23 มกราคม 2565

Nadia Nadim

 Wonder Woman เป็นชาวอัฟกัน

คุณอาจเคยรู้จัก wonder woman ลูกครึ่งเทพกับชาวแอมาซอน แต่วันนี้ผมจะพาไปรู้จักสุดยอดสตรีผู้สร้างแรงบันดาลใจแห่งอัฟกัน Nadia Nadim

อัฟกานิสถาน ดินแดนแห่งภูเขาและทะเลทราย ดินแดนที่เหล่ามหาอำนาจปรารถนาเข้ามายึดครอง ดินแดนแห่งความรุ่งเรืองแห่งอารยธรรมโบราณ ระหว่างปี 1979-1989 สหภาพโซเวียตได้เข้ายึดครองอัฟกานิสถาน ก่อให้เกิดเหล่าผู้กู้ชาติชาวอัฟกานิสถาน เกิดจากหลายชนเผ่า หลายกลุ่มมารวมตัวกัน ที่เราอาจจะรู้จักดีคือ นักรบมุจาฮีดีน กดดันโซเวียตอย่างต่อเนื่องภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐอเมริกา (ยุคสงครามเย็น) จนโซเวียตถอนทหารออกไปสมบูรณ์ในเดือนกุมภาพันธ์ 1989

หลังจากที่อัฟกานิสถานได้รับการปลดปล่อย ได้มีการพัฒนาประเทศอย่างมาก สิทธิเสรีภาพของประชาชนกลับคืนมา โดยเฉพาะสิทธิสตรีที่กลับมาใกล้เคียงบรรดาชาติเอเชียด้วยกัน ทิศทางประเทศดูฟื้นฟูได้ดี เป็นแบบนี้อยู่เพียงไม่กี่ปี เงาทะมึนก็กลับมาครอบงำอัฟกานิสถานอีกครั้ง ด้วยเงื้อมมือของ ตาลีบัน

กลุ่มตาลีบันเข้ายึดครองคาบูลได้เมื่อปี 1996 และย้ายฐานที่มั่นไปที่กันดาฮาร์ ในช่วงนี้ได้สังหารผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับตน ยึดนโยบายชายเป็นใหญ่อย่างมาก กดขี่สิทธิสตรี หนึ่งในครอบครัวที่ได้รับผลกระทบคือครอบครัวของนาดิม พ่อของเธอที่เป็นทหารถูกสังหารโดยตาลีบัน ในปี 2000 ทำให้ครอบครัวของนาดิมต้องระเห็จระเหเร่ร่อน ลี้ภัยสงคราม ไปที่ยุโรป

เด็กหญิง Nadia Nadim ขณะนั้นมีอายุ 12 ปี ต้องย้ายถิ่นอพยพไปที่เดนมาร์กตามแม่ไป ขณะที่ตั้งถิ่นฐานใหม่ในฐานะผู้ลี้ภัยค่อนข้างลำบาก เธอพูดกับใครลำบากมากเพราะกำแพงภาษา ที่นั่นเธอได้เรียนแต่วิชาคณิตศาสตร์เพราะแม่เธอเป็นคนสอนเอง คุณแม่ของนาเดียจบการศึกษาดีแม้ในฐานะหญิงอัฟกัน ในสมัยก่อนที่ตาลีบันเข้าครองเมือง เมื่อตาลีบันเข้าครองเมืองแล้ว สิทธิการศึกษาของสตรีแทบหมดไป

สิ่งหนึ่งที่นาเดียชื่นชอบหลังจากเข้าสู่แผ่นดินยุโรปคือ ฟุตบอล เมื่อเธอได้เข้าเรียนและมีโอกาสเข้าทีมฟุตบอลท้องถิ่น นาเดียได้ฉายแววนักเตะออกมาอย่างเฉิดฉาย ไม่ใช่นักเตะประเภทเทคนิคดีอย่างโรนัลดินโญ่ ไม่ใช่โป้งปิดบัญชีแบบเลวานดอฟสกี้ แต่เป็นประเภทพาวเวอร์เพลย์ เล่นไม่หยุด ควบคุมเกม ประมาณ โทนี่ โครส ของเยอรมนี ทำให้หลายทีมสนใจและเปิดประตูทางเป็นนักฟุตบอลอาชีพตั้งแต่นั้น

ไม่พอ...เมื่อเธอลี้ภัยและมีถิ่นฐานในเดนมาร์กมานานกว่า 5 ปีและอายุเกิน 18 เธอมีโอกาสติดทีมหญิงชาติเดนมาร์กอีกด้วย ทักษะนักเตะของเธอพัฒนาขึ้นจนได้เซ็นสัญญาร่วมทีมหญิงชื่อดังหลายทีม ไม่ว่าจะเป็นแมนเชสเตอร์ซิตี้ หรือปารีส เซนต์ เยแมง ตอนนี้เธอเข้าสู่ช่วงท้ายอาชีพ และย้ายไปค้าแข้งในเมเจอร์ลีก สหรัฐอเมริกา

