคายาในแต่ละประเทศไม่เท่ากัน เพื่อให้คนในประเทศยากจนเข้าถึงได้มากขึ้น และอาจมีกองทุนของอภิอัครมหาเศรษฐีมาช่วยตัดทอนต้นทุน เช่น บิลเกตส์, มาร์คซัคเคอร์เบิร์ก,  แจ็คหม่า, 1412 cardiology, หมอแล็บแพนด้า ..แอบแซวนะครับ... ที่มาช่วยในประเทศนั้นๆ จนเกิดปัญหาราคายาไม่เท่ากันครับ คนอเมริกันเขาประท้วง ผลิตเองทำเอง ทดลองเอง แต่ใช้ยาราคาแพงกว่าชาวบ้านเขา ผมไม่ได้ตามเรื่องนี้ว่าตอนนี้ไปกันถึงไหนแล้ว เห็นว่า ฮิลลารี คลินตัน จะดำเนินโครงการนี้ต่อ

   ที่ร่ายยาวมาทั้งหมดอยากบอกว่า ถ้าคุณติดเชื้อตับอักเสบซี แล้วอายุรแพทย์บอกว่าควรรักษา ขอให้รักษาครับ มันมีโอกาสหายขาด ลดโอกาสตับแข็งและมะเร็งตับ ลดอัตราการเสียชีวิต ปัจจุบันเรามีทางเลือกมากขึ้นแล้วครับ สิทธิการรักษาต่างๆก็รองรับมากขึ้น ถึงแม้เราจะยังไม่ได้ใช้ยากลุ่มใหม่ แต่ยาเดิมคือ interferon/ribavarin ก็ไม่ได้ด้อยประสิทธิภาพนะครับ

เป็นการรักษาอันหนึ่งที่..คุ้มค่า..ครับ

ดาวน์โหลด guideline ได้ฟรี ที่ EASL ยุโรปในปี 2015, AASLD/IDSA อเมริกาในปี 2014, THASL ของไทยปี 2558 ครับ

29 กันยายน 2559

ก้อนที่ต่อมไทรอยด์

ก้อนที่ต่อมไทรอยด์ ..
  ปัญหาสำคัญอันหนึ่งของต่อมไทรอยด์ คือ มีก้อน ทั้งคลำพบเอง มีคนสังเกตเห็น หรือมีความรู้สึกติดๆขัดๆเวลากลืนหรือหายใจ ทำอย่างไร  จริงๆมีแนวทางออกมามากมายและทบทวนวรรณกรรมทางการแพทย์ออกมาบ่อยมากครับ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมเลือกใช้ harrison เป็นแกนครับ แอบดูแผนภูมิจากเล่มอื่นๆ ก็พอๆกัน

   การซักประวัติและการตรวจร่างกายสำคัญมากครับ ระยะเวลาที่โต อาการร่วมอย่างอื่น อาการของไทรอยด์ต่ำหรือเป็นพิษ การขาดสารไอไอดีน  มีผลต่อการวินิจฉัยครับ ต่อมาก็คลำก้อน ก้อนเล็กใหญ่ แข็งเรียบ ขรุขระ พอจะบอกถึงว่าเป็นก้อนหรือแนวโน้มเป็นมะเร็งได้ครับ  ถึงตรงนี้คุณหมอจะพอบอกได้แล้วว่าเป็นอะไร ส่วนการตรวจพบโดยบังเอิญจากการทำอัลตร้าซาวนด์หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ มักจะเจอได้ถึง 5-10% ซึ่งอาจไม่เป็นโรคและยังถกเถียงกันอยู่ว่าต้องตรวจต่อหรือไม่ ต่างจากการคลำพบ หรือการมองเห็นด้วยตานะครับ
    หลังจากนั้นก็คงต้องตรวจวัดฮอร์โมน ถ้ามีลักษณะเป็นพิษอันนี้ต้องแยกว่า ก้อนที่คลำได้เป็นตัวส่งพิษ หรือ ก้อนที่คลำได้นั้น ปกติแต่ไทรอยด์ส่วนที่เหลือเป็นพิษ (cold nodule) ทำไมต้องแยก..เพราะใน cold nodule มีโอกาสเป็นมะเร็งได้ครับ  การแยกนั้นเราจะส่งคนไข้ไปทำ thyroid scan คือฉีดไอโอดีนกัมมันตภาพรังสีเข้าไป แล้วดูว่าไทรอยด์มันดูดซับเข้าไปมากน้อยแค่ไหน รายละเอียดมันลึกไปนะครับ
  ส่วน Hot nodule คือ การทำงานปกติหรือเกินปกติ โอกาสเกิดมะเร็งจะน้อยครับ สามารถใช้ยา หรือใช้วิธีอื่นๆที่ยังไม่ต้องเจาะหรือผ่าได้

