25 กรกฎาคม 2565

เครือข่ายเก็บข้อมูลฝีดาษลิง (SHARE-net)

 มาดูข้อมูลจริงของฝีดาษลิงที่ระบาดอยู่ตอนนี้ จากเครือข่ายเก็บข้อมูลฝีดาษลิง (SHARE-net) ตีพิมพ์ในวารสาร New England Journal of Medicine เอาแบบสรุปและเอาไปใช้ได้เลย

1. โรคนี้มีมานานแล้ว ตั้งแต่ปี 1970 และมีรายงานการระบาดในกลุ่มประเทศแอฟริกามาเรื่อย ๆ จนในเดือนพฤษภาคม 2022 มีรายงานการระบาดในหลายประเทศพร้อม ๆ กันในทุกทวีป
2. ทำไมเพิ่งมาพบมากตอนนี้ สันนิษฐานว่าเกิดจากสามเหตุ คือ ระดับภูมิคุ้มกันโรคฝีดาษที่เคยมีทั่วโลกเริ่มลดลงเพราะเรายกเลิกวัคซีนไป สองคือสภาพแวดล้อมโลกเราเปลี่ยนไป ตัวไวรัสมีการพัฒนามากขึ้น และสุดท้ายคือ การกลับมาเดินทางพร้อม ๆ กันหลังจากต้องกักตัวจากการระบาดโรคโควิดสิบเก้า
3. อาการของโรคจะมีอาการนำเหมือนการติดเชื้อไวรัสทั่วไป ไข้ต่ำ ปวดเมื่อย แต่อาการที่พบมากก่อนตุ่มขึ้น คือแสบคันบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์และรอบทวารหนัก หลังจากนั้นจะพบตุ่มขึ้น ซึ่งตุ่มขึ้นนี้พบ 95% คือแทบทุกคน บริเวณที่พบบ่อยตามลำดับคือ ทวารหนักและอวัยวะสืบพันธุ์ (75%) บริเวณแขนขาลำตัว (55%) บริเวณใบหน้า (25%) ตุ่มไม่ได้พบกระจายไปทั่วทั้งตัว และผื่นที่รายงาน 75% เป็นตุ่มพองน้ำใส ลักษณะอีกข้อที่พบบ่อยคือ ต่อมน้ำเหลืองบวมโต
4. เมื่อตุ่มขึ้นและเริ่มแตกออก จะเข้าสู่ระยะหาย การดำเนินโรคไม่รุนแรง ประมาณ 80% หายเองได้ รักษาตามอาการเล็กน้อย ส่วนอีก 13% ที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เพราะเข้ามารักษาอาการปวดแสบปวดร้อนจากแผล ส่วนที่เหลืออีกเล็กน้อยต้องรักษาเพราะติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนที่ผิวหนัง
5. มียาที่พอใช้ได้ (ข้อมูลการใช้ยาไม่มากเพราะโรคไม่รุนแรงเลย) คือ cidofovir, tecovirimat, vaccinia immune globulin มีรายงานคนที่ต้องใช้ยานี้เพียง 5% ของผู้ติดเชื้อ และทุกคนหายดี ซึ่งไม่มีการเปรียบเทียบข้อมูลกับกลุ่มที่ไม่ได้ยาว่าหายต่างกันไหม ส่วนเหตุที่ได้ยาคือ ผู้ติดเชื้อรายนั้นมีภูมิคุ้มกันต่ำ
6. ติดต่อทางไหน หากตอบตามตำราคือติดทางละอองน้ำลายขนาดใหญ่และการสัมผัสใกล้ชิด แต่ถ้ามาดูตัวเลขตอนนี้ พบว่าการระบาดเกือบทั้งหมด 95% เกิดจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อในระยะแรกของโรคหรือระยะยังไม่เกิดตุ่ม (แต่จะมีอาการแสบคัน) สัมผัสใกล้ชิดในระดับมีเพศสัมพันธ์ แต่ยังไม่นับเป็นการติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ติดเพราะผิวหนังตรงที่มีกิจกรรมต้องสัมผัส เสียดสี นานพอจะติดเชื้อ แม้จะพบเชื้อในอสุจิแต่ยังไม่มากพอจะสรุปว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
7. ในตอนนี้ข้อมูลการสัมผัสใกล้ชิด พบในกลุ่มชายรักชายที่มีเพศสัมพันธ์กัน (98%) และทราบว่าเริ่มมีตุ่มขึ้นขณะสัมผัสโรคเพียง 26% แสดงว่าส่วนมากติดเชื้อตอนที่ยังไม่มีตุ่มขึ้น อันนี้แหละที่น่ากลัวเพราะติดต่อในขณะที่ผู้ป่วยยังไม่มีอาการเลย คล้ายการติดเชื้อเอชไอวี และด้วยหนทางการติดต่อมาทางเดียวกับเอชไอวี จึงมีรายงานผู้ป่วยกลุ่มนี้ในผู้ป่วยเอชไอวีถึง 40%
นอกจากผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ อีกกลุ่มที่เสี่ยงคือบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับผู้ติดเชื้อ
8. แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็น มีอาการนำแล้วตามมาด้วยตุ่มขึ้นในเวลาประมาณ ภายในเจ็ดวัน ส่วนมากที่อวัยวะสืบพันธุ์และทวารหนัก ยิ่งมีประวัติมีเพศสัมพันธ์มาในช่วงเวลาไม่นานนี้ ยิ่งต้องสงสัยและต้องแยกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่มีตุ่มแบบต่าง ๆ ออกจากกันด้วย หรือหากคู่นอนเป็นโรคฝีดาษลิงยิ่งต้องสงสัยมากขึ้น พื้นที่ระบาดตอนนี้ที่มีรายงานมากสุดคือที่ภาคพื้นยุโรป
9. การพิสูจน์การติดเชื้อจากการขูดผิวหนังตรงที่ตุ่มขึ้น ไปตรวจหาสารพันธุกรรมฝีดาษลิงด้วยวิธีพีซีอาร์ เป็นวิธีมาตรฐานและรวดเร็ว โดยแนะนำเก็บตัวอย่างจากบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์และรอบทวารหนักจะมีโอกาสพบเชื้อสูงมาก
10. การรับวัคซีนเพื่อป้องกัน จะทำด้วยวิธี Ring Vaccination คือฉีดเฉพาะวงผู้สัมผัสโรคเท่านั้น โดยใช้วัคซีน JYNNEOS หรือ ACAM2000 ทั้งคู่ใช้สำหรับโรคฝีดาษคน (small pox) และฝีดาษลิง (monkey pox) และขณะนี้เพิ่มคำแนะนำฉีดป้องกันในผู้ที่ต้องทำงานกับ monkeypox virus เพิ่มมาอีกด้วย
ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น