ไม่เพียงแค่นั้น ด้วยโอกาสทางการศึกษาที่น้อยมากสมัยที่เธอเป็นเด็กที่อัฟกานิสถาน ทำให้ตัวเธอและครอบครัวกระหายใคร่เรียนอย่างมาก มีอยู่ครั้งหนึ่งสมัยไฮสกูล เธอได้เรียนวิชาแนะแนว ซึ่งให้เธอได้ลองไปอยู่ในสถานที่ทำงานของอาชีพต่าง ๆ เธอได้เลือกคลินิกแพทย์แถวบ้าน ด้วยเหตุผลว่ามันใกล้และเธอจะได้ไม่ต้องตื่นเช้า !!

แต่หลังจากดูงานในคลินิก เธอพบว่างานการรักษาสามารถช่วยคนได้มากมาย และมีโอกาสช่วยคนด้อยโอกาสแบบที่เธอเคยประสบมาก่อน (สมัยที่ตาลีบันครองอำนาจ ไม่ได้สนใจพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานมากนัก) เธอจึงแอบวางแผนที่จะเรียนต่อแพทย์เมื่อมีเวลา

แน่นอนว่าไม่ง่าย เพราะในเวลานั้นเธอต้องเล่นฟุตบอลไปด้วย โชคดีที่ทีมฟุตบอลจะลงซ้อมรอบเย็นที่เธอเลิกเรียนแล้ว เธอต้องจัดสรรเวลาอย่างหนักเพื่อจะเตรียมตัวสอบเข้าและเก็บงำเป็นความลับไม่บอกใคร สุดท้ายเธอสอบเข้าได้ในจังหวะที่ติดทีมชาติเดนมาร์กพอดี

เธอตัดสินใจเรียนไปด้วย เล่นฟุตบอลไปด้วย และไม่ทิ้งโอกาสในทีมชาติ คำปรามาสว่า "ไม่มีใครเรียนแพทย์ไปและเล่นฟุตบอลไปด้วยกันได้หรอก" มันทำให้เธอมุ่งมั่น ว่าฉันต้องทำให้ได้

แน่นอน การเรียนยากลำบาก ต้องจัดสรรเวลา ต้องฝึกซ้อม ต้องเจรจากับสโมสรและคณะแพทย์ แต่สุดท้ายเธอสามารถหาเลี้ยงชีพได้จากการเป็นนักฟุตบอลอาชีพ สามารถเติมฝันของเธอในวัยเด็ก ลบความทรงจำอันโหดร้ายจากการเป็นผู้ลี้ภัย และติดทีมชาติอีกด้วย หลังจากที่เธอเรียนจบ เรียกว่าเรื่องราวของเธอได้เป็นแบบอย่างและแรงใจให้กับเด็ก ๆ ทั่วเดนมาร์ก

เธอตัดสินใจที่จะทำงานเพื่อการกุศลกับยูนิเซฟและยูเนสโก เพื่อช่วยดูแลผู้ลี้ภัย เป็นปากเสียงให้บรรดาผู้ลี้ภัยในค่ายผู้อพยพ สนับสนุนโอกาสทางสังคมให้กับเด็กผู้ลี้ภัย แบบที่เธอเคยประสบมาก่อนในอดีต และเดินหน้าต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีในอัฟกานิสถานภายใต้การปกครองของรัฐบาลตาลีบันคำรบสองในอัฟกัน

อ่านเรื่องราวของเธอแล้วช่างน่าทึ่งครับ จากเด็กที่ขาดโอกาส ต้องลี้ภัย มาเจอสิ่งแวดล้อมใหม่ ต้องปรับตัว หาเลี้ยงตัวจากฟุตบอล ก้าวหน้าจนติดทีมชาติ สู้เรียนแพทย์ในเวลาที่ตัวเองก็ไม่ได้สบายและทำจนสำเร็จ ใช้เรื่องราวของตัวเองเพื่อผลักดันสังคม สู้เพื่อผู้ด้อยโอกาส เป็นแบบอย่างของเด็ก ๆ แบบนี้มันวันเดอร์วูแมนชัด ๆ

ยังไม่พอครับ เธอกำลังเรียนต่อสาขา reconstruction surgery หรือศัลยกรรมตกแต่ง ที่อเมริกาอีกด้วยนะครับ

ใครที่ท้อแท้ เบิร์นเอ้าต์ หมดไฟ ของให้สูดลมหายใจเข้าลึก ๆ คิดถึงสิ่งที่เรามี สิ่งที่เราเป็น คิดถึงเป้าที่เราวางไว้แต่แรก โอกาสของเรายังมีก็จงเดินหน้าสู้ต่อไปครับ คนที่ลำบากกว่าและต่อสู้หนักกว่าเรายังมีอีกมากครับ

อาจเป็นรูปภาพของ 2 คน และ ผู้คนกำลังยืน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น