   ต่อมาถ้าฮอร์โมนปกติหรือ เป็น cold nodule เราก็จะเจาะเอาเซลต่อมไทรอยด์ไปตรวจครับ ใช้เข็มฉีดยานี่แหละครับ (fine needle aspiration) ขนาดไม่ใหญ่เจาะเข้าไปตรงก้อน แล้วดูดเอาเนื้อเยื่อมาตรวจ จะได้เนื้อเยื่อเล็กน้อยใส่กระจกสไลด์เอาไปตรวจครับ ..สำหรับผู้ป่วย หลังจากดูดตัวอย่างแล้วควรใช้มือกดห้ามเลือดสักระยะนะครับ 10 นาที  และสังเกตว่าบวมหรือไม่ ไทรอยด์เป็นอวัยวะที่มีเลือดมาเลี้ยงมากมาย โอกาสเกิดเลือดออกได้มากครับ
   เรามาดูผลกัน ถ้าออกมาเป็นเซลมะเร็ง อันนี้โอกาสถูกต้องสูงมากครับ คิดดูว่าใช้เข็มเล็กๆจิ้ม โอกาสโดนเซลมะเร็งจะจะแจ้งแจ้ง มีไม่มากยังโดนเลย ก็ไปผ่าตัดครับ ดูชิ้นเนื้อจากผลผ่าตัดอีกครั้ง

   แต่ถ้าผลออกมาไม่เป็นมะเร็ง เราก็ใช้การติดตามครับ แนะนำใช้อัลตร้าซาวนด์ติดตามดูก้อน ว่ามีแนวโน้มโตขึ้นหรือเป็นมะเร็งหรือไม่ อาจทำการเจาะดูดซ้ำโดยใช้อัลตร้าซาวนด์ช่วยชี้ทางจะได้แม่นยำขึ้น ในกรณีทำอัลตร้าซาวนด์แล้วยังคาใจ หรือมีหลายๆก้อน
  แต่ถ้าผลออกมาเป็นตรงกลาง (suspicious) มะเร็งก็ไม่ใช่ จะอะไรก็ไม่ชัด แนวทางส่วนมากจะแนะนำให้ผ่าตัดเลยครับ แล้วดูผลชิ้นเนื้อจากการผ่าตัด หรือถ้าคิดว่าเทคนิคการเจาะยังไม่แม่นพอ อาจใช้อัลตร้าซาวนด์ช่วยเจาะโดยให้นำทางเจาะได้ครับ จะได้แม่นยำขึ้น

  การใช้ยาฮอร์โมนเพื่อไปกดขนาดของก้อน ก็อาจจะยุบลงได้เล็กน้อยครับ ให้คุยกับคุณหมอถึงประโยชน์ที่ได้และผลเสียจากยา ไม่ว่าจะเป็นใจสั่น และโอกาสการเกิดโรคหัวใจนะครับ เพราะโอกาสยุบลงไม่มากนัก
   ถ้าไปกดเบียดการกลืนและการหายใจ คงต้องผ่าออกนะครับ แต่บางทีก็บอกยากว่าจะไปกดทับหรือกีดขวางบริเวณคอหรือไม่

  จึงแถมท้ายด้วยคำถามว่า..นี่คือการทดสอบใด ช่วยบอกอะไร...ลูกเพจคนเก่งช่วยกันตอบทีนะครับ

ที่มา Harrison, AACE, ATA guidelines

27 กันยายน 2559

การช็อกหัวใจด้วยไฟฟ้า

หนึ่ง..สอง..สาม..เคลียร์   ตั่มมมม บี๊บ..บี๊บ.บี๊บ
นี่คือกระบวนการรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะด้วยการใช้ไฟฟ้านั่นเอง

