30 เมษายน 2564
hope and faith
การลดจำนวนบุหรี่กับโอกาสการเกิดโรคที่ลดลง
- สำหรับมะเร็งปอด พบว่าหากลดจากสูบหนักเป็นสูบปานกลาง โอกาสเกิดมะเร็งลดลง 34% และหากลดจากสูบหนักเป็นสูบน้อย โอกาสเสี่ยงมะเร็งปอดลดลง 40% **ข้อมูลโอกาสมะเร้งปอดที่ลดลงมีน้ำหนักและความแม่นยำมากที่สุด**
- โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ พบว่าหากลดลงจากสูบหนักเป็นสูบน้อย โอกาสเกิดโรคจะลดลง 28%
- โรคหลอดเลือดหัวใจ (คิดเฉพาะหัวใจ) ถ้าลดลงจากสูบหนักเป็นสูบปานกลางหรือสูบน้อยมีผลลดโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจทั้งคู่ แต่ข้อมูลพบว่าลดจากสูบหนักเป็นสูบน้อยมีความน่าเชื่อถือและแม่นยำกว่า
- สำหรับอัตราการเสียชีวิตนั้น แม้ข้อมูลยังกระจัดกระจาย แต่แนวโน้มว่า การลดปริมาณจากสูบหนักเป็นสูบน้อย ลดอัตราการเสียชีวิตได้ 28%
- การศึกษานี้ประเมินคุณภาพของงานวิจัยที่มาเข้าร่วมด้วย Newcastle-Ottawa Scale ที่เราอาจไม่คุ้นกันนัก แต่ก็เป็นการประเมินคุณภาพที่ง่ายดี และ 12 จาก 19 การศึกษาจัดเป็นคุณภาพดีตามระบบคะแนนนี้
- การศึกษาเน้นที่จำนวนบุหรี่ต่อวัน แต่ไม่มีปัจจัยเรื่อง ระยะเวลาที่สูบมาก่อน หรือลดลงเป็นเวลานานเท่าไรจึงจะเห็นผลลดความเสี่ยง ซึ่งจริง ๆ แล้วระยะเวลาที่สูบเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลมากกว่า ปริมาณที่สูบ
- ความแปรปรวนของการศึกษายังมาก หลาย ๆ ข้อสรุปของการศึกษามาจากงานวิจัยที่มีความแปรปรวนของผลการวิจัยแต่ละอันสูงมาก ทำให้ผลสรุปบางข้อที่ไม่ใช่เรื่องมะเร็งปอด มีความแม่นยำน้อยลง
- ไม่มีการวัดสารเคมีที่บ่งชี้การสูบบุหรี่ ส่วนมากใช้การสอบถาม บางคนลดปริมาณมวนลง แต่สูบลึกขึ้นเพื่อคงระดับนิโคตินในเลือด (ความลึกของการสูดส่งผลต่อระดับนิโคตินในร่างกาย)
- ยังไม่สามารถแยกข้อที่ปนเปื้อนที่สำคัญคือ ลดสูบแล้วป่วยลดลง หรือเพราะเขาป่วย เขาจึงสูบลดลง
- งานวิจัยแต่ละงานวิจัย มีข้อกำหนดเรื่อง ปริมาณการสูบที่ต่างกัน ลักษณะบุหรี่ในแต่ละงานวิจัยก็ต่างกัน ที่สำคัญคือเป็นการรายงานตัวเอง โดยไม่มีผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการมายืนยัน อาจต้องระวัง recall bias และความน่าเชื่อถือของข้อมูลด้วย
29 เมษายน 2564
น้ำผลไม้ หวานกว่า ผลไม้
การใช้ Electronic cigarettes เพื่อช่วยเลิกบุหรี่ มีหลักฐานเพิ่มจากเดิมหรือไม่ อย่างไร?
เตรียมตัวรับมือหากติดโควิด
เรื่องราวเหล่านี้ ผมเขียนขึ้นมาตามพื้นฐานความรู้ สถานการณ์ ข้อมูลที่ปรากฏ ไม่มีอ้างอิงใด ๆ แต่คุณลองอ่านเพื่อเป็นแนวทางได้
เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 รอบนี้ถือว่าหนัก แม้อัตราการเสียชีวิต อัตราการป่วยวิกฤตจะไม่ขยับมากเท่าไร แต่ปริมาณผู้ติดเชื้อเพิ่มเร็วมาก ผมคิดว่าเราควรคิดสิ่งต่าง ๆ เอาไว้ล่วงหน้าได้แล้ว เผื่อเกิดติดขึ้นมา จะได้ไม่ขาดสติ
🔴 ดูแลตัวเอง ทำเสมือนว่าเรามีเชื้ออยู่และกันไม่ให้ติดคนอื่น โดยเว้นระยะห่างเสมอ พบปะเมื่อจำเป็น ลดการชุมนุม และสวมหน้ากากอนามัย หน้ากากอนามัยมีติดบ้านไว้สำรอง 5-6 อันเสมอ ไม่ต้องตุน มีขายตลอด
🔴 ดูแลตัวเอง ทำเสมือนว่าทุกคนรอบตัวมีเชื้อ เว้นระยะห่างเสมอ ลดการชุมนุม ล้างมือบ่อยที่สุด ใช้สบู่ถ้าทำได้ ถ้าทำไม่ได้ใช้เจลบ่อย ๆ ซื้อเจลพกไว้ประจำตัวเลย
🔴เตรียมตัวว่าเราอาจจะเสี่ยงเมื่อไรก็ได้ ทุกพื้นที่คือพื้นที่เสี่ยง
▪ถ้าเกิดทางทีมสืบสวนโรคตามไปตรวจ ก็อย่าเพิ่งตกใจ เขาจะประเมินและตรวจเมื่อจำเป็น
▪ถ้ามีคนใกล้ชิดสัมผัส ป่วยยืนยันโรค เราจะไปติดต่อใคร โดยทั่วไปก็โรงพยาบาลใกล้บ้าน ถึงโรงพยาบาลไหนเขาไม่รับตรวจ เขาก็จะแนะนำให้ได้
▪ถ้าไม่แน่ใจ ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขโรงพยาบาลใกล้บ้าน ข้อมูลทางออนไลน์บางอันก็คลาดเคลื่อน
🔴ตรวจสอบครอบครัว และสภาพแวดล้อม ถ้าคุณจะต้อง "กักตัว"
▪คุณจะใช้ห้องไหน แยกเสื้อผ้า หมอน ผ้าห่ม จานชาม เตรียมไว้ก่อน
▪มีพื้นที่แยกไหม แยกห้อง แยกบ้าน หรือถ้าไม่มี จัดสัดส่วนแยกจากกัน
▪อาหารการกิน จะซื้ออย่างไร ใครมาส่ง เตรียมเงินไว้ให้พอ ลู่ทางคนส่งอาหารน้ำ
▪ห้องน้ำจะแยกไหม ถ้าไม่แยกหรือแยกไม่ได้ ต้องทำความสะอาดหลังใช้
▪สอนเด็กในบ้าน คนสูงวัย เข้าใจเรื่องการกักตัว การแยกตัว เตรียมไว้
▪อุปกรณ์สื่อสาร ฝึกใช้ให้เป็น แอปเพื่อการดำรงชีพฝึกไว้ ค่าโทรค่าเน็ต เตรียมไว้เลย โดยเฉพาะผู้สูงวัย
▪ถ้ามีเด็ก จะนำเด็กไปฝากใคร
▪ลางานได้ไหม มีเงื่อนไขอย่างไร เงินทองเตรียมไว้บ้างสักสองสามสัปดาห์ เผื่อเหลือเผื่อขาด
▪หนี้รถ หนี้บ้าน ค่าน้ำไฟ ช่วงนี้จ่ายให้ครบเผื่อต้องกักตัว
▪หยูกยาโรคประจำตัว เพียงพอไหม ถ้าใกล้หมดให้โทรติดต่อโรงพยาบาล แจ้งสถานการณ์ให้เขาช่วย
🔴ตรวจสอบครอบครัวและสภาพแวดล้อม หากคุณติดเชื้อ ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล
▪มีสิทธิการรักษาหมดทุกคน ค่าใช้จ่ายเรื่องการรักษาเราเซฟได้
▪เงื่อนไขเงินได้ ตรวจสอบกับนายจ้าง หุ้นส่วน ว่าถ้าต้องหยุดทำอย่างไร จ่ายชดเชยไหม หรือถ้ามีประกันชดเชยรายได้ ประกันการรักษา แบบไหนจ่ายแบบไหนไม่จ่าย เตรียมคิดไว้
▪ฝากบ้านกับใคร ลูกหลานใครดูแล ผู้ป่วยในบ้าน คนเฒ่า จะจัดการอย่างไร
▪เข้าโรงพยาบาลสนามไม่สบายตัวนัก แต่ก็ไม่แย่ เตรียมตัวเตรียมใจถ้าต้องเข้าไป อุปกรณ์สื่อสาร เสื้อผ้าของใช้ เงินทอง หลักฐานประจำตัว สารพัดเครื่องช่วยให้หายเบื่อหายเครียด หนังสือ โทรศัพท์ เกม คิดไว้ก็ดีครับ
▪ถ้าต้องเข้าโรงพยาบาลหรือไอซียู จะฝากใครจัดการเรื่องต่าง ๆ หลักฐานต่าง ๆ แจ้งครอบครัว ที่ทำงาน
▪เตรียมใจ อันนี้สำคัญสุด เราไปรักษา เราไปควบคุมโรค ไม่ได้ไปพักผ่อน ทางโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม โรงแรมพิเศษ เขามีมาตรการเพื่อป้องกันตัวคุณและคนรอบข้าง อาจไม่สะดวกสบาย แต่จำเป็น ให้ปฏิบัติตามเถิดครับ เราอยู่ไม่กี่วัน พนักงานเจ้าหน้าที่อยู่เป็นเดือน
🔴 เมื่อคุณออกมาจากการกักตัวหรือการรักษา
▪ยังคงต้องรักษามาตรการต่าง ๆ เพราะติดเชื้อซ้ำได้
▪แก้ไขสิ่งที่เราต้องทำในช่วงที่กักตัว ชำระค่าใช้จ่าย ขอบคุณคนที่ช่วยเรา ติดต่อนายจ้าง ลูกจ้าง ลูกค้า ใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาทต่อไป
▪เข้ารับวัคซีนได้ แต่อาจต้องมีเงื่อนไข รอกี่วัน หรือปั่นจมูกตรวจซ้ำ
▪ประเมินโรคประจำตัวเดิม ว่าต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการรักษาอย่างไรบ้าง
🔴 สำหรับการป้องกันโรค
▪มาตรการระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมือ ยังต้องทำตลอด
▪รับวัคซีนเมื่อถึงคิวของเรา ย้ำว่า ฉีดดีกว่าไม่ฉีดครับ ยี่ห้อไหนก็ได้ที่เราจะได้เร็วที่สุด ผลข้างเคียงมีรายงานแต่น้อยกว่าโอกาสถูกหวยรางวัลที่หนึ่ง และตอนนี้หากมีผลข้างเคียงจากวัคซีน ทางภาครัฐช่วยดูแลให้ด้วย
▪คุณจะกินอะไรเพื่อป้องกันโรคก็กินไป แต่ต้อง เว้นระยะ ไม่ชุมนุม สวมหน้ากาก ล้างมือตลอด ทำตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ และรับวัคซีน
🔴 รักษาจิตใจให้ดี ระวังไว้ แต่อย่าไปเครียดมาก เรารักษาตัวเองและปฏิบัติสิ่งที่เราพึงทำ แค่นี้ก็ช่วยโลก ช่วยประเทศ ช่วยครอบครัว ช่วยเราเอง ได้มากแล้วครับ อย่าไปหวังพึ่งใคร ทำเองได้เลยวันนี้
28 เมษายน 2564
ISAR-PLASTER กับ Revacept และ งูเขียวตุ๊กแก
Waglery's Pit Viper หรือ งูเขียวตุ๊กแก
งูนี้มีชื่อเพราะ ๆ ทางวิทยาศาสตร์ว่า Tropidolaemus wagleri เป็นงูที่พบมากในดินแดนแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นหนึ่งในงู pit viper มีอวัยวะจับความร้อนที่ชื่อ pit organ อยู่บนศีรษะ และเหมือนงู pit viper อื่น ๆ มันเป็นงูพิษ พิษต่อระบบโลหิตวิทยาทำให้เลือดไม่แข็งตัว
เมื่อปี 2017 Tur-Fu Huang นักวิจัยชาวไต้หวันได้ตีพิมพ์ผลงานเรื่องราวของการสกัดเอาพิษของงูเขียวตุ๊กแกนี้มาทำเป็นยาเพื่อต้านการแข็งตัวของเลือด มีการค้นคว้าวิจัยในหลอดทดลองและในสัตว์ทดลองพบว่าได้ผลพอใช้ได้ อะไรที่ใช้ได้ ?
กลไกการแข็งตัวของเลือดเริ่มต้นที่เมื่อมีการบาดเจ็บของผนังหลอดเลือด จะเกิดการกระตุ้นให้เกล็ดเลือดเข้ามาเกาะเพื่อปกป้องหลอดเลือด (platelet adhesion) และจะหลั่งสารเคมีต่าง ๆ เรียกเกล็ดเลือดมาสามัคคีชุมนุมเพื่อเกิดเป็นลิ่ม ลดการเกิดเลือดออก (platele aggragation) หลังจากนั้นกระบวนการจะเริ่มไปเรื่อย ๆ จนเกิดลิ่มเลือดมาซ่อมจุดบาดเจ็บ ตรงนี้ฟังดูดีนะครับ กับสุดยอดการทำงานของร่างกายเมื่อหลอดเลือดบาดเจ็บหรือฉีกขาด
โดยทั่วไปเกล็ดเลือดจะไม่มาเกาะตัวกับผนังหลอดเลือด แต่เมื่อมีการบาดเจ็บหรือฉีกขาด เส้นใยคอลลาเจนที่เป็นองค์ประกอบของหลอดเลือด จะโผล่ออกมาให้เกล็ดเลือดเห็น เกล็ดเลือดเองก็มีตัวจับคอลลาเจนมากมาย หากโผล่มาเมื่อไร แสดงว่าฉีกขาดอักเสบ ต้องจัดการ ตัวรับสำคัญที่อยู่บนเกล็ดเลือดคือ glycoprotein
ไกลโคโปรตีนที่เราคุ้นเคยดีเช่น Glycoprotein IIb-IIIa และหากเราใช้ยาไปหยุดการทำงานของไกลโคโปรตีนนี้ เกล็ดเลือดจะไม่จับตัว เช่นยา eptifibatide ที่เราใช้เวลาใส่สายสวนและขดลวดเพื่อซ่อมแซมค้ำยันหลอดเลือด
Tur-Fu Huang พบว่าพิษของงูเขียวตุ๊กแกสามารถจับและยับยั้งการทำงานของ glycoprotein VI ของเกล็ดเลือด ขอเรียกสั้น ๆ ว่า GPVI นะครับ ซึ่งเจ้า GPVI จะทำงานอย่างแข็งขันมากและเป็นปัจจัยสำคัญ จะทำงานตรงตำแหน่งที่คอลลาเจนโผล่ออกมาให้เห็นนี่แหละครับ หากใส่พิษงูเข้าไปมันจะไปยับยั้งการจับของเกล็ดเลือดที่ตำแหน่งนั้นเป๊ะ เรียกเป็นภาษาวิทยาศาสตร์ว่า lesion-directed competitive antagonist
นั่นหมายถึง มันก็จะไม่ไปรบกวนกระบวนการแข็งตัวอื่น ๆ ของเกล็ดเลือดเลย ไม่ทำงานเมื่อไม่มีแผลฉีกขาดจนเห็นคอลลาเจน ก็น่าจะไม่ทำให้เลือดออกง่ายจริงไหมครับ มันน่าจะมาปิด painpoint สำคัญของยาต้านเกล็ดเลือดสารพัดชนิดเช่น aspirin clopidogrel ที่ยับยั้งที่ตัวเกล็ดเลือด ทำให้เกล็ดเลือด..หมด..สมรรถภาพทุกหน้าที่ ทุกตำแหน่งของร่างกาย
แล้วถ้าเราเอาพิษงูนี้มาสกัดทำเป็นยาล่ะ แล้วถ้ามาใช้ในหัตถการหลอดเลือดที่เราต้องใส่ขดลวด เวลาใส่ขดลวดค้ำยันก็ต้องมีแผล มีการฉีกขาด ถึงแม้เราจะใข้ยาต้านเกล็ดเลือดหลายชนิด เราก็ยังพบเหตุการณ์ที่ขดลวดตันเพราะมันไปกระตุ้นการเกิดลิ่มเลือด หากใส่พิษงูนี้เข้าไป ไปยับยั้งเกล็ดเลือดเฉพาะตรงที่ใส่ขดลวด มันจะทำให้ขดลวดไม่ตัน โดยที่ไม่มีเลือดออกที่อื่น ...น่าจะดีทีเดียว
และนี่คือต้นกำเนิดของ revacept ยาต้านเกล็ดเลือดชนิดฉีดที่ทำงานยับยั้งการจับเกล็ดเลือดกับคอลลาเจนที่ตำแหน่ง GPVI นั่นเอง และมีการศึกษาการใช้ยานี้เพิ่มเติมไปจากการรักษามาตรฐาน สำหรับการใส่สายสวนเพื่อทำหัตถการหลอดเลือดในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่อาการคงที่แล้ว (ไม่ใช่เฉียบพลัน ไม่ใช่กลุ่มที่อาการหนักหรือไม่คงที่ และนัดมาทำภายหลังได้) ศึกษาที่มหาวิทยาลัยมิวนิค ประเทศเยอรมัน ชื่อการศึกษา ISAR-PLASTER ลงตีพิมพ์ในวารสาร JAMA เมื่อ 31 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา
โดยแบ่งผู้ป่วยออกเป็นสามกลุ่ม คือ กลุ่มได้รับยา revacept 160 มิลลิกรัม 120คน กลุ่มได้รับยา 80 มิลลิกรัม 121คน และกลุ่มยาหลอก 93คน ฉีดครั้งเดียวตอนทำหัตถการ แล้วติดตามดูอัตราการเสียชีวิตและวัดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อหัวใจ (ดูการตีบตันและขาดเลือด)
ผลการศึกษาออกมาว่า อัตราการเสียชีวิต การเกิดกล้ามเนื้อหัวใจบาดเจ็บ การเกิดเลือดออก แตกต่างกันน้อยมากในสามกลุ่ม (ประมาณ 24% พอ ๆ กัน) แม้ว่าการทำงานของเกล็ดเลือดจะลดลงในกลุ่มให้ยาก็ตามที (วัดผลด้วยวิธีพิเศษที่จะวัดว่ายาส่งผลต่อ collagenและGPVI หรือไม่)
ก็เรียกว่าดับฝันไปสำหรับยาต้านเกล็ดเลือดแบบ lesion-specific ตัวนี้และงูเขียวตุ๊กแกของเรา ...ตะ ตะ ตะ ตั๊ก แก่
อ่านเพจนี้ก็จะประมาณนี้นะครับ ออกทะเล เข้าป่า ขึ้นเขา เพื่อที่จะไปซื้อกาแฟหน้าปากซอย
วัคซีนโควิดทุกตัว ได้รับการอนุมัติใช้แบบฉุกเฉิน
อย่าลืมว่า
วัคซีนโควิดทุกตัว ได้รับการอนุมัติใช้แบบฉุกเฉิน การวิจัยและพัฒนายังไม่ถึงที่สุด
ดังนั้น ทุกตัวมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนทั้งสิ้น และประสิทธิภาพก็อาจไม่เหมือนการศึกษาเบื้องต้นที่ออกมาก่อนหน้า
เชื่อว่าทุกคน ทั้งผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้ซื้อ ผู้รับวัคซีน ไม่มีใครอยากให้เกิดผลข้างเคียงทั้งนั้น
เรากำลังลงทุนที่ผลตอบแทนสูง และเสี่ยงต่ำ กับวัคซีนทุกยี่ห้อ
จะเลือกวัคซีนใด เป็นหน้าที่ของรัฐบาล
จะกระจายวัคซีนแบบใด เป็นหน้าที่ของรัฐบาล
ส่วนเรา มาทำความเข้าใจในตัววัคซีน ผลดีผลเสียที่จะเกิด ชั่งน้ำหนักให้ดี ตั้งสติให้มั่น ทบทวนข้อมูล และรับวัคซีนอย่างมีสติ
ใช้วัคซีนที่เรามีในมือ ให้คุ้มค่าที่สุด และผลเสียน้อยที่สุดครับ
ข้อมูลเกี่ยวกับปอดที่ถูกทำลายไปหลังจากติดเชื้อ SARS-CoV-2
ข้อมูลเกี่ยวกับปอดที่ถูกทำลายไปหลังจากติดเชื้อ SARS-CoV-2
เราอาจจะได้ยินข้อมูลมาบ้างเรื่องของปอดที่ถูกทำลาย เห็นภาพรังสีของปอดผู้ป่วยโรคโควิด19 หลายคนตระหนกตกใจว่าการเจ็บป่วยทำให้ปอดแย่แบบนั้นเลยหรือไม่ ก็ลองค้น ลองอ่าน แล้วมาเล่าให้ฟังกันครับ
เรารู้แน่นอนแล้วว่า เซลล์เป้าหมายของเชื้อโคโรนานี้คือเซลล์ระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะทางเดินหายใจส่วนล่าง แต่ก็อาจมีอาการที่ระบบทางเดินหายใจส่วนบนได้เช่นกัน ผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคโควิด19 ที่มีอาการรุนแรง ที่มีอาการวิกฤต หนึ่งในเกณฑ์การวินิจฉัยและสิ่งที่พบประจำคือ ภาพถ่ายรังสีปอดผิดปกติ โดยเฉพาะปอดกลีบล่าง กระจายออกด้านข้างมากกว่าตรงกลาง และเป็นฝ้าแบบเส้นกระจายออกไป
แต่นี่คือลักษณะของการอักเสบเฉียบพลันของปอด เราก็พบแบบนี้ในโรคปอดอักเสบเกือบทุกสาเหตุ ยังไม่สามารถนำมาพยากรณ์ว่าอนาคตข้างหน้าจะเป็นแบบนี้ต่อไป จะดีขึ้น หรือจะหายเป็นปรกติ และที่สำคัญคือโรคโควิด19 เพิ่มอุบัติมาประมาณปีกว่า ยังคงไม่สามารถเก็บข้อมูลปอดอักเสบเรื้อรัง หรือปอดเป็นพังผืดเรื้อรังได้
ข้อมูลที่ออกมาเรียกว่าเป็นผลที่ตามมา (sequelae) จากการป่วยโรคโควิด ที่ยังต้องเก็บข้อมูลเพิ่มเติมและวิเคราะห์ว่า เกิดจากสาเหตุใดกันแน่ จากการอักเสบ จากเชื้อไวรัส จากการรักษาล่าช้า จากโรคเดิมของผู้ป่วย หรือจากเชื้อชาติพันธุกรรม
ข้อมูลทั้งหมดมาจากการเก็บข้อมูล #ในผู้ป่วยโควิดที่อาการรุนแรงหรือวิกฤต# เราไม่สามารถนำไปใช้กับผู้ที่อาการไม่รุนแรงหรือไม่มีอาการได้นะครับ ด้วยเหตุว่าตัวเลขผู้ป่วยอาการรุนแรงหรือวิกฤต มีเพียง 5-10% ของผู้ป่วยโควิดทั้งหมดเท่านั้น ในอนาคตน่าจะมีตัวเลขและความสัมพันธ์ที่ชัดเจนมากกว่านี้
การศึกษาเรื่องนี้กำลังทำอีกหลายการศึกษาเช่น SWISS COVID-19 Lung Study, UK-ILD Long COVID study, PostHospitalization COVID-19 Study การศึกษายังไม่เสร็จในขั้นสุดท้าย ข้อมูลที่ออกมาเกี่ยวกับ "ผลที่ตามมา" ของปอดจากโรคโควิดมีดังนี้
1. ใน SWISS cohort วิเคราะห์ผู้ป่วยหนัก 66 รายจากผู้ป่วย 113 ราย พบว่ากลุ่มผู้ป่วยหนักที่รอด มีผลการวัดสมรรถภาพปอดค่าหนึ่งคือ DLCO ต่ำกว่ากลุ่มที่ความรุนแรงโรคต่ำ ถึง 20% และพบว่าค่า DLCO ที่ลดลงนี้น่าจะเป็นตัวพยากรณ์ที่ดี เพราะเมื่อติดตามกลุ่มที่ DLCO ลดลงไประยะหนึ่ง พบว่าความดันออกซิเจนในเลือดแดงลดลง และ การทดสอบการเดิน 6 นาที ทำได้ลดลง
2. การศึกษาเก็บข้อมูลผู้ป่วยโรคโควิด19 ที่อาการรุนแรงและรอดชีวิต 114 รายในเอกสารหมายเลข 3 พบว่ามีจำนวน 62% ที่ภาพถ่ายเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์หลังหายแล้วหกเดือน ยังปรากฏความผิดปกติที่คล้ายกับปอดเป็นพังผืด (fibrosis) ที่บอกว่าคล้าย เพราะไม่ได้ยืนยันผลด้วยการตัดชิ้นเนื้อ
3. ข้อมูลจาก UKILD COVID พบว่าผู้ป่วยที่อาการรุนแรงในโรงพยาบาล เมื่อติดตามไปจะมีปอดถูกทำลายจากภาพเอ็กซเรย์ 20%
4. ปัจจัยร่วมกันที่พบว่าน่าจะส่งผลให้เกิดการทำลายคือ
* โรคที่รุนแรง ยิ่งรุนแรงยิ่งถูกทำลายมาก
* ระยะเวลาในการรักษา ยิ่งรักษานาน เกิดผลแทรกซ้อนมาก การทำลายก็มาก
* น้ำหนักตัวที่มาก ยิ่งเกิดการทำลายมาก ประเด็นนี้นอกจากพยากรณ์การทำลายในอนาคต ยังเป็นปัจจัยที่บอกอัตราการเสียชีวิตในการป่วยเฉียบพลันอีกด้วย
* อายุมาก
เราจะเห็นว่าข้อมูลเกือบทั้งหมดยังเป็นแค่การติดตามระยะสั้น ไม่เกิน 1 ปี ซึ่งระยะเวลานี้สั้นเกินไปที่จะบอกว่าเกิดการทำลายถาวร และตัวชี้วัดที่ออกมาเป็นตัวชี้วัดชนิด surrogate markers เช่นค่าสมรรถภาพปอด ภาพเอ็กซเรย์ แต่ยังไม่มีการวัดผลเรื่อง คุณภาพชีวิต อัตราความพิการ อัตราตาย ที่เป็น clinical outcome ผลที่เกิดกับผู้ป่วยและกระทบต่อระบบสาธารณสุขที่แท้จริง
สรุปว่า หากป่วยเป็นโควิดแบบรุนแรงหรือวิกฤต เมื่อหายป่วยแล้ว พบความผิดปกติของปอดได้บ้างในระยะสั้น หากมีปัจจัยเพิ่มเช่น โรครุนแรง รักษานาน อ้วน แต่ความผิดปกตินั้นจะหายหรือดีขึ้นหรือแย่ลงหรือไม่ คงต้องรอติดตามกันนานกว่านี้ครับ
เอกสารอ้างอิงข้อ 5 รีวิวมาได้อย่างสุดยอด น่าอ่านมาก และฟรีครับ
ที่มา
1. Pulmonary function and radiological features four months after COVID-19: first results from the national prospective observational Swiss COVID-19 lung studySabina A. Guler, Lukas Ebner, Catherine Beigelman, Pierre-Olivier Bridevaux, Martin Brutsche, Christian Clarenbach, Christian Garzoni, Thomas K. Geiser, Alexandra Lenoir, Marco Mancinetti, Bruno Naccini, Sebastian R. Ott, Lise Piquilloud, Maura Prella, Yok-Ai Que, Paula M. Soccal, Christophe von Garnier, Manuela Funke-Chambour. European Respiratory Journal Jan 2021, 2003690;
2. Han X, Fan Y, Alwalid O et al. Six-month follow-up chest CT findings after severe COVID-19 pneumonia. Radiology 2021;299:E177–E186.
3. BMJ 2020; 370: m3001
4. Imperial College of London News, Kate Wighten, Apr 4th 2021
5. Healing after COVID-19: are survivors at risk for pulmonary fibrosis? Lindsay T. McDonald. American Journal of Physiology-Lung Cellular and Molecular Physiology 2021 320:2, L257-L265
27 เมษายน 2564
ชารอน สโตน ruptured vertebral artery
ปี 1992 มีนักแสดงหญิงคนหนึ่งโด่งดังทะลุฟ้าจากฉากนั่งไขว่ห้างสะท้านโลก จากภาพยนตร์เรื่อง Basic Instinct
ปี 1995 นักแสดงหญิงคนนี้พุ่งถึงขีดสุดของชีวิตนักแสดงด้วยการได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ จากภาพยนตร์เรื่อง Casino
ชีวิต ความรุ่งโรจน์ ชื่อเสียง เงินทอง ไหลหลั่งเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย จนเมื่อเดือนกันยายน 2001 ในบ้านของเธอเอง เธอรู้สึกปวดศีรษะรุนแรงเฉียบพลัน เธอบรรยายว่าเหมือนสายฟ้าฟาดมาที่ศีรษะ หลังจากนั้นขาเธอเริ่มทรงตัวไม่ได้และล้มลง เธอเล่าให้ฟังว่า นาทีที่คนไปช่วยเธอนั้น เธอคุยกับเขาไม่รู้เรื่องเลย
นี่คือเหตุการณ์ชีวิตของ ชารอน สโตน ดาราหญิงระดับท้อปในทศวรรษ 90 กับเหตุการณ์ ruptured vertebral artery dissection
vertebral artery เป็นหลอดเลือดแดงที่อยู่ข้างไขสันหลัง วางแนวตั้งคู่ขนานไปกับไขสันหลังในช่องทางพิเศษสำหรับหลอดเลือดนี้ในกระดูกสันหลัง จากคอ มาที่ฐานของกะโหลกศีรษะ
vertebral artery ทั้งสองเส้นจะพุ่งออกมาจากกระดูกสันหลัง มารวมร่างกันเป็นหลอดเลือดแดงขนาดใหญ่ชื่อ Basilar artery รับผิดชอบส่งเลือดให้กับสมองส่วนก้านสมอง, สมองส่วน cerebellum, สมองใหญ่ cerebrum ส่วนหลัง และไปบรรจบเป็นวงเวียนกับอีกสองหลอดเลือดแดงจากทางด้านหน้า internal carotid artery
เมื่อเกิดการขาดเลือดเฉียบพลันของระบบหลอดเลือดแดงด้านหลัง พื้นที่รับผิดชอบก็จะสูญเสียหน้าที่เฉียบพลัน ก็เหมือนกับหลอดเลือดแดงด้านหน้าขาดเลือด ที่จะมีอาการพูดไม่รู้เรื่อง หน้าเบี้ยว แขนขาอ่อนแรง
แต่หลอดเลือดด้านหลังจะมีอาการที่ไม่เหมือนด้านหน้า เนื่องจากพื้นที่สมองมีหน้าที่ต่างกัน อาการที่พบบ่อยคือ วิงเวียน เซ บ้านหมุน ที่ไม่หายสักที, มีอาการแขนขาอ่อนแรงได้เช่นกัน แต่อาจจะมีหน้าเบี้ยวคนละด้านกับที่ขาอ่อนแรง, พูดตะกุกตะกัก, การเคลื่อนที่ของแขนขาไม่ราบรื่น ติด ๆ ขัด ๆ
การตรวจร่างกายมักพบ แขนขาอ่อนแรง ตากระตุก ร่างกายเซ ภาพซ้อน ที่เป็นอาการแสดงของหลอดเลือดสมองด้านหลัง (posterior circulation of brain) เราเรียกอาการแบบนี้ว่า vertebrobasilar insufficiency ตามชื่อหลอดเลือดสองเส้นนี้ครับ
คุณหมอเขาซักประวัติและตรวจร่างกายจะพอรู้ว่า นี่คืออาการของพื้นที่สมองบกพร่อง เป็นพื้นที่รับผิดชอบของหลอดเลือดแดง และอาการเฉียบพลัน ต้องคิดถึง หลอดเลือดแดงตีบ แตก ตัน บีบรัด อักเสบ
การตรวจสำคัญคือการถ่ายภาพสมองเพื่อยืนยันบริเวณที่เสียหาย และอาจต้องตรวจเอ็กซเรย์หลอดเลือดด้วย ในรายของชารอน สโตน เธอได้รับการตรวจเอ็กซเรย์หลอดเลือดหลังจากที่พบเลือดออกในโพรงรอบสมอง (subarachnoid hemorrhage) ที่อธิบายอาการปวดศีรษะรุนแรงฉับพลันได้ หลังจากตรวจเอ็กซเรย์หลอดเลือดสมอง พบว่า หลอดเลือด vertebral artery ของเธอมีการฉีกขาด !!
การฉีกขาดของหลอดเลือดแดง เป็นการฉีกขาดของผนังหลอดเลือด คุณลองหลับตานึกภาพเอาหนังสือพิมพ์มาสักแผ่น แล้วม้วนให้เป็นหลอดยาว ๆ คุณจะเห็นชั้นของผนังหลอด นั่นคือผนังหลอดเลือด หากฉีกขาดในผนัง เลือดจะเซาะเข้าไปในผนังจนปูดออกมาอุดหลอดจนเกือบมิด แบบนี้เรียก dissecting artery และเป็นการอุดตันตามมา การฉีกเซาะของหลอดเลือดนี้ทำให้มีอาการเจ็บรุนแรงมากเช่นกัน และถ้าหากการเซาะฉีกมันรุนแรงจนออกมาที่ผนังด้านนอกสุด อาจแตกออกเป็นเลือดออกสู่ภายนอกได้ ซึ่งโรคของชารอน สโตนก็เป็นแบบนี้ครับ
การรักษาคือการผ่าตัด หรือการทำหัตถการผ่านสายสวนหลอดเลือด เพื่อทำให้จุดฉีกขาดมันสงบนิ่ง ไม่อุดมากขึ้นหรือไม่ขยายจนแตกออก รายละเอียดขอไม่กล่าวถึงเพราะทำไม่เป็นเหมือนกัน
และนี่คือจุดสำคัญของเรื่องนี้ หลังจากที่ชารอน สโตน ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ชีวิตเธอก็ร่วงโรย งานหาย ชื่อเสียงหาย มีปัญหาเรื่องมรดก แถมตัวเองก็ป่วยหนัก
***แต่เธอก็ไม่ท้อ ค่อย ๆ แก้ปัญหาพร้อมกับทำกายภาพบำบัดอย่างไม่ย่อท้อ จนอีก 3 ปีต่อมา ในปี 2004 เธอกลับมาใช้ชีวิตตามเดิมได้ หลุดพ้นจากความพิการ***
มาตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองและฟื้นฟูสมรรถนะร่างกายอีกด้วย และออกพิมพ์หนังสือถ่ายทอดประสบการณ์ชื่อ "The Beauty of Living Twice" ราคา 17.04 ดอลล่าร์สหรัฐ (ผมซื้อแบบ kindle ebook ราคา 13 ดอลล่าร์)
ปรบมือให้ความแกร่งของเธอ ชารอน สโตน
เกร็ดความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ สำหรับคนกินยา NOACs
เกร็ดความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ สำหรับคนกินยา NOACs
จากแนวทางการใช้ยา Non-Vitamin K Antagonist Oral Anticoagulations สำหรับผู้ป่วย atrial fibrillation ของ EHRA 2021 (ไปโหลดมาอ่านได้ฟรี)
ต้องยอมรับว่าข้อมูลในปัจจุบันการใช้ยาต้านเลือดแข็งกลุ่มใหม่ ดีกว่ายาเดิมคือ warfarin ในทุกการศึกษา ไม่ว่าจะกันเลือดแข็งได้ไม่ต่างกัน แต่เลือดออกน้อยกว่า กินยาง่ายกว่า และหากคิดถึงผลได้เสียทางเศรษฐศาตร์สาธารณสุขก็คุ้มค่า (ในประเทศอื่น) ปัจจุบันก็มียาใช้หลากหลายทั้ง rivaroxaban, apixaban, edoxaban และ dabigatran คุณหมอและคุณเภสัชจะคุยกับคุณอย่างละเอียดแล้วล่ะ
แต่ก็มีบางประเด็นที่อาจเกิดขึ้น และแนวทางนี้มีคำตอบให้
1. ถ้าลืมกิน ทำอย่างไร
- ในกรณียากินวันละครั้ง ถ้าลืมมาเกิน 12 ชั่วโมงก็ไม่ต้องกินแล้ว ไปกินมื้อต่อไปตามปกติ
- ถ้ากินยาวันละสองครั้ง ใช้ตัวเลข 6 ชั่วโมง ถ้าเลย 6 ชั่วโมงมาแล้วก็ไม่ต้องกินแล้ว ไปกินมื้อต่อไปตามปกติ
2. ถ้ากินซ้ำ หรือ กินมากกว่ากำหนด
- ในกรณีกินยาวันละครั้ง ก็ทำใจสบาย ๆ กินมื้อต่อไปตามเดิม (และอย่ากินเกินอีก)
- ในกรณีกินยาวันละสองครั้ง ให้งดยามื้อถัดไปหนึ่งมื้อ ต่อไปก็กินตามเดิม
3. ถ้าไม่แน่ใจ ลืมหรือเปล่า หรือกินยาเกินไหม
- ในกรณีกินยาสองครั้ง ก็เลิกคิดแล้วไปกินยามื้อต่อไปตามเดิม
- ในกรณีกินยาวันละครั้ง และความเสี่ยงเกิดลิ่มเลือดต่ำ ก็เลิกคิด ให้กินยามื้อต่อไปตามเดิม
- ในกรณีกินยาวันละสองครั้ง และความเสี่ยงการเกิดลิ่มเลือดสูง ถ้าเวลาที่เราลังเลนี้ยังไม่เกิน 8 ชั่วโมงจากเวลากินยาปกติ ก็กินยาขนาดเดิมตอนที่ไม่แน่ใจ แล้ววันต่อไปกินตามปกติ
4. อ้อ ข้อ 1-3 ใช้ขนาดยาตามเดิมนะ ไม่ต้องลดหรือเพิ่ม
5. การกินยา NOACs ข้อผิดพลาดสำคัญคือ กินยาไม่ถึงขนาดรักษา ปรับลดยาความความรู้สึก เช่น ผอม อายุมาก กลัวเลือดออก คือเวลาจะให้ยาคุณหมอและเภสัช เขาจะคำนวณขนาดยามาแล้ว มีตารางการให้ตาม อายุ ค่าไต น้ำหนัก เมื่อคำนวณได้แค่ไหน กินตามนั้น อน่าปรับลดตามความรู้สึก มันจะไม่ได้ประโยชน์ตามที่ต้องการ
6. ผู้ป่วยฟีดอาหารทางท่อสายยาง ให้ใช้ยา rivaroxaban, apixaban, edoxaban **ส่วนใครที่ใช้ dabigatran ไม่ควรแกะแคปซูลมาให้ยา ห้ามเลยครับ**
7. ถ้าจะไปฉีดวัคซีน อันนี้รวมวัคซีนโควิดด้วย ไม่ถือเป็นข้อห้าม ฉีดได้ บอกหมอด้วยว่ากินยาอยู่ หมอเขาจะได้ใช้เข็มขนาดเล็กฉีดให้ และหลังฉีดก็กดนาน 5 นาที โดยวันที่ฉีดให้งดยามื้อเช้า ถ้าใครกินมื้อเช้า แล้วพิจารณาต่อดังนี้
- ยากินวันละครั้ง กินยาหลังรับวัคซีนผ่านไปแล้ว 3 ชั่วโมง แล้ววันต่อไปกินตามเวลาเดิม
- ยากินวันละสองครั้ง กินยามื้อต่อไปได้เลย
8. ฝากถึงหมอที่ปรับยา แนวทางนี้ระบุว่า การศึกษาเรื่องการปรับยา NOACs ในผู้ป่วยไตเสื่อม เขาใช้สูตรคำนวณ Cockcroft-Gault เป็นหลักครับ ใช้สูตรอื่นจะประเมินสูงกว่าความจริงไปสักเล็กน้อย
9. ในสถานการณ์โควิด สามารถกินยาได้ตามเดิม (ง่ายด้วยเพราะไม่ต้องไปเจาะเลือดวัดระดับ INR) แต่ต้องระวังหากต้องมีการใช้ยาเมื่อรักษาในโรงพยาบาล อาจมีอันตรกิริยาระหว่างยาได้ ให้บอกหมอทุกครั้งว่ากินยาต้านการแข็งตัวของเลือดอยู่
10. จากข้อ 7 ใครจะฉีดวัคซีน ไม่ต้องมาปรึกษาผมหรือให้ผมฉีด เพราะ...เข็มผมไม่เล็กนะคร้าบ
26 เมษายน 2564
ดักแด้ทอด
ดักแด้ทอด
Pros : โปรตีนและพลังงานสูง
Cons : ระวังความสะอาด และ เค็มมาก เครื่องปรุงเพียบ
สรุป : หมดจานเจ้าค่ะ
คนสูบบุหรี่จะป่วยเป็นโรคโควิดรุนแรงขึ้นไหม ...?
คนสูบบุหรี่จะป่วยเป็นโรคโควิดรุนแรงขึ้นไหม ...?
คิดตามเหตุผลก็น่าจะเป็นอย่างนั้นใช่ไหม สูบบุหรี่ประจำสุขภาพย่อมไม่ดี มีโรคนั่นนี่เยอะแยะ ถ้าป่วยเป็นโควิดน่าจะรุนแรง (ย้ำว่า ถ้าเป็นแล้วจะรุนแรง ไม่ใช่มีโอกาสติดมากขึ้นนะ) มีหลักฐานไหม ลองมาดูข้อมูลชุดนี้กัน
ข้อมูลการศึกษาตีพิมพ์แบบ research letter ในวารสาร JAMA Internal Medicine เมื่อ 25 มกราคม 2564 เป็นข้อมูลที่เก็บจากฐานข้อมูลผู้ป่วยที่ Cleveland Medical Center ในช่วงที่โควิดระบาด มีนาคม 2563 จนถึง สิงหาคม 2563 โดยผลคัดมาแต่ผู้ที่ยืนยันโรคโควิดและมีประวัติเรื่องการสูบบุหรี่ครบถ้วน
*** จุดสังเกตข้อแรก อาจจะไม่ได้แปลผลถึงผู้สูบบุหรี่ทุกคนได้ เพราะวิเคราะห์แต่ผู้ที่ข้อมูลครบถ้วนเท่านั้น ถึงแม้สูบแต่ข้อมูลไม่ครบก็ไม่นำมารวมครับ ***
พบว่ามีผู้ป่วย 7012 รายที่มีข้อมูลการสูบบุหรี่ครบถ้วน เป็นผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่ 6020 ราย มีคนที่กำลังสูบอยู่ 172 ราย (2.4%) และเคยสูบแต่เลิกแล้ว 910 ราย (12.8%)
*** จุดสังเกตต่อมา มีผู้ป่วยที่สูบบุหรี่ไม่มากนัก แน่นอนว่าอุบัติการณ์โรครุนแรงหรืออัตราตายย่อมไม่สูง เพราะจำนวนไม่มากพอ อาจระบุความสัมพันธ์ระหว่างโควิดกับบุหรี่ได้ยาก ***
กลุ่มประชากรที่สูบบุหรี่ปริมาณมาก (วัดที่จำนวนซองปี) จะเป็นคนที่อายุมาก ซึ่งแน่นอนจะสูบปริมาณมากได้อายุต้องมากพอ ยกตัวอย่าง คนที่สูบบุหรี่มากกว่า 30 ซองปี มีอายุเฉลี่ยที่ 71 ปี คนที่สูบบุหรี่น้อยกว่า 10 ซองปี มีอายุเฉลี่ยที่ 53 ปี
*** จุดสังเกตต่อมา ถ้าผลออกมาว่าสูบมากจะสัมพันธ์กับโรครุนแรง มันอาจมี confouder ที่สำคัญคืออายุ ไม่รู้ที่แย่ แน่เพราะสูบมากหรืออายุมาก หรือทั้งคู่ ***
ทำให้ต้องไปมองว่า กรรมวิธีการศึกษามีวิธีการตัดตัวรบกวนนี้ไหม ก็พบว่ามี เป็น multivariate logistic regression analysis แต่ยิ่งมีตัวกวนมาก ตัดมาก ผลลัพธ์ยิ่งแปรปรวนมาก
พบว่ากลุ่มที่สูบบุหรี่มาก อายุมาก ก็เป็นกลุ่มที่มีโรคร่วมมาก และมากขึ้นตามอายุ เอาอีกแล้ว ตัวกวนข้อมูลมาอีกแล้วแถมเยอะด้วย ก็ต้องไปดูอีกว่าวิเคราะห์แยกตรงนี้ไหม พบว่าวิเคราะห์แยก
*** แต่เป็นการวิเคราะห์แยกที่ไม่ได้กำหนดตัวกวนแต่ละตัวไว้ก่อน (prespecified analysis) สาเหตุที่ทำไม่ได้เพราะนี่คือการเก็บข้อมูลก่อนแล้วมาวิเคราะห์ มันกำหนดไม่ได้ ความน่าเชื่อถือของผลการศึกษาจะยิ่งลดลง ***
ยังไม่ได้ดูผลเลยนะ เอาแค่วิธีการ ก็น่าจะบอกได้เพียงความสัมพันธ์ "แบบหลวม ๆ" ถ้ายิ่งผลการศึกษาออกมากำกึ่ง ๆ ล่ะก็อาจต้องพับงานวิจัย งั้นมาดูผลกัน
ผลออกมาว่า เมื่อเทียบกับคนที่ไม่เคยสูบบุหรี่เลยนั้น
▪ถ้าสูบบุหรี่มากกว่า 30 ซองปี จะเพิ่มการนอนโรงพยาบาลจากโควิดมากขึ้น 2.25 เท่า
▪ถ้าสูบบุหรี่มากกว่า 30 ซองปี จะเพิ่มโอกาสเสียชีวิตมากขึ้น 1.89 เท่า (เสียชีวิตจากโควิดหรือไม่ ก็ไม่ได้ระบุ)
▪โดยผลการศึกษาทั้งคู่มีนัยสำคัญทางสถิติ
เราก็พอสรุปได้ว่า การสูบบุหรี่ปริมาณมาก มีความสัมพันธ์ต่อความรุนแรงและอัตราการเสียชีวิต ในผู้ป่วยโรคโควิด-19 จริง (แต่สำหรับผม ผมจะประเมินความหนักแน่นและระดับคำแนะนำไม่สูงมากนัก) ให้คิดไว้เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ควรซักถามเวลาพบผู้ป่วยโควิด แต่ไม่ถึงขั้นเอาไปจัดลำดับความรุนแรงโรคตามปริมาณการสูบได้ และคงบอกว่า "การสูบบุหรี่ 'ทำให้'ป่วยเป็นโควิดหนักขึ้น" ยังไม่ได้เพราะหลักฐานไม่หนักแน่นขนาดนั้นครับ
ช่วงนี้ ต่อมสงสัยhypertrophy !?!
cereal
ถ้าคุณเป็นมนุษย์ซีเรียลแบบผม เรื่องนี้ผมเขียนเพื่อสนองตัณหาตัวเอง แต่คุณก็อาจนำไปใช้ได้นะครับ
ผมเป็นมนุษย์สำเร็จรูปคนหนึ่งครับ เพราะด้อยความสามารถในการทำอาหาร และด้วยอาชีพที่เวลาว่างไม่มากนัก อาหารที่กินส่วนมากเน้น ง่ายและเร็ว ผมเชื่อว่าหลายคนก็เป็นแบบนี้ หนึ่งในอาหารที่ผมใช้ดำรงชีพบ่อยที่สุด คือ cereal
เรามักจะคุ้นกับภาพโฆษณาอาหารเช้าที่ทรงคุณค่า พร้อมรับวันใหม่ แม่ที่เก่งจะเลือกอาหารนี้ให้ลูก ผมก็ติดโฆษณาเหมือนกันในตอนแรก แต่พอเราเอามาคิดอีกที ที่ต้องคิดเพราะเราเลือกอาหารที่เร็วและง่าย เราจึงต้องมี "กลยุทธ" การเลือกครับ พบว่ามันก็ไม่ได้ดีทั้งหมดและไม่ได้แย่เสียทีเดียว
เรามาที่ข้อดีก่อนแล้วกัน
ถ้าคุณมีเวลาน้อย จงยอมรับเถอะว่า นี่คือตัวเลือกที่ดีอันหนึ่ง ซีเรียลหนึ่งถ้วยประมาณ 40 กรัมใส่นมหนึ่งแก้ว เติมกล้วยครึ่งลูก ได้พลังงานประมาณ 300-400 กิโลแคลอรี่ นับว่าพอสำหรับกิจกรรมช่วงเช้า
สารอาหารที่ได้ก็ไม่ได้ขี้เหร่ คาร์บ ไฟเบอร์ โปรตีนจากนม เกลือแร่วิตามินก็พอมี ยิ่งเติมผลไม้เข้าไปยิ่งเพิ่มคุณค่า จัดว่าพอเพียงและใช้ได้ครับ
เก็บได้นานครับ ผมเทจากห่อเก็บในกล่องสุญญากาศ ซื้อห่อใหญ่ราคาประหยัดกว่า นมที่ผมใช้เป็นนมกล่องยูเอชทีหาซื้อทั่วไปนี่แหละครับ เป็นรสจืดพร่องมันเนย ใช้ครั้งละกล่อง คู่นี้สามารถซื้อและเก็บได้นาน ใช้สะดวก
เทคนิคคือ ควบคุมการกินให้ดี เทใส่ชามแล้วเก็บกล่อง ห้ามเติมอีกไม่งั้นจะคุมพลังงานไม่ได้ สำคัญคือเติมผลไม้เข้าไปด้วย แนะนำผลไม้สดครับ กล้วยหอม ส้ม แอปเปิ้ลหั่น องุ่น ช่วยปรุงรสได้แต่ อย่าใส่เยอะเกิน น้ำตาลมันสูง และผมมักจะกินคู่กับไข่ต้มอีกฟอง เพิ่มโปรตีนครับ บางมื้อจะมีผักสลัดแช่แข็งมาสับเป็นโคลสลอว์เย็น ๆ อีกครึ่งถ้วย
คราวนี้เรามาดูข้อเสียกันบ้าง
ซีเรียลเป็นอาหารที่ผ่านกระบวนการทางอุตสาหกรรมเยอะมาก คุณค่าทางอาหารต่าง ๆ ย่อมไม่เหมือนของสด วิตามิน ไฟเบอร์หลายอย่างก็เติมเข้าไปในการผลิต อย่าไปคาดหวังว่ามันจะวิเศษเหมือนในโฆษณานะครับ โดยเฉพาะ whole grain ที่มีน้อยมาก
อ่านฉลากอาหารทุกครั้ง คุณจะพบว่าซีเรียลเป็นอาหารที่ให้พลังงาน "สูง" นะครับ มันจึงเหมาะกับคนที่ใช้พลังงานมากและเวลาน้อย หากคุณต้องควบคุมพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นเบาหวานหรือลดน้ำหนัก ต้องกำหนดปริมาณให้ดี ว่าต้องใช้เท่าไร และสังเกตด้วยว่า มันเติมน้ำตาลลงไปพอสมควรแล้วครับ อย่าใช้นมรสหวานอีก หรือเลือกชนิดที่ไม่แต่งสีและกลิ่น จะได้น้ำตาลลดลง
ใส่แค่นม.. ไม่พอนะครับ แม้พลังงานและคุณค่าทางอาหารจะไม่ได้ขี้เหร่ แต่ถ้าแค่ซีเรียลใส่นม ไม่พอแน่นอน ผมจึงต้องเสริมด้วยไข่ต้ม เติมผลไม้ในชามซีเรียล และผักสลัด ยกเว้นบางวันรีบมากก็ซัดแค่ซีเรียลใส่นม แล้วไปเติมส่วนที่ขาดในมื้ออื่น
กินมากไปก็อ้วนได้ เพราะมันพลังงานสูง ยิ่งเป็นแบบรสหลากหลายเอย ผสมน้ำผึ้งเอย ยิ่งอ้วนง่าย แต่ที่อ้วนง่ายกว่าคือ กินมากเกินไปครับ ยิ่งใส่นมรสหวาน เติมกล้วยมาก ๆ หรือใส่แยมลงไป ก็อ้วนทีเดียว ดังนั้นกำหนดปริมาณและซื่อสัตย์กับมันด้วยครับ
ถ้าคุณมีเวลาพอ ใช้ข้าวโอ๊ตจะดีกว่าซีเรียลสำเร็จรูปครับ เต็มมื้อต้องมีการต้มกับนมอุ่น ใส่ผลไม้ ใส่น้ำผึ้ง กินคู่ขนมปังอบ หมูย่างสักไม้ มันก็ดีครับ แต่จะไปราวด์เช้าไม่ทันแน่นอน
ผมจะเอาทริกการกินแบบไม่เสียสุขภาพ สำหรับมนุษย์สำเร็จรูป มาเล่าให้ฟังอีกนะครับ แม้จะไม่ใช่มื้ออาหารที่ดีที่สุดแต่เพราะตัวเองต้องใช้ จึงศึกษาและมาแบ่งปันกันครับ
"บ้านพี่ขาดคนหุงข้าว อยากเจ้าให้มาช่วยหุงช่วยหา
พี่จะเป็นฝ่ายขาดทุน ยอมให้ใช้นามสกุล จ่ายมาสองล้านห้า"
25 เมษายน 2564
medicine update 2020 เล่ม 1 และเล่ม 2 และ progress in medicine
หนังสือตำรา "medicine update 2020 เล่ม 1 และเล่ม 2 และ progress in medicine" รวมแพ็กอัพเดตสามเล่ม ชุดนี้ชอบมากในบรรดาหนังสือจาก Jaypee ตำราจากฝั่งอินเดีย
ยูวาล โนอา แฮรรารี่
หนังสือสามเล่มของยูวาล โนอา แฮรรารี่ ผมอ่านครบทั้งสามเล่ม ทั้ง sapiens, 21 lessons for 21 century และ homo deus และอ่านสองรอบทั้งสามเล่ม
เป็นหนังสือที่ดีนะครับ อธิบายปรัชญาเชิงลึก และเหตุผลภาพรวมได้สุดยอด
แต่ผมว่า แฮร์รารี่ จะติดเสียดสีศาสนาไปสักเล็กน้อย ทำให้อ่านแล้วรู้สึกขัดใจ ไม่ใช่ว่าไม่ดีแค่แกชอบยก "ปม" ศาสนากับวิทยาศาสตร์มากเกินไป
ส่วนหนังสือของ จาเร็ด ไดมอนด์ ทั้ง upheaval และ Gun Germ and Steel ผมอ่านทั้งสองเล่ม แต่อ่านรอบเดียว (ไม่ซับซ้อนเท่า)
ไดมอนด์จะไม่ค่อยเชื่อมโยงวิทยาศาสตร์ กับศาสนาและการเมือง เนื้อหาไม่เสียดสีมากนัก อ่านง่ายกว่า แต่ไม่มันและเร้าใจเท่าแฮร์รารี
ล็อกยาวอยู่บ้านแบบนี้ ผมแนะนำทั้งห้าเล่มที่กล่าวไป รับรองว่า มุมมองของคุณต่อสิ่งที่รู้มา จะเปลี่ยนไปมากเลยแหละครับ