09 กุมภาพันธ์ 2565

ผลบวกปลอมในการตรวจ ATK โรคโควิด

 ผลบวกปลอมในการตรวจ ATK โรคโควิด

อย่างที่เคยกล่าวบ่อย ๆ การตรวจทางห้องปฏิบัติการใด ๆ จำเป็นต้องใช้ความน่าจะเป็นก่อนการตรวจมาร่วมคิดผลด้วยเสมอ สำหรับการตรวจ ATK ที่มีความจำเพาะสูง สำหรับคนที่มีอาการของโรคหรือเสี่ยงสัมผัสสูง จะเชื่อถือได้ดีมากในกรณีเป็นบวก

หากนำไปตรวจในกลุ่มตรงกันข้ามล่ะ คือ การตรวจคัดกรองในกลุ่มคนไม่มีอาการ ผลบวกอันนั้นมีผลบวกปลอมบ้างไหม

คำตอบก็น่าจะมีนะครับ เพราะไม่มีการทดสอบใดในโลกที่จะแม่นยำ 100% และหากมีโอกาสเกิดข้อผิดพลาดเกิดขึ้นแล้ว เมื่อเราใช้การทดสอบนั้นเยอะมากพอ เราจะเจอข้อผิดพลาดนั้นแน่ ๆ (หลักการของใครสักคนนี่แหละ จำชื่อไม่ได้แล้ว) เราลองมาดูหลักฐานในการศึกษากัน

การศึกษาทำในโตรอนโต แคนาดา ลงตีพิมพ์เป็น research letter ในวารสาร JAMA เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2022 ที่ผ่านมาทำการศึกษาในช่วงมกราคม 2021 ถึงตุลาคม 2021 โดยเก็บข้อมูลพนักงานที่ต้องตรวจ ATK ทุกสัปดาห์ ไม่ว่าจะตรวจที่บ้านหรือตรวจที่ทำงาน เพื่อมาวิเคราะห์ว่าผลบวกเท่าไร บวกปลอมเท่าไร เกี่ยวกับการระบาดหรือเกี่ยวกับล็อตการผลิตหรือไม่ โดยช่วงที่เก็บนี้ก็มีเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลต้าระบาดถึงสองรอบ

พบว่าข้อมูลการตรวจ 903408 ครั้ง มีผลบวก 1322 ครั้ง (ได้รับการยืนยันด้วยพีซีอาร์เพียง 1103 การตรวจ) คำนวณออกว่าเป็นผลบวกปลอม (คือ ATK บวกแต่ PCR ลบ) 462 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.05 ของผู้ที่เข้ารับการตรวจทั้งหมด

และถ้านับจากคนที่ ATK เป็นบวก 1103 ราย นำกลุ่มนี้ไปยืนยันด้วยวิธีพีซีอาร์ พบว่ามีผลบวกปลอมถึง 42%

ข้อมูลตรงนี้บอกว่ามันมี บวกปลอม อยู่จริงนะ ถึงแม้จะสัดส่วนต่ำมาก แต่ถ้าตรวจปริมาณมาก ตัวเลขมันก็สูงเช่นกัน การแปลผลการทดสอบทุกอย่างต้องใช้หลักการเดิมคือความน่าจะเป็นก่อนตรวจและหลังตรวจ แม้ว่าการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกของการศึกษานี้พบว่าอาจจะเกิดจากล็อตบางล็อตและเทคนิคการทำ แต่โดยรวมมันก็คือ บวกปลอมเช่นกันครับ

“การทดสอบทุกอย่างมีผลปลอม

แต่เจอเธอจะยอม ถึงจะปลอมก็ยอมใจ”

อาจเป็นรูปภาพของ ข้อความ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น