28 เมษายน 2564

ISAR-PLASTER กับ Revacept และ งูเขียวตุ๊กแก

 Waglery's Pit Viper หรือ งูเขียวตุ๊กแก

งูนี้มีชื่อเพราะ ๆ ทางวิทยาศาสตร์ว่า Tropidolaemus wagleri เป็นงูที่พบมากในดินแดนแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นหนึ่งในงู pit viper มีอวัยวะจับความร้อนที่ชื่อ pit organ อยู่บนศีรษะ และเหมือนงู pit viper อื่น ๆ มันเป็นงูพิษ พิษต่อระบบโลหิตวิทยาทำให้เลือดไม่แข็งตัว

เมื่อปี 2017 Tur-Fu Huang นักวิจัยชาวไต้หวันได้ตีพิมพ์ผลงานเรื่องราวของการสกัดเอาพิษของงูเขียวตุ๊กแกนี้มาทำเป็นยาเพื่อต้านการแข็งตัวของเลือด มีการค้นคว้าวิจัยในหลอดทดลองและในสัตว์ทดลองพบว่าได้ผลพอใช้ได้ อะไรที่ใช้ได้ ?

กลไกการแข็งตัวของเลือดเริ่มต้นที่เมื่อมีการบาดเจ็บของผนังหลอดเลือด จะเกิดการกระตุ้นให้เกล็ดเลือดเข้ามาเกาะเพื่อปกป้องหลอดเลือด (platelet adhesion) และจะหลั่งสารเคมีต่าง ๆ เรียกเกล็ดเลือดมาสามัคคีชุมนุมเพื่อเกิดเป็นลิ่ม ลดการเกิดเลือดออก (platele aggragation) หลังจากนั้นกระบวนการจะเริ่มไปเรื่อย ๆ จนเกิดลิ่มเลือดมาซ่อมจุดบาดเจ็บ ตรงนี้ฟังดูดีนะครับ กับสุดยอดการทำงานของร่างกายเมื่อหลอดเลือดบาดเจ็บหรือฉีกขาด

โดยทั่วไปเกล็ดเลือดจะไม่มาเกาะตัวกับผนังหลอดเลือด แต่เมื่อมีการบาดเจ็บหรือฉีกขาด เส้นใยคอลลาเจนที่เป็นองค์ประกอบของหลอดเลือด จะโผล่ออกมาให้เกล็ดเลือดเห็น เกล็ดเลือดเองก็มีตัวจับคอลลาเจนมากมาย หากโผล่มาเมื่อไร แสดงว่าฉีกขาดอักเสบ ต้องจัดการ ตัวรับสำคัญที่อยู่บนเกล็ดเลือดคือ glycoprotein

ไกลโคโปรตีนที่เราคุ้นเคยดีเช่น Glycoprotein IIb-IIIa และหากเราใช้ยาไปหยุดการทำงานของไกลโคโปรตีนนี้ เกล็ดเลือดจะไม่จับตัว เช่นยา eptifibatide ที่เราใช้เวลาใส่สายสวนและขดลวดเพื่อซ่อมแซมค้ำยันหลอดเลือด

Tur-Fu Huang พบว่าพิษของงูเขียวตุ๊กแกสามารถจับและยับยั้งการทำงานของ glycoprotein VI ของเกล็ดเลือด ขอเรียกสั้น ๆ ว่า GPVI นะครับ ซึ่งเจ้า GPVI จะทำงานอย่างแข็งขันมากและเป็นปัจจัยสำคัญ จะทำงานตรงตำแหน่งที่คอลลาเจนโผล่ออกมาให้เห็นนี่แหละครับ หากใส่พิษงูเข้าไปมันจะไปยับยั้งการจับของเกล็ดเลือดที่ตำแหน่งนั้นเป๊ะ เรียกเป็นภาษาวิทยาศาสตร์ว่า lesion-directed competitive antagonist

นั่นหมายถึง มันก็จะไม่ไปรบกวนกระบวนการแข็งตัวอื่น ๆ ของเกล็ดเลือดเลย ไม่ทำงานเมื่อไม่มีแผลฉีกขาดจนเห็นคอลลาเจน ก็น่าจะไม่ทำให้เลือดออกง่ายจริงไหมครับ มันน่าจะมาปิด painpoint สำคัญของยาต้านเกล็ดเลือดสารพัดชนิดเช่น aspirin clopidogrel ที่ยับยั้งที่ตัวเกล็ดเลือด ทำให้เกล็ดเลือด..หมด..สมรรถภาพทุกหน้าที่ ทุกตำแหน่งของร่างกาย

แล้วถ้าเราเอาพิษงูนี้มาสกัดทำเป็นยาล่ะ แล้วถ้ามาใช้ในหัตถการหลอดเลือดที่เราต้องใส่ขดลวด เวลาใส่ขดลวดค้ำยันก็ต้องมีแผล มีการฉีกขาด ถึงแม้เราจะใข้ยาต้านเกล็ดเลือดหลายชนิด เราก็ยังพบเหตุการณ์ที่ขดลวดตันเพราะมันไปกระตุ้นการเกิดลิ่มเลือด หากใส่พิษงูนี้เข้าไป ไปยับยั้งเกล็ดเลือดเฉพาะตรงที่ใส่ขดลวด มันจะทำให้ขดลวดไม่ตัน โดยที่ไม่มีเลือดออกที่อื่น ...น่าจะดีทีเดียว

และนี่คือต้นกำเนิดของ revacept ยาต้านเกล็ดเลือดชนิดฉีดที่ทำงานยับยั้งการจับเกล็ดเลือดกับคอลลาเจนที่ตำแหน่ง GPVI นั่นเอง และมีการศึกษาการใช้ยานี้เพิ่มเติมไปจากการรักษามาตรฐาน สำหรับการใส่สายสวนเพื่อทำหัตถการหลอดเลือดในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่อาการคงที่แล้ว (ไม่ใช่เฉียบพลัน ไม่ใช่กลุ่มที่อาการหนักหรือไม่คงที่ และนัดมาทำภายหลังได้) ศึกษาที่มหาวิทยาลัยมิวนิค ประเทศเยอรมัน ชื่อการศึกษา ISAR-PLASTER ลงตีพิมพ์ในวารสาร JAMA เมื่อ 31 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา

โดยแบ่งผู้ป่วยออกเป็นสามกลุ่ม คือ กลุ่มได้รับยา revacept 160 มิลลิกรัม 120คน กลุ่มได้รับยา 80 มิลลิกรัม 121คน และกลุ่มยาหลอก 93คน ฉีดครั้งเดียวตอนทำหัตถการ แล้วติดตามดูอัตราการเสียชีวิตและวัดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อหัวใจ (ดูการตีบตันและขาดเลือด)

ผลการศึกษาออกมาว่า อัตราการเสียชีวิต การเกิดกล้ามเนื้อหัวใจบาดเจ็บ การเกิดเลือดออก แตกต่างกันน้อยมากในสามกลุ่ม (ประมาณ 24% พอ ๆ กัน) แม้ว่าการทำงานของเกล็ดเลือดจะลดลงในกลุ่มให้ยาก็ตามที (วัดผลด้วยวิธีพิเศษที่จะวัดว่ายาส่งผลต่อ collagenและGPVI หรือไม่)

ก็เรียกว่าดับฝันไปสำหรับยาต้านเกล็ดเลือดแบบ lesion-specific ตัวนี้และงูเขียวตุ๊กแกของเรา ...ตะ ตะ ตะ ตั๊ก แก่

อ่านเพจนี้ก็จะประมาณนี้นะครับ ออกทะเล เข้าป่า ขึ้นเขา เพื่อที่จะไปซื้อกาแฟหน้าปากซอย

อาจเป็นรูปภาพของ งู

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น