24 กรกฎาคม 2565

David Ho

 David Ho

บางครั้งการอ่านวารสารวิชาการแบบใส่หมูไข่ไก่ต้มยำ ก็อร่อยกว่าอ่านแบบแห้ง ๆ นะครับ บ่ายวันอาทิตย์ผมมาเล่าให้ฟังละกัน
คิดว่าทุกท่านคงรู้จักยากินรักษาโควิดทั้งสองตัวมาแล้วคือ Molnupiravir และ Nirmatrelvir/ritinavir กันมาแล้ว โดยเฉพาะข่าวการหาซื้อยาจากตลาดมืด (มืดหรือเปล่านะ)
ยาทั้งสองตัวนี้มีประโยชน์ในผู้ป่วยโควิดที่อาการยังไม่รุนแรง แต่เสี่ยงจะรุนแรง เช่น มีโรคร่วม อายุมาก ไม่ได้วัคซีน บ้านเราก็เริ่มมีใช้แล้ว และเมื่อสักสองเดือนก่อนเราจะได้ยินข่าวแปลกอันหนึ่งเกี่ยวกับยา Nirmatrelvir/ritonavir (Paxlovid)
ข่าวนั้นคือ มีรายงานว่าผู้ที่ได้รับยา paxlovid ไปแล้ว เมื่อติดตามตรวจหาเชื้อโควิด พบว่ากลับมาเจอเชื้อโควิดอีกครั้ง ทำให้องค์การอาหารและยาสหรัฐและยุโรป รวมทั้งบริษัทไฟเซอร์ ต้องศึกษาข้อเท็จจริงเรื่องนี้กัน ก็พบว่ารายงานนั้นเป็นจริง คำถามคือ แล้วตกลงใช้ได้จริงหรือไม่ คำอนุมัติการใช้ยาแบบเร่งด่วนขององค์การอาหารและยา มันเร่งด่วนเกินไปไหม
ปัญหานี้คงจะเฉย ๆ หรือรอการวินิจฉัย หากไม่ได้ไปเกิดกับบุคคลคนนี้ David Ho
David Ho เป็นคุณหมอนักวิจัยไวรัสวิทยา ชาวไต้หวัน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัย Aaron Diamond AIDS Research ที่อยู่ในมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา สถาบันนี้เป็นสถาบันวิจัยเอกชนที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในอเมริกา มีทุนวิจัยจากกองทุน Aaron Diamond ที่มากมายมหาศาล ถามว่ามากแค่ไหน ก็ดูชื่อผู้สนับสนุนรายใหญ่ คือ บิลล์ และ มาธิลดา เกตส์ อดีตประธานและเจ้าของไมโครซอฟต์ และแจ็ค หม่า เจ้าของอาลีบาบา อันโด่งดัง
แต่ก่อนสถาบันไม่ได้โด่งดังขนาดนี้นะครับ เป็นสถาบันวิจัยไวรัสทั่วไป จนปี 1990 เดวิด โฮ ได้เข้ามาเป็นผู้อำนวยการ และเปลี่ยนทิศทางการวิจัยของสถาบันเพื่อเอาชนะการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ผลงานตีพิมพ์มากมายของสถาบันแห่งนี้เปลี่ยนเอชไอวีไปตลอดกาล สารพัดยาต้านไวรัสก็มีต้นกำเนิดจากที่นี่
เดวิด โฮ มีชื่อเสียงโด่งดังมาก นักวิจัยและผู้บริจาคหลั่งไหลมาที่สถาบันแห่งนี้ จนคุณหมอโอได้รับรางวัล จาก NASEM, Ernst Jung Price ที่ถือเป็นออสการ์แห่งวงการแพทย์ และอย่าลืมว่าคุณหมอโฮ คือผู้รับรางวัลเจ้าฟ้ามหิดลในปี 1993 อีกด้วย แต่ยังไม่พอ ชื่อเสียงโด่งดังสุดในปี 1996 ได้รับการยกย่องเป็นบุคคลแห่งปีของนิตยสาร Times จากการเป็นนักวิจัยผู้ชนะสงครามโรคเอชไอวี