  หัวใจคนเรามีระบบไฟฟ้าคอยควบคุมการทำงานให้เป็นจังหวะราบรื่น สม่ำเสมอ เริ่มจากหัวใจห้องบนลงมาหัวใจห้องล่าง บางครั้งบางคราว กระแสไฟฟ้ามันรวนครับ ทำให้การบีบตัวไม่ราบรื่น บางทีก็พริ้วเสียจนบีบไม่ไหวเลยก็มี เราจึงต้องใช้กระแสไฟฟ้าไปรีเซ็ตหัวใจให้หยุด..กึก..พร้อมๆกัน แล้วการทำงานดั้งเดิมของมันก็จะกลับมาเป็นปกติ
   ท่านๆคงเคยเห็นเครื่องช็อกหัวใจด้วยไฟฟ้าแล้วนะครับ มีสายยาวๆออกมาต่อกับขั้วต่อเข้าที่หน้าอกคนไข้แล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าออกมา เครื่องจะส่งกระแสไฟออกมาพอสมควรนะครับ เป็นกระแสไฟตรงวิ่งจากขั้วที่แปะกับอกคนไข้ขั้วหนึ่ง ไปอีกขั้วหนึ่ง  ใช้พลังงานตั้งแต่ 75 ถึง 200 จูลส์ครับ

   ในกรณีหัวใจเต้นพริ้วมาก จนหมดสติ เลือดไม่ปั๊มออก อันนั้นฉุกเฉินไม่รู้ตัวแล้ว จะช็อกเลยด้วยพลังงานสูงสุด ไม่ต้องให้ยาสลบเพราะสลบอยู่แล้ว แต่ถ้าหัวใจเต้นเร็วมาก แต่ยังไม่ถึงกับเต้นพริ้ว เราจะยังมีสติพูดคุยได้ ถ้าหมอช็อกทันทีจะเจ็บมากครับ หมอจะบอกคนไข้ว่าจะทำอะไร เจ็บแค่ไหน และให้ยาลดปวด ยานอนหลับอ่อนๆ เพื่อให้เคลิ้มๆ ไม่เจ็บมาก
   หลังจากนั้นก็จะหยิบขั้วต่อขึ้นมา ทาเจลที่แผ่นขั้วต่อ เพื่อเพิ่มความไวตัวนำไฟฟ้า ลดการบาดจ็บจากการเผาไหม้ของไฟฟ้า วางขั้วต่อที่กลางอกค่อนไปทางขวา และ ที่ชายโครงซ้าย เอาแบบแนบเนื้อ หลังจากนั้นก็จะกดปุ่มชาร์จไฟ มีอยู่ตรงมือหมอที่จับขั้วต่ออยู่ ใช้เวลาประมาณ 2-3 วินาทีก็พร้อม หมอก็จะนับ หนึ่ง สอง สาม..

  หนึ่ง สอง สาม..วินาที นี่คือ บอกคนอื่นๆให้ออกห่างจากตัวคนไข้และเตียง ตัวหมอเองก็ตรวจความเรียบร้อยตัวเองด้วย ไม่ใช่ช็อกเสร็จ เราหัวใจเต้นผิดจังหวะแทนเพราะไฟฟ้ามาสัมผัส เมื่อทุกอย่างเรียบร้อย ก็กดปุ่มที่มือจับขั้วต่อพร้อมๆกันทั้งสองข้าง เครื่องจะเล็งหาสัญญาณจากการบีบตัวของหัวใจ และส่งไฟฟ้าไปพร้อมสัญญาณบีบตัวนั้น ทำให้กดแล้วไม่ได้ช็อกในทันทีทันใด เมื่อจับสัญญาณได้ก็จะปล่อยไฟฟ้าออกไป เพราะถ้าปล่อยผิดจังหวะ มันจะหน่วงนำให้เกิดการเต้นพริ้วครับ
   แต่ถ้าเต้นพริ้วแล้ว เครื่องจะปล่อยสัญญาณเลยทันทีที่กด เพราะหัวใจเต้นพริ้วมากจึงไม่มีจุดที่บีบตัวสูงสุด เครื่องก็จับไม่ได้เช่นกัน
  เมื่อปล่อยสัญญาณไฟ ตั่มมม ตัวจะกระตุก ไอ้ที่ฉีดยาง่วงๆอยู่จะสะดุ้งตื่นเลยครับ ผมเคยถามคนไข้ที่ผมช็อกเองกับมือ เขาบอกว่าเหมือนถูกกระแทกพร้อมๆกัน ลั่นไปทั่งตัว

