27 กันยายน 2559

การช็อกหัวใจด้วยไฟฟ้า

หนึ่ง..สอง..สาม..เคลียร์   ตั่มมมม บี๊บ..บี๊บ.บี๊บ
นี่คือกระบวนการรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะด้วยการใช้ไฟฟ้านั่นเอง

  หัวใจคนเรามีระบบไฟฟ้าคอยควบคุมการทำงานให้เป็นจังหวะราบรื่น สม่ำเสมอ เริ่มจากหัวใจห้องบนลงมาหัวใจห้องล่าง บางครั้งบางคราว กระแสไฟฟ้ามันรวนครับ ทำให้การบีบตัวไม่ราบรื่น บางทีก็พริ้วเสียจนบีบไม่ไหวเลยก็มี เราจึงต้องใช้กระแสไฟฟ้าไปรีเซ็ตหัวใจให้หยุด..กึก..พร้อมๆกัน แล้วการทำงานดั้งเดิมของมันก็จะกลับมาเป็นปกติ
   ท่านๆคงเคยเห็นเครื่องช็อกหัวใจด้วยไฟฟ้าแล้วนะครับ มีสายยาวๆออกมาต่อกับขั้วต่อเข้าที่หน้าอกคนไข้แล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าออกมา เครื่องจะส่งกระแสไฟออกมาพอสมควรนะครับ เป็นกระแสไฟตรงวิ่งจากขั้วที่แปะกับอกคนไข้ขั้วหนึ่ง ไปอีกขั้วหนึ่ง  ใช้พลังงานตั้งแต่ 75 ถึง 200 จูลส์ครับ

   ในกรณีหัวใจเต้นพริ้วมาก จนหมดสติ เลือดไม่ปั๊มออก อันนั้นฉุกเฉินไม่รู้ตัวแล้ว จะช็อกเลยด้วยพลังงานสูงสุด ไม่ต้องให้ยาสลบเพราะสลบอยู่แล้ว แต่ถ้าหัวใจเต้นเร็วมาก แต่ยังไม่ถึงกับเต้นพริ้ว เราจะยังมีสติพูดคุยได้ ถ้าหมอช็อกทันทีจะเจ็บมากครับ หมอจะบอกคนไข้ว่าจะทำอะไร เจ็บแค่ไหน และให้ยาลดปวด ยานอนหลับอ่อนๆ เพื่อให้เคลิ้มๆ ไม่เจ็บมาก
   หลังจากนั้นก็จะหยิบขั้วต่อขึ้นมา ทาเจลที่แผ่นขั้วต่อ เพื่อเพิ่มความไวตัวนำไฟฟ้า ลดการบาดจ็บจากการเผาไหม้ของไฟฟ้า วางขั้วต่อที่กลางอกค่อนไปทางขวา และ ที่ชายโครงซ้าย เอาแบบแนบเนื้อ หลังจากนั้นก็จะกดปุ่มชาร์จไฟ มีอยู่ตรงมือหมอที่จับขั้วต่ออยู่ ใช้เวลาประมาณ 2-3 วินาทีก็พร้อม หมอก็จะนับ หนึ่ง สอง สาม..

  หนึ่ง สอง สาม..วินาที นี่คือ บอกคนอื่นๆให้ออกห่างจากตัวคนไข้และเตียง ตัวหมอเองก็ตรวจความเรียบร้อยตัวเองด้วย ไม่ใช่ช็อกเสร็จ เราหัวใจเต้นผิดจังหวะแทนเพราะไฟฟ้ามาสัมผัส เมื่อทุกอย่างเรียบร้อย ก็กดปุ่มที่มือจับขั้วต่อพร้อมๆกันทั้งสองข้าง เครื่องจะเล็งหาสัญญาณจากการบีบตัวของหัวใจ และส่งไฟฟ้าไปพร้อมสัญญาณบีบตัวนั้น ทำให้กดแล้วไม่ได้ช็อกในทันทีทันใด เมื่อจับสัญญาณได้ก็จะปล่อยไฟฟ้าออกไป เพราะถ้าปล่อยผิดจังหวะ มันจะหน่วงนำให้เกิดการเต้นพริ้วครับ
   แต่ถ้าเต้นพริ้วแล้ว เครื่องจะปล่อยสัญญาณเลยทันทีที่กด เพราะหัวใจเต้นพริ้วมากจึงไม่มีจุดที่บีบตัวสูงสุด เครื่องก็จับไม่ได้เช่นกัน
  เมื่อปล่อยสัญญาณไฟ ตั่มมม ตัวจะกระตุก ไอ้ที่ฉีดยาง่วงๆอยู่จะสะดุ้งตื่นเลยครับ ผมเคยถามคนไข้ที่ผมช็อกเองกับมือ เขาบอกว่าเหมือนถูกกระแทกพร้อมๆกัน ลั่นไปทั่งตัว

  จริงๆแล้วก็ยังมีการวางขั้วต่อแบบหน้าหลังด้วยนะครับ ในกรณีใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ ไม่งั้นไฟฟ้าจะเข้าไปทำให้วงจรอิเล็กทรอนิกส์รวนหมด  หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องใช้แม่เหล็กมาวางบนเครื่องกระตุ้นหัวใจให้หยุดทำงานชั่วคราวก่อนปล่อยกระแสไฟฟ้า
  และยังมีการช็อกโดยใส่สายเข้าไปในห้องหัวใจจริงๆเลย ใช้ในการรักษาในบางกรณี และใช้ใส่ถาวรฝังในทรวงอก (ICD) ในกรณีมีหัวใจเต้นพริ้วบ่อยๆครับ (ventricular fibrillation)
  และการช็อกบางกรณีคือ atrial fibrillation ต้องระวังดีๆเพราะช็อกแล้วถ้ามีลิ่มเลือดในห้องหัวใจ อาจหลุดไปอุดที่สมองได้ จึงต้องให้ยาหันเลือดแข็งก่อนช็อกครับ

  **สำหรับน้องๆหมอทั้งหลายเพิ่มนิดนึงนะครับ การทำ synchronised cardioversion นี้ จะได้ผลดีกรณีกลไกการเต้นผิดจังหวะเป็น re-entry  แต่ถ้าเป็นกลไก increased automatism มักจะไม่สำเร็จครับ**

  ใครหมดไฟในชีวิต อยากชาร์จไฟจริงๆ..หึหึ..มาหาผมได้นะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น