การติดเชื้อที่แผลผ่าตัด เป็นปัญหาสำคัญของผู้ป่วย ทำให้ต้องเพิ่มวัน เพิ่มค่าใช้จ่าย เพิ่มยา และเป็นตัวชี้วัดที่ไม่ดีของโรงพยาบาล เรามารู้จักการติดเชื้อนี้กันนะครับ บทความนี้อาจมีความลึกเชิงวิชาการบ้างครับ แต่ผมพยายามเขียนให้เข้าใจง่ายๆ ชาวบ้านทั่วไปอย่างเราๆ ได้เข้าใจว่า แนวคิดแนวทางปฏิบัติเป็นอย่างไร
แบ่งการติดเชื้อจากแผลผ่าตัดได้เป็นสามระดับครับ ตามความลึกของการติดเชื้อดังนี้ ระดับตื้น ระดับลึก และระดับเป็นโพรงฝีหรือกระจายไปอวัยวะอื่น แต่ละอันก็จะมีองค์ประกอบที่เหมือนกัน คือ มีหนองออกมาจากแผล หรือ เก็บตัวอย่างสิ่งส่งตรวจจากแผล ด้วยวิธีปลอดเชื้อแล้วเพาะเชื้อขึ้น หรือ มีอาการของการติดเชื้อ อาทิ ปวด แดงร้อน มีไข้ แผลแยก เอกซเรย์มีโพรงฝี หรือ แพทย์ผู้ผ่าตัดวินิจฉัยว่าเป็นการติดเชื้อนั้นๆ
การติดเชื้อจากแผลผ่าตัดนี้ ไม่นับรวมแผลฝีเย็บตอนคลอด แผลติดเชื้อจากการขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ และ มีหนองที่รูฝีเข็มเย็บ (stitch abscess)
เชื้อที่ก่อโรคเป็นเชื้อรุนแรงหรือเปล่า คำตอบคือ ไม่ใช่นะครับ ส่วนมากก็เป็นเชื้อโรคประจำถิ่น คือเชื้อโรคที่อยู่อาศัยตรงส่วนที่ทำการผ่าตัดนั่นเองครับ ธรรมดาก็อยู่กันดีๆ แต่พอมีการผ่าตัด การอักเสบ กลับติดเชื้อเข้าไปทำให้ก่อโรค เช่น แบคทีเรีย Staphylococcus ที่อยู่ที่ผิวหนัง หรือแบคทีเรีย E.coli ที่อยู่ในลำไส้เรา เมื่อเราผ่าตัด จุดนั้นก็มีรอยแยก มีการอักเสบ เชื้อโรคจึงอาจแทรกซึมมาก่อโรคได้ครับ
ส่วนการติดเชื้อจากการแพร่ระบาด หรือการติดเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาลเกิดได้น้อยครับ โดยเฉพาะถ้าทางโรงพยาบาลมีนโยบายป้องกันและควบคุมการติดเชื้อที่เข้มแข็ง มักจะไม่มีเชื้อดื้อยาดุๆสักเท่าไร
มาตรการในการป้องกันจึงเป็นสิ่งสำคัญกว่าการรักษาครับ การแบ่งแผลเป็นแผลชนิดใดๆ เพื่อตัดสินใจให้ยาฆ่าเชื้อเพื่อป้องกันจึงสำคัญ ถ้าเป็นบริเวณปลอดเชื้อเช่น หัวใจ สมอง อาจไม่ต้องให้ยาป้องกัน เพราะไม่มีเชื้อประจำถิ่นอยู่ตรงนั้น ส่วนแผลต้องเปิดผ่านลำไส้ ทางเดินปัสสาวะ ทำให้เชื้อประจำถิ่นฟุ้งกระจายมาติดได้ครับ ควรให้ยาป้องกันก่อนผ่าตัดฟ
การให้ยาก็ให้ยาที่ครอบคลุมเชื้อบริเวณนั้น 60 นาทีก่อนผ่าตัดครั้งเดียว และให้เพิ่มถ้าการผ่าตัดนานๆ อย่าลืมว่าให้เพื่อป้องกันนะครับ ผ่าเสร็จก็ไม่ต้องให้ต่อไป สูตรการให้ยามีแตกต่างมากมายนะครับ หาเพิ่มเติมได้ในเอกสารอ้างอิง ลิงค์ลำดับสามครับ
การให้ยาฆ่าเชื้อ antiseptic ก่อนการผ่าตัด ใช้ยาฆ่าเชื้อที่เป็น iodine จะมีผลครอบคลุมกว้างกว่า ส่วน chlorhexidine อาจไม่ครอบคลุมเชื้อรา และถ้าเป็น alcohol ต้องระวังถ้าระเหยไปแล้วจะฆ่าเชื้อน้อยลง
ไม่แนะนำโกนขนก่อนผ่าตัดเพราะเวลาโกน ผิวหนังจะมีแผลมากมายเชื้อโรคเข้าได้ง่าย อาจใช้การเล็มขนครับหรือถ้าจำเป็นต้องโกนก็ทำวันผ่าตัด
การทำความสะอาดตัวคนไข้ก็ใช้สบู่ธรรมดานี่แหละครับ ส่วนการฟอกมือก่อนผ่าตัด ยังไม่มีการศึกษาชัดๆว่าสบู่ยาตัวใดจะดีกว่ากัน ก็ฟอกอะไรก็ได้ครับ ให้สะอาดแล้วกัน
เทคนิคการผ่าตัดต้องปลอดเชื้อครับ การดูแลเฝ้าระวัง ทำแผลหลังผ่าตัดก็ต้องสะอาด เมื่อใดก็ตามเริ่มสงสัยการติดเชื้อให้แจ้งคุณหมอทันทีนะครับ
เมื่อมีการติดเชื้อ ถ้าไม่รุนแรงมากก็แค่เปิดแผลระบายออก แต่ถ้ารุนแรงก็คงต้องเปิดแผล เอาหนองออกมาเพาะเชื้อ ให้ยาตามเชื้อที่พบ โดยเชื้อที่ต้องระมัดระวังที่สุดจะเป็นเชื้อที่ติดต่อทางการสัมผัสจากมือสู่มือ ของหมอ พยาบาล ญาติ สัมผัสเตียงนั้น เตียงนี้ ที่ชื่อว่า methicillin resistant staphylococcus aureus พบมากสุดและเจอได้ทุกแบบของแผลผ่าตัดติดเชื้อครับ
การติดเชื้อแผลผ่าตัด อาจเกิดไม่บ่อยมาก แต่ถ้าเกิดจะอันตรายครับ ทางที่ดีเรารู้วิธีป้องกันจะดีกว่า ปล. เค้าโครงเรื่องจริงอีกแล้ว
ที่มา
http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2812878/
https://www.nice.org.uk/Guidance/cg74
http://www.ajhp.org/cgi/pmidlookup?view=long&pmid=23327981
บทความเรื่อง surgical infection ของ อ.ดรุณี โชติประสิทธิ์กุล ในหนังสือ case-based approach in infectious disease สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น