29 มกราคม 2563

สารคอลลอยด์

น้ำเกลือที่เราให้กันทางหลอดเลือดดำ นอกจากสารละลายแล้ว เรายังมีสารคอลลอยด์ด้วย
ก่อนจะไปที่เรื่องราว ...เรามาปูพื้นกันก่อน ...เตรียมปาร์เก้ต์, เตรียมเสื่อ ไม่ใช่ ... คือว่าสารน้ำต่าง ๆ ที่อยู่ในหลอดเลือดนั้น สามารถแพร่เข้าออกผนังหลอดเลือดได้นะครับ โดยอาศัยแรงดันหลายอย่างที่คอยดันออกที่คอยดึงเข้า ชักเย่อกัน แลกกัน สารละลายที่เราให้กัน คริสตัลลอยด์ สามารถแพร่ออกไปนอกหลอดเลือดไปสู่เซลล์ต่าง ๆ ได้ ในภาวะที่ช็อกติดเชื้อหรือเป็นไข้เลือดออก ผนังหลอดเลือดนี้จะห่างออก สารน้ำในหลอดเลือดจะออกนอกหลอดเลือด เกิดเป็นภาวะช็อกจากน้ำในหลอดเลือดไม่พอ วิธีแก้ไขเราก็เติมสารน้ำให้ชนะการไหลออก
ส่วนคอลลอยด์ จะเป็นสารแขวนลอยโมเลกุลใหญ่ เช่นโปรตีน อัลบูมิน แป้ง สารเหล่านี้จะมีแรงดึงให้สารน้ำอยู่ในหลอดเลือด แรงดันของหลอดเลือดจะยังดี ความดันไม่ตก แถมมวลโมเลกุลยังขนาดใหญ่ ไม่สามารถลอดรูผนังหลอดเลือดออกไปด้านนอกได้
ดูก็น่าจะดีนะ เวลาช็อก ใช้สารคอลลอยด์อันนี้น่าจะตอบโจทย์ หรือแม้แต่แนวทางการรักษาไข้เลือดออกช็อก ก็มีคำแนะนำการให้สารคอลลอยด์นี่เช่นกัน แต่ความจริงแล้ว ในไอซียูเราใข้คอลลอยด์น้อยมากเลยครับ
ตัวอย่างสารคอลลอยด์เช่น HydroxyEthylStarch (HES), Dextran, Plasma, Albumin, Gelatin
ในเรื่องช็อกติดเชื้อ มีการศึกษาแบบวิจัยทางคลินิกมากมายว่าการให้สารคอลลอยด์ไม่ได้มีอัตราการรอดชีวิตที่ดีไปกว่าสารละลายคริสตัลลอยด์ปกติ แม้ปริมาณสารน้ำที่ให้จะน้อยกว่าเพื่อจะบรรลุเป้า แต่ประโยชน์ไม่ต่างและที่สำคัญผลเสียต่อไตและการแข็งตัวของเลือดมากกว่า การศึกษาที่พอมีประโยชน์บ้างคือการให้ albumin ในกรณีที่การใข้สารน้ำปรกติไม่ได้ผลและเริ่มมีการรั่วที่ควบคุมไม่อยู่ แต่อย่าลืมว่าต้องใช้อัลบูมินปริมาณมากและแพง
แม้แต่ dextran ที่เราใช้ในไข้เลือดออก ก็มีข้อแนะนำว่าใช้เมื่อมีอาการช็อกและไม่ตอบสนองต่อการให้สารละลายคริสตัลลอยด์ ด้วยเหตุผลเดียวกัน และงานวิจัยที่ใช้คอลลอยด์ในการรักษาไข้เลือดออกนั้นมาจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเด็ก ในผู้ใหญ่มีข้อมูลเรื่องคอลลอยด์ในการรักษาไข้เลือดออกนี้น้อยมาก
มาถึงตรงนี้ข้อมูลการใช้คอลลอยด์ลดลงมาก โดยเฉพาะคอลลอยด์จากแป้งและเจลาติน เพราะตัวมันทำให้มีการบาดเจ็บต่อไต เพิ่มโอกาสการฟอกเลือด แถมคอลลอยด์ที่เป็นแป้งยังทำให้เลือดไม่แข็งอีกด้วย (ทำให้เลือดไม่แข็งนะครับ ไม่ได้ทำให้เลือดออก : vWF และ fribrinolysis)
มาถึงการศึกษาล่าสุดกัน (FLASH) คราวนี้ทำในผู้ป่วยศัลยกรรมที่จะเข้ารับการผ่าตัดช่องท้อง เป็นผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงจะเกิดไตบาดเจ็บ จึงนำมาให้สารละลายที่เป็นคอลลอยด์เทียบกับคริสตัลลอยด์ ในที่นี้เทียบ HES กับน้ำเกลือนอร์มัล (อย่าลืม อ่านว่า นอร์มัล-เซลีน) พบว่าทั้งสองกลุ่มมีอัตราตายไม่ต่างกัน ผลข้างเคียงไม่ต่างกัน (จริง ๆ ทั้งสองมันต่างกัน แต่ต่างกันแบบ "ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ")
เรียกว่าในคนไข้เกือบทั้งหมด แนวโน้มและคำแนะนำ ไม่ให้สารคอลลอยด์เป็นทางเลือกแรก จะให้เมื่อจำเป็นและพิจารณาเป็นรายบุคคล ส่วนชนิดคอลลอยด์ก็น่าจะจัดลำดับ starch เป็นลำดับหลัง ๆ อาจจะใช้ albumin แทน (แพงมากนะครับเพราะต้องใช้ปริมาณมากทีเดียว)
ที่มา
Futier E, Garot M, Godet T, et al. Effect of Hydroxyethyl Starch vs Saline for Volume Replacement Therapy on Death or Postoperative Complications Among High-Risk Patients Undergoing Major Abdominal Surgery: The FLASH Randomized Clinical Trial. JAMA. 2020;323(3):225–236. doi:10.1001/jama.2019.20833

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น