29 มกราคม 2563

อัตราการป่วยตาย (case fatality) และ อัตราการเสียชีวิต (mortality)

อัตราการป่วยตาย (case fatality) และ อัตราการเสียชีวิต (mortality)
อัตราการป่วยตาย คือ สัดส่วนของคนที่เสียชีวิตจากโรคเฉพาะเจาะจงโรคหนึ่ง เทียบกับคนที่ป่วยเป็นโรคนั้น ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง สถานที่หนึ่ง (timeframe)
เช่น ประชาชนในเมืองสารขัณฑ์ 1,000 คน ป่วยด้วยโรคเลียบด่วน 300 คน และในจำนวนสามร้อยคนนี้ เสียชีวิต 100 คน แบบนี้เราคำนวณอัตราการป่วยตายเท่ากับ 100/300 หรือ 33%
อัตราการเสียชีวิต คือ สัดส่วนของคนที่เสียชีวิตจากเหตุหนึ่ง เทียบกับประชากรทั้งหมดที่เสี่ยง ในช่วงเวลาหนึ่ง สถานที่หนึ่ง
ตัวอย่างเดิม โรคเลียบด่วน จะมีอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคเลียบด่วนของประชากรในเมืองสารขัณฑ์ 100/1000 หรือ 10%
แล้วมันสำคัญอย่างไร ต้องมาดูอีกตัวอย่าง คราวนี้โรคเดิมคือโรคเลียบด่วน กับประชากรกลุ่มใหม่ เป็นประชากรในปราหยุดแลนด์ 1,000 คน ป่วยด้วยโรคเลียบด่วน 50 คน ในจำนวนนี้เสียชีวิตด้วยโรคเลียบด่วน 40 คน
เรามาคำนวณ อัตราการป่วยตาย เท่ากับ 40/50 หรือ 80% ส่วนอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคเลียบด่วนของประชากรเมืองปราหยุดแลนด์ เท่ากับ 40/1000 หรือ 4%
จะเห็นว่าด้วยโรคเดียวกัน เมืองปราหยุดแลนด์มีอัตราป่วยตายมากกว่า หมายความว่าเมืองปราหยุดแลนด์อาจจะดูแลคนไข้ไม่ดี หรือ ประชากรที่ติดเชื้อเป็นกลุ่มเสี่ยงมาก ในขณะที่เป็นโรคเดียวกัน เมืองสารขัณฑ์กลับมาอัตราป่วยตายแค่ 33% แม้เขาป่วยมากกว่าแต่ตายน้อยกว่า อาจจะรักษาดี หรือมีแต่ประชากรแข็งแรงก็ได้
มาดูที่อัตราการเสียชีวิต ที่เมืองสารขัณฑ์ที่มีถึง 10% ทั้ง ๆ ที่ป่วยตายน้อยกว่า ส่วนปราหยุดแลนด์นั้นอัตราการเสียชีวิตแค่ 4% ทั้ง ๆ ที่อัตราการป่วยตายสูงถึง 80%
อาจจะเป็นว่าประชากรเมืองสารขัณฑ์เข้าถึงการรักษาได้น้อยกว่า คัดกรองโรคได้น้อยกว่า ถึงมีอัตราการเสียชีวิตสูง หรือมีปัจจัยอื่น เช่น ป่วยแล้วไม่ตายหรอก แต่เขาไล่ออกจากงานแล้วอดอยากหรือเสียใจฆ่าตัวตาย มันก็เป็นอัตราการเสียชีวิตโดยรวมเช่นกัน (all cause mortality)
ส่วนปราหยุดแลนด์อัตราการเสียชีวิตต่ำ แสดงว่าถึงแม้ป่วยแล้วตายเยอะเพราะอาจจะไม่ค่อยมีรพ. มีแต่ยุทโธปกรณ์ แต่ประชาชนไม่ค่อยป่วยกัน มีภูมิคุ้มกันประชารัฐ
เห็นไหมว่าภาษาระบาดวิทยามันต่างกันนะครับ เวลาจะดูความรุนแรง การแพร่กระจาย การตัดสินใจมาตรการใด ต้องใช้ตัววัดให้ถูกด้วย เวลาอ่านข่าวอ่านเปเปอร์ต้องมีสติตลอด รู้ว่าค่านี้คืออะไร บอกถึงอะไร มีตัวแปรปรวนหรือไม่ ตัวแปรนั้นถูกชดเชยหรือแก้ไขหรือยัง
ยังไม่นับว่าโจทย์อาจจะซับซ้อนกว่านี้ เช่น เปรียบเทียบคนละโรคในคนละเวลา หรือคนละโรคในคนละสถานที่ เพื่อประเมินความรุนแรงของโรค หรือโรคเดียวกันแต่อัตราการแพร่เชื้อติดเชื้อต่างกัน เพื่อประเมินมาตรการการควบคุม
ข้อมูลดิบอย่างเดียวอาจดูยาก บางทีก็ต้องนำไปประมวลผลก่อน
วัตถุดิบอันเดียวกันพ่อครัวคนละคน วิธีคนละอย่าง ผลลัพธ์ก็ต่างกันครับ
ดูอย่างเสื้อกีฬาสีแดงเหมือนกัน ผู้เล่น 11 คนเหมือนกัน กติกาเดียวกัน ใช้โค้ชคนละคนกัน ทีมนึงก็แชมป์
... ทีมนึงก็..ละไว้ในฐานที่เข้าใจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น