เดวิด โฮ ของเรา เป็นหนึ่งในคณะกรรมการสำคัญของอเมริกาในการควบคุมโรคโควิดเช่นกัน และมาวันหนึ่งเขาก็ติดเชื้อโควิดสิบเก้า แน่นอนเขาเป็นกลุ่มเสี่ยง แม้จะได้รับวัคซีนแล้ว ถึงอาการไม่รุนแรงก็ตาม ภายใน 12 ชั่วโมงเขาได้รับ Paxlovid ตามมาตรฐานการใช้ยาของอเมริกา คุณหมอโฮพักกักตัวและกินยาอย่างเคร่งครัด จนวันที่สี่ของการป่วย คุณหมอตรวจแอนติเจนโควิดไม่พบเชื้อ จึงกลับไปกักตัวรักษาที่บ้าน
คุณหมอโฮ ตรวจแอนติเจนที่บ้านทุกวัน ผลเป็นลบ ตรวจต่อเนื่องกันหกวัน ผลกลับมาเป็นบวกในวันที่ 11 และยืนยันผลหลายครั้งรวมทั้งอาร์ทีพีซีอาร์ ผลก็บวก คือเจอเชื้อ แต่คุณหมอโฮก็ไม่มีอาการแต่อย่างใด ความสงสัยนี้เมื่อตกกับมือนักวิจัยไวรัสอันดับหนึ่งของโลก มันก็เลยต้องแก้ไขด้วยกระบวนการวิธีทางวิทยาศาสตร์ คุณหมอโฮก็ตั้งทีมมาศึกษาและวิเคราะห์ทันที
เราก็ได้ข้อมูลคร่าว ๆ จากทีมมาดังนี้
1.จากการศึกษายา Paxlovid ที่ใช้รับรองผลทั้งคือ EPIC-HR ทำในผู้ป่วยเสี่ยงสูง ที่ไม่ได้รับวัคซีน และทำก่อนการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน พบว่า มีการตรวจพบเจอเชื้อหลังจากรักษาหายแล้ว 1-2% พอกันทั้งฝั่งได้รับยา Paxlovid และยาหลอก
2.มีการศึกษาในฮ่องกง ที่ทำคล้าย EPIC-HR แต่ว่ารวมคนที่รับวัคซีนและไม่ได้วัคซีน และทำหลังการระบาดของโอมิครอน พบว่า Paxlovid ลดการเจ็บป่วยรุนแรงในกลุ่มนี้ได้เช่นกัน แต่ไม่พบข้อมูลการตรวจพบซ้ำหลังหาย
3.มีข้อมูลการติดเชื้อโควิดที่ทำในนักกีฬาบาสเก็ตบอล NBA และสตาฟฟ์โค้ช 14/12/2021 - 01/03/2022 คือหลังการระบาดของโอมิครอน พบว่ามีการตรวจพบแอนติเจนเป็นบวกหลังรักษาหาย เฉพาะแต่ในคนที่ได้รับยา Paxlovid เท่านั้น
แม้ทางผู้ผลิตจะแจ้งว่าการตรวจพบเชื้อหลังหาย (แค่ตรวจพบนะครับ ไม่มีการป่วยหรืออาการใด) เป็นธรรมชาติของโรคและการตรวจ หรือ อาจตรวจตอนแรกเร็วเกินไป เพราะในฝั่งยาหลอกก็พบเช่นกัน แต่เดวิด โฮ ยังไม่ปักใจเชื่อด้วยข้อมูลของนักบาสเก็ตบอล NBA นอกเหนือจากนี้ข้อมูลจากทีมวิจัยของโฮ บอกด้วยว่าเชื้อก่อนและหลัง ยัวเป็นเชื้อตัวเดียวกันและไม่ดื้อยาอีกด้วย เดวิด โฮ ยังเชื่อว่าเกิดจากตัวยา Paxlovid ที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้
ผู้ผลิตแจ้งว่า จะมีการวิเคราะห์ข้อมูลนี้ในการวิจัย EPIC-SR ที่ทำในผู้ป่วยโควิดความเสี่ยงปรกติ และมีการระบาดของโอมิครอนด้วย ว่ายา Paxlovid ทำให้ตรวจพบเชื้อซ้ำอีก หรือเป็นจากธรรมชาติของโรค หรือเป็นความแปรปรวนของการตรวจแอนติเจน (งานวิจัย EPIC-SR ยังไม่เสร็จ)
แสดงว่าตอนนี้ Paxlovid มีข้อกังขา แล้วควรใช้ต่อหรือไม่
ทั้งเดวิด โฮ เองหรือไฟเซอร์ผู้ผลิต ให้ความเห็นตรงกันว่า ถึงแม้มีปรากฏการณ์ตรวจพบเชื้อซ้ำ แต่การตรวยเจอซ้ำนี้ ไม่ได้ก่อโรค ไม่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ และไม่จำเป็นต้องให้การรักษาอีก แต่เดวิด โฮ ยังติดใจเรื่อง หากมีการตรวจพบซ้ำ อาจต้องหยุดงาน ต้องตรวจอย่างอื่นเพิ่ม ซึ่งมีความสิ้นเปลืองทางเศรษฐศาสตร์ ถึงแม้จะไม่กระทบต่อสุขภาพก็ตาม (แหลมคมมาก "not health, but wealth")
องค์การอาหารและยาสหรัฐและยุโรป ก็ออกมาให้ความเห็นว่า ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อโรค และไม่ควรเอาสิ่งที่เจอนี้มาเป็นอุปสรรคขวางกั้นการให้ยา ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีปัญหาการให้ยาน้อยกว่าที่ควรเป็น ทำให้ยังมีความสูญเสียจากโควิดอยู่
** อันนี้ส่วนตัวนะ FDA สหรัฐแนะนำให้ paxlovid ก่อน Molnupiravir และจะใช้ Molnupiravir เมื่อไม่มีทางเลือกอื่น มาจากการศึกษารวบรวมข้อมูล ไม่ได้เทียบคู่กรณีโดยตรงว่า Paxlovid ประสิทธิภาพดีกว่า molnupiravir หากไปดูการศึกษาต้นทางจะเห็นว่า มันเปรียบเทียบกันทางสถิติการแพทย์ไม่ได้เลย **
เป็นอันว่าความสงสัยยังคงอยู่ และต้องรอพิสูจน์ แต่ไม่ได้ห้ามการใช้ยา เรื่องราวต่าง ๆ นี้ลงข่าวในหัวใหญ่ CNN, BBC, Times หรือในทางการแพทย์เช่น Medscape โดยต้นเรื่องมาจากบทความใน JAMA ผมชอบสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ในต่างประเทศ คือ
คุณสงสัยได้ คุณกังขาได้ คุณโต้แย้งได้ และการโต้แย้งของเขาเต็มไปด้วยเหตุผลและข้อมูล ให้คนอ่านคนฟังเจริญหูเจริญตาไปด้วย ข้อสรุปมีทั้งเห็นด้วยเห็นต่าง ไม่มีการโจมตีดิสเครดิต มีผลประโยชน์ทับซ้อนอะไรเขาก็แจ้งให้ทราบ พอตามอ่านการโต้แย้งของคู่กรณี บทบรรณาธิการ จดหมายจากผู้อ่าน ยิ่งสนุกและได้ความรู้ครับ
และหากอ่านหรือนำมาเล่าแบบนิยาย ใส่เครื่องปรุงให้อร่อย ผมว่าสนุกมาก ได้ความรู้ด้วยนะครับ
อาจเป็นรูปภาพของ 1 คน และ ข้อความ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น