Wheeze ไม่ได้หมายถึงหลอดลมตีบอย่างเดียว
เสียงวี้ซ เป็นคำเรียกเสียงที่เกิดขึ้นในเวลาเดียวกันกับเสียงหายใจ เป็นเสียงแทรกเหมือนเสียงเครื่องดนตรี เสียงออกจะดัง มักจะดังกว่าเสียงหายใจ เสียงจะมีความถี่สูง (เสียงแหลม) เคยมีการศึกษาวัดความถี่ของคลื่นเสียงวี้ซได้หลายค่า แต่โดยเฉลี่ยจะสูงกว่า 400 เฮิร์ตส์ขึ้นไป (ATS definition) หากเสียงลักษณะเดียวกันแต่เบากว่า ทุ้มกว่า เราเรียกว่า rhonchi
*** อันนี้โดยส่วนตัวนะครับ ผมมักจะไม่ให้น้ำหนักกับชื่อเรียกที่ต่างกันเพียงแค่ตัวเลขความถี่คลื่นเสียง ส่วนตัวถือว่าไม่ต่างกันนัก ***
เราสามารถตรวจพบเสียงวี้ซได้จากการได้ยิน ไม่ว่าจะได้ยินโดยไม่ต้องใช้เครื่องมือใด หรือใช้หูฟังสเต็ทโตสโคป (แนะนำให้ด้านแบน หรือ diaphragm) การได้ยินเสียงวี้ซ เรามักจะตีความเลยว่าหลอดลมตีบแคบ ซึ่งมันก็ไม่จริงทั้งหมดครับ
เสียงวี้ซ เกิดจากการสั่นสะเทือนของกระแสลมหายใจที่มีความเร็วมากเกินค่าวิกฤตความเร็ว (flutter velocity) สำหรับพื้นที่หน้าตัดค่าหนึ่งและปริมาตรค่าหนึ่งที่ลมหายใจเคลื่อนที่ผ่าน มันเป็นส่วนประกอบกันของ ความเร็ว การสั่นสะเทือน ผนังท่อ สิ่งแปลกปลอมในท่อที่ทำให้ความเร็วเปลี่ยน การได้ยินเสียงวี้ซจึงไม่ใช่หลอดลมเท่านั้น และสาเหตุอื่นที่ไม่ได้เกิดจากหลอดลมตีบแคบ ก็ไม่ตอบสนองต่อยาสูดพ่นขยายหลอดลมเช่นกัน
นอกจากนี้เสียงยังต้องใช้ตัวกลาง ทั้งลมในถุงลม น้ำและเลือดในปอด ผนังทรวงอก ไขมันใต้ผิวหนัง กว่าจะได้ยิน ทำให้ความดังเสียงวี้ซที่ได้ยินไม่ได้สัมพันธ์กับ ความรุนแรงของโรคมากนัก เพราะตัวแปรมันเยอะ และอย่างที่บอกองค์ประกอบการเกิดเสียงวี้ซมีมากกว่าเพียงท่อหลอดลมแคบ เราจึงยังพบอีกหลายภาวะที่ได้ยินเสียงวี้ซ
มาดูภาวะอื่น ๆ ที่เกิดเสียงวี๊ซบ้าง
- มีสารน้ำ สารอักเสบในหลอดลม ถุงลม ทำให้เส้นผ่านศูนย์กลางแคบลง ลมที่ผ่านจะเร็วขึ้น สั่นสะเทือนมากขึ้น เช่น หัวใจวายน้ำท่วมปอด ปอดอักเสบติดเชื้อ หลอดลมอักเสบ
- เนื้อเยื่อเกี่ยวพันรอบหลอดลมผิดปกติ การขยายตัวไม่ดี ลมจึงวิ่งผ่านท่อแคบ ๆ แข็ง ๆ เช่น ปอดเป็นพังผืด (pulmonary fibrosis) โรคของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันเช่นหนังแข็ง (systemic sclerosis)
- โครงสร้างหลอดลมพิการไป ความยืดหยุ่นหายไป เช่น กระดูกอ่อนหลอดลมผิดปกติ
- มีวัตถุแปลกปลอมไปอุดกั้น เช่น มะเร็ง
ซึ่งโรคพวกนี้จะมีอาการและอาการแสดงอื่น ๆ อีกด้วยที่จะบ่งชี้โรคต่าง ๆ ที่ต่างออกไปและการรักษาโรคต่าง ๆ ดีขึ้น เสียงวี้ซก็จะลดลงครับ การสูดพ่นยาขยายหลอดลมอาจทำเพื่อบรรเทาอาการ ไม่ใช่เป็นการรักษาหลัก ไม่เหมือนโรคหืดหรือถุงลมโป่งพองที่ใช้ยาสูดพ่นขยายหลอดลมเป็นยาหลักครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น