  จริงๆแล้วก็ยังมีการวางขั้วต่อแบบหน้าหลังด้วยนะครับ ในกรณีใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ ไม่งั้นไฟฟ้าจะเข้าไปทำให้วงจรอิเล็กทรอนิกส์รวนหมด  หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องใช้แม่เหล็กมาวางบนเครื่องกระตุ้นหัวใจให้หยุดทำงานชั่วคราวก่อนปล่อยกระแสไฟฟ้า
  และยังมีการช็อกโดยใส่สายเข้าไปในห้องหัวใจจริงๆเลย ใช้ในการรักษาในบางกรณี และใช้ใส่ถาวรฝังในทรวงอก (ICD) ในกรณีมีหัวใจเต้นพริ้วบ่อยๆครับ (ventricular fibrillation)
  และการช็อกบางกรณีคือ atrial fibrillation ต้องระวังดีๆเพราะช็อกแล้วถ้ามีลิ่มเลือดในห้องหัวใจ อาจหลุดไปอุดที่สมองได้ จึงต้องให้ยาหันเลือดแข็งก่อนช็อกครับ

  **สำหรับน้องๆหมอทั้งหลายเพิ่มนิดนึงนะครับ การทำ synchronised cardioversion นี้ จะได้ผลดีกรณีกลไกการเต้นผิดจังหวะเป็น re-entry  แต่ถ้าเป็นกลไก increased automatism มักจะไม่สำเร็จครับ**

  ใครหมดไฟในชีวิต อยากชาร์จไฟจริงๆ..หึหึ..มาหาผมได้นะครับ

การติดเชื้อที่แผลผ่าตัด

การติดเชื้อที่แผลผ่าตัด เป็นปัญหาสำคัญของผู้ป่วย ทำให้ต้องเพิ่มวัน เพิ่มค่าใช้จ่าย เพิ่มยา และเป็นตัวชี้วัดที่ไม่ดีของโรงพยาบาล เรามารู้จักการติดเชื้อนี้กันนะครับ บทความนี้อาจมีความลึกเชิงวิชาการบ้างครับ แต่ผมพยายามเขียนให้เข้าใจง่ายๆ ชาวบ้านทั่วไปอย่างเราๆ ได้เข้าใจว่า แนวคิดแนวทางปฏิบัติเป็นอย่างไร

  แบ่งการติดเชื้อจากแผลผ่าตัดได้เป็นสามระดับครับ ตามความลึกของการติดเชื้อดังนี้ ระดับตื้น ระดับลึก และระดับเป็นโพรงฝีหรือกระจายไปอวัยวะอื่น  แต่ละอันก็จะมีองค์ประกอบที่เหมือนกัน คือ มีหนองออกมาจากแผล หรือ เก็บตัวอย่างสิ่งส่งตรวจจากแผล ด้วยวิธีปลอดเชื้อแล้วเพาะเชื้อขึ้น หรือ มีอาการของการติดเชื้อ อาทิ ปวด แดงร้อน มีไข้ แผลแยก เอกซเรย์มีโพรงฝี หรือ แพทย์ผู้ผ่าตัดวินิจฉัยว่าเป็นการติดเชื้อนั้นๆ
  การติดเชื้อจากแผลผ่าตัดนี้ ไม่นับรวมแผลฝีเย็บตอนคลอด แผลติดเชื้อจากการขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ และ มีหนองที่รูฝีเข็มเย็บ (stitch abscess)

  เชื้อที่ก่อโรคเป็นเชื้อรุนแรงหรือเปล่า คำตอบคือ ไม่ใช่นะครับ ส่วนมากก็เป็นเชื้อโรคประจำถิ่น คือเชื้อโรคที่อยู่อาศัยตรงส่วนที่ทำการผ่าตัดนั่นเองครับ ธรรมดาก็อยู่กันดีๆ แต่พอมีการผ่าตัด การอักเสบ กลับติดเชื้อเข้าไปทำให้ก่อโรค เช่น แบคทีเรีย Staphylococcus ที่อยู่ที่ผิวหนัง หรือแบคทีเรีย E.coli ที่อยู่ในลำไส้เรา เมื่อเราผ่าตัด จุดนั้นก็มีรอยแยก มีการอักเสบ เชื้อโรคจึงอาจแทรกซึมมาก่อโรคได้ครับ
  ส่วนการติดเชื้อจากการแพร่ระบาด หรือการติดเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาลเกิดได้น้อยครับ โดยเฉพาะถ้าทางโรงพยาบาลมีนโยบายป้องกันและควบคุมการติดเชื้อที่เข้มแข็ง มักจะไม่มีเชื้อดื้อยาดุๆสักเท่าไร

   มาตรการในการป้องกันจึงเป็นสิ่งสำคัญกว่าการรักษาครับ การแบ่งแผลเป็นแผลชนิดใดๆ เพื่อตัดสินใจให้ยาฆ่าเชื้อเพื่อป้องกันจึงสำคัญ ถ้าเป็นบริเวณปลอดเชื้อเช่น หัวใจ สมอง อาจไม่ต้องให้ยาป้องกัน เพราะไม่มีเชื้อประจำถิ่นอยู่ตรงนั้น ส่วนแผลต้องเปิดผ่านลำไส้ ทางเดินปัสสาวะ ทำให้เชื้อประจำถิ่นฟุ้งกระจายมาติดได้ครับ ควรให้ยาป้องกันก่อนผ่าตัดฟ
   การให้ยาก็ให้ยาที่ครอบคลุมเชื้อบริเวณนั้น 60 นาทีก่อนผ่าตัดครั้งเดียว และให้เพิ่มถ้าการผ่าตัดนานๆ อย่าลืมว่าให้เพื่อป้องกันนะครับ ผ่าเสร็จก็ไม่ต้องให้ต่อไป สูตรการให้ยามีแตกต่างมากมายนะครับ หาเพิ่มเติมได้ในเอกสารอ้างอิง ลิงค์ลำดับสามครับ
  การให้ยาฆ่าเชื้อ antiseptic ก่อนการผ่าตัด ใช้ยาฆ่าเชื้อที่เป็น iodine จะมีผลครอบคลุมกว้างกว่า ส่วน chlorhexidine อาจไม่ครอบคลุมเชื้อรา และถ้าเป็น alcohol ต้องระวังถ้าระเหยไปแล้วจะฆ่าเชื้อน้อยลง

  ไม่แนะนำโกนขนก่อนผ่าตัดเพราะเวลาโกน ผิวหนังจะมีแผลมากมายเชื้อโรคเข้าได้ง่าย อาจใช้การเล็มขนครับหรือถ้าจำเป็นต้องโกนก็ทำวันผ่าตัด
  การทำความสะอาดตัวคนไข้ก็ใช้สบู่ธรรมดานี่แหละครับ ส่วนการฟอกมือก่อนผ่าตัด ยังไม่มีการศึกษาชัดๆว่าสบู่ยาตัวใดจะดีกว่ากัน ก็ฟอกอะไรก็ได้ครับ ให้สะอาดแล้วกัน
  เทคนิคการผ่าตัดต้องปลอดเชื้อครับ การดูแลเฝ้าระวัง ทำแผลหลังผ่าตัดก็ต้องสะอาด เมื่อใดก็ตามเริ่มสงสัยการติดเชื้อให้แจ้งคุณหมอทันทีนะครับ

  เมื่อมีการติดเชื้อ ถ้าไม่รุนแรงมากก็แค่เปิดแผลระบายออก แต่ถ้ารุนแรงก็คงต้องเปิดแผล เอาหนองออกมาเพาะเชื้อ ให้ยาตามเชื้อที่พบ โดยเชื้อที่ต้องระมัดระวังที่สุดจะเป็นเชื้อที่ติดต่อทางการสัมผัสจากมือสู่มือ ของหมอ พยาบาล ญาติ สัมผัสเตียงนั้น เตียงนี้ ที่ชื่อว่า methicillin resistant staphylococcus aureus พบมากสุดและเจอได้ทุกแบบของแผลผ่าตัดติดเชื้อครับ

  การติดเชื้อแผลผ่าตัด อาจเกิดไม่บ่อยมาก แต่ถ้าเกิดจะอันตรายครับ ทางที่ดีเรารู้วิธีป้องกันจะดีกว่า  ปล. เค้าโครงเรื่องจริงอีกแล้ว

ที่มา
http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2812878/
https://www.nice.org.uk/Guidance/cg74
http://www.ajhp.org/cgi/pmidlookup?view=long&pmid=23327981
บทความเรื่อง surgical infection ของ อ.ดรุณี โชติประสิทธิ์กุล ในหนังสือ case-based approach in infectious disease สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย