29 เมษายน 2564

การใช้ Electronic cigarettes เพื่อช่วยเลิกบุหรี่ มีหลักฐานเพิ่มจากเดิมหรือไม่ อย่างไร?

การใช้ Electronic cigarettes เพื่อช่วยเลิกบุหรี่ มีหลักฐานเพิ่มจากเดิมหรือไม่ อย่างไร?

จากข้อมูลเดิมที่เคยทราบกัน บุหรี่ไฟฟ้า มีข้อมูลอยู่บ้างสำหรับการเลิกบุหรี่มวนว่า ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าบางส่วนสามารถเลิกบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้าได้

แต่ผู้ใช้ส่วนมากจะเปลี่ยนจากการใช้บุหรี่มวนกลายเป็นผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าแทน (ข้อมูลเก็บจากผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้ามองย้อนกลับไป) และข้อมูลการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อกระบวนการเลิกบุหรี่ (เริ่มต้นจากการเลิกบุหรี่ แล้วมองไปข้างหน้าว่าแต่ละวิธีเป็นอย่างไร) ก็พบว่าข้อมูลเรื่องการใช้เพื่อเลิกบุหรี่ยังมีน้อย ข้อมูลกระจัดกระจาย และยังไม่สามารถสรุปได้ว่า สามารถนำมาใช้สำหรับการเลิกบุหรี่ทั่วไปได้

ข้อมูลจาก National Academy of Sciences, Engineering and Medicine ที่วิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดของบุหรี่ไฟฟ้าในปี 2018 พบว่ายังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะสนับสนุนการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อกระบวนการเลิกบุหรี่ได้

ต่อมามีงานวิจัยแบบทดลองทางการแพทย์ลงใน New England Journal of Medicine เมื่อปี 2019 พบว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าสามารถเพิ่มโอกาสการเลิกบุหรี่มวน ได้มากกว่า สารทดแทนนิโคติน (แผ่นแปะ) แต่ว่าคนที่เลิกบุหรี่มวนจะเปลี่ยนไปใช้บุหรี่ไฟฟ้าแทน มากกว่าจะเลิกนิโคตินทั้งหมด

ประเทศอังกฤษมีการอนุมัติใช้บุหรี่ไฟฟ้าในคลินิกเลิกบุหรี่ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์ (เฉพาะในบางกรณี) ส่วนแนวทางทางเวชปฏิบัติในการเลิกบุหรี่ทั้งหลาย ยังไม่รับรองให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นยาหรืออุปกรณ์ในการเลิกบุหรี่

ผ่านไปสองปี การเติบโตชนิดก้าวกระโดดของบุหรี่ไฟฟ้าชนิดต่าง ๆ มีมากขึ้น แน่นอนก็ต้องมีการวิเคราะห์วิจัยเพิ่มเติม งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเวียนนาชิ้นนี้เป็นหนึ่งในนั้น และเป็นการศึกษาด้วยวิธี Systematic review และ meta-analysis อีกด้วย

งานวิจัยนี้ลงตีพิมพ์ใน Nicotine & Tobacco Research, 2021 เมื่อเมษายนที่ผ่านมา รวบรวมงานวิจัยเกี่ยวกับการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อเลิกบุหรี่ในช่วงปี 2014-2020 เรียกว่าเป็นข้อมูลใหม่และรวมเอาผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้ารุ่นปัจจุบันเข้ามาในการศึกษาด้วย ไม่ว่าจะเป็นการสอบถาม การให้ข้อมูลที่มีผลการตรวจสารนิโคตินในตัวหรือไม่ก็ตาม มารวบรวมแบบเป็นระบบ โดยสนใจในสองประเด็น

- เทียบโอกาสการเลิกบุหรี่ ระหว่างบุหรี่ไฟฟ้าชนิดไม่มีนิโคติน กับ บุหรี่ไฟฟ้าชนิดมีนิโคตินทั่วไป

- เทียบโอกาสการเลิกบุหรี่ ระหว่างบุหรี่ไฟฟ้าชนิดมีนิโคติน กับ สารทดแทนนิโคตินรูปแบบต่าง ๆ

*** ไม่ได้เปรียบเทียบกับยาอดบุหรี่มาตรฐานทั้งสามตัวเลย ***

รวบรวมงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ข้อมูลครบพอที่จะเอามาวิเคราะห์ตามมาตรฐานการทำ meta-analysis ได้ 9 งานวิจัย โดย 5 งานวิจัยเป็นการศึกษาในผู้ป่วยหรือผู้ที่เข้าคลินิกเลิก ตรงนี้ส่งผลต่อผลการศึกษา เพราะคนที่เข้าร่วมส่วนมากมี แรงจูงใจ และเหตุผลในการเลิกบุหรี่ที่หนักแน่น (แรงจูงใจมาก มีน้ำหนักมากกว่ากรรมวิธีในการเลิกบุหรี่) รวมจำนวนคนที่เข้ามาในการศึกษาวิเคราะห์ครั้งนี้ 8512 คน

ข้อเด่นมากที่การศึกษานี้มีคือ รวบรวมงานวิจัยที่ข้อมูลครบ การติดตามผู้ป่วยได้เกือบครบ (งานวิจัยเรื่องเลิกบุหรี่ส่วนมากมีผู้ป่วยที่ติดตามได้ 50-60%) และส่วนมากมีการยืนยันว่าไม่สูบบุหรี่จริงโดยใช้การตรวจวัดทางห้องปฏิบัติการคือ ระดับคาร์บอนมอนอกไซด์ในลมหายใจ ที่ส่งผลจากบุหรี่มวนมากกว่าบุหรี่ไฟฟ้า

เรามาดูผลการวิเคราะห์วิจัยและตามมาด้วยข้อสังเกตในการศึกษากันครับ

 -​ เปรียบเทียบบุหรี่ไฟฟ้าที่ไม่มีนิโคติน กับ บุหรี่ไฟฟ้าที่มีนิโคติน พบว่า บุหรี่ไฟฟ้าที่มีนิโคตินสามารถเลิกบุหรี่มวนได้มากกว่าประมาณ 70% และหากติดตามต่อไปเรื่อย ๆ โอกาสจะเลิกบุหรี่มวนได้สำเร็จจะยิ่งลดลงไปอีก

 -​ เปรียบเทียบบุหรี่ไฟฟ้าที่มีนิโคติน กับ สารทดแทนนิโคตินในรูปแบบต่าง ๆหรือการให้คำปรึกษา พบว่าบุหรี่ไฟฟ้าสามารถเลิกบุหรี่มวนได้มากกว่าประมาณ 70% เช่นกันและลดลงตามเวลา แต่ไม่ว่าติดตามที่เวลาใด ก็สูงกว่าการใช้สารทดแทนนิโคตินอย่างมีนัยสำคัญ

เอาล่ะผลการศึกษาที่ออกมามันก็เป็นของจริงที่ปฏิเสธได้ยาก ***แต่หากเรานำแต่ผลการศึกษาไปใช้ โดยไม่พิจารณาถึงคุณภาพของงานวิจัยที่เอามารวบรวมและคุณภาพของการศึกษารวบรวมนี้ ก็อาจจะทำให้เราพลาดจุดสำคัญได้เช่นกัน***

จุดสังเกตของการศึกษานี้มีมากมายและหลายประการเป็นจุดตายด้วย เมื่อเราคิดข้อสังเกตข้อจำกัดของการศึกษา มันทำให้น้ำหนักและความหมายของผลการศึกษาที่ออกมา มีน้ำหนัก ลดลง  โดยมากเป็นข้อสังเกตในกระบวนการวิจัย หรือที่เรียกว่า Internal validity ทั้งสิ้น

1. ความไม่เหมือนกัน ของแต่ละงานวิจัยมีสูงมาก ชนิดของบุหรี่ไฟฟ้าที่ใช้ ปริมาณนิโคตินที่ได้รับ ชนิดและปริมาณของสารทดแทนนิโคตินที่ใช้ ระดับการติดบุหรี่และปริมาณบุหรี่ต่อวัน และความไม่เหมือนกันเหล่านี้มันส่งผลต่ออัตราการเลิกบุหรี่เสียด้วย

2. จำนวนผู้เข้าวิจัยในงานวิจัยต่าง ๆ ที่คัดเลือกว่าข้อมูลครบ ที่เอามาวิเคราะห์ มีปริมาณผู้เข้าร่วมวิจัยไม่มาก ยิ่งแยกย่อยในแต่ละการศึกษาก็ไม่มาก จำนวนที่ไม่มากมันส่งผลต่อการกระจายข้อมูลและผลการศึกษามาก คงต้องมีงานวิจัยที่มีปริมาณกลุ่มตัวอย่างมากพอ และถึงแม้การทดสอบ chi square กับ I square จะดูว่าข้อมูลไม่แปรปรวน แต่ความแม่นยำของการทดสอบนี้จะลดลงมาก หากกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็ก

3. จากข้อสอง ในกลุ่มตัวอย่างที่ไม่มากในแต่ละกลุ่มนั้น ปริมาณคนที่เลิกสูบบุหรี่ได้ในกลุ่มที่เอามาเปรียบเทียบ คือ กลุ่มบุหรี่ไฟฟ้าที่ไม่มีนิโคติน หรือกลุ่มใช้สารทดแทนนิโคตินนั้น มีปริมาณน้อยมาก จึงใช้เป็นตัวเปรียบเทียบที่ไม่ดี เช่น กลุ่ม A เลิกบุหรี่ได้สองคน กลุ่ม B เลิกบุหรี่ได้หนึ่งคน กลุ่ม B เลิกได้มากกว่าถึง 50% ตัวเลขสัมพัทธ์คือ 50%  ในทางสถิติมันต่างจาก กลุ่ม A เลิกบุหรี่ได้ 1000 คนและกลุ่ม B เลิกบุหรี่ได้ 500 คน นะครับ ค่าสัมบูรณ์ที่เกิด (ค่าข้อมูลดิบ) และอัตราความสำเร็จที่น้อยไปแม้ในกลุ่มควบคุม จะทำให้ผลการศึกษามีพลังไม่มากพอ

4. Confounder สำคัญมากที่สุดของการศึกษานี้คือ กลุ่มเปรียบเทียบที่เป็นสารทดแทนนิโคตินนี่เองครับ เพราะสารทดแทนนิโคตินมีหลายแบบ ความพึงพอใจในการใช้ ความสะดวกในการใช้ที่แตกต่างกัน ถ้าจะเปรียบเทียบต้องแยกกัน หรือใช้วิธีการทางสถิติเพื่อเกลื่อนผลของตัวแปรปรวนนี้ให้เท่ากัน อันนี้คือข้อที่ทำให้สารทดแทนนิโคตินดูหมดพลังลงจากระเบียบวิธีการวิจัย แถมเรายังทราบอีกว่าผู้สูบบุหรี่จะมี sensory-motor experience ความคุ้นชินและพึงพอใจกับการสูบ พ่นควัน ที่จะทำให้เขาชอบวิธีนี้หรือใช้วิธีนี้ได้ยาวนานกว่า อันจะส่งผลต่อโอกาสสำเร็จในการเลิกบุหรี่ ปัจจัยนี้ สารทดแทนนิโคตินให้ไม่ได้เลย จึงเป็น confounder ที่ยิ่งใหญ่มากจะ ไปเพิ่มพลังของบุหรี่ไฟฟ้าด้วยระเบียบวิธีวิจัย

5. การใช้สิ่งหนึ่ง เทียบกับอีกสิ่งหนึ่งเพื่อการรักษา ในทางการแพทย์เรายอมรับการทดลองการคลินิก (clinical trials) มากกว่างานวิจัยแบบเฝ้าเก็บข้อมูลหรือรวบรวมข้อมูลย้อนหลัง แต่ในการศึกษานี้มี clinical trials น้อยมากแถมเป็นการศึกษาขนาดเล็กอีกด้วย ข้อมูลส่วนมากจึงไม่ใช่ข้อมูลที่จะมาตอบคำถาม การรักษาอันไหนดีกว่ากัน 

เราไปดูข้อสรุปของวารสารกัน เขาสรุปว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีประสิทธิภาพในการเลิกบุหรี่สูงกว่าบุหรี่ไฟฟ้าที่ไม่มีนิโคติน หรือ การใช้สารทดแทนนิโคติน หรือการให้คำปรึกษา แต่หลักฐานมีความคุณภาพต่ำถึงปานกลาง ยังไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้ชัดเจนและยังไม่ควรนำไปเป็นข้อสรุป ต้องใช้งานวิจัยที่ชัดเจนและหลักแน่นกว่านี้ในอนาคต

สามารถไปตามอ่านต้นฉบับวารสารได้ฟรี

ที่มา
Grabovac I, Oberndorfer M, Fischer J, Wiesinger W, Haider S, Dorner TE. Effectiveness of Electronic Cigarettes in Smoking Cessation: A Systematic Review and Meta-analysis. Nicotine Tob Res. 2021 Mar 19;23(4):625-634. doi: 10.1093/ntr/ntaa181. PMID: 32939543.

และผมรวบรวมข้อมูลที่เขียนเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้ากับการเลิกบุหรี่เอาไว้ที่นี่ตามลิงค์นะครับ

รายงานของ NASEM 2018
https://medicine4layman.blogspot.com/2018/01/nas.html?m=1

การศึกษาเปรียบเทียบอัตราการเลิกบุหรี่ของบุหรี่ไฟฟ้ากับสารทดแทนนิโคติน
https://medicine4layman.blogspot.com/2019/01/blog-post_75.html?m=1

การศึกษาแบบเฝ้าสังเกต HAND2 ศึกษาอัตราการเลิบบุหรี่สำเร็จโดยใช้บุหรี่ไฟฟ้า
https://medicine4layman.blogspot.com/2018/04/hand2.html?m=